ยุกติ มุกดาวิจิตร: มานุษยวิทยา-สังคมวิทยา-ไทยศึกษาเพื่อใคร

ยุกติ มุกดาวิจิตร

เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อนนอกแวดวงวิชาการคนหนึ่งถามผมว่า "วิชามานุษยวิทยาทำอะไร" ผมตอบว่า "มานุษยวิทยาต้องการเข้าใจชาวบ้าน ชาวเมือง ไม่ว่าชาวอะไรก็อยากเข้าใจทั้งนั้นแหละ" เขาถามต่อว่า "จริงๆ แล้วนักมานุษยวิทยาทำอะไร มีจุดยืนต่อสังคมอย่างไร" 

ผมตอบ "นักมานุษยวิทยาแต่ละคนมีจุดยืนแตกต่างกันไป แต่สำหรับผม มานุษยวิทยาต้องนำมุมมองจากคนสามัญ มาวิจารณ์มุมมองของผู้มีอำนาจ"

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (21-22 กันยายน 2555) ผมมีโอกาสได้ทบทวนบทสนทนาข้างต้นอีกครั้ง ในงานสัมมนาทางวิชาการทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ งานนี้รวบรวมนักวิชาการด้านนี้และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องมาอย่างคับคั่ง ทั้งผู้นำเสนอและผู้ฟังล้วนเป็นมิตรสหาย ศิษย์ ครู ของกันและกันอย่างต่อเนื่องยาวนาน บรรยากาศของมิตรภาพและการถกเถียงทางวิชาการนี้มีขึ้นได้ยาก หากไม่ใช่ด้วยความเคารพรักที่วงการนี้มีต่ออาจารย์อานันท์ กาญจนพันธ์

นักวิชาการหลายท่านเสนอความคิดที่เป็นบทสนทนาสืบเนื่องหรือกระทั่งเกินเลยไปจากผลงานของอาจารย์อานันท์ (ซึ่งปล่อยงานออกมาอีกถึง 4 เล่มใหญ่) ประเด็นที่ขยายความรู้ผมมีมากมาย ที่สะดุดใจและบันทึกไว้ทันได้แก่

- สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาสำนักเชียงใหม่เสนอเป็น "ทฤษฎีที่เอาใจใส่ต่อสังคม"

- สำนักเชียงใหม่เป็นญาติกับสำนักท่าพระจันทร์ งานที่ท่าพระจันทร์อ้างเชียงใหม่ มักเป็นงานด้านการต่อสู้ทางสังคม ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

- ภาษามานุษยวิทยาถูกใช้กันทั่วไปตามบ้านร้านตลาด

- ศาสตร์ทางสังคมและมนุษยศาสตร์ล้วนส่องทางแก่กัน เชื่อมโยงกัน บางทีเราน่าจะเลิกล้มพรมแดนของสาขาวิชากันเสียที

- ความรู้ทางสังคมศาสตร์ควรเรียนรู้จากมนุษยศาสตร์ ด้วยจินตนาการ จินตนาการไม่หมดจด ไม่สมบูรณ์ จึงเปิดให้กับการสร้างเสริมเติมต่อขยายความไปได้ไม่รู้จบ ไม่ตายตัว

- ความเข้าใจของคนในสังคม (เช่น การทักทายของชาวเมารี) เป็นการให้ความหมายต่อข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ (การแลบลิ้น) นักมานุษยวิทยาทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ (การทักทายสร้างและสืบทอดความสัมพันธ์ของคนในสังคม) แต่ความจริงที่นักมานุษยวิทยาไม่ได้ค้นหา คือความจริงทางศาสนธรรม

- ผู้หญิง (ทั้งผีและคน) เป็นพื้นฐานวัฒนธรรมอุษาคเนย์

- อำนาจผีเป็นอำนาจที่นักมานุษยวิทยากลัว ไม่กล้าเข้าร่วม มันเบ็ดเสร็จ ต่อรองแทบไม่ได้ ได้รับการยกเว้นจากการตรวจสอบทัดทาน

- นักมานุษยวิทยาอาจสำรวจจิตทั้งในระดับอัตวิสัย (รู้ได้อยู่คนเดียว) และภววิสัย (เข้าใจกันได้ทั่วไป ไม่เฉพาะตนคนเดียว)

- นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาไทยจำนวนมากถูกนักวิชาการอเมริกันใช้เป็นผู้ช่วยศึกษาสังคมไทยเพื่อต่อต้านขบวนการคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเวียดนาม
- ส่วนหนึ่งของแนวคิด "ป่าชุมชน" มาจากความรู้เรื่องมานุษยวิทยาสิ่งแวดล้อม ที่นำเข้ามาจากมหาวิทยาลัยฮาวายอิ
- ความรู้ของนักคิดไทยจำนวนหนึ่ง สร้างความเข้าใจสังคมไทยแก่นักวิชาการตะวันตก

- ภาพถ่ายของนักมานุษยวิทยา สามารถสร้างตัวตนของนักมานุษยวิทยาขึ้นมาได้ เครื่องมือ วัตถุ เทคโนโลยี สร้างการรับรู้ถึงการมีอยู่ของนักมานุษยวิทยาในพื้นที่

- ภาพถ่ายเป็นความสัมพันธ์ทางสังคม นอกเหนือจากปัญหาเรื่องการนำเสนอและไม่นำเสนอความจริงของภาพถ่ายแล้ว ภาพถ่ายเกิดมาจากและสามารถก่อให้เกิดสังคม

ส่วนผมเอง ทิ้งคำถามให้กับวงวิชาการนี้ไว้ว่า 

- งานที่ศึกษาสังคมไทยโดยฝรั่งมีเพียงน้อยนิดที่มีพลังสร้างความรู้ใหม่ให้กับสังคมศาสตร์โลก แต่ถึงกระนั้น งานของนักวิชาการไทยที่มุ่งศึกษาเฉพาะสังคมไทย มีส่วนในการผลิตความรู้ให้สังคมศาสตร์โลกแค่ไหน มีใครบ้างที่ผลิตความรู้ในระดับที่นักวิชาการนำไปใช้ศึกษาพื้นที่อื่นๆ นอกสังคมไทย

- ในความสัมพันธ์ทางการผลิตเชิงวิชาการระดับโลก ผมสงสัยว่านักวิชาการไทยเป็นเพียงชนพื้นเมืองผู้ป้อนข้อมูลให้นักวิชาการในประเทศศูนย์กลางความรู้ (อเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย) หรือจะมีส่วนในการร่วมสร้างความรู้ เป็นผู้ผลิตความรู้เองแค่ไหน

- นักวิชาการไทยมักถามและถูกถามว่า จะนำความรู้ ทฤษฎีต่างๆ มาเข้าใจสังคมไทยได้อย่างไร แต่เคยถามไหมว่า ความเข้าใจสังคมไทยแบบไหนที่เคยถูกนำไปใช้เข้าใจสังคมอื่นๆ ในโลกนี้ได้ และจะทำอย่างไรให้ความเข้าใจสังคมไทย สามารถนำไปใช้ได้กับสังคมอื่นๆ ทั่วโลก เพื่อความเข้าใจมนุษยชาติมากขึ้นจากความเข้าใจสังคมไทย

- ตัวตนทางวิชาการของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไทยก้าวไปทางไหน และกำลังจะเคลื่อนไปทางไหน เมื่อเทียบกับตัวตนทางวิชาการด้านนี้ในประเทศเพื่อนบ้าน

ไม่เป็นการเยินยอกันเกินไปนักเลยหากจะกล่าวว่า สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาสำนักเชียงใหม่สร้างคุณูปการให้เกิดการเข้าใจสังคมไทยอย่างใหญ่หลวง แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ ความรู้ของสำนักเชียงใหม่เป็นความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีขึ้น 

ที่ผ่านมา สำนักเชียงใหม่มีส่วนในการสร้างบทสนทนากับแวดวงวิชาการโลก ในก้าวถัดไป ไม่เฉพาะสังคมไทย แต่ภูมิภาคอาเซียนและสังคมโลกกำลังรอดูว่า สำนักเชียงใหม่จะนำเสนอความรู้และทิศทางในการพัฒนาสังคมอย่างไรต่อไป

(ขอบคุณเพื่อนๆ นักศึกษา และครูบาอาจารย์แห่งภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จัดงานสัมมนาให้เพื่อนนักวิชการได้แลกเปลี่ยนความรู้)

 

 

ความเห็น

Submitted by น้ำลัด on

ถ้าหากผมเป็น "นักแมลงวิทยา"
ผมจะบอกให้ "นักมานุษยวิทยา" ได้ทราบว่า
มนุษย์กับแมลงมีพฤติกรรมแบบเดียวกัน

มด-ปลวก มันออกลูกมา ติดปีกให้ลูกของมันบินขึ้นฟ้า
กลายเป็นมดมีปีก กลายเป็นแมลงเม่าบินกันว่อน
ไปจับคู่ผสมพันธุ์กัน แล้วก็ไปสร้างครอบครัวใหม่ขึ้นมา
เป็นการรักษาเผ่าพันธุ์ของตนเองให้คงอยู่ต่อไป
แต่มดบางชนิด ลูกของมันบางตัวเมื่อผสมพันธุ์เสร็จ
มันก็กลับมายึดรังของแม่มันเอง แม่ของมันเองกลายเป็นมดงานก็มี

ส่วนมนุษย์เรา ก็เฝ้าฟูมฟักลูกๆของตนเองอย่างดี
ให้การศึกษาแก่บุตร-ธิดาของตนเต็มที่
การให้การศึกษาก็เหมือนกับการ "ติดปีก" ให้ลูกๆ
ได้ออกไปผจญภัยในโลกกว้าง ให้ไปจับคู่ผสมพันธุ์
ออกลูกออกหลาน รักษาเผ่าพันธุ์ของตนเองสืบต่อไป
แต่ลูกบางคนก็กลับมารับมรดกของพ่อแม่
มาสืบทอดกิจการให้พ่อแม่ของตนเอง พ่อแม่ก็วางมือกันไปเมื่อแก่

พวกมด-ปลวก ใช้ pheromone ในการควบคุมภายในรังของมัน
มนุษย์เราก็มีกฎหมายและการประชาสัมพันธ์เพื่อควบคุมสังคมของตนเอง

เมื่อมด-ปลวก เจอศัตรูมันก็จะปล่อยสารเคมีที่เป็นข่าวสารว่าเจอศัตรู
ต้องระดมพลเพื่อการต่อสู้ทำศึกสงครามกันกับศัตรูของมันโดยเร่งด่วน
มนุษย์เราเมื่อเห็นชนชาติอื่นเป็นศัตรู ก็จะมีการสื่อสารมีการปลุกระดม
มีการรวมตัวกันเพื่อเล่นงานศัตรูเหมือนๆกันกับพวกมด-ปลวกมันทำ

ผมก็ไม่รู้ว่าใครเลียนแบบใคร ระหว่างมนุษย์กับแมลง
มันแตกต่างกันแค่วิธีการสื่อสารเท่านั้น แต่จุดมุ่งหมายมันเหมือนกัน

คนบางคนบอกว่าตนเองเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ประเสริฐ
เป็นสิ่งมีชีวิตที่สูงส่งเหนือกว่าสิ่งมีชีวิตใดๆ
แต่พฤติกรรมของมนุษย์เราทุกวันนี้ มีอะไรที่แตกต่างจากสัตว์บ้าง
แม้กระทั่งแมลงที่ถือว่าเป็นสัตว์ชั้นต่ำต้อยยิ่งนัก หามันสมองแทบจะไม่เจอ
แต่ทำไมพฤติกรรมของมนุษย์กับแมลงมันกลับแทบจะไม่แตกต่างกันเลย

คนเราหากอยากจะเป็นมนุษย์ขึ้นมาจริงๆ
เราจะต้องทบทวนบทบาทของตนเองเสียใหม่หรือเปล่า?

Submitted by น้ำลัด on

เมื่อผมอ่านเรื่องราวของชาวไทอาหมในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ผมต้องตกใจกับความเห็นของชาวอินเดียในสมัยโบราณที่ว่า...

"ชาวอาหมไม่มีศีลธรรม ไม่มีศาสนาประจำชาติ ทำอะไรตามใจตนเองโดยไม่มีกฏเกณฑ์ เห็นว่าการกระทำของตนถูกต้องเสมอ ลักษณะท่าทางของชาวอาหมส่อให้เห็นพลกำลัง และความทรหดอดทน ซ่อนกิริยา และอารมณ์อันโหดร้ายทารุณเอาไว้ข้างใน ชาวอาหมอยู่เหนือชนชาติอื่นๆในด้านกำลังกาย และความทนทาน เป็นชาติขยันขันแข็ง ชอบสงคราม อาฆาตจองเวร ตลบแตลง และหลอกลวง ปราศจากคุณธรรม ความเมตตากรุณา ความเป็นมิตร ความสุภาพ เมล็ดพืชแห่งความอ่อนโยน และมนุษยธรรม ไม่ได้หว่านลงในดินแดนของชนชาตินี้เลย"

ผมนึกไปถึงการทำรัฐประหารในไทย นึกถึงวิธีการตีความกฎหมาย การตัดสินคดีทางการเมือง ฯลฯ
และนึกไปถึงว่าถึงแม้ชาวไทยเราจะมีศาสนาประจำชาติแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนศาสนาไม่ได้ช่วยให้ชาวไทยมีศีลธรรมแต่อย่างใด แต่ศาสนากลับถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนเองทั้งในระดับจุลภาคและระดับมหภาค

คำวิจารณ์มันเป็นเหมือนกระจกเงาสะท้อนลักษณะนิสัยและการประพฤติตนของชนชาติไทเรา คงต้องพิจารณาว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไรกับคนไทยในปัจจุบัน หากยังมีสิ่งใดที่น่าจะปรับปรุงเราก็น่าจะปรับเปลี่ยน ก็มีแต่ชาวไทยเราด้วยกันเท่านั้นที่จะช่วยกันเปลี่ยนแปลงค่านิยมต่างๆในสังคมให้มันดีขึ้น ช่วยกันเปลี่ยนลักษณะนิสัยแย่ๆในบางสิ่งบางอย่างให้ดีขึ้นทัดเทียมกันกับสากลโลกที่เขาเป็นกัน

แต่ถ้าหากเรามัวแต่หลงตนเองว่าความเป็นไทยเราประเสริฐแล้ว
มันก็คงเหมือนเป็นการปิดประตูของการพัฒนาในทุกๆสิ่ง
คนไทยเราก็จะต้องอาศัยอยู่ในห้องหับอันคับแคบท่ามกลางโลกอันกว้างใหญ่ต่อไป

ยุกติ มุกดาวิจิตร: ฮิญาบ ที่เปิดโปงในปกปิด

เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร

ยุกติ มุกดาวิจิตร: จดหมายเปิดผนึกถึงคณะวิจิตรศิลป์ มช. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ

ยุกติ มุกดาวิจิตร: Georges Bataille ในซีรียส์เกาหลี

เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว

ยุกติ มุกดาวิจิตร: วันชาติเวียดนามกับการพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น

หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด