Skip to main content

เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้


สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่พัดโชยไปทั่วโลกกำลังแสดงให้เห็นว่า ขณะนี้เรากำลังก้าวเข้าสู่ศตวรรษของการเมืองวัฒนธรรมดา การเมืองวัฒนธรรมดาเป็นการเมืองของสามัญชน เป็นการเมืองที่สามัญชนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งทางตรงและผ่านระบบการเมืองมากขึ้น อันที่จริงสามัญชนมีความสำคัญเสมอในการเมือง วัฒนธรรมของสามัญชนก็สำคัญเสมอในประวัติศาสตร์สังคม เพียงแต่บทบาทของสามัญชนเริ่มปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไม่นานมานี้เอง อย่างน้อยก็ในซีกโลกที่สามัญชนถูกละเลย หยามหมิ่นตลอดมา อย่างไรก็ดี เราไม่ควร romanticize หรือให้ค่ากับวัฒนธรรมดาและคนสามัญ จนราวกับว่ามันคือคำตอบของทุกสิ่งทุกอย่าง และจนราวกับว่าวัฒนธรรมดาและสามัญชนมีตัวตนของตนเองอยู่นอกเหนือการควบคุมครอบงำของระบบที่วัฒนธรรมดาและสามัญชนอาศัยอยู่.

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้เสนองานวิจัยในวงสนทนาปิดวงหนึ่ง วงสนทนาประกอบไปด้วยนักวิชาการสำคัญๆ ของประเทศหลายคน เมื่อเสนอผลงานเสร็จ นักวิชาการเหล่านี้ก็ระดมคำถามวิจารณ์งานที่คณะผู้วิจัยเสนอ ส่วนหนึ่งแสดงทัศนะแบบที่ผมขอเรียกว่าเป็น "ทัศนะไม่เห็นหัวชาวบ้าน" เช่นว่า 
 
"ถึงชาวบ้านจะเลือกด้วยตัวเอง แต่การเลือกตั้งนั้นก็ถูกกำหนดมาแล้วโดยทักษิณ เขาซื้อผู้สมัครสส.ไว้ก่อนแล้ว นักการเมืองถูกซื้อแล้ว คนเลือกตั้งไม่รู้หรอก" คำพูดแบบนี้สรุปไปเลยว่า ชาวบ้านไม่รู้เส้นสนกลใน มีแต่นักวิชาการบางคนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกสุดใจเท่านั้นที่จะสามารถรู้ได้
 
"งานวิจัยนี้พูดถึงคนเสื้อแดงมากเกินไป ไม่ยุติธรรมกับคนเสื้อเหลือง" คำพูดแบบนี้ละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า ตลอดระยะเวลากว่าหกปีของความขัดแย้งทางการเมืองรอบนี้ มีแต่คนพยายามเข้าใจคนเสื้อเหลืองมาตลอด และ "ความยุติธรรม" ดูเหมือนจะเข้าข้างคนเสื้อเหลืองมาตลอด คนเสื้อแดงต่างหากที่ต้องการความยุติธรรม คนเสื้อแดงต่างหากที่ต้องการคำอธิบาย แล้วมันยุติธรรมหรือที่พวกเขาจะถูกสังหารโหด ถูกขังคุกฟรี โดยที่สังคมไทยไม่เคยพยายามเข้าใจพวกเขาเลย
 
"ทั้งคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดงถูกสื่อกล่อมเกลา ฟังแต่สื่อของตนเอง จนหลงเชื่อไปหมด" คำพูดแบบนี้กำลังจะบอกว่ามีแต่นักวิชาการเท่านั้น มีแต่คนใส่เสื้อไม่มีสีเท่านั้น (มีด้วยหรือ เสื้อแบบนั้น) ที่ฉลาด รู้เท่าทันสื่อ ส่วนชาวบ้านนั้นโง่เสมอหน้ากันหมด
 
"ที่บอกว่า ‘ทักษิณเป็นอุดมการณ์’ นั้นไม่ถูกต้อง เพราะทักษิณไม่ได้มีอุดมการณ์อะไร" คำกล่าวแบบนี้ ไม่เข้าใจว่า สำหรับคนสามัญแล้ว เขาไม่รู้จักจีดีพี ค่าสัมประสิทธิ์จีนี หรือค่าเช่าทางเศรษฐกิจ เขาพูดคำว่า "ทักษิณ" ก็เพราะเขาเห็นประโยชน์ต่างๆ ที่ทักษิณให้กับพวกเขา และเขาเห็นใจคนที่ช่วยเหลือเขาถูกยึดอำนาจไปอย่างไม่ถูกต้อง
 
คำกล่าวเหล่านี้แม้จะไม่เลวร้ายเท่ากับการกล่าวว่า “ชาวบ้านโง่-จน-เจ็บ” แบบในหลายทศวรรษก่อนหน้า และจึงมองว่าคนสามัญตกอยู่ในระบอบอุปถัมภ์ตลอดกาล ไม่สามารถตัดสินใจทางการเมืองด้วยตนเองได้ แต่คำกล่าวเหล่านี้ก็เป็นทัศนะในทำนองเดียวกัน เช่นเดียวกับคำพูดจากปากนักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่เคยมีชื่อเสียงว่าต่อสู้เพื่อคนยากคนจนมาตลอด มาทุกวันนี้กลับมากล่าวว่า  “ชาวนาไม่ได้เสียภาษี จะเอาเงินไปช่วยชาวนาทำไม" เป็นคำกล่าวที่ไม่เพียงดูแคลนชาวบ้านผู้เสียภาษี แต่ยังจงใจบิดเบือนความจริงที่ว่า งบประมาณของประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ทุกคนจ่ายอย่างเสมอหน้ากันเมื่อซื้อสินค้าอุตสาหกรรม ฉะนั้นชาวไร่ชาวนาน่าจะเสียภาษีมากกว่าคนในกรุงเสียอีก ตลอดจนคำกล่าวของเพื่อนนักวิชาบางท่านว่า “เดี๋ยวนี้ชาวบ้านก้าวร้าว ไม่เหมือนแต่ก่อน” “ทักษิณใช้เงินซื้อชาวบ้านไว้หมดแล้ว” ก็ล้วนหันหลังให้คนสามัญไปเสียหมดแล้ว
 
แทบจะตรงกันข้ามกันนั้น งานวิจัยของผมและคณะนักวิชาการที่ทำด้วยกัน ต้องการตอบคำถามในระดับโครงสร้างของเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมว่า อะไรคือสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองล่าสุดนี้ (ขอขอบคุณแหล่งทุนที่สนับสนุนงานวิจัยนี้) ผลการวิจัยเท่าที่เปิดเผยได้ในขณะนี้คือ ความขัดแย้งนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งเฉพาะกลุ่มคนแล้วนำเอามวลชนมาเป็นเดิมพัน หากแต่เป็นความขัดแย้งที่มีรากลึกทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ดังที่ผมได้เคยนำเสนอประเด็นเหล่านั้นมาอย่างต่อเนื่องแล้วว่า 
 
(1) ในเชิงเศรษฐกิจ ความขัดแย้งนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลางเก่า ท่ีเติบโตมาจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2500 กับชนชั้นใหม (emerging class) ที่เติบโตขึ้นมาจากการกระจายทรัพยากรและการปรับโครงสร้างทางการเมืองตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา 
 
(2) ในเชิงการเมืองและอุดมการณ์ ชนชั้นกลางเก่าเป็นพันธมิตรกับชนชั้นนำสายอนุรักษ์นิยม ส่วนกลุ่มชนชั้นใหม่เป็นพันธมิตรกับกลุ่มทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย แน่นอนว่าคนทั้งสองกลุ่มมีหลายกลุ่มปลีกย่อย เช่น กลุ่มชนชั้นกลางเก่ามีตั้งแต่กลุ่มที่ต้องการแช่แข็งประเทศไทย เป็นอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว รักลุ่มหลงกับสถาบันกษัตริย์อย่างสุดขั้ว เกลียดนักการเมืองสุดขั้ว และไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตยอย่างสุดขั้ว หรือกลุ่มที่ต้องการสร้างกลไกตรวจสอบนักการเมืองที่นอกเหนือไปจากรัฐสภา ส่วนสุดขั้วของชนชั้นใหม่มีตั้งแต่กลุ่มที่ต้องการให้พรรคเพื่อไทยบริหารประเทศ เพราะเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาปากท้อง หรือกลุ่มที่เน้นพัฒนาการประชาธิปไตยแบบตัวแทน
 
น่าแปลกใจที่นักวิชาการจำนวนมากศึกษา “ชาวบ้าน” มาอย่างยาวนาน แต่กลับไม่เคยเห็นหัวชาวบ้าน ที่น่าแปลกใจยิ่งกว่านั้นคือ นักวิชาการบางคนที่ใจอยู่ข้างชาวบ้าน แต่ก็ยังไม่เชื่อมั่นว่าชาวบ้านจะก้าวข้ามอุปสรรคทางอุดมการณ์ เพื่อรับรู้ถึงภววิสัยของปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมืองได้ด้วยตนเอง เช่นบางคนเสนอว่า ต้องเลิกการกล่อมเกลาทางการเมือง เลิกอุดมการณ์ยกย่องเทิดทูนสถาบันกษัตริย์จนเกินพอดีกันเสียที ทั้งๆ ที่เอาเข้าจริงแล้ว เราจะเห็นได้ไม่ยากว่า กระบวนการทางการเมืองที่ผ่านมาได้ทำให้ทัศนดติของชาวบ้านต่อสถาบันกษัตริย์เปลี่ยนไปอย่างมาก ชาวบ้านไม่ได้เชื่อสิ่งที่ทีวีและสื่อต่างๆ ประโคมป้อนให้อย่างง่ายๆ อีกต่อไป ปรากฏการณ์ "ตาสว่าง" เกิดขึ้นได้ทั้งๆ ที่การโหมประโคมข่าวเกี่ยวกับสถาบันกลับเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ (ข้อความหลังสุดนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับงานวิจัยของผม เพราะสถาบันที่ให้ทุนผมวิจัยเซ็นเซอร์ ไม่ยินดีให้ทีมวิจัยกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในลักษณะนี้ จึงขอบอกว่า ข้อมูลนี้ไม่ได้ได้มาจากการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยนั้น)
 
อันที่จริงเดิมทีพวกเขาก็ไม่ได้เชื่ออย่างนั้น คงมีเพียงชนชั้นกลางสายอนุรักษ์เท่านั้นที่เชื่อว่าใครๆ ก็มีทัศนคติต่อสถาบันกษัตริย์แบบเดียวกับที่ตนมีทั้งสิ้น ในงานวิจัยของ Katherine Bowie ที่ศึกษาการฝึกลูกเสือชาวบ้านในหมู่บ้านภาคเหนือในทศวรรษ 2510 ชี้ให้เห็นไว้นานก่อนปรากฏการณ์ตาสว่างว่า มีเพียงชาวบ้านกลุ่มชนชั้นนำและชนชั้นกลางระดับบนในหมู่บ้านเท่านั้นที่จะดืมด่ำฟูมฟายกับการอบรมลูกเสือชาวบ้าน ส่วนชนชั้นล่างในหมู่บ้านสมัยนั้น ก็ไม่ได้ดื่มด่ำกับสถาบันกษัตริย์เช่นเดียวกับชนชั้นนำในหมู่บ้านเลย (Bowie 1997) ถ้าดูดังนี้แล้ว ดูเหมือนการเมืองไทยจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก เพียงแต่คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เคยมีปากมีเสียงในทางการเมือง ได้ออกมาแสดงตัวมากขึ้นเรื่อยๆ
 
การทำความเข้าใจพลังของวัฒนธรรมดาและคนสามัญจึงมีความสำคัญ ไม่เช่นนั้นเราก็จะผลิตซ้ำวาทกรรมชาวบ้านโง่-จน- เจ็บ ผลิตซ้ำทัศนคติดูแคลนชาวบ้านแม้ว่าจะรักชาวบ้าน สืบไปตลอด
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทันทีที่ คสช. ขอบคุณ ธีรยุทธ บุญมี ธีรยุทธก็ได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร แนวทางสำคัญ ๆ ได้แก่งานวิชาการที่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักมานุษยวิทยามีแนวโน้มที่จะ "โรแมนติก" นั่นคือ "อิน" ไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา ความเห็นอกเห็นใจอาจเกินเลยจนกลายเป็นความหลงใหลฟูมฟายเออออไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies)