Skip to main content

ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้

ก็เลยนึกย้อนกลับไปที่บทความที่เคยเขียนแต่ยังไม่ได้ตีพิมพ์เมื่อหลายปีก่อน และบทสนทนากับนักศึกษาเมื่อวาน
 
เมื่อวาน นักศึกษาเกาหลีคนหนึ่งมาพบ เธอมาขอคำปรึกษาเรื่องการเรียนต่อปริญญาเอกทางมานุษยวิทยาที่ธรรมศาสตร์ นักศึกษาคนนี้จบปริญญาโทภาษาศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ เขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาไทย วิทยานิพนธ์เธอน่าสนใจมาก เธอเปรียบเทียบคำศัพท์ภาษาไทยว่า "ดู" กับ "เห็น" และคำศัพท์ภาษาเกาหลีว่า "โบดา" ที่แปลได้ทั้งดูและเห็น เธอสรุปว่า คำทั้งสองในภาษาไทยมีระบบคิดที่แตกต่างจากภาษาเกาหลี
 
แต่นักศึกษาคนนี้ไม่ได้อยากจะมาศึกษาเรื่องภาษาต่อ เธออยากเปลี่ยนมาทำความเข้าใจเรื่องอาหาร อยากเปรียบเทียบอาหารเกาหลีกับอาหารไทย ส่วนหนึ่งเพราะเธอหงุดหงิดกับอาหารเกาหลีในเมืองไทยที่มันผิดเพี้ยนไปจากที่เธอทำกินเองเหลือเกิน ส่วนอาหารไทย เธอคิดว่าน้ำปลาเป็นอัตลักษณ์สำคัญของอาหารไทย ผมแนะนำหนังสือเกี่ยวกับการศึกษาอาหารในทางมานุษยวิทยาไป แล้วชวนเธอคิดว่า น้ำปลาสำคัญกับอาหารไทยจริงหรือ
 
ผมเคยเขียนบทความชื่อทำนองว่า "ปัญญาสถิตในรส: รส รัฐ ผัสสะ และความเป็นชาติ" เสนอว่าอาหารแสดงถึงพรมแดนทางชาติพันธ์ุที่สำคัญ เราสร้างพรมแดนแบ่งแยกกลุ่มคนกันด้วยอะไรหลายอย่าง แต่พรมแดนที่เราแบ่งแยกกันและก้าวข้ามกันไม่ได้ง่ายๆ คือพรมแดนของผัสสะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรมแดนที่ติดอยู่ที่ปลายลิ้นของเรา ผมจึงคิดว่า เพื่อนกินน่ะหายากกว่าเพื่อนตายยิ่งนัก
 
ผมชวนนักศึกษาคนนี้คิดเรื่องน้ำปลาต่อ เคยมีเพื่อนร่วมสถาบันที่อเมริกาคนหนึ่งศึกษาเรื่องน้ำปลาในเวียดนาม เขาได้ข้อสรุปว่า คนเวียดนามถือว่าน้ำปลาเป็นอัตลักษณ์แสดงความเป็นคนเวียด เมื่อได้คุยกับเขาครั้งแรก ในใจผมเถียงว่าไม่จริง คนไทยก็กินน้ำปลามากจะตาย น้ำปลาก็เป็นของไทยเหมือนกัน แต่เมื่อได้อ่านวิทยานิพนธ์ของเขา ได้รู้จักการกินและการใช้น้ำปลาของชาวเวียดนาม ผมก็เริ่มคล้อยตาม แล้วคิดว่า คนไทยไม่ได้รู้จักน้ำปลา ไม่ได้เคารพน้ำปลา ไม่ได้ให้ความหมายลึกซึ้งกับน้ำปลาได้เท่าคนเวียดนามแน่นอน
 
เช่นว่า คนเวียดมีภาษิตว่า "เด็กดีก็เหมือนน้ำปลาที่บ่มมาอย่างดี" หากไม่มีอะไรไหว้บรรพบุรุษจริงๆ แค่ได้น้ำปลากับข้าวเปล่าร้อนๆ สักถ้วยก็ใช้ได้แล้ว คนเวียดพิถีพิถันกับการหาเกลือมาทำน้ำปลามาก น้ำปลาดีต้องมีทั้งเกลือสมุทรและเกลือสินเธาว์ คนเวียดไม่ใช้น้ำปลาพร่ำเพรื่อแบบคนไทย เขาเหยาะน้ำปลาแต่เพียงน้อยในการปรุงรสเพื่อให้กลิ่นน้ำปลาเพียงพอเหมาะกับกลิ่นอาหาร และไม่ใช้น้ำปลาจิ้มหรือสาดรดอาหารแทบทุกจานแบบคนไทย
 
ผมชวนนักศึกษาเกาหลีคนนี้คุยเรื่อง "คิมจิ" แปลกๆ บางชนิดที่ผมเคยกินที่เกาหลี เธออธิบายอย่างภูมิใจว่า คนเกาหลีมีวิธีทำคิมจิแบบนับไม่ถ้วน แต่ละครัวเรือนต่างมีสูตรเฉพาะตน ผมแลกเปลี่ยนว่าของเหม็นของแต่ละวัฒนนธรรมอาหารเป็นหนึ่งในสิ่งที่สร้างพรมแดนการกินได้อย่างดี ผมเล่าว่า พ่อผมเป็นคนใต้ ซึ่งมีของเหม็นสารพัดแบบ ตั้งแต่ไตปลา บูดู เคย เคยปลา จนกระทั่ง จิงจัง (จานหลังนี่คนกรุงเทพฯ ไม่รู้จักแน่นอน) แต่แกกินปลาร้าแบบอยุธยาของบ้านแม่ผมไม่ได้ แกว่ามันเหม็น
 
ในอีกชั้นเรียนหนึ่ง นักศึกษาเกาหลีอีกคนเล่าว่า คนเกาหลีมีถั่วหมักอย่างหนึ่งที่กลิ่นแรงมาก เธอบอกว่าถั่วหมักนี่เป็นของมีค่าของครอบครัว จะเอามาเลี้ยงเฉพาะแขกคนสำคัญๆ เท่านั้น
 
หากเปรียบว่าอาหารคือภาษา ของเหม็น ของดิบ และบรรดาของกินที่ชวนผะอืดผะอมสำหรับคนต่างลิ้นก็ล้วนเป็นภาษาถิ่นของแต่ละวัฒนธรรม หากคนนอกไม่พร้อมที่จะพูดภาษาถิ่น ไม่พร้อมที่จะกลืนกินความแตกต่าง ก็อย่าหวังว่าจะสร้างมิตรภาพกับคนเหล่านั้นได้ 
 
ด้วยเพราะถือคตินั้น ผมจึงพยายามไม่ปฏิเสธของกินชวนผะอืดผะอมทั้งหลาย ทั้งเพื่อท้าทายขีดจำกัดการกินของตนเอง เพื่อค้นหาสุนทรียภาพใหม่ๆ บนแผ่นลิ้น และเพิ่อสร้างมิตรภาพผ่านการกิน
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน