Skip to main content

"การศึกษา" ต้องการพื้นที่ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น พื้นที่การเรียนรู้ก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกการเรียนรู้ ยังมีคนบางกลุ่มดื้อรั้นขัดขวางการเปลี่ยนแปลง

 
การศึกษาในยุคของสถาบันการศึกษาสร้างขอบเขตของการเรียนรู้ให้จำกัดขีดวงอยู่ในกรอบของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แจ็ค กูดี้ (Jack Goody) นักมานุษยวิทยาผู้ใคร่ครวญและศึกษาเปรียบเทียบระบบการศึกษาทั่วโลกหลายยุคหลายสมัยเสนอว่า การศึกษาสมัยก่อนนั้นอาศัยเครื่องมือสื่อสารแบบมุขปาฐะ ปากต่อปาก จึงอยู่ในขอบเขตของความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ความรู้จึงจำกัดพื้นที่ เพราะหากไม่ไปพบผู้สอน ณ ที่ใดที่หนึ่ง ก็จะไม่ได้ความรู้ ระบบการศึกษาแบบนี้จึงอยู่ในกรอบของ "ครู-ศิษย์" ที่ความรู้ของของครูยากที่จะถูกท้าทาย เนื่องจากระบบอาวุโส และพิธีกรรมของระบบอาวุโส ปิดกั้นการแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างตรงไปตรงมาระหว่างครูกับศิษย์ 
 
หากแต่ด้วยอักษร หนังสือ และการแพร่ขยายของการพิมพ์ ความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่ในพื้นที่กรอบห้องเรียนหรือสถาบันการศึกษาอีกต่อไป แม้ว่าสถาบันการศึกษายังมีอยู่ แต่หนังสือแพร่ความรู้ไปทั่ว หนังสือทำให้ผู้เรียนไม่ต้องเกรงกลัวครูบาอาจารย์ แม้ว่าบางสังคม อย่างสังคมไทย ยังพยายามสืบทอดความคิดเกี่ยวกับหนังสือแบบเก่า ที่ให้เรากราบ เคารพหนังสือประดุจครูบาอาจารย์ แต่นั่นก็ไม่สามารถปิดกั้นโอกาสที่ผู้อ่านจะถกเถียงกับผู้เขียนในกระบวนการของการเรียนรู้ คือการอ่าน ได้ง่ายๆ แบบเดิมอีกต่อไป 
 
แม้ว่าแจ็ค กูดี้จะเข้าใจอะไรผิดๆ บ้างในรายละเอียด แต่ข้อสังเกตของเขาก็ช่วยให้เข้าใจการเปลี่ยนระบบการเรียนรู้ จากยุคสมัยที่หนังสือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มีเพียงคนหยิบมือสามารถอ่าน เขียน และครอบครองได้ ไปสู่ยุคที่การศึกษาของมวลชน (mass education) ทำให้หนังสือที่มีอยู่ดาดดื่น ถูกเข้าถึง ถูกอ่าน ถูกแจกจ่ายซื้อขายแลกเปลี่ยนกันไปทั่ว ได้เป็นอย่างดี
 
แม้กระนั้น พื้นที่ของการพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้แบบมุขปาฐะก็ยังคงมีบทบาทสำคัญ เนื่องจากการสนทนายังคงเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ หากแต่รูปแบบโครงครอบอำนาจของการสนทนาย่อมต้องเปลี่ยนไป การศึกษาปัจจุบันจึงพยายามส่งเสริมการเรียนรู้แบบ "สัมมนา" และการจัด "เสวนา" ที่ผู้เรียนสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นกันเองและกับผู้นำการสอน มากกว่าจะเป็นการ "บรรยาย" และ "ปาฐกถา" ที่ผู้สอนยังคงอำนาจของการครอบครองความรู้และการถ่ายทอดความรู้อยู่อย่างเต็มเปี่ยม การศึกษาแบบปากต่อปากในปัจจุบันจึงลดทอนอำนาจครอบงำของครูลงไปมากแล้ว
 
ในประเทศไทยปัจจุบัน ผมเห็นพื้นที่อยู่ 2 แห่ง ที่แสดงบทบาทโดดเด่นในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนแบบสัมมนา เสวนา กระทั่งสนทนา และลงมือทดลอง ปฏิบัติการ สร้างกิจกรรม นั่นคือร้านบุ๊ค รีพับบลิค (Book Re:public) และห้องสมุดเดอะ รี้ดดิ้ง รูม (The Reading Room) บุ๊ครีพับบลิคเป็นร้านหนังสือที่เชียงใหม่ แต่จัดกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นมากมาย จนผมมักจะคิดว่าเป็นห้องสมุด ส่วนเดอะรี้ดดิ้งรูมเป็นห้องสมุดด้านศิลปะ ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นสถานที่ส่วนบุคคลที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปอ่านไปใช้ได้ จนผมมักจะคิดว่าเป็นร้านหนังสือ
 
ไม่ใช่ว่าก่อนหน้านี้หรือในปัจจุบันนี้จะไม่มีร้านหนังสือหรือห้องสมุดที่ทำบทบาทนี้ เพียงแต่ ณ เวลานี้ สองแห่งนี้โดดเด่นที่สุดด้วยการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ในแบบที่สามารถดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ คนทำงานที่ยังมีเวลาของตัวเอง ครอบครัวแบบใหม่ที่ไม่ใช้เวลากับการเดินห้างสรรพสินค้า มาเข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง 
 
ทั้งสองแห่งจับประเด็นเฉพาะหน้า ร่วมสมัย คุยกันเรื่องเท่ๆ ในบรรยากาศสบายๆ ถึงขนาดนั่งๆ นอนๆ เอกเขนกราวกับนั่งคุยกันที่บ้าน ทั้งสองแห่งได้รับทุนสนับสนุนให้จัดกิจกรรมจากแหล่งทุนต่างๆ จึงสามารถส่งเทียบเชิญผู้นำการเรียนรู้มาได้จากทั่วสารทิศในสยาม ทั้งสองแห่งเผยแพร่ความรู้ออกไปในวงกว้างกว่าห้องสนทนา ไปสู่โลกกว้าง ด้วยการบันทึกการสนทนา บันทึกบทเรียน อัพโหลดขึ้นยูทูป ให้คนเข้าถึงได้ทั่วโลก
 

หากจะไปให้ไกลจนสุดขอบของพื้นที่การศึกษา โลกอินเทอร์เน็ตสร้างพื้นที่ใหม่ที่ท้าทายขอบเขตของอำนาจการเรียนรู้อย่างใหญ่หลวง กระทั่งว่าหากผู้มีอำนาจ "เล่นเน็ต" อย่างจริงจังและกล้าพอที่จะรับรู้ความเป็นไปอย่างแท้จริงของสังคม ก็จะรู้ว่าโลกแบบเดิมๆ ที่มีคนกราบกรานแห่แหนนั้น มันได้ปลาสนาไปนานแล้ว ในแง่นี้ พื้นที่สองแห่งนั้นได้สร้างความเชื่อมต่อ ระหว่างโลกของการสนทนาปากต่อปาก ไปสู่การศึกษาที่แทบจะไร้ขอบเขตในอินเทอร์เน็ต

ถามว่ามีห้องเรียนหรือสถาบันการศึกษาใดในประเทศนี้ทำได้ใกล้เคียงกับที่สถานที่ 2 แห่งนี้ทำได้บ้าง ถามว่าการเรียนรู้ในลักษณะนี้เป็นการศึกษาที่สร้างคนให้คิดเป็น ให้ถกเถียงได้ ให้ตอบโจทย์สังคมปัจจุบัน ตอบโจทย์ชีวิตร่วมสมัยได้ใช่หรือไม่ ถามว่าสถานที่ทั้งสองแห่งนี้จัดกิจกรรมอย่างเปิดเผย ให้สาธารณชนรับรู้ ให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบว่าอยู่ในกรอบของกฎหมายไม่ใช่หรือ แล้วทำไมต้องกลัวด้วย
 
ในบรรยากาศที่ผู้บริหารสถาบันการศึกษาในปัจจุบันมุ่งแต่จะ "เก็บแต้ม" ทำคะแนนประกันปริมาณในนามที่ตั้งขึ้นเพื่อหลอกตัวเองว่าเป็นการประกันคุณภาพ ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า ปีนี้สถาบันตนเองทำรายได้ได้เท่าไหร่ จะเลี้ยงตัวเองได้หรือไม่ จะถูกตัดงบประมาณหรือไม่ 
 
ในบรรยากาศที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางแห่งเห็นการออกนอกระบบเป็นความก้าวหน้า แต่ยังอธิบายให้นักศึกษาของตนเองเข้าใจไม่ได้ว่า การทำงานมานาน 25 ปี แสดงว่าตนเองรักสถาบันนั้นมากกว่านักศึกษาที่เรียนอยู่ 4 ปีแต่เป็นห่วงทิศทางการศึกษาของการออกนอกระบบมากกว่าผู้บริหารได้อย่างไร 
 
ในบรรยากาศที่ผู้ปฏิบัติงานในสถาบันการศึกษาถูกอุดมการณ์ "ครู" ครอบงำไม่ให้เรียกร้องสวัสดิการและค่าแรง ในบรรยากาศที่นักศึกษามหาวิทยาลัยเข้าห้องเรียนเพื่อแช็ทไลน์ เล่น BB ถ่ายรูป อัพรูปถ่ายในห้องเรียน แล้วรับปริญญาเมื่อเก็บหน่วยกิตครบ 
 
ในบรรยากาศแบบนี้ บุ๊ครีพับบลิคและเดอะรี้ดดิ้งรูมสร้างห้องเรียนที่เปิดให้คนสมัครใจเข้ามาไขว่คว้าความรู้เอง มาเจ็บสมองเอง มานั่งหลังขดหลังแข็งเองเป็นชั่วโมงๆ บุ๊ครีพับบลิคและเดอะรี้ดดิ้งรูมสร้างการเรียนรู้ที่เข้าใกล้การศึกษาในอุดมคติมากกว่ามหาวิทยาลัย 
 
แล้วถามว่าทำไมใครบางกลุ่มที่ระแวงสงสัยในกิจกรรมของสถานที่ทั้งสองแห่งนี้จึงไม่ลองเข้าร่วมกิจกรรม แล้วแลกเปลี่ยนกับวิทยากรและผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยเหตุด้วยผลบ้าง ไม่ใช่เอาแต่อาศัยระบบอำนาจนิยม เอาแต่เที่ยวด่าว่าลับหลัง หรือโทรศัพท์ ส่งจดหมายมาคุกคาม
 
ด้วยบทบาทดังกล่าวของบุ๊ครีพับบลิคและรีดดิ้งรูม ผมว่าใครก็ตามที่หาเหตุบีบคั้น ใส่ร้ายป้ายสี ตัดสินคนอื่นบนอคติของรสนิยมทางการเมืองตนเอง จะไม่สามารถทัดทานพลังการศึกษาของห้องเรียนทั้งสองนี้ได้ เพราะห้องเรียนทั้งสองตอบโจทย์การศึกษาที่ ถ้ามหาวิทยาลัยและโรงเรียนจะยังไม่ถึงกับไร้น้ำยาไปโดยสิ้นเชิง ก็นับวันจะยิ่งไม่สามารถทำบทบาทให้การศึกษาได้ดีโดยลำพังอีกต่อไป

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน