Skip to main content

ตลกที่เวลาผมชื่นชมผู้ใหญ่ในวงการบางคนในบางโอกาส มีคนว่าผมประจบผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิพากษ์ ก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนตัวผมและกับคนในวงการเดียวกันคงจะรู้สึกว่า ที่พูดถึงผมแบบนั้นน่ะเพี้ยนแล้ว เพราะผมวิพากษ์ "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการเดียวกันมาเสียจนลูกศิษย์ลูกหาของท่านๆ เหล่านั้นสุดจะทน จนขณะนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่ายังเหลือผู้ใหญ่ในวงการท่านใดบ้างที่ผมยังไม่วิพากษ์

    (3) ช่างวิพากษ์
 
ในโลกวิชาการสังคมศาสตร์ไทย ผมเห็นการไม่ยอมรับการวิพากษ์ใน 2 ลักษณะด้วยกัน ลักษณะแรก เป็นแบบที่จำกัดอยู่ในกรอบของระบบอาวุโส เป็นระบบอำนาจนิยมในวงวิชาการ อีกลักษณะหนึ่ง คับแคบไม่แพ้กัน คือแบบที่ปฏิเสธการวิพากษ์เพราะคิดว่าการวิพากษ์วางอยู่บนอคติ ไม่เป็นวิทยาศาสตร์
 
นักวิชาการไทยบางคนไม่ชอบที่คนรุ่นหลังต้องวิพากษ์คนรุ่นก่อนหน้า เพราะคิดว่า "นักวิชาการรุ่นใหม่ตั้งหน้าตั้งตาข้ามหัวเหยียบหัวนักวิชาการรุ่นเก่าตลอดเวลา" แต่ผมว่า การไม่วิพากษ์นักวิชาการรุ่นก่อนหน้าหลายกรณีมันเกินไปกว่าการเคารพกันในทางวิชาการ แต่แสดงลักษณะอำนาจนิยมหรืออย่างเบาคือระบบอุปถัมภ์ในวงวิชาการมากกว่า
 
การไม่ยอมรับการวิพากษ์อันเนื่องมาจากระบบอุปถัมภ์ในวงวิชาการนั้น บางที่ไปไกลขนาดที่ว่า "ลูกศิษย์อาจารย์เดียวกันไม่ควรวิจารณ์กันเอง" บางคนหลีกเลี่ยงที่จะวิพากษ์คนอื่นเนื่องจาก "ไม่อยากเสียมิตรภาพ" หรือที่แย่กว่านั้นคือ กลัวว่าหากท่านๆ ผู้ใหญ่จะต้องมาเป็นผู้ประเมินผลงานทางวิชาการของตนแล้ว จะทำให้เกิดปัญหา หมดอนาคตไปได้
 
แต่แปลกที่ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ใหญ่เหล่านั้นไม่ได้ถือสาอะไรเป็นการส่วนตัวว่าผมหรือคนรุ่นใหม่คนไหนจะวิพากษ์ท่านเพื่อลบหลู่ดูถูกท่าน เพราะส่วนตัวผมเคารพท่านเหล่านั้น ชื่นชม อ่านงาน และได้เรียนรู้อะไรมากมายจากงานท่านเหล่านั้นเสมอๆ เห็นมีแต่พวกลูกศิษย์ของท่านๆ เหล่านั้นต่างหากที่ดูจะเดือดร้อนเกินครู
 
ผู้ใหญ่ทางวิชาการในวัฒนธรรมทางวิชาการแบบที่ผมเติบโตมา คือที่ธรรมศาสตร์ ไม่เคยมีปัญหากับการทำงานเชิงวิพากษ์ของผม ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าที่อื่นเป็นอย่างไร แต่ที่ที่ผมทำงานอยู่ ผมไม่รู้สึกถึงการข่มกันด้วยวัยวุฒิ หรือแม้แต่คุณวุฒิ ผมเริ่มทำงานที่ํรรมศาสตร์ไม่นานหลังจากที่เรียนจบจากที่นี่ อาจารย์ผมทุกท่านก็ปฏิบัติกับผมเสมือนผมเปลี่ยนสถานภาพจากลูกศิษย์ เป็นเพื่อนร่วมงานโดยอัตโนมัติทันที ครูบาอาจารย์ผมเปิดรับการวิพากษ์ การแลกเปลี่ยนความเห็น การเสนอความเห็น โดยไม่คำนึกถึงความอาวุโส วิถีนี้จึงเป็นวัฒนธรรมทางวิชาการที่ผมว่ายเวียนอยู่เป็นปกติวิสัย
 
จะว่่าไปก็มี "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการบางคนที่ไม่ชอบการวิพากษ์บ้างเหมือนกัน แบบเบาๆ ท่านก็ว่าผมเป็นคนก้าวร้าว อย่างแรงๆ ก็ว่าผมวิพากษ์แบบบ่อนทำลาย ไม่สร้างสรรค์ แต่นั่นยังไม่น่ารำคาญเท่าสำนวนประเภท "เอาแต่วิพากษ์น่ะ เสนอทางออกอะไรบ้าง" ผมนึกในใจ "ขอโทษ การวิพากษ์ก็เป็นงานนะครับ อยากได้ข้อเสนออะไร ก็ช่วยไปคิดทำงานต่อกันเอาเองบ้างสิครับ"
 
คนที่ทำงานวิชาการย่อมรู้ดีว่า การวิพากษ์เป็นจิตวิญญาณของการทำงานทางวิชาการ บางคนไม่ชอบการทำงานวิชาการเพราะการฝึกฝนแบบฝรั่งที่ต้องวิพากษ์ตลอดเวลา สำหรับผม ที่แย่ยิ่งกว่าการเกรงกลัวระบบอุปถัมภ์จนละเว้นการวิพากษ์คือ การไม่อ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเอง อ่านและอ้างแต่งานต่างประเทศ จึงไม่วิพากษ์นักวิชาการไทยด้วยกันเอง อย่างนี้แล้วจะทำให้งานวิชาการในโลกภาษาไทยก้าวหน้าได้อย่างไร
 
การรังเกียจการวิพากษ์ในอีกลักษณะหนึ่งมาจากเหตุผลที่ว่า การทำงานทางวิทยาศาสตร์ต้องปลอดอคติ จึงไม่ควรวิพากษ์สังคม เพราะการวิพากษ์สังคมจะมาจากฐานทางศีลธรรมและการเมืองบางอย่าง ว่าสังคมที่ดีกว่าเป็นอย่างไร นักวิชาการที่ฝึกฝนมาแบบ "วิทยาศาสตร์" มักตั้งข้อรังเกียจต่อการศึกษาเชิงวิพากษ์แบบนี้ 
 
ทัศนะแบบนี้เองมองข้ามไปว่า การละเว้นไม่ศึกษาสังคมเชิงวิพากษ์ก็วางอยู่บนอคติที่ว่า นักวิชาการยอมรับสภาพความเป็นไปของสังคมที่ศึกษาอยู่แล้ว การไม่ตัดสินเชิงคุณค่าก็คือการยอมรับเชิงคุณค่าแบบหนึ่ง เป็นการยอมรับว่าสัวคมที่เป็นอยู่สมควรดำเนินต่อไปอย่างนั้น ใหม่ควรเข้าไปวิพากษ์อะไร ไม่ควรคาดหวังสังคมที่ดีกว่่าอย่างไร การไม่วิพากษ์จึงไม่ใช่การปลอดอคติ แต่มีอคติของความเฉยเมย ไม่นำพาต่อความเหลื่มล้ำไม่เป็นธรรมในสังคม
 
มีครั้งหนึ่ง ผมตกใจที่นักวิชาการเพื่อนร่วมวิชาชีพบางคนไม่รู้จักการวิพากษ์แบบนี้ เขาคิดว่าการทำงานวิชาการคือการเข้าใจหรืออธิบายสังคมเท่านั่น แต่ที่จริงมีการศึกษาเชิงวิพากษ์เพื่อชีวิตที่ดีกว่าด้วย ที่ชัดเจนคือนักทฤษฎีสังคมกลุ่ม "ทฤษฎีวิพากษ์" (critical theory) หากใครอ่านหนังสือทฤษฎีสังคมอยู่บ้าง ย่อมผ่านหูผ่านตากับประโยคที่คาร์ล มาร์กซกล่าวไว้ทำนองที่ว่า "งานวิชาการไม่ได้เพียงต้องการอธิบายสังคม แต่งานวิชาการต้องเปลี่ยนโลกด้วย" 
 
หากคุณรังเกียจ "มาร์กซ" ผมผมว่าพระพุทธเจ้า นะบี จีซัส ขงจื่อ โมเสส หรือศาสดาท่านอื่นใดคงพูดอะไรทำนองนี้ไว้เช่นกัน เพราะไม่เช่นนั้นท่านเหล่านั้นจะเสนอทางออกให้มนุษยชาติได้อย่างไร
 
อย่างไรเสีย คุณจะเปลี่ยนโลกได้ก็ต้องรู้ก่อนว่าจะเปลี่ยนไปทางไหนดี นั่นคือ คุณต้องมียูโทเปีย หรือเฮ็ทเทอโรเปีย (พหุสังคมอุดมคติ) อยู่เป็นธง แล้ววิพากษ์ว่าสังคมปัจจุบันมันเลวร้ายอย่างไร แล้วจึงหาแนวทางที่จะบรรลุสังคมที่ดีกว่า ใช่เลยที่ว่า การวิพากษ์แนวนี้คล้ายคลึงกับศาสนา ที่ต้องมีการตัดสินเชิงคุณค่า การมีเป้าหมายเชิงศีลธรรมบางอย่าง
 
ที่จริงการวิพากษ์แนวนี้ทำให้วิชาการติดดิน เป็นการนำวิชาการไปสู่สาธารณะ เพราะต้องตอบโจทย์ของสังคม ต้องลงจากหอคอยงาช้าง ต้องคลุกคลีกับผู้คน เพียงแต่ว่า จุดตั้งต้นของการวิพากษ์แนวนี้มีฐานทางวิชาการที่อยู่บนหอคอยงาช้าง นักวิพากษ์แนวนี้ต้องทั้งเข้าใจสังคมและต้องเสนอทิศทางการเปลี่ยนแปลงสังคม 
 
ด้วยการวิพากษ์ไม่ใช่หรือที่ทำให้โลกก้าวหน้ามาจนปัจจุบัน ไม่อย่างนั้นก็คงมีแต่คนนิพพานแล้วมนุษย์ก็สูญพันธ์ุไปตั้งแต่เมื่อพันปีที่แล้ว หรือไม่ก็ฝึกจิตจนบินได้กันเต็มไปหมดเนื่องจากไม่มีใครวิพากษ์ความรู้โบราณที่มีฐานอยู่ที่ศาสนา หรือไม่อย่างนั้น เราคงยังควงขวานหิน แล่ปลาด้วยหินกระเทาะกันอยู่ 
 
หรือถ้าจะไม่วิพากษ์กัน ทำไมเราไม่รื้อฟื้นภูมิปัญญามนุษย์ยุคหิน เลิกกระทั่งการถลุงเหล็กหรือการทำกลองสำริด แล้วกลับไปเขวี้ยงหินใส่กันเสียเลยดีกว่าไหม เลิกขีดเขียนแล้วกลับไปเล่านิทานกันดีกว่าไหม หรือไม่ก็กลับไปปีนป่ายต้นไม้กันดีกว่าไหม
 
หากใครจะทำงานวิชาการแล้วไม่ทำงานวิพากษ์งานก่อนหน้าอย่างตรงไปตรงมา ไม่เดือดร้อนกับความอยุติธรรมของสังคมแล้ววิพากษ์สังคม ผมก็ไม่รู้ว่าจะยังเรียกตนเองว่านักวิชาการอยู่ได้อย่างไร 
 
แต่หากใครจะบอกว่า วัฒนธรรมวิชาการแบบไทยๆ ก็ต้องเป็นแบบอุปถัมภ์ เป็นแบบปลอดอคติหม่วิพากษ์สังคม ผมก็จะขอถอนสัญชาติทางวิชาการของผมเสีย ส่วนใครจะตั้งหน้าตั้งตาต่อต้านการวิพากษ์ของผมทั้งที่ลับและที่แจ้ง ทั้งเอ่ยชื่อตรงๆ หรือไม่เอ่ยชื่อ ก็แล้วแต่เขา ตามสะดวก เพราะผมไม่ได้มีหน้าที่ไปตั้งด่านตรวจจับทัศนะคับแคบทางวิชาการเหล่านั้น

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ