Skip to main content

 

เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ

 

1) ในมิติของโซเชียลมีเดีย เฟซบุกซึ่งมีสถานะเสมือนพื้นที่ส่วนตัวนั้น ได้กลับกลายเป็นกระแสสังคมขึ้นมาจนเจ้าตัวเองไม่สามารถควบคุมได้ ผลคือ เจ้าของคำพูด เจ้าของข้อความ กลับกลายมาต้องตกที่นั่งของการปรากฏตัวต่อสาธารณะ โดยที่ตนเองอาจจะไม่ได้ตั้งใจ พรมแดนที่ก้าวข้ามไปมาระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะในโซเชียลมีเดียในกรณีนี้ น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้ใครก็ตามที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ ว่าควรระวังคำพูดคำจาให้มากขนาดไหน

 

สำหรับกรณีนี้ ผมคิดว่ามันไม่ยุติธรรมเลยที่คำพูดในกลุ่ม “เพื่อน” ซึ่งแม้ว่าจะถูกระบุให้เป็น “public” กลับกลายไปเป็นคำพูด “สาธารณะ” ในพื้นที่ “นอกกลุ่มเพื่อน” ด้วยเช่นกัน ผมคิดว่าเฟซบุกกำลังกลายเป็นเวทีของการลุกล้ำอาณาบริเวณส่วนตัวมากยิ่งขึ้นทุกขณะ เนื่องจากเจ้าของคำพูดเองอาจไม่ได้ต้องการให้สถานะความเป็น “public” มีความเป็นสาธารณะในระดับกว้างขนาดนั้น 

 

ความเป็นสาธารณะในขอบเขตของกลุ่มเพื่อนในเฟซบุกจึงเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับกรณีแอร์โฮสเตสคนนี้เท่านั้น แต่ผมเชื่อว่ามันได้เคยเกิดขึ้นกับใครต่อใครหลายคนที่เล่นเฟซบุกมาแล้ว เพราะความเป็นเพื่อนและความสาธารณะมันไม่ได้ถูกจำกัดพื้นที่ชัดเจนนั่นเอง

 

2) ในมิติของคำพูดที่สร้างความเกลียดชัง แน่นอนว่าความเห็นของแอร์โฮสเตสคนนี้เป็นความเห็นที่ใช้ไม่ได้ แน่นอนว่าเราอาจวิจารณ์กันไปได้ในฐานะที่มันเป็นประเด็นทางสังคม แต่พิษภัยของคำกล่าวนั้นควรนำไปสู่โทษทัณฑ์สถานใด เราจะถือว่ากรณีนี้เป็น hate speech ได้หรือไม่ จากคำพูดซึ่งมาจากอคติทางการเมือง และเป็นคำพูดที่อาจกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ถ้าอย่างนี้ก็น่าจะเข้าข่าย hate speech

 

หากจะถือว่าเป็นดังนั้น ผมก็เห็นว่าในความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา เรามี hate speech เต็มไปหมด มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่รุนแรงมาก และที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงได้อย่างแท้จริง (คำพูดประเภท “ล้มเจ้า” “คุณเอาเจ้าหรือไม่”) และกระทบต่อคนบางกลุ่มอย่างรุนแรงมากกว่าคนบางกลุ่ม (เช่นการที่ “ผังล้มเจ้า” มีส่วนในการใส่ร้ายทางการเมือง และนำไปสู่ความเกลียดชัง กระทั่งถูกเชื่อมโยงกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ถูกล้อม ปราบอย่างทารุณ นี่น่าจะถือว่าฟังล้มเจ้าเป็น hate speech ที่มีส่วนให้เกิดการสังหารโหดกลางกรุง) 

 

แต่กระนั้นก็ตาม หากผู้สร้าง hate speech เหล่านั้นจะถูกโทษทัณฑ์ เขาควรจะได้รับโทษทัณฑ์ในฐานะอะไร ในฐานะผู้ที่ทำลายชื่อเสียงองค์กรที่เขาสังกัดอยู่ ในฐานะทำลายชื่อเสียงของประเทศชาติ หรือในฐานะพลเมืองที่สร้างความเกลียดชังแก่กันในสังคมจนเป็นเหตุให้คนใช้ความรุนแรงทำร้ายกันได้ หากจะลงทัณฑ์กันหรือหาความรับผิดชอบ ควรจะเป็นแบบใด ก็ควรจะเป็นความรับผิดชอบในประการหลังไม่ใช่หรือ เพราะถือว่าเป็นคำพูดที่กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังในสังคม เป็นความผิดต่อสังคมโดยรวม ไม่ใช่โดยกลุ่มบุคคลหนึ่งใด

 

แต่ที่แย่คือ แอร์ฯ คนนี้ กลับถูกลงโทษในลักษณะทำนองที่ว่า เธอก่อความเสียหายให้บริษัท เธอทำลายชื่อเสียงบริษัท ความผิดของเธอจึงไม่ใช่ความผิดต่อสังคม แต่กลายเป็นความผิดต่อบริษัท

 

3) ในแง่สิทธิแรงงาน กรณีนี้จะนับว่าบริษัทลงโทษเกินกว่าเหตุได้หรือไม่ บริษัทต้องการปกป้องตนเอง หรือต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมกันแน่ บริษัทอาศัยกฎที่ว่า “ข้อมูลของผู้โดยสารจะต้องได้รับการปกปิด” แต่หากพนักงานเพียงกล่าวในเฟซบุกตนเองด้วยทัศนคติไปในอีกทางหนึ่ง เช่นว่า “วันนี้ดีใจมากเลย ได้บริการคุณน้องกุ๊บกิ๊บ อภิชาติบุตรีของท่านนายก...ที่อยู่ในดวงใจฉันตลอดกาล” พนักงานคนนี้ก็อาจจะไม่ต้องถูกให้ออก แต่เป็นเพราะข้อความที่พนักงานคนนี้กล่าวถูกนำไปวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางลบมากกว่าหรือไม่ ที่ทำให้พนักงานคนนี้ต้องออกจากงาน

 

หากเกิดกรณีทำนองเดียวกันนี้อีก ที่แม้ว่าอาจจะไม่ได้ก่อความเสียหายแก่สังคมอย่างชัดเจน แต่หากคำพูดของพนักงานคนใดทำลายชื่อเสียงของบริษัท แล้วกลับกลายเป็นว่าพนักงานผู้นั้นจะต้องถูกให้ออก สิ่งน้ีจะกลายเป็นบรรทัดฐานไปในอนาคตหรือไม่ กรณีทำนองนี้เคยเกิดขึ้นกับพนักงานบริษัทชุดชั้นในแห่งหนึ่ง ที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากแสดงความเห็นทางการเมืองในทิศทางที่สังคมไม่ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย แต่กลายเป็นว่า บริษัทเห็นว่าความเห็นนั้้นมีผลเสียต่อบริษัท ทั้งๆ ที่บริษัทไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสดงความเห็นนั้น ไม่มีส่วนต้องรับผิดชอบต่อความเห็นนั้น 

 

คำถามคือ ยุติธรรมหรือไม่ที่พนักงานจะต้องถูกให้ออกด้วยเหตุที่เขาหรือเธอแสดงความเห็นที่ขัดต่อความรู้สึกของสังคม และหากใช้มาตรฐานเดียวกันนี้ ในอนาคตอันใกล้ คงจะมีพนักงานบริษัทอีกมากมาย หรือพนักงานมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ถูกเลิกจ้างอันเนื่องมาจากแสดงความเห็นขัดต่อความรู้สึกของกระแสมวลชน

 

ถึงที่สุดแล้ว ผมว่ากรณีนี้ทำให้สังคมโซเชียลมีเดียน่าจะต้องไตร่ตรองถึงการนำข้อมูล “ส่วนตัว” ออกมาเปิดเผย สื่อมวลชนที่นำข่าวสารจากโซเชียลมีเดียมาขยายผล ก็น่าจะต้องใคร่ครวญขอบเขตของการคัดกรองข่าว “ส่วนตัว” เพื่อการนำเสนอสู่ “สาธารณะ”

 

ประเด็นที่กว้างกว่านั้นคือ หากเราจะหาคนรับผิดชอบต่อการสร้างความจงเกลียดจงชังอย่างต่อเนื่องขึ้นมาในสังคมนี้ไม่ได้ ปัจเจกชนก็คงต้องพิจารณาเองให้ดีว่า ความแตกต่างทางการเมืองไม่ว่าจะในนามของความจงเกลียดหรือจงรักใคร ก็ไม่ควรต้องผลักดันกันจนสุดกู่ จนอาจนำไปสู่การมุ่งร้ายแก่กัน หรือกระตุ้นให้เกิดการสังหารโหดกลางกรุงอย่างที่ผ่านๆ  มาอีก

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพ่ิงกินอาหารเย็นเสร็จ วันนี้ลงมือทำสเต็กเนื้อ เนื้อโคขุนไทยๆ นี่แหละ ต้องชิ้นหนาๆ หน่อย ย่างบนกะทะเหล็กหนาๆ ที่หอบหิ้วมาจากอเมริกา เป็นกะทะเทพมากๆ เพราะความร้อนแรงดีมาก ใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที เกรียมได้ที่ทั้งสองด้าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษา" ต้องการพื้นที่ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น พื้นที่การเรียนรู้ก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกการเรียนรู้ ยังมีคนบางกลุ่มดื้อรั้นขัดขวางการเปลี่ยนแปลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 แน่นอนว่าโฆษณาโปรแกรมเรียนภาษาไทย (บางคนบอกเป็นแค่ตลกล้อเลียน?) ที่เป็นข่าว 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ตั้งอยู่บนอคติทางเพศ ดูถูกเพศหญิงว่าเป็นวัตถุทางเพศ ดูถูกเพศชายว่าจ้องเสพสุขทางเพศท่าเดียว (หรือหลายท่า?) สร้างภาพเหมารวมให้คนไทยและสังคมไทยไร้ศีลธรรม (ดูสิ เราออกจะเมืองพุทธ เมืองพระ) แต่ที่ยังน่าจะต้องทำความเข้าใจคือ ปฏิกิริยาที่คนไทยมีต่อวิดีโอล้อเลียนนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้พยายามทำความเข้าใจตรรกะของพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดงไว้ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ว่าพระองค์มีทัศนะต่อแนวคิด The King Can Do No Wrong อย่างไร และมาตรา 112 ควรแก้ไขเพราะเหตุใด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การตัดสินคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขและอีกหลายๆ คดีก่อนหน้านี้ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ชี้ให้เห็นยิ่งขึ้นทุกวันว่า รัฐไทยกำลังสร้างความรักด้วยการใช้กำลังข่มเหงให้ประชาชนรักประมุขของประเทศ หาใช่การส่งเสริมให้เกิดความรักประมุขจากใจจริงของประชาชนไม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดี โดยเฉพาะงานทางมานุษยวิทยา มักมีแรงขับจากอารมณ์ใคร่บางอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากเรียกร้องเรื่องทรงผม ก็ต้องเรียกร้องเรื่องชุดนักเรียนนักศึกษาด้วย จะได้เป็นก้าวแรกของการอภิวัฒน์การศึกษาไทยอย่างจริงจังเสียที พวกผู้ใหญ่ที่คอยเรียกร้องนักเรียนกับครูอาจารย์ ให้สอนให้เด็กรู้จักคิดน่ะ พวกท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า ชุดนักเรียนนักศึกษาเป็นปราการปิดกั้นเสรีภาพการคิดอย่างไร และเด็กๆ เองก็ควรเข้าใจด้วยว่า การควบคุมเรือนร่างเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแบบอำนาจนิยมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์พัฒนา กิติอาษาเมื่อเช้าตรู่วานนี้ (10 มกราคม 2556) คงไม่เป็นที่สนใจของใครต่อใครนอกแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์มากนัก แต่นี่นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงสังคมศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากพวกคุณวิจัยสำรวจอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ พวกคุณก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่า ชัยชนะจากคะแนนเสียงที่ "ไม่่่ท่วมท้นนัก" ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มาจากกลุ่มคนที่มีความหวังว่าเพื่อไทยจะเป็นเดินหน้าพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างจริงจังเสียที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สังคมไทยมีสังคมแบบหนึ่งที่แทรกซ้อนอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ คือสังคมดัดจริต สังคมดัดจริตไม่ได้มีขนาดใหญ่โต แต่เป็นสังคมของคนชั้นกลางและคนใหญ่คนโตที่กำลังเสื่อมอำนาจ สังคมดัดจริตคอยผลิตวัฒนธรรมดัดจริตเพื่อทำให้ตนเองดูดีมีหลักการ เพื่อให้ตนเองอยู่เหนือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีจริตจะดัด และเหนืออื่นใดคือเพื่อปกป้องฐานะอำนาจของตนเอง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้ คือวันที่ 1 มกราคม 2556 ผมลองคิดบวกดูบ้าง คือคิดแบบเข้าข้างตนเองทบทวนดูว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาได้ทำอะไรใหม่ๆ ให้ตนเองบ้าง คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในสมองผมคือ ได้อ่านหนังสืออะไรที่นับว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วก็คิดไปเรื่อยว่า ได้ทำอะไรที่ให้การเรียนรู้ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ คิดอะไรใหม่ๆ บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามปีใหม่ ยากที่จะหาของขวัญที่ไม่กลายเป็นขยะในชั่วข้ามคืนได้ เพื่อนชาวอเมริกันที่ผมรู้จักหลายคน ซึ่งดูท่าจะทั้งเป็นนักช้อปและเป็นคนช่างมีเหตุผล ก็เลยใช้วิธีให้เด็กๆ เขียนลิสต์รายการสิ่งของที่อยากได้ยามสิ้นปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าของที่ซื้อมาให้จะถูกใจผู้รับสักชิ้นหนึ่ง