Skip to main content

 

เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์
 
เกร่ินนำ
 
ก่อนอื่น ขอชื่นชมผลงานนิสิตทุกชิ้น (ไม่ค่อยคุ้นกับการใช้คำว่านิสิตเท่าไรนัก) หากให้ผมเป็นอาจารย์ผู้สอน ผมให้ A ทุกชิ้นแน่นอน บางชิ้นผมว่าทำดีเกินกว่างานนักศึกษาปริญญาเอกที่ผมเคยอ่านจากสถาบันต่างๆ ด้วยซ้ำ ยิ่งกว่านั้น งานแต่ละชิ้นยังให้ความรู้ใหม่แก่ผมมากมาย อย่างน้อยเอกสารอ้างอิงที่ค่อนข้างครบถ้วน ก็ช่วยให้สามารถไปค้นคว้าต่อได้
 
แต่หากจะยอกันไปก็คงไม่เกิดความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ อย่างไรก็ดี ขอให้เข้าใจว่า ผมเพียงต้องการชวนคิดต่อจากที่นำเสนอมา ขออย่าคิดว่าการวิจารณ์นี้จะไปลดทอนคุณภาพของงานที่มีสมบูรณ์ในตัวอยู่แล้วก็แล้วกันครับ นอกจากนั้น เนื่องจากผมจะใช้มาตรฐานในการวิจารณ์แบบเดียวกับที่ผมใช้วิจารณ์งานวิชาการทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาหรือศาสตราจารย์ผมก็ใช้มาตรฐานนี้ ฉะนั้นไม่ต้องตกใจหากจะพูดอะไรดูรุนแรง แต่ควรภูมิใจว่า ผมใช้มาตรฐานเดียวกับงานวิชาการทั่วไป
 
ก่อนอื่น ขอให้ความเห็นต่อกรอบของการจัดงานว่า การนำผลงานของนิสิตปริญญาตรีมาเสนอนั้นน่าชื่นชมมาก เพราะมีงานจำนวนมากที่มีคุณภาพ ให้ข้อมูลใหม่ๆ มีมุมมองเฉพาะตัว แต่น่าเสียดายที่ไม่มีเวทีแสดงออกของตนเอง
 
แต่ก็จะขอตั้งคำถามท้ิงไว้นิดหนึ่งว่า ทำไมไม่มีบทความของนิสิตหญิงเลย แล้วทำไมมีแต่งานทางสังคมศาสตร์ ไม่มีงานทางมนุษยศาสตร์ (แม้ว่าจะเป็นคณะรัฐศาสตร์ก็ตาม) เรื่องวรรณกรรม ศิลปะ ศาสนา ปรัชญาหายไปไหน ที่สำคัญคือ นี่อาจมีส่วนในการจำกัดกรอบและวิธีวิทยาของการศึกษา (นิสิตผู้จัดตอบว่า มีผลงานส่งมาน้อยมาก และนี่เป็นการจัดครั้งแรก จึงขาดตกบกพร่อง)
 
ขอวิจารณ์รวมๆ กันใน 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ กรอบการศึกษา วิธีการศึกษา และจุดยืนของการศึกษา
 
(1) กรอบการศึกษา
 
งานแต่ละชิ้นอาศัยกรอบที่หลากหลายก็จริง แต่จะทำอย่างไรที่จะหากรอบซึ่งพัฒนาความรู้อาเซียนแบบใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น การเข้าใจองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ จะต้องเข้าใจอะไรเป็นพิเศษ แตกต่างจากการศึกษาการรวมตัวขององค์การร่วมมือระหว่างประเทศอื่นๆ ในโลกนี้หรือเปล่า
 
บางทีปัจจัยทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจะตอบได้ เช่น การมีสถาบันกษัตริย์ (ซึ่งน่าจะช่วยอธิบายบทบาทของการใช้เคร่่ืองมือเชิงอุดมการณ์ในภูมิภาค อันเป็นส่วนสำคัญในความขัดแย้งระหว่างภูมิภาค และการสร้างเครือข่ายการเมืองระหว่างประเทศ) การมีสถาบันการเมืองที่ต่อต้านอาณานิคมตะวันตก (อย่างในประเทศอื่นๆ รอบๆ ไทย อาจมีส่วนในการทำความเข้าใจเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละประเทศในการร่วม ไม่ร่วมอาเซียนแต่แรก) หรือปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์การเมืองในแต่ละประเทศ อาจช่วยให้เข้าใจอะไรมากขึ้น
 
ดังนั้น ถ้าตั้งคำถามใหม่ เช่น การที่ถนัด คอมันตร์ผลักดันให้เกิดการก่อตั้งอาเซียนเพื่อชิงการนำจากทหารคงไม่ใช่เรื่องส่วนตัวเท่านั้น การที่ถนัดถูกกันออกไปเมื่อพยายามมีบทบาทล้ำหน้าสหรัฐ ไปเจรจากับจีน ชวนให้คิดว่า เงื่อนไขภายนอกยังเป็นเงื่อนไขสำคัญ
 
หากตั้งโจทย์ใหม่ว่า ถนัดเป็นตัวแทนฝ่ายชนชั้นนำพลเรือน ที่พยายามมีบทบาทในเวทีโลกหรืออย่างน้อยคือเวทีภูมิภาคหรือเปล่า แล้วเมื่อเราดูเทียบกับประเทศอื่นๆ ก็อาจจะพบโครงสร้างเดียวกัน เพราะขณะนั้น สหรัฐเลี้ยงทหารไปหมดทั่วทั้งอุษาคเนย์ ฉะนั้น นี่อาจเป็นหน่อของการเติบโตของอำนาจต่อรองจากพลเรือนในภูมิภาคก็ได้ การก่อตั้งอาเซียนอาจแสดงถึงการเติบโตของภาคธุรกิจเอกชน ที่ต้องการออกจากโครงครอบของการเมืองแบบสงครามเย็น ที่เน้นเฉพาะบทบาทของกำลังทหาร ในอีกทางหนึ่ง มันสะท้อนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจโดยรวมในภูมิภาคด้วย
 
สำหรับบทความเรื่องสิทธิประโยชน์ทางการค้าและเรื่องการต่อรองระหว่างประเทศอาเซียน เงื่อนไขที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลสำหรับเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิคและทฤษฎีเกม อาจไม่ใช่ปัญหาสำคัญเท่ากับเงื่อนไขเชิงสถาบัน หรือเงื่อนไขเชิงเศรษฐศาสตร์การเมืองต่างหากที่มีผลต่อการตัดสินใจ ลำพังการคิดในกรอบของการตัดสินใจส่วนตน จะไม่ช่วยให้เราเข้าใจการตัดสินใจในระดับองค์รวม
 
การศึกษาการตัดสินใจจึงขัดกับข้อเสนอเชิงวิพากษ์ที่เรียกร้องการมีส่วนร่วมของประชาชนที่บทความเรื่องการต่อรองในเวทีอาเซียนเรียกร้อง การเข้าใจการตัดสินใจของประชาชนจะใช้กรอบทฤษฎีเกมที่เอาประเทศเป็นหน่วยเชิงปัจเจกวิเคราะห์ไม่ได้เด็ดขาด
 
หากต้องการเข้าใจปรากฏการณ์ของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือของภูมิภาคอุษาคเนย์ เราจะสร้างกรอบใหม่ๆ ให้แก่การเข้าใจอุษาคเนย์อย่างไรได้บ้าง ผมเคยลองเสนอเรื่อง “เพื่อนบ้านศึกษา” คืออุษาคเนย์ศึกษาที่พัฒนาขึ้นมาในภูมิภาคเอง ทำอย่างไรจะไปพ้นจากการศึกษาแต่ประเทศตนเอง ไปสู่ชายขอบและเพื่อนบ้าน ทำอย่างไรจะนำเอาความเข้าใจร่วมกันและความเข้าใจที่ละเอียดอ่อนกว่าของคนไกล มาพัฒนาความรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้าน และทำอย่างไรจึงจะทำให้ความรู้เพื่อนบ้าน ตอบโจทย์เชิงประยุกต์ ตอบผลประโยชน์ของคนรากหญ้าในอาเซียนได้ดีขึ้น เป็นต้น
 
(2) วิธีวิทยาศึกษาอาเซียน
 
แต่ละบทความใช้การศึกษาหลายวิธี แต่วิธีไหนที่จะทำให้เราเข้าใจความเป็นภูมิภาคได้บ้าง วิธีแบบเศรษฐมิติที่บทความหนึ่งใช้ บางทีไม่สามารถตอบคำถามในเชิงเหตุผลของปรากฏการณ์ บางคำถามอาจไม่ต้องเสียเวลาวัดเชิงปริมาณ เนื่องจากหลักเหตุผลมันตอบอยู่แล้ว แต่คำถามที่สำคัญกว่าคือ “ทำไม” ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรจึงเป็นเช่นนั้น ทำไมมันไม่สัมพันธ์กันแบบที่พบในบริบทอื่น คำถามแบบนี้ตอบไม่ได้ด้วยเศรษฐมิติเท่านั้น ส่วนวิธีวิจัยเชิงเอกสารและวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ บางทีก็ถูกจำกัดด้วยกรอบที่ใหญ่กว่า คือการยังติดกับดักการศึกษาในระดับรัฐเดี่ยว
 
ปัญหาใหญ่คือ งานแทบทุกชิ้นยังเน้นประเทศใดประเทศหนึ่ง เป็น methodological nationalism บางชิ้นเป็น methodological individualism ด้วยซ้ำ จะมีก็แต่ชิ้นเดียวคือชิ้นที่ว่าด้วยบทบาทอาเซียนและการเจารจาระกว่างประเทศอาเซียน ที่พูดถึงภูมิภาคโดยรวม แต่ก็ยังขาดมิติที่เชื่อมโยงระดับนโยบายกับผู้คน นอกจากนั้น บทความนี้ยังมองประเทศเป็นหน่วยเดียว ราวกับเป็นปัจเจกชนคนเดียว มาเล่นเกมต่อรองกันในทฤษฎีเกม ทั้งๆ ที่ประเทศหนึ่งมีผู้รับผลประโยชน์ ผู้รับผลกระทบ ผู้ต่อรองภายในประเทศที่แตกต่างกันมากมาย
 
ส่วนชิ้นที่ว่าด้วยเบื้องหลังการก่อตั้งอาเซียนนั้น ส่วนแรกพูดถึงปัจจัยระดับภูมิภาคก็จริง แต่พอมาถึงส่วนหลัง ปัจจัยภายในที่อธิบายกลายเป็นปัจจัยส่วนบุคคล เน้นปัจเจกมากเกินไป ในแง่หนึ่งอาจใช่ แต่ต้องดูให้ไกลกว่านั้นหน่อย ไม่อย่างนั้นจะอธิบายประเทศฟิลิปินส์ มาเลเชีย อินโดนิเชีย สิงค์โปรได้อย่างไร หรือจะต้องดูเงื่อนไขเชิงปัจเจกของประเทศเหล่านั้นด้วย แม้ว่าจะบอกว่าบทความสั้น ทำไม่ได้หมด แต่หากจะไล่อธิบายแต่ละประเทศจริงๆ ก็จะเห็นเงื่อนไขที่กระจัดกระจาย จนอาจช่วยให้เข้าใจมิติเชิงโครงสร้างขึ้นมา หรือถ้าอย่างนั้นจะอธิบายการเข้าร่วมอาเซียนของเวียดนามและพม่าได้อย่างไร เนื่องจากปัจจัยภายในของสองประเทศหลังที่เข้าร่วมอาเซียน มาจากปัจจัยเชิงนโยบายของรัฐเป็นหลัก
 
ชิ้นที่ว่าด้วยพม่าและชิ้นที่ศึกษาการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า มีร่องรอยของการเชื่อมโยงเกินกว่าประเทศเดียว แต่ทำผ่านทฤษฎีเรื่องกลุ่มชาติพันธ์ุกับรัฐ และการศึกษาประเด็นเดียวกันนี้ในประเทศในเอเชีย อย่างไรก็ตาม หากยังมองไม่เห็นข้อเท็จจริงที่แตกต่าง แล้วก็จะขาดความเข้าใจหรือขาดการตั้งคำถามต่อไปว่า ทำไมรัฐพม่าจึงจัดการปัญหาชนกลุ่มน้อยไม่เหมือนที่อื่นๆ ในอาเซียน หรือเหมือน ทำไมเหมือน หรือในงานเรื่องสิทธิประโยชน์ ทำไมผู้ประกอบการไทยและรัฐไทยจัดการปัญหาการใช้สิทธิประโยชน์ไม่เหมือนประเทศอื่นๆ ในเอเชีย
 
วิธีวิทยาที่สำคัญในการศึกษาภูมิภาคคือ ต้องดูทั้งระดับโครงสร้าง (ไม่ใช่เฉพาะปัจเจก) และควรเปรียบเทียบข้ามรัฐ ไม่ใช่ว่่จะต้องหาลักษณะทั่วไป แต่เพื่อสร้างข้อเปรียบเทียบว่าในเงื่อนไขเดียวกัน แต่ละประเทศจัดการอย่างไร ในเงื่อนไขต่างกัน ทำไมบางทีเหมือนบางทีต่าง บางทีควรเปรียบเทียบข้ามภูมิภาค อย่างคำถามเรื่องการปรับปรุงองค์การอาเซียน น่าจะชี้ข้อเปรียบเทียบกับที่อื่น เช่น อียู
 
(3) จุดยืนเชิงวิพากษ์
 
เมื่ออ่าาจากผลงานของนักวิชาการปัจจุบัน เหมือนกับนักศึกษาจะเลิกสนใจเรื่องจุดยืนทางวิชาการกันไปแล้ว งานบางชิ้นทำเสร็จแล้ว หลังศึกษาจบ ผู้เขียนจะได้งานทำแน่นอน แต่เราจะไปรับใช้ใคร จะรับใช้คนด้อยโอกาส หรือรับใช้รัฐ จะรับใช้ทุนหรือรับใช้ประชาชน จะยืนอยู่ตรงไหน ถ้าตอบได้ งานจะชัดขึ้น แต่เหนืออื่นใด ในฐานะนักวิชาการ จะยืนอยู่ตรงไหน หากรู้ตัว เราจะจัดวางความสัมพันธ์ของเรากับสังคมได้ดีขึ้น เราไม่ควรทำงานวิชาการโดยไม่รู้จุดยืน เพราะถึงอย่างไรเราก็หนีการมีอคติไปไม่พ้น
 
บทความทั้ง 4 ขาดจุดยืนที่ชัดเจน ทั้งๆ ที่ที่จริงแต่ละชิ้นมีจุดยืน แต่มีเพียงชิ้นเรื่องชนกลุ่มน้อยในพม่าเท่านั้นที่แสดงจุดยืนชัดเจน ส่วนชิ้นอื่นๆ ดูจะมีจุดยืนในเชิงวิพากษ์นโยบายรัฐและนโยบายอาเซียน เช่น ชิ้นที่ถามถึงการเชื่อมโยงองค์การอาเซียนกับประชาชน เลขาธิการอาเซียนยังเป็นตัวแทนรัฐมากกว่าตัวแทนประชาชน เสนอว่าควรมีรัฐสภาอาเซียนที่สะท้อนหารเป็นตัวแทนประชาชน
 
งานอีกชิ้น แม้จะมีจุดยืนในการวิพากษ์นโยบายของรัฐอยู่ แต่การไม่ได้ถามคำถามเชิงโครงสร้าง เช่น การเมืองของการใช้สิทธิประโยชน์เป็นอย่างไร เอื้อประโยชน์ใคร ความลักลั่นของการให้สิทธิประโยชน์การเอื้อประโยชน์ ส่งผลต่อปราะชาชนรากหญ้าอย่างไร
 
ส่วนงานที่ว่าด้วยเบื้องหลังการก่อตั้งอาเซียน ดูเหมือนจะมีจุดยืนวิพากษ์ประเทศมหาอำนาจ แต่เมื่อพิจารณาลงมาในระดับในประเทผสไทยแล้ว ทำให้มองไม่เห็นว่างานนี้พยายามวิพากษ์อะไร ผลประโยชน์ส่วนตนของนักการเมือง หรืออย่างไร
 
ประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่งที่ควรให้ความสนใจต่อบทบาทของประชาคมอาเซียนในอนาคตคือเรื่องสิทธิมนุษยชน ล่าสุด การประชุมกันที่กัมพูชาเพื่อร่างประกาศสิทธิมนุษยชนอาเซียนมีข่าวออกมาว่า ในประกาศมีข้อยกเว้นมากมาย เรียกได้ว่าเราจะได้ประกาศสิทธิมนุษยชนในมาตรฐานอาเซียน ไม่ใช่มาตรฐานสากล เนื่องจากยังมีคำว่า “public morality” และ “national and regional particularity” (คำพวกนี้ฟังดูคุ้นๆ นะครับ) ในขณะเดียวกัน การประชุมอาเซียนคู่ขนานขององค์กรประชาชนในกัมพูชาเมื่อวันสองวันที่ผ่านมา ก็ถูกกีดกันจากรัฐบาลกัมพูชา
 
ทำให้ยิ่งต้องตั้งคำถามว่า อาเซียนคงไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนทั่วไปขึ้นมาได้ ข้อนี้แตกต่างอย่างยิ่งกับอียู ซึ่งประชาชนสามารถฟ้องรัฐที่ละเมิดสิทธิตนเองได้ (ดู http://prachatai.com/journal/2011/03/33607)
 
โดยสรุป
 
หากจะศึกษาปรากฏการณ์อาเซียน เราน่าจะพิจารณากรอบการศึกษา วิธิวิทยา และจุดยืนเชิงวิพากษ์ ให้เหมาะสมกับการศึกษาในระดับภูมิภาคให้มากขึ้น ข้อวิจารณ์นี้ไม่ได้พุ่งไปที่นิสิตที่เสนองานเท่านั้น แต่ยังมุ่งหมายให้แวดวงวิชาการที่สนใจเรื่องอาเซียน เรื่องอุษาคเนย์ เข้าใจมิติเชิงโครงสร้าง มิติของความเป็นภูมิภาค และแสดงจุดยืนปกป้องสิทธิของผู้คนในอาเซียน เพื่อสร้่างอาเซียนยุคต่อไปให้เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ ให้คนได้อยู่อย่างเสมอหน้ากันในภูมิภาค
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน