Skip to main content

"การศึกษา" ต้องการพื้นที่ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น พื้นที่การเรียนรู้ก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกการเรียนรู้ ยังมีคนบางกลุ่มดื้อรั้นขัดขวางการเปลี่ยนแปลง

 
การศึกษาในยุคของสถาบันการศึกษาสร้างขอบเขตของการเรียนรู้ให้จำกัดขีดวงอยู่ในกรอบของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แจ็ค กูดี้ (Jack Goody) นักมานุษยวิทยาผู้ใคร่ครวญและศึกษาเปรียบเทียบระบบการศึกษาทั่วโลกหลายยุคหลายสมัยเสนอว่า การศึกษาสมัยก่อนนั้นอาศัยเครื่องมือสื่อสารแบบมุขปาฐะ ปากต่อปาก จึงอยู่ในขอบเขตของความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ความรู้จึงจำกัดพื้นที่ เพราะหากไม่ไปพบผู้สอน ณ ที่ใดที่หนึ่ง ก็จะไม่ได้ความรู้ ระบบการศึกษาแบบนี้จึงอยู่ในกรอบของ "ครู-ศิษย์" ที่ความรู้ของของครูยากที่จะถูกท้าทาย เนื่องจากระบบอาวุโส และพิธีกรรมของระบบอาวุโส ปิดกั้นการแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างตรงไปตรงมาระหว่างครูกับศิษย์ 
 
หากแต่ด้วยอักษร หนังสือ และการแพร่ขยายของการพิมพ์ ความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่ในพื้นที่กรอบห้องเรียนหรือสถาบันการศึกษาอีกต่อไป แม้ว่าสถาบันการศึกษายังมีอยู่ แต่หนังสือแพร่ความรู้ไปทั่ว หนังสือทำให้ผู้เรียนไม่ต้องเกรงกลัวครูบาอาจารย์ แม้ว่าบางสังคม อย่างสังคมไทย ยังพยายามสืบทอดความคิดเกี่ยวกับหนังสือแบบเก่า ที่ให้เรากราบ เคารพหนังสือประดุจครูบาอาจารย์ แต่นั่นก็ไม่สามารถปิดกั้นโอกาสที่ผู้อ่านจะถกเถียงกับผู้เขียนในกระบวนการของการเรียนรู้ คือการอ่าน ได้ง่ายๆ แบบเดิมอีกต่อไป 
 
แม้ว่าแจ็ค กูดี้จะเข้าใจอะไรผิดๆ บ้างในรายละเอียด แต่ข้อสังเกตของเขาก็ช่วยให้เข้าใจการเปลี่ยนระบบการเรียนรู้ จากยุคสมัยที่หนังสือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มีเพียงคนหยิบมือสามารถอ่าน เขียน และครอบครองได้ ไปสู่ยุคที่การศึกษาของมวลชน (mass education) ทำให้หนังสือที่มีอยู่ดาดดื่น ถูกเข้าถึง ถูกอ่าน ถูกแจกจ่ายซื้อขายแลกเปลี่ยนกันไปทั่ว ได้เป็นอย่างดี
 
แม้กระนั้น พื้นที่ของการพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้แบบมุขปาฐะก็ยังคงมีบทบาทสำคัญ เนื่องจากการสนทนายังคงเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ หากแต่รูปแบบโครงครอบอำนาจของการสนทนาย่อมต้องเปลี่ยนไป การศึกษาปัจจุบันจึงพยายามส่งเสริมการเรียนรู้แบบ "สัมมนา" และการจัด "เสวนา" ที่ผู้เรียนสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นกันเองและกับผู้นำการสอน มากกว่าจะเป็นการ "บรรยาย" และ "ปาฐกถา" ที่ผู้สอนยังคงอำนาจของการครอบครองความรู้และการถ่ายทอดความรู้อยู่อย่างเต็มเปี่ยม การศึกษาแบบปากต่อปากในปัจจุบันจึงลดทอนอำนาจครอบงำของครูลงไปมากแล้ว
 
ในประเทศไทยปัจจุบัน ผมเห็นพื้นที่อยู่ 2 แห่ง ที่แสดงบทบาทโดดเด่นในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนแบบสัมมนา เสวนา กระทั่งสนทนา และลงมือทดลอง ปฏิบัติการ สร้างกิจกรรม นั่นคือร้านบุ๊ค รีพับบลิค (Book Re:public) และห้องสมุดเดอะ รี้ดดิ้ง รูม (The Reading Room) บุ๊ครีพับบลิคเป็นร้านหนังสือที่เชียงใหม่ แต่จัดกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นมากมาย จนผมมักจะคิดว่าเป็นห้องสมุด ส่วนเดอะรี้ดดิ้งรูมเป็นห้องสมุดด้านศิลปะ ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นสถานที่ส่วนบุคคลที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปอ่านไปใช้ได้ จนผมมักจะคิดว่าเป็นร้านหนังสือ
 
ไม่ใช่ว่าก่อนหน้านี้หรือในปัจจุบันนี้จะไม่มีร้านหนังสือหรือห้องสมุดที่ทำบทบาทนี้ เพียงแต่ ณ เวลานี้ สองแห่งนี้โดดเด่นที่สุดด้วยการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ในแบบที่สามารถดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ คนทำงานที่ยังมีเวลาของตัวเอง ครอบครัวแบบใหม่ที่ไม่ใช้เวลากับการเดินห้างสรรพสินค้า มาเข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง 
 
ทั้งสองแห่งจับประเด็นเฉพาะหน้า ร่วมสมัย คุยกันเรื่องเท่ๆ ในบรรยากาศสบายๆ ถึงขนาดนั่งๆ นอนๆ เอกเขนกราวกับนั่งคุยกันที่บ้าน ทั้งสองแห่งได้รับทุนสนับสนุนให้จัดกิจกรรมจากแหล่งทุนต่างๆ จึงสามารถส่งเทียบเชิญผู้นำการเรียนรู้มาได้จากทั่วสารทิศในสยาม ทั้งสองแห่งเผยแพร่ความรู้ออกไปในวงกว้างกว่าห้องสนทนา ไปสู่โลกกว้าง ด้วยการบันทึกการสนทนา บันทึกบทเรียน อัพโหลดขึ้นยูทูป ให้คนเข้าถึงได้ทั่วโลก
 

หากจะไปให้ไกลจนสุดขอบของพื้นที่การศึกษา โลกอินเทอร์เน็ตสร้างพื้นที่ใหม่ที่ท้าทายขอบเขตของอำนาจการเรียนรู้อย่างใหญ่หลวง กระทั่งว่าหากผู้มีอำนาจ "เล่นเน็ต" อย่างจริงจังและกล้าพอที่จะรับรู้ความเป็นไปอย่างแท้จริงของสังคม ก็จะรู้ว่าโลกแบบเดิมๆ ที่มีคนกราบกรานแห่แหนนั้น มันได้ปลาสนาไปนานแล้ว ในแง่นี้ พื้นที่สองแห่งนั้นได้สร้างความเชื่อมต่อ ระหว่างโลกของการสนทนาปากต่อปาก ไปสู่การศึกษาที่แทบจะไร้ขอบเขตในอินเทอร์เน็ต

ถามว่ามีห้องเรียนหรือสถาบันการศึกษาใดในประเทศนี้ทำได้ใกล้เคียงกับที่สถานที่ 2 แห่งนี้ทำได้บ้าง ถามว่าการเรียนรู้ในลักษณะนี้เป็นการศึกษาที่สร้างคนให้คิดเป็น ให้ถกเถียงได้ ให้ตอบโจทย์สังคมปัจจุบัน ตอบโจทย์ชีวิตร่วมสมัยได้ใช่หรือไม่ ถามว่าสถานที่ทั้งสองแห่งนี้จัดกิจกรรมอย่างเปิดเผย ให้สาธารณชนรับรู้ ให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบว่าอยู่ในกรอบของกฎหมายไม่ใช่หรือ แล้วทำไมต้องกลัวด้วย
 
ในบรรยากาศที่ผู้บริหารสถาบันการศึกษาในปัจจุบันมุ่งแต่จะ "เก็บแต้ม" ทำคะแนนประกันปริมาณในนามที่ตั้งขึ้นเพื่อหลอกตัวเองว่าเป็นการประกันคุณภาพ ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า ปีนี้สถาบันตนเองทำรายได้ได้เท่าไหร่ จะเลี้ยงตัวเองได้หรือไม่ จะถูกตัดงบประมาณหรือไม่ 
 
ในบรรยากาศที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางแห่งเห็นการออกนอกระบบเป็นความก้าวหน้า แต่ยังอธิบายให้นักศึกษาของตนเองเข้าใจไม่ได้ว่า การทำงานมานาน 25 ปี แสดงว่าตนเองรักสถาบันนั้นมากกว่านักศึกษาที่เรียนอยู่ 4 ปีแต่เป็นห่วงทิศทางการศึกษาของการออกนอกระบบมากกว่าผู้บริหารได้อย่างไร 
 
ในบรรยากาศที่ผู้ปฏิบัติงานในสถาบันการศึกษาถูกอุดมการณ์ "ครู" ครอบงำไม่ให้เรียกร้องสวัสดิการและค่าแรง ในบรรยากาศที่นักศึกษามหาวิทยาลัยเข้าห้องเรียนเพื่อแช็ทไลน์ เล่น BB ถ่ายรูป อัพรูปถ่ายในห้องเรียน แล้วรับปริญญาเมื่อเก็บหน่วยกิตครบ 
 
ในบรรยากาศแบบนี้ บุ๊ครีพับบลิคและเดอะรี้ดดิ้งรูมสร้างห้องเรียนที่เปิดให้คนสมัครใจเข้ามาไขว่คว้าความรู้เอง มาเจ็บสมองเอง มานั่งหลังขดหลังแข็งเองเป็นชั่วโมงๆ บุ๊ครีพับบลิคและเดอะรี้ดดิ้งรูมสร้างการเรียนรู้ที่เข้าใกล้การศึกษาในอุดมคติมากกว่ามหาวิทยาลัย 
 
แล้วถามว่าทำไมใครบางกลุ่มที่ระแวงสงสัยในกิจกรรมของสถานที่ทั้งสองแห่งนี้จึงไม่ลองเข้าร่วมกิจกรรม แล้วแลกเปลี่ยนกับวิทยากรและผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยเหตุด้วยผลบ้าง ไม่ใช่เอาแต่อาศัยระบบอำนาจนิยม เอาแต่เที่ยวด่าว่าลับหลัง หรือโทรศัพท์ ส่งจดหมายมาคุกคาม
 
ด้วยบทบาทดังกล่าวของบุ๊ครีพับบลิคและรีดดิ้งรูม ผมว่าใครก็ตามที่หาเหตุบีบคั้น ใส่ร้ายป้ายสี ตัดสินคนอื่นบนอคติของรสนิยมทางการเมืองตนเอง จะไม่สามารถทัดทานพลังการศึกษาของห้องเรียนทั้งสองนี้ได้ เพราะห้องเรียนทั้งสองตอบโจทย์การศึกษาที่ ถ้ามหาวิทยาลัยและโรงเรียนจะยังไม่ถึงกับไร้น้ำยาไปโดยสิ้นเชิง ก็นับวันจะยิ่งไม่สามารถทำบทบาทให้การศึกษาได้ดีโดยลำพังอีกต่อไป

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ฮานอยเดือนตุลาคมเม็ดฝนเริ่มท้ิงช่วง บางวันฝนตกพร้อมอากาศเย็นๆ เดือนสิบมีวันสำคัญคือ Tết Trung thu คนเวียดนามปัจจุบันบางทีเรียกว่า "วันปีใหม่ของเด็กๆ" คือคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเดือนแปดจันทรคติ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งผ่านไปนั่นเอง แต่ชาวเวียดนามเรียกตามฤดู ว่าปีใหม่กลางฤดูใบไม้ร่วง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร  
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 สุนทรียศาสตร์และการเมืองของสิ่งไร้รสนิยม (aesthetics and politics of kitsch)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 หากจำเป็นต้องหักหาญมิตรภาพกัน ก็ขอให้แน่ใจว่ามิตรสหายเราได้ละเมิดหลักการใหญ่ๆ ที่มิตรภาพไม่ควรได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มกันอีกต่อไป แต่หากเป็นเรื่องหยุมหยิมเกินไป ก็โปรดอย่าเปิดแนวรบจิกกัดมิตรสหายที่แทบไม่มีที่ยืนอยู่บนผืนหนังเดียวกันไปเสียทุกอนูความหมายเลยครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทต่อไป เมื่อนักมานุษยวิทยามานั่งศึกษาชุมชนเกรียนออนไลน์