Skip to main content

ข้อโต้แย้งต่อความเห็นผมจากของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่ลงในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355920241&grpid=03&catid=&subcatid=) ย้ำให้เห็นชัดถึงความอับจนของกรอบคิดของคนกลุ่มนี้ต่อไปนี้

1) มองคนจนในด้านเดียว หาว่าเขาโง่ มองคนจนว่า จนแล้วยังเสื_กกินเหล้า ทำร้ายตัวเอง น่าอนาจใจที่คนที่ทำงานเพื่อสังคมในปัจจุบันนี้ กลับไม่ได้มีความเข้าใจชีวิตคนที่แตกต่างจากตนเองอีกต่อไปแล้ว
 
นี่เป็นทัศนะแบบ "คุณพ่อรู้ดี" ตัดสินชีวิตคนอื่นจากมุมมองตนเอง ไม่ใช่ด้วยเพราะตนเองรู้ดีกว่าจริงๆ หรอก แต่เพราะคิดว่าตนเองเท่านั้นที่รับผิดชอบสังคมนี้ คนอื่น ชาวบ้าน โดยเฉพาะคนจน รับผิดชอบชีวิตเขาเองไม่ได้ ต้องควบคุม ต้องกำกับจัดการ
 
นี่เป็นทัศนะของชนชั้นกลางที่เชื่อมั่นในการศึกษา ชอบอ้างงานวิจัย ซึ่งก็มักวางอยู่บนกรอบเดียวกันนี้ ผมเห็นงานวิจัยเรื่องสุราแต่ละชิ้น มักไม่ได้มาจากกรอบของมุมมองทางสังคมที่เห็นปัญหาของนโยบายรัฐและปัญหาของความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง แต่มักมุ่งเป้าปัญหาไปที่คนจนปัจเจก ลดทอนปัญหาใหญ่ๆ ให้กลายเป็นปัญหาส่วนบุคคล ลดทอนปัญหาเชิงนโยบายและความเหลื่อมล้ำ ให้กลายเป็นเพียงปัญหาเชิงศีลธรรม
 
หากความดีดีจริง จะต้องเป็นความดีที่ไม่มีที่ติ จะต้องไม่สามารถถกเถียงหาข้อโต้แย้งให้สงสัยได้ว่าดีแค่ไหน ดีจริงหรือ จะต้องเป็นความดีที่ทุกคนยอมรับได้ แต่หากความดีของพวกคุณยังมีข้อสงสัย อย่าคิดว่าความดีของพวกคุณดีในตัวของมันเอง แล้วอย่าเพิ่งเที่ยวเอาความดีแบบพวกคุณไปยัดเยียดคนอื่น เพราะสังคมเขายังไม่สิ้นสงสัยในความดีแบบพวกคุณ
 
2) แทนที่จะมุ่งแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น วิธีคิดแบบนี้กลับผลักปัญหาให้เป็นปัญหาของคนอื่น ทั้งๆ ที่ตนเองมีงานที่สำคัญอยู่แล้วแต่ยังทำไม่ได้ ทำไมองค์กรนี้ไม่ไปรณรงค์ผลักดันให้เจ้าหน้าที่ ให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้มงวดกวดขันกับมาตรการและกฎหมายอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้น ทำไมจึงมาออกหน้าเถียงแทนพวกหมอ ทำไมต้องมามุ่งควบคุมคนจน 
 
นี่ทำให้น่าสงสัยว่า ตกลงเอ็นจีโอและนักวิชาการกลุ่มนี้กำลังทำงานให้ใคร น้ำเสียงขององค์กรนี้สอดคล้องกับบางองค์กรที่มักรณรงค์งดเหล้าด้วยกรอบคิดเดียวกันนี้ อย่าให้คนเขาเข้าใจไปเองครับว่า องค์กรนั้นซึ่งมีอิทธิพลมากมายจนผมยังไม่กล้าเอ่ยชื่อเลย จะมาสร้างเครือข่ายยัดเยียดศีลธรรมของชนชั้นกลางคุณพ่อรู้ดี แล้วเที่ยวใช้อิทธิพลไปทั่ว ผ่านเงินทองมากมายจากภาษีที่พวกท่านตีตราว่าบาป หรือเพราะบรรดาหมอที่ผลักดันนโยบายนี้ไม่ถนัดที่จะถกเถียงด้วยเหตุผลด้วยตนเอง หรือไม่อยากมาเกลือกกลั้วแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนในสังคม จึงอาศัยตัวช่วย ขออย่าให้เป็นอย่างนั้นเลยครับ 
 
3) ถึงที่สุดแล้ว ผมสงสัยว่านี่เป็นการบิดเบือนการใช้กฎหมายหรือไม่ เพราะในสังคมประชาธิปไตย กฎหมายไม่ได้มีไว้ใช้ควบคุมศีลธรรม กฎหมายมีไว้สำหรับการอยู่ร่วมกัน อย่ามาใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตคนอื่นผ่านกฎหมาย สังคมประชาธิปไตยต้องเป็นประชาธิปไตยในเชิงวัฒนธรรมด้วย กฎหมายจึงไม่สามารถอยู่ในกรอบของความดีความชั่วอย่างแคบๆ ได้ เพราะความดีความชั่วส่วนใหญ่วางอยู่บนความเชื่อของคนบางกลุ่มเท่านั้น 
 
แต่ในสังคมประชาธิปไตย กฎหมายต้องอยู่ในกรอบของการทำให้คนที่มาจากพื้นฐานทางสังคมที่แตกต่างกัน มาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน อยู่ร่วมกันได้ ยอมรับกันได้ เคารพกันและกันได้แม้จะแตกต่างกัน ถ้าพวกคุณยอมรับคนอื่นไม่ได้ด้วยมาตรฐานชีวิตของพวกคุณ แล้วเที่ยวไปตัดสินดีชั่วให้ชีวิตคนอื่น จนถึงกับไปออกกฎก้าวก่ายชีวิตคนอื่นด้วยมาตรฐานชีวิตของพวกคุณ แบบนั้นเขาเรียกการใช้อำนาจแบบเผด็จการ เผด็จการล้วนอ้างว่าตนใช้อำนาจในนามของความดีทั้งนั้นแหละครับ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
นี่เป็นข้อเขียนภาคทฤษฎีของ "การเมืองของนักศึกษาปัจจุบัน" หากใครไม่ชอบอ่านทฤษฎีก็ขอร้องโปรดมองข้ามไปเถอะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จริงหรือที่นักศึกษาไม่สนใจการเมือง ขบวนการนักศึกษาตายแล้วจริงหรือ ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าการถกเถียงเรื่องเครื่องแบบ เรื่องทรงผม เรื่องห้องเรียน เป็นเรื่องการเมืองได้อย่างไร แล้วดูแคลนว่ามันเป็นเพียงเรื่องเสรีภาพส่วนตัว เรื่องเรียกร้องเสรีภาพอย่างเกินเลยแล้วล่ะก็ คุณตกขบวนการเมืองของยุคสมัยไปแล้วล่ะ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะบุคคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผู้หนึ่ง ผมขอเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วนที่อธิการบดีคนต่อไปควรเร่งพิจารณา เพื่ิอกอบกู้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นบ่อน้ำบำบัดผู้กระหายความรู้ และเป็นสถาบันที่เคียงข้างประชาชนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกประกอบการพูดเรื่อง "การศึกษาไทย" เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเสนอว่าเรากำลังต่อสู้กับสามลัทธิคือ ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา และลัทธิแบบฟอร์ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษาไทยไทย: ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" เป็นโจทย์ที่นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ตั้งขึ้นอย่างท้าทาย พวกเขาท้าทายทั้งระบบการเรียนการสอน วัฒนธรรมการศึกษา เนื้อหาในหลักสูตร และระบบสังคมในสถานศึกษา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะที่ร่วมก่อตั้งและร่วมงานกับ "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสปิริตของการทำงานของ ศปช. กับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ามองหลักสิทธิมนุษยชนต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ดี นี่เป็นทัศนะและหลักการของผมเองในการร่วมงานกับ ศปช. ซึ่งอาจแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำตัดสินของศาลอาญาในกรณี 6 ศพวัดประทุมฯ ชวนให้นึกถึงภาพถ่ายเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ใต้ต้นมะขามต้นหนึ่งที่สนามหลวง นอกจากภาพชายคนที่ใช้เก้าอี้ตีศพที่ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามแล้ว ภาพผู้คนที่รายล้อมต้นมะขามซึ่งแสดงอาการเห็นดีเห็นงามหรือกระทั่งสนับสนุนอยู่นั้น สะเทือนขวัญชาวโลกไม่น้อยกว่าภาพชายใช้เก้าอี้ทำร้ายศพ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเคยนั่งในพิธีรับปริญญาบัตรในฐานะผู้รับและในมุมมองของผู้ให้มาแล้ว แต่ไม่เคยได้นั่งในพิธีในฐานะผู้สังเกตการณ์จากบนเวทีแบบเมื่อครั้งที่ผ่านมานี้มาก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฐมลิขิต: ใครรังเกียจทฤษฎี เกลียดงานเขียนแบบหอคอยงาช้าง ไม่ต้องพลิกอ่านก็ได้นะครับ และเวลาผมใส่วงเล็บภาษาอังกฤษหรืออ้างนักคิดต่างๆ นี่ ไม่ได้จะโอ่ให้ดูขลังนะครับ แต่เพื่อให้เชื่อมกับโลกวิชาการสากลได้ ให้ใครสนใจสืบค้นอ่านต่อได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะว่าไป กสทช. คนที่แสดงความเห็นต่อเนื้อหาละครฮอร์โมนนั้น ดูน่าจะเป็นคนที่สามารถวิเคราะห์ เข้าใจสังคมได้มากที่สุดในบรรดา กสทช. ทั้ง 11 คน เพราะเขามีดีกรีถึงปริญญาเอกทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโด่งดังในเยอรมนี ต่างจากคนอื่นๆ ที่ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นทหารหรือใครที่สมยอมกับการรัฐประหารปี 2549 แล้ว ก็เป็นช่างเทคนิคทางด้านการสื่อสาร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า "ไม่รู้อาจารย์ผู้ชายทนสอนหนังสือต่อหน้านักศึกษานุ่งสั้นที่นั่งเปิดหวอหน้าห้องเรียนได้อย่างไร" สำหรับผม ก็แค่เห็นนักศึกษาเป็นลูกเป็นหลานก็เท่านั้น แต่สิ่งยั่วยวนในโลกทางวิชาการมีมากกว่านั้นเยอะ และบางทีจะยิ่งหลบเลี่ยงยากยิ่งกว่าการสร้าง incest taboo ในจินตนาการขึ้นมาหน้าห้องเรียน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนมนุษยศาสตร์จำนวนมากสนใจวิธีการและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ แต่นักสังคมศาสตร์เขาตั้งท่าทำวิจัยกันอย่างไร แล้วหากนักมนุษยศาสตร์จะใช้วิธีการและทฤษฎีแบบสังคมศาสตร์บ้างจะทำอย่างไร