Skip to main content

งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดี โดยเฉพาะงานทางมานุษยวิทยา มักมีแรงขับจากอารมณ์ใคร่บางอย่าง

แต่ละปี ผมสอนวิชาชั้นปริญญาตรีภาคละหนึ่งวิชา ตามปกติ ภาคที่ 2 ของแต่ละปี ผมจะสอนวิชาชื่อ “ชาติพันธ์ุนิพนธ์” (ethnography) ส่วนแรกของวิชา จะให้นักศึกษาอ่านงานเขียน มาถกเถียงกันถึงแนวคิดต่างๆ ที่วิพากษ์งานเขียนทางมานุษยวิทยา ส่วนหลัง จะให้นักศึกษาทำโครงการวิจัยของแต่ละคน โดยมีโจทย์ให้แต่ละสัปดาห์ต้องเขียนบันทึกภาคสนามด้านต่างๆ แล้วนำมาให้เพื่อนอ่านและวิจารณ์กันในชั้นเรียน ด้วยห้องเรียนขนาดค่อนข้างใหญ่ บางปี 35 คน ปีนี้มีถึง 65 คน ทำให้การจัดการชั้นเรียนเพื่อให้ได้วัตถุประสงค์แบบที่ผมต้องการทำได้อย่างยากเย็นมาก แต่สุดท้าย นักศึกษาในวิชานี้ก็มักจะผลิตผลงานดีๆ ออกมา

 

ปีนี้ นักศึกษาเริ่มเสนอหัวข้อวิจัยที่แต่ละคนอยากทำ มีหัวข้อที่น่าสนใจมากมาย เช่น ความคิดเกี่ยวกับร่างกายของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ต้องตัดเต้านม คนสูงอายุกับโลกเทคโนโลยีปัจจุบัน ความคิดเรื่องการรักสัตว์ของคนเลี้ยงหมา เมืองในสายตาคนขับแท็กซี่ ชีวิตข้ามพรมแดนของชาวซิกข์ ชีวิตชายที่เลือกเป็นพ่อบ้าน อัตภาวะของตัวตนคนพิการ ฯลฯ แต่ก็ยังมีนักศึกษาอีกมากที่ขณะนี้ยังคิดหัวข้อวิจัยไม่ออก 

 

เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาคิดหาหัวข้อวิจัย ผมเขียนข้อความต่อไปนี้ให้นักศึกษาอ่าน...

 

งานวิจัยที่ดีไม่จำเป็นต้องมาจากการอาศัยระเบียบวิธีวิจัยที่แข็งแกร่ง หรือความเคร่งครัดในการเก็บข้อมูลอย่างเข้มข้น ไม่ได้มาจากการใช้ทฤษฎีที่หรูหรา ยุ่งยากวกวนแต่อย่างใด

 

แต่งานวิจัยที่ดีมักมาจากแรงขับบางอย่าง มาจากความมุ่งมั่นบางอย่าง นักวิจัยที่มีประสบการณ์บางคนบอกว่า งานวิจัยที่ดีมาจาก passion ที่ผมอยากแปลว่า "อารมณ์ใคร่" หากคุณทำงานวิจัยด้วยความใคร่ งานวิจัยมักออกมาดี ความใคร่แบบไหนบ้างที่จะกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยที่ดีได้

 

- curiosity ความใคร่รู้ใคร่เห็น สอดรู้สอดเห็น อยากเข้าใจ อยากรู้จัก อยากพูดคุยสนทนา อยากรู้เบื้องหลัง เบื้องลึก ของคนที่ยังไม่รู้จัก หรือแม้แต่ของคนที่รู้จักดีอยู่แล้ว นี่เป็นความใคร่พื้นฐานของการวิจัย

 

- adventurous ความตื่นเต้นท้าทาย เป็นความสนุกที่ได้คิด ได้ประลองทางปัญญา อยากทะเลาะโต้เถียงกับใคร อยากเขียนงานหรือวิจัยสิ่งที่ตนเองอยากอ่าน เนื่องจากยังไม่เห็นมีใครเขียนสิ่งที่ตนเองอยากอ่าน อยากรู้ หรือยังไม่เห็นมีใครใช้มุมมองแบบที่ตนเห็น เพื่ออธิบายสิ่งที่มักกล่าวถึงกันมามากแล้ว เป็นเสมือน “คนเห็นผี” ที่คนอื่นไม่เห็น นี่เป็นความใคร่พื้นฐานอีกข้อหนึ่งของนักผจญภัยทางปัญญา

 

- shock ตื่นตระหนกกับสิ่งแปลกใหม่ ตื่นตระหนกกับมุมมองใหม่ที่มีต่อสิ่งปกติประจำวัน หรือแม้กระทั่งไม่เฉื่อยชา ไม่ตายด้านกับสิ่งคุ้นเคย ไม่ take for granted กับสิ่งต่างๆ จนเห็นทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมชาติไปเสียหมด นี่เป็นอารมณ์ใคร่แบบนักวิจัยทางสังคมโดยแท้

 

- empathy and sympathy เห็นอกเห็นใจ เอาใจใส่ อ่อนไหว ต้องการทำความเข้าใจคนอื่น ไม่ตัดสินคนอื่นจากอคติของตนเองแต่แรก ไม่มองข้ามความเฉพาะเจาะจงที่อาจมีเหตุผลแตกต่างรองรับความแปลกประหลาด นี่มักเป็นความใคร่แบบนักมานุษยวิทยา ที่มุ่งทำความเข้าใจชีวิตที่แตกต่าง

 

- anger ความโกรธ โกรธที่เห็นคนถูกเข้าใจผิด โกรธที่เห็นคนถูกดูถูก โกรธที่เห็นคนถูกละเมิด ถูกเอาเปรียบ โกรธที่คนไม่เข้าใจคนบางกลุ่ม ทนไม่ได้กับความบิดเบี้ยวของสังคม เกิดแรงบันดาลโทสะกับการเอารัดเอาเปรียบที่อยู่ต่อหน้า ทำให้อยากอธิบาย อยากเข้าใจ เพื่อช่วยเหลือ เพื่อให้สังคมยอมรับพวกเขา เพื่อให้สังคมเป็นธรรม นี่เป็นความใคร่ของนักวิจัยที่มีจุดยืนเชิงวิพากษ์สังคม

 

- resentment ความคับข้องใจ อึดอัดใจดับสภาพที่ตนเองหรือผู้อื่นถูกกดดัน หรือกับการที่ตนเองหรือผู้อื่นถูกกระทำอย่างอยุติธรรม จึงอยากเขียนงาน อยากวิจัย เพื่อให้คนเข้าใจ ให้สังคมเข้าใจ นี่เป็นงานวิจัยที่แสดงให้สังคมรับรู้และเข้าใจชีวิตของผู้วิจัยเอง

 

อาจมีอารมณ์ใคร่อื่นๆ อีกที่ทำให้คนทำวิจัย แต่ส่วนใหญ่ผมอาศัยอารมณ์ใคร่ต่างๆ ข้างต้นเพื่อการทำวิจัย งานแต่ละชิ้นอาจมาจากอารมณ์ใคร่คนละแบบกัน หรือหลายๆ แบบปะปนกัน แต่แทบทุกครั้งที่ผมทำวิจัย หรือเขียนงาน ผมทำด้วยอารมณ์ใคร่บางอย่างเสมอ 

 

หวังว่าจะได้อ่านงานวิจัยที่พวกคุณทำด้วยความใคร่

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน