Skip to main content

 

วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 

 
ขอเอาร่างความคิดที่เตรียมเพืื่อไปพูดในรายการ มาเรียบเรียงแบบไม่ตกแต่งมาก แต่ก็อยากให้ได้เนื้อหนัง แถมมีอ้างอิง ไม่ได้เพื่อให้ดูหรู แต่เพื่อให้ผู้ใฝ่รู้ นำไปค้นคว้าสอบทานต่อ
 
(1) รักเอยจริงหรือที่ว่าหวาน
 
ความรักคือการผูกสัมพันธ์กับผู้อื่น เพราะผู้อื่นมีหลายแบบ ความรักจึงมีหลายแบบ และเพราะความรักมีหลายแบบ ตัวตนของเราที่รักใครแต่ละคนจึงมีหลายแบบ แต่มีความรักบางแบบเท่านั้นที่ถูกยกย่องเชิดชู

มีคนแบ่งความรักออกเป็น 4 แบบ หนึ่ง affection รักแบบเอ็นดู เมตตา เช่น ความรักในครอบครัว รักสัตว์ สอง friendship รักแบบเพื่อน สาม eros รักแบบมีราคะ มีตัณหา มีความใคร่ สี่ charity รักแบบอุทิศตน เสียสละเพื่อผู้อื่น (ดูบทนำของ Ryang 2006)
 
แต่ละแบบของความรัก มักอ้างความสำคัญสูงสุดความศักดิ์สิทธิ์ของความรักแบบตน เช่น พ่อแม่บอกไม่มีความรักใดบริสุทธิ์เท่ารักของพ่อแม่ เพื่อนบอกตายแทนกันได้ หนุ่มสาวบอกรักจนจะกลืนกินกันได้ นักบุญบอกรักเพื่อนมนุษย์โดยไม่หวังอะไรคือรักที่ยิ่งใหญ่
 
(2) รักซ้อนซ่อนรัก
 
นอกจากรักแต่ละแบบยังแข่งกันแล้ว บางทีความรักชนิดหนึ่ง ถูกซ่อนไว้ใต้รูปแบบความรักชนิดอื่น  
 
เช่นว่า รัฐสมัยใหม่ใช้ความรักในการปกครอง ความรักเป็นเทคโนโลยีแห่งอำนาจของรัฐ รัฐทำให้เรารักรัฐ แต่อาจไม่ได้ใช้ความรักในรูปแบบของรักชาติ รักประชาชนโดยตรง แต่เป็นความรักที่แฝงในรูปแบบความรักแบบอื่นๆ 
 
ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะให้รักชาติ รักเพื่อนร่วมชาติ แต่ให้รักประมุขของชาติแทน แล้วทำให้ประมุขของชาติและคนในชาติจินตนาการว่าอยู่ในครอบครัว สร้างความรักของชาติในนามความรักครอบครัว ทำให้ทุกคนอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน วิธีนี้ช่วยให้ความสัมพันธ์ในสังคมขนาดใหญ่ ถูกลดทอนลงเหลือเพียงความสัมพันธ์ในครอบครัว นำวาทกรรมครอบครัวบดบังความรับผิดชอบทางการเมืองได้เหมือนกัน
 
ในญี่ปุ่นช่วงสงครามโลก หนุ่มสาวญี่ปุ่นเคยถูกเรียกร้องให้รักกันเพื่อผลิตลูกให้พ่อของพวกเขา คือองค์จักรพรรดิ ความรักในลักษณะนี้ถูกส่งผ่านมาในสมัยต่อมา มีการโปรโมทเรื่องความรักอันบริสุทธิ์ระหว่างหนุ่มสาว เน้นพรหมจรรย์ของเด็กสาวที่ได้รับการศึกษา ทั้งหมดนี้เพื่อทำให้ประชาชนเข้าใจว่า หนุ่มสาวรักกันด้วยตนเอง แต่ถึงที่สุดแล้วคือเพื่อประเทศชาติ จนกระทั่งหนุ่งสาวแต่งงานมีลูกกัน ผลิตประชากรญี่ปุ่นได้ถึงเป้า 100 ล้านคนในปลายทศวรรษ 60 (เรื่องญี่ปุ่น ดู Ryang 2006)
 
(3) รักโรแมนติกครองโลก (เนื้อหาส่วนใหญ่ของตอนนี้มาจาก Jankowiak and Fischer 1992)
 
เราอาจนิยามรักโรแมนติกได้ว่าเป็น ความดึงดูดใจอย่างเข้มข้นอันเนื่องมาจากจินตนาการต่อคนอื่น ในบริบทที่มีอารมณ์วาบหวามอีโรติกเข้ามาเกี่ยวข้อง และรักโรแมนติกมักนำมาซึ่งความเจ็บปวดเมื่อจากพราก 

รักโรแมนติกคือรักแบบที่กล่าวถึงกันมากในวันวาเลนไทน์ แต่แนวคิดที่มักกล่าวถึงกันเพื่อวิพากษ์รักโรแมนติกคือแนวคิดที่ว่า รักโรแมนติกเป็นความรักแบบสมัยใหม่ เป็นรักแบบปัจเจกชนนิยม สังคมนอกตะวันตก นอกยุโรปและอเมริการเหนือ ส่วนที่อื่นๆ ในโลก หากจะมีรักโรแมนติก ก็จะมาจากยุโรป จากซีกโลกตะวันตกนี่เอง
 
แต่มีผู้ถกเถียงว่า รักโรแมนติกไม่ได้มีเฉพาะในยุโรป ทัศนะแบบนั้นมัน "ยูโรเซนทริก" คือเหมาเอายุโรปเป็นศูนย์กลางไปเสียหมดมากเกินไป แนวคิดแบบนี้มักมองว่า นอกยุโรปหรือยุโรปก่อนสมัยใหม่ มีความรักในกรอบของความจำเป็นทางเศรษฐกิจหรือสังคมเท่านั้น ไม่มองความรับเพื่อความใคร่ของปัจเจก
 
แต่จากการใช้สถิติศึกษาโรแมนติกเลิฟ เก็บตัวอย่างจาก 166 สังคมทั่วโลก (ในรายการ ผมพูดผิดเป็น 600 ตัวอย่าง) เข้าใจว่าไม่มียุโรปตะวันตก คงเนื่องจากสองทวีปนั้นเห็นได้ชัดว่ามีวัฒนธรรมรักโรแมนติกอยู่แล้ว ส่วนอเมริกาเหนือ เข้าใจว่าจะเก็บข้อมูลจากชนพื้นเมือง มากกว่าชาวอเมริกันสมัยใหม่ ซึ่งเรารู้กันชัดเจนอยู่แล้วว่ามีวัฒนธรรมรักโรแมนติก 
 
วิธีเก็บข้อมูลข้างต้น เขาดูจากข้อมูลเกี่ยวกับสังคมเหล่านั้นว่า สังคมนั้นมีการแสดงความรู้สึกเจ็บปวดส่วนตัว มีเพลงรักหรือนิทานรักๆ ใคร่ๆ ที่มีอารมณ์แบบโรแมนติกเลิฟ มีเรื่องการหนีกันไปอยู่กินโดยพ่อแม่ สังคมไม่รับรู้ มีข้อมูลยืนยัยการมีอยู่ของความรักแบบรักใคร่หนุ่มสาว ตามที่เจ้าของวัฒนธรรมยืนยันเอง หรือตามที่นักมานุษยวิทยายืนยันว่ามีโรแมนติกเลิฟ 
 
ข้อค้นพบทางสถิติง่ายๆ ชี้ว่า ทุกเขตวัฒนธรรมในโลก ทุกทวีป มีรักโรแมนติกในร้อยละที่สูงถึงเกือบ 80% ขึ้นไป ที่สูงสุดคือ ที่มีมากคือเอเชียกลาง หมู่เกาะแฟซิฟิค เมดิเตอร์เรเนียน คือเกิน 93% ที่น้อยสุกคือในแอฟริกา แต่มีบางสังคมเช่นกันที่ ไม่พบเนื้อหาส่วนใดที่มีการบันทึกเกี่ยวกัรักโรแมนติกเลย แต่มีเพียง 11.5% แต่บางที อาจเป็นเพราะสังคมเหล่านี้ปกปิดข้อเท็จจริงเรื่องนี้อย่างมิดชิด จึงไม่มีข้อมูล หรือบางที นักมานุษยวิทยาเองไม่สนใจ จึงไม่ได้เก็บข้อมูลเหล่านี้มา
 
บทความชิ้นเดียวกันนี้ยังยกตัวอย่างงานเขียนที่ให้รายละเอียด เช่น หนังสือชื่อ นิสา (Nisa) ที่ศึกษาชาวคุง หรือที่เราเรียกบุชแมน มีเรื่องรักใคร่ในความเข้าใจแบบของเขาเองเต็มไปหมด หรือเรื่องสมันราชวงศ์ Sung (928-1233) ความรักในนิทานเรื่อง เทพธิดาหยก (Jade Goddess) ที่หนุ่มคนหนึ่งผิดหวังความรักจากหญิงสาวที่หมั้นหมายแล้ว ท้ิงอาชีพการงานทั้งหมดไปกับความเศร้า ภายหลังพบว่า คู่รักขอบเธอก็เป็นแบบเดียวกัน 
 

อย่างไรก็ดี การแสดงออกซึ่งความรักแบบนี้ในแต่ละสังคมต่างกัน เช่นนิทานกลอน "ส่งชู้สอนสาว" ของชาวไทดำในเวียดนาม ที่ถูกอ่านถูกตีความแบบหนึ่งในสมัยก่อน แต่ในสมัยคอมมิวนิสต์ ก็นำวรรณกรรมนี้มาตีความอีกแบบว่าสะท้อนสำนึกความขัดแย้งทางชนชั้น ส่วนของไทย ลิลิตพระลอ วรรณกรรมเก่าแก่ก็มีรักโรแมนติกเป็นแกนกลาง เพียงแต่ก็ถูกตีความอีกแบบ ว่ารักโรแมนติกเป็นความลุ่มหลง เป็นสิ่งที่ไม่ดี

 
(4) เซ็กส์เพื่อชีวิตกับเซ็กส์เพื่อเซ็กส์
 
พูดกันมากว่า สังคมยุโรปตะวันตกสมัยวิคทอเรียนในศตวรรษที่ 19 กดทับเซ็กส์ แต่ฟูโกต์เถียงว่า ยุคนั้นไม่ได้กดทับเซ็กส์ แต่มันเปิดมากขึ้นด้วยซ้ำ เพียงแต่เซ็กส์ถูกเปิดเผยในแบบที่แตกต่างจากสมัยก่อน คือในภาษาแบบการแพทย์ แบบวิทยาศาสตร์ แบบจิตวิทยา แบบประชากรศาสตร์มากขึ้น เพื่อจัดการทิศทางของการพูดและปฏิบัติการเรื่องนี้ 
 
แต่เมื่อพูดถึงมากเข้า มันก็ควบคุมไม่ได้ เกิดการหลุดลอด เล็ดลอดไปของเรื่องราว และกลายป็นการเปิดให้เรื่องเซ็กส์บบต่างๆ รวมทั้งเรื่องคนรักเพศเดียวกัน เพศสัมพันธ์แบบใช้ความรุนแรง ใช้อุปกรณ์กระตุ้นต่างๆ งานเขียนเกี่ยวกับเซ็กส์แบบนี้ เกิดขึ้นมากมายในสมัยวิคทอเรียนเช่นกัน กลายเป็นว่าเซ็กส์ถูกพูดถึงมากขึ้น
 
ประวัติศาสตร์ของความใคร่หลังมียาคุม และไวอากร้า เพศสัมพันธ์จริงเปลี่ยนไปเป็น sex for sex's sake มากขึ้น คนคิดถึงเซ็กส์ที่อยู่นอกบริบทครอบครัวมากขึ้น (ดูวีดีโอ Sex: An Unnatural history 2011)
 
การที่รัฐไทยควบคุมการมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นในวันวาเลนไทน์ ทั้งๆ ที่การคุมกำเนิดมีมานานแล้ว จึงดูเหมือนเป็นความล้าหลังของการคุมกำเนิด หากแต่ก็มองได้อีกมุมหนึ่งว่า การควบคุมนี้คือส่วนหนึ่งของการควบคุมแรงงาน ควบคุมวัยรุ่นให้ได้รับการฝึกฝนแรงงานอย่างเชื่องเชื่อ กันไม่ให้วัยรุ่นเตลิดไปกับความสุขส่วนตัวก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน นี่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้้าง "ทุนมนุษย์เชื่องๆ" เข้าสู่ตลาดแรงงาน
 
เอกสารและวีดีโอแนะนำสำหรับการค้นคว้าต่อ
 
- Jankowiak, William R. and Fischer, Edward F. (1992.) "A Cross-Cultural Perspective on Romantic Love" Ethnology. 31(2): 149-155.
- Ryang, Sonia. (2006.) Love in Modern Japan: Its estrangement from self, sex, and society. London: Routledge.
- Foucault, Michel. (1978 [1976].) The History of Sexuality, volume I: An introduction. New York: Pantheon. 
- Sex: An unnatural history E01 (2011) (http://www.youtube.com/watch?v=KCFN8fHLjss&feature=youtube_gdata_player). Accessed on February 13, 2013.
- คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2554) วารสารสังคมศาสตร์ (ฉบับความรัก). 23(1-2).

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (24 ธันวาคม 2555) กสทช.เชิญให้ผมไปร่วมแสดงความเห็นในเวทีเสวนาสาธารณะ “1 ปี กสทช. กับความ (ไม่) สมหวังของสังคมไทย” ทีแรกผมไม่คิดว่าตนเองจะสามารถไปวิจารณ์อะไรกสทช.ได้ แต่ผู้จัดยืนยันว่าต้องการมุมมองแบบมานุษยวิทยา ผมจึงตกปากรับคำไป 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อโต้แย้งต่อความเห็นผมจากของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่ลงในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355920241&grpid=03&catid=&subcatid=) ย้ำให้เห็นชัดถึงความอับจนของกรอบคิดของคนกลุ่มนี้ต่อไปนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะของนายแพทย์ที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงความคิดคับแคบของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่มักใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตผู้คน บนความไม่รู้ไม่เข้าใจไม่อยากรับผิดชอบต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน และบนกรอบข้ออ้างเรื่องคุณธรรมความดีที่ยกตนเองเหนือคนอื่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นึกไม่ถึงและนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ทำไมคนเปิดร้านขายหนังสือในปลายศตวรรษที่ 20 - ต้น 21 จะมีความคิดแบบนี้ได้ นี่แสดงว่าเขาไม่ได้อ่านหนังสือที่เขาขายบ้างเลย หรือนี่แสดงว่าการอ่านหนังสือไม่ได้ช่วยจรรโลงจิตใจนายทุนบางคนขึ้นมาได้เลย*
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์