Skip to main content

ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" เพื่อนยังบอกอีกว่า "มันเกิดขึ้นทุกวัน ตอนเช้ามักมีรายงานการฆ่าตัวตายบนทางรถไฟ ที่นั่น ที่นี่" 

เขาเล่าต่อว่า "บางคนเสนอว่าให้เอากระจกมาติดไว้ตรงใกล้ๆ รางรถไฟ เพราะเชื่อว่า หากคนเห็นหน้าตนเองแว่บนึง เขาอาจตัดสินใจใหม่"

นี่ทำให้นึกถึงหนังสือ Suicide ของ Emile Durkheim ที่หาเงื่อนไขทางสังคมให้แก่การฆ่าตัวตาย ซึ่งดูเผินๆ น่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นส่วนตัว เป็นปัจเจกนิยมสุดๆ แต่เดอร์ไคม์พบว่า สังคมแคทอลิก ซึ่งมีความเชื่อมแน่นทางสังคมสูง จึงมีแนวโน้มของคนฆ่าตัวตายต่ำ ต่างจากสังคมโปรแตสแตนท์ ที่ให้ผลตรงกันข้าม ข้อสรุปนี้จะใช้ได้กับสังคมญี่ปุ่นหรือไม่ ผมไม่รู้ มีการศึกษาการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นหรือไม่ ผมไม่รู้ 

"รู้สึก" ได้แต่เพียงว่า การตัดสินใจชั่ววูบเพื่อฆ่าตัวตายบนทางรถไฟเกิดได้ง่ายจริงๆ และที่จริง แม้ไม่ตั้งใจตาย คนก็น่าจะตายด้วยรถไฟง่ายจริงๆ เพราะสถานีรถไฟญี่ปุ่นมีทั่วไปหมดในเมืองใหญ่ๆ และแต่ละสถานีก็แทบไม่มีคนดูแลเลย เวลารถเข้าหรือออกถี่มาก แต่ละสถานีจึงไม่มีคนมาคอยดูไม่ให้ใครยืนชิดจนอาจตกลงบนราง

จะมีก็แต่สถานีของ "ชินคันเซ็น" รถความเร็วสูง ซึ่งแยกต่างหากออกมาจากสถานีรถทั่วๆ ไปเท่านั้น ที่มีเจ้าหน้าที่ดูแล อย่างนั้นก็เถอะ แม้จะมีรั้วกั้นบ้าง แต่จริงๆ แล้วรางก็เปิด เอาเข้าจริงคนก็สามารถกระโดดลงไปให้ชินคันเซ็นชนได้เหมือนกัน

จึงทำให้นึกในทางกลับกันว่า แทนที่คนจะอยากตายมากขึ้น ผมกลับคิดว่าคนต้องระวังตัว ต้องรับผิดชอบตนเองและลูกเด็กเล็กแดงมากทีเดียว นึกถึงเวลาดึกดื่นค่ำคืน การตกลงไปบนรางรถไปเป็นเรื่องง่ายมาก แต่ก็ไม่เคยเห็นใครคิดจะทำสักที

ในเวลาเพียง 15 วันในญี่ปุ่น ซึ่งยาวนานที่สุดเท่าที่ผมเคยไปญี่ปุ่นมา หลายครั้งที่ผมเห็นเด็กอายุสัก 12-13 ปีเดินทางโดยลำพัง อาจมากับพี่น้องหรือกับเพื่อน เด็กพวกนี้และพ่อแม่ของพวกเขาจะต้องมีความเข้าใจต่อระบบต่างๆ เป็นอย่างดี และต้องรู้จักรับผิดชอบชีวิตตนเองเป็นอย่างดี 

คนที่นั่นยังต้องคิดรับผิดชอบต่อไปอีกว่า หากโดดลงไป ระบบรถไฟทั้งประเทศ หรือในถิ่นหนึ่งที่เส้นทางรถไฟผูกเกี่ยวกัน จะได้รับผลกระทบไปมากขนาดไหน คิดดูว่า เฉพาะโอซากา ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่น้องๆ โตเกียว มีชินคันเซ็นเข้าแทบจะทุก 5 นาที ถ้าเกิดใครกระโดดลงไป ระบบจะต้องจัดการอย่างไร

เพื่อนชาวญี่ปุ่นผู้รอบรู้ตอบว่า "เขามีระบบกำจัดศพอย่างรวดเร็ว ศพจะต้องถูกจัดการในทันทีในเวลาไม่กี่นาที เพื่อที่รถไฟจะได้เดินต่อ"

ผมไม่กล้าโดดลงไปให้รถไฟทับแน่ แต่นึกถึงว่ายังเคราะห์ดีที่ไม่ได้เห็นคนกระโดดลงไปบนทางรถไฟต่อหน้าต่อตา และนึกต่อไปว่า หากใช้ระบบนี้กับประเทศไทย คงต้องระวังการฆาตกรรมมากกว่าการอัตวินิบาตกรรมบนรางรถไฟ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อต้องกลับมาชวนคนอ่านงานของบรมครูทาง "วัฒนธรรมศึกษา" คนหนึ่ง ที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนัก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปแม่ฮ่องสอนสามวัน ค้างสองคืน เพื่อร่วมงาน "ไทใหญ่ศึกษา" ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้จักวัฒนธรรมไทใหญ่มาก่อน พอจะรู้จากการอ่านงานเรื่อง "ฉาน" เรื่องรัฐไทใหญ่ เรื่องประวัติศาสตร์บ้างนิดหน่อย จึงมิอาจให้ความเห็นใดๆ กับอาหารไทใหญ่ได้ ทำได้แค่เพียงบอกเล่า "ความประทับใจแรกเริ่ม" ในแบบที่นักชาติพันธ์ุนิพนธ์ทั่วไปมักทำกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชาญวิทย์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานครบรอบ 72 ปีให้อาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์ุอยู่หลากหลายกลุ่ม พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และร่วมสร้างสังคม สร้างประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่อย่างขาดไม่ได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยมีนโยบายกลุ่มชาติพันธ์ุมาก่อน (ยาวนะครับ ถ้ายังอยู่ในโลก 8 บรรทัดโปรดอย่าอ่าน)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นนักคิดไทยสองคนออกมาเทศนาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า "ทำไมนักคิดไทย พอแก่ตัวลงต้องไปจนแต้มที่วิธีคิดแบบพุทธๆ"