Skip to main content

เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้


สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่พัดโชยไปทั่วโลกกำลังแสดงให้เห็นว่า ขณะนี้เรากำลังก้าวเข้าสู่ศตวรรษของการเมืองวัฒนธรรมดา การเมืองวัฒนธรรมดาเป็นการเมืองของสามัญชน เป็นการเมืองที่สามัญชนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งทางตรงและผ่านระบบการเมืองมากขึ้น อันที่จริงสามัญชนมีความสำคัญเสมอในการเมือง วัฒนธรรมของสามัญชนก็สำคัญเสมอในประวัติศาสตร์สังคม เพียงแต่บทบาทของสามัญชนเริ่มปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไม่นานมานี้เอง อย่างน้อยก็ในซีกโลกที่สามัญชนถูกละเลย หยามหมิ่นตลอดมา อย่างไรก็ดี เราไม่ควร romanticize หรือให้ค่ากับวัฒนธรรมดาและคนสามัญ จนราวกับว่ามันคือคำตอบของทุกสิ่งทุกอย่าง และจนราวกับว่าวัฒนธรรมดาและสามัญชนมีตัวตนของตนเองอยู่นอกเหนือการควบคุมครอบงำของระบบที่วัฒนธรรมดาและสามัญชนอาศัยอยู่.

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้เสนองานวิจัยในวงสนทนาปิดวงหนึ่ง วงสนทนาประกอบไปด้วยนักวิชาการสำคัญๆ ของประเทศหลายคน เมื่อเสนอผลงานเสร็จ นักวิชาการเหล่านี้ก็ระดมคำถามวิจารณ์งานที่คณะผู้วิจัยเสนอ ส่วนหนึ่งแสดงทัศนะแบบที่ผมขอเรียกว่าเป็น "ทัศนะไม่เห็นหัวชาวบ้าน" เช่นว่า 
 
"ถึงชาวบ้านจะเลือกด้วยตัวเอง แต่การเลือกตั้งนั้นก็ถูกกำหนดมาแล้วโดยทักษิณ เขาซื้อผู้สมัครสส.ไว้ก่อนแล้ว นักการเมืองถูกซื้อแล้ว คนเลือกตั้งไม่รู้หรอก" คำพูดแบบนี้สรุปไปเลยว่า ชาวบ้านไม่รู้เส้นสนกลใน มีแต่นักวิชาการบางคนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกสุดใจเท่านั้นที่จะสามารถรู้ได้
 
"งานวิจัยนี้พูดถึงคนเสื้อแดงมากเกินไป ไม่ยุติธรรมกับคนเสื้อเหลือง" คำพูดแบบนี้ละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า ตลอดระยะเวลากว่าหกปีของความขัดแย้งทางการเมืองรอบนี้ มีแต่คนพยายามเข้าใจคนเสื้อเหลืองมาตลอด และ "ความยุติธรรม" ดูเหมือนจะเข้าข้างคนเสื้อเหลืองมาตลอด คนเสื้อแดงต่างหากที่ต้องการความยุติธรรม คนเสื้อแดงต่างหากที่ต้องการคำอธิบาย แล้วมันยุติธรรมหรือที่พวกเขาจะถูกสังหารโหด ถูกขังคุกฟรี โดยที่สังคมไทยไม่เคยพยายามเข้าใจพวกเขาเลย
 
"ทั้งคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดงถูกสื่อกล่อมเกลา ฟังแต่สื่อของตนเอง จนหลงเชื่อไปหมด" คำพูดแบบนี้กำลังจะบอกว่ามีแต่นักวิชาการเท่านั้น มีแต่คนใส่เสื้อไม่มีสีเท่านั้น (มีด้วยหรือ เสื้อแบบนั้น) ที่ฉลาด รู้เท่าทันสื่อ ส่วนชาวบ้านนั้นโง่เสมอหน้ากันหมด
 
"ที่บอกว่า ‘ทักษิณเป็นอุดมการณ์’ นั้นไม่ถูกต้อง เพราะทักษิณไม่ได้มีอุดมการณ์อะไร" คำกล่าวแบบนี้ ไม่เข้าใจว่า สำหรับคนสามัญแล้ว เขาไม่รู้จักจีดีพี ค่าสัมประสิทธิ์จีนี หรือค่าเช่าทางเศรษฐกิจ เขาพูดคำว่า "ทักษิณ" ก็เพราะเขาเห็นประโยชน์ต่างๆ ที่ทักษิณให้กับพวกเขา และเขาเห็นใจคนที่ช่วยเหลือเขาถูกยึดอำนาจไปอย่างไม่ถูกต้อง
 
คำกล่าวเหล่านี้แม้จะไม่เลวร้ายเท่ากับการกล่าวว่า “ชาวบ้านโง่-จน-เจ็บ” แบบในหลายทศวรรษก่อนหน้า และจึงมองว่าคนสามัญตกอยู่ในระบอบอุปถัมภ์ตลอดกาล ไม่สามารถตัดสินใจทางการเมืองด้วยตนเองได้ แต่คำกล่าวเหล่านี้ก็เป็นทัศนะในทำนองเดียวกัน เช่นเดียวกับคำพูดจากปากนักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่เคยมีชื่อเสียงว่าต่อสู้เพื่อคนยากคนจนมาตลอด มาทุกวันนี้กลับมากล่าวว่า  “ชาวนาไม่ได้เสียภาษี จะเอาเงินไปช่วยชาวนาทำไม" เป็นคำกล่าวที่ไม่เพียงดูแคลนชาวบ้านผู้เสียภาษี แต่ยังจงใจบิดเบือนความจริงที่ว่า งบประมาณของประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ทุกคนจ่ายอย่างเสมอหน้ากันเมื่อซื้อสินค้าอุตสาหกรรม ฉะนั้นชาวไร่ชาวนาน่าจะเสียภาษีมากกว่าคนในกรุงเสียอีก ตลอดจนคำกล่าวของเพื่อนนักวิชาบางท่านว่า “เดี๋ยวนี้ชาวบ้านก้าวร้าว ไม่เหมือนแต่ก่อน” “ทักษิณใช้เงินซื้อชาวบ้านไว้หมดแล้ว” ก็ล้วนหันหลังให้คนสามัญไปเสียหมดแล้ว
 
แทบจะตรงกันข้ามกันนั้น งานวิจัยของผมและคณะนักวิชาการที่ทำด้วยกัน ต้องการตอบคำถามในระดับโครงสร้างของเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมว่า อะไรคือสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองล่าสุดนี้ (ขอขอบคุณแหล่งทุนที่สนับสนุนงานวิจัยนี้) ผลการวิจัยเท่าที่เปิดเผยได้ในขณะนี้คือ ความขัดแย้งนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งเฉพาะกลุ่มคนแล้วนำเอามวลชนมาเป็นเดิมพัน หากแต่เป็นความขัดแย้งที่มีรากลึกทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ดังที่ผมได้เคยนำเสนอประเด็นเหล่านั้นมาอย่างต่อเนื่องแล้วว่า 
 
(1) ในเชิงเศรษฐกิจ ความขัดแย้งนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลางเก่า ท่ีเติบโตมาจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2500 กับชนชั้นใหม (emerging class) ที่เติบโตขึ้นมาจากการกระจายทรัพยากรและการปรับโครงสร้างทางการเมืองตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา 
 
(2) ในเชิงการเมืองและอุดมการณ์ ชนชั้นกลางเก่าเป็นพันธมิตรกับชนชั้นนำสายอนุรักษ์นิยม ส่วนกลุ่มชนชั้นใหม่เป็นพันธมิตรกับกลุ่มทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย แน่นอนว่าคนทั้งสองกลุ่มมีหลายกลุ่มปลีกย่อย เช่น กลุ่มชนชั้นกลางเก่ามีตั้งแต่กลุ่มที่ต้องการแช่แข็งประเทศไทย เป็นอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว รักลุ่มหลงกับสถาบันกษัตริย์อย่างสุดขั้ว เกลียดนักการเมืองสุดขั้ว และไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตยอย่างสุดขั้ว หรือกลุ่มที่ต้องการสร้างกลไกตรวจสอบนักการเมืองที่นอกเหนือไปจากรัฐสภา ส่วนสุดขั้วของชนชั้นใหม่มีตั้งแต่กลุ่มที่ต้องการให้พรรคเพื่อไทยบริหารประเทศ เพราะเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาปากท้อง หรือกลุ่มที่เน้นพัฒนาการประชาธิปไตยแบบตัวแทน
 
น่าแปลกใจที่นักวิชาการจำนวนมากศึกษา “ชาวบ้าน” มาอย่างยาวนาน แต่กลับไม่เคยเห็นหัวชาวบ้าน ที่น่าแปลกใจยิ่งกว่านั้นคือ นักวิชาการบางคนที่ใจอยู่ข้างชาวบ้าน แต่ก็ยังไม่เชื่อมั่นว่าชาวบ้านจะก้าวข้ามอุปสรรคทางอุดมการณ์ เพื่อรับรู้ถึงภววิสัยของปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมืองได้ด้วยตนเอง เช่นบางคนเสนอว่า ต้องเลิกการกล่อมเกลาทางการเมือง เลิกอุดมการณ์ยกย่องเทิดทูนสถาบันกษัตริย์จนเกินพอดีกันเสียที ทั้งๆ ที่เอาเข้าจริงแล้ว เราจะเห็นได้ไม่ยากว่า กระบวนการทางการเมืองที่ผ่านมาได้ทำให้ทัศนดติของชาวบ้านต่อสถาบันกษัตริย์เปลี่ยนไปอย่างมาก ชาวบ้านไม่ได้เชื่อสิ่งที่ทีวีและสื่อต่างๆ ประโคมป้อนให้อย่างง่ายๆ อีกต่อไป ปรากฏการณ์ "ตาสว่าง" เกิดขึ้นได้ทั้งๆ ที่การโหมประโคมข่าวเกี่ยวกับสถาบันกลับเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ (ข้อความหลังสุดนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับงานวิจัยของผม เพราะสถาบันที่ให้ทุนผมวิจัยเซ็นเซอร์ ไม่ยินดีให้ทีมวิจัยกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในลักษณะนี้ จึงขอบอกว่า ข้อมูลนี้ไม่ได้ได้มาจากการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยนั้น)
 
อันที่จริงเดิมทีพวกเขาก็ไม่ได้เชื่ออย่างนั้น คงมีเพียงชนชั้นกลางสายอนุรักษ์เท่านั้นที่เชื่อว่าใครๆ ก็มีทัศนคติต่อสถาบันกษัตริย์แบบเดียวกับที่ตนมีทั้งสิ้น ในงานวิจัยของ Katherine Bowie ที่ศึกษาการฝึกลูกเสือชาวบ้านในหมู่บ้านภาคเหนือในทศวรรษ 2510 ชี้ให้เห็นไว้นานก่อนปรากฏการณ์ตาสว่างว่า มีเพียงชาวบ้านกลุ่มชนชั้นนำและชนชั้นกลางระดับบนในหมู่บ้านเท่านั้นที่จะดืมด่ำฟูมฟายกับการอบรมลูกเสือชาวบ้าน ส่วนชนชั้นล่างในหมู่บ้านสมัยนั้น ก็ไม่ได้ดื่มด่ำกับสถาบันกษัตริย์เช่นเดียวกับชนชั้นนำในหมู่บ้านเลย (Bowie 1997) ถ้าดูดังนี้แล้ว ดูเหมือนการเมืองไทยจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก เพียงแต่คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เคยมีปากมีเสียงในทางการเมือง ได้ออกมาแสดงตัวมากขึ้นเรื่อยๆ
 
การทำความเข้าใจพลังของวัฒนธรรมดาและคนสามัญจึงมีความสำคัญ ไม่เช่นนั้นเราก็จะผลิตซ้ำวาทกรรมชาวบ้านโง่-จน- เจ็บ ผลิตซ้ำทัศนคติดูแคลนชาวบ้านแม้ว่าจะรักชาวบ้าน สืบไปตลอด
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน