Skip to main content

ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)

สมัยผม ในต้นทศวรรษ 2530 โรงอาหารเศรษฐฯ มธ. คือพื้นที่ทางปัญญานอกห้องเรียนที่สำคัญของชาวธรรมศาสตร์ ที่เรียกโรงอาหารเศรษฐฯ เพราะสมัยนั้นโรงอาหารอื่นไม่ได้มีแต่ที่คณะสังคมฯ แต่ยังมีร้านอาหารเล็กๆ คณะนิติฯ คณะบัญชีฯ และข้างโรงยิมฯ ร้านเล็กๆ พวกนี้อาหารอร่อย แต่มักแน่นขนัด ต้องเตรียมตัวจัดเวลาดีๆ ไม่งั้นไม่ได้กิน ครั้นจะไปกินที่ร้านแถวท่าพระจันทร์ สำหรับผมก็ว่าแพงไป มีหลายครั้งที่ผมยินดีเดินไปกินที่ศิลปากร เพราะอาหารถูกปาก บรรยากาศถูกใจ แถมราคาถูกกว่า แต่หากจะนั่งคุย ยังไงก็ต้องนั่งที่โรงอาหารเศรษฐฯ
 
ความจริงพื้นที่ทางปัญญาสมัยก่อนมีมาก เช่น ตามห้องจัดสัมมนางาน เสวนาวิชาการต่างๆ ที่จัดกันเป็นประจำ เรียกว่าสัปดาห์หนึ่งต้องมีที่น่าเข้าฟังสำหรับผมอย่างน้อย 2-3 รายการ ถ้าไม่มี บางทีเราก็จัดให้มีเสียเองบ้าง นอกจากนั้นพรรคพวกผมก็จะเจอกันที่ห้องทำงานกน. (กรรมการนักศึกษา) อมธ. ตึกกิจฯ สภาฯ ที่มักเป็นที่สิงสถิตของบรรดานักถกเถียง ไปจนถึงพวกมาหลบนอนเวลาโดดเรียน หรือมานั่งเท่ไปวันๆ แล้วคิดหาปรัชญาชีวิตมาอธิบายว่า ทำไมกูจึงไม่เข้าห้องเรียน ไม่เขียนหนังสือ ไม่ผลิตอะไรเลยนอกจากพ่นๆๆ ตัวหนังสือที่เพียรอ่านเป็นปีๆ 
 
ผมเรียนรังสิตรุ่นแรก เรียนได้ปีเดียวก็กลับมาเรียนท่าพระจันทร์ ทีแรกที่รู้ว่าปีแรกต้องไปเรียนรังสิต ผมเกือบจะสละสิทธิ์ไปแล้ว เพราะอยากเรียนที่ท่าพระจันทร์มากกว่า ระหว่างปีหนึ่ง ผมจึงมาท่าพระจันทร์บ่อยมาก เพราะห้องสมุดท่าพระจันทร์ดีกว่า มีขุมความรู้มากกว่า มีความเป็นห้องสมุดมากกว่าห้องสมุดมธ.รังสิต (ทั้งสมัยนั้นและสมัยนี้) ผมจึงไม่ค่อยรู้ว่า สมัยนั้นเพื่อนๆ เขานั่งถกนั่งคุยกันที่ไหนที่รังสิต
 
ที่จริง จากการตระเวนสำรวจห้องสมุดไม่ว่าจะมหาวิทยาลัยไหนๆ ผมกล้าบอกว่าสมัยที่ผมเข้าเรียนปริญญาตรีปี 2529 จนจบโท ห้องสมุดกลางธรรมศาสตร์ รวมกับห้องสมุดต่างๆ ในแทบทุกคณะ มีหนังสือทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ดีกว่าห้องสมุดมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่ผมไป ทั้งศิลปากร จุฬา มศว.ประสานมิตร เกษตร รามฯ ยกเว้นห้องสมุดที่มีหนังสือเฉพาะทางอย่างศิลปะ หรือวิศวกรรม
 
สมัยนั้นจะมีอะไรที่ใกล้เคียงกำแพงสมุดพักตร์หน่อยก็เห็นจะเป็น "กำแพงข่าว" จะว่าไปกำแพงข่าวน่าจะเทียบได้กับเว็บบล็อกในปัจจุบันมากกว่า
 
กำแพงข่าวเป็นมนต์ขลังของท่าพระจันทร์สมัยผม ผมชอบมามหาวิทยาลัยแต่เช้า เพราะรถเมล์ว่าง และรถไม่ติดมาก มักมาถึงมหา'ลัยราวๆ 7 โมงกว่า ก่อนใครต่อใครมา แล้วมาเดินอ่านกำแพงข่าว กำแพงข่าวเขียนโดยพวกรุ่นพี่ๆ นักกิจกรรม เป็นบทวิเคราะห์การเมืองมันๆ เท่ๆ กำแพงข่าวจะไล่มาตั้งแต่หน้าคณะศิลปศาสตร์ มาจนถึงกำแพงตึกเอที ที่ขณะนี้ทุบไปแล้ว กลายเป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุดเศรษฐฯ กับห้องสมุดกลาง บางทีคณะเศรษฐฯ ที่ผมเรียนก็มีกำแพงข่าวของตนเองบ้างเหมือนกัน คนอ่านไม่ได้มีเฉพาะนักศึกษา คนทั่วไปจะเข้ามายืนอ่านกำแพงข่าวกันเป็นเรื่องเป็นราว
 
ปีแรกๆ ก็คิดว่าสักวันจะต้องเขียนกำแพงข่าวกับเขาบ้างให้ได้ พอปีสามปีสี่ ผมเริ่มเขียนกำแพงข่าวบ้างเหมือนกัน ที่จริงผมช่วยงานกน.เศษรฐฯ เขียนคัทเอาท์ (ป้ายโฆษณา) ที่บางทีก็แอบวาดรูปลงคัทเอาท์ประกอบบทความหรือบทกวีสั้นๆ อยู่เหมือนกัน พอได้รับความไว้วางใจจากพี่ๆ เพื่อนๆ ให้เขียนอะไรยาวๆ ก็ขยับปากกาเขียนกับเขาบ้าง จำไม่ได้แล้วว่าเขียนอะไรมั่วๆ ลงไปบ้าง
 
นอกจากพื้นที่พวกนั้น ก็มีโรงอาหารเศรษฐฯ นี่แหละที่พวกเราจากหลายคณะ หลายชั้นปีมานั่งแกร่ว นั่งถกเถียงกัน นั่งคุยเล่น นั่งแลกเปลี่ยนความเห็นเคล้ากาแฟกัน บางทีได้รับเกียรติจากศิลปินบ้าง นักเขียนบ้างจากศิลปากร มาร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องต่างๆ เพื่อนบางคนมาจากจุฬา บ้าง จากรามฯ บ้าง ข้ามเมืองจากแดนแสนไกลมาสนทนากัน
 
เพื่อนหลายคนในขณะนั้นเวลานี้กลายเป็นบรรณาธิการหนังสือ เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ เป็นนักเขียน เพื่อนอีกหลายคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หลายคนเกลียดขี้หน้ากันเมื่อการเมืองแบ่งสี หลายคนยังรักใคร่เป็นทั้งมิตรสหายและเพื่อนร่วมวิชาชีพ หลายคนที่เคยถกเถียงกันเคร่งเครียดจนแทบเกลียดชัง กลับกลายมาเป็นมิตรทางปัญญาที่ดีในภายหลัง แต่เพื่อนหลายคนก็ไปขายของ ไปเป็นเถ้าแก่ ไปเป็นนักธุรกิจ ซึ่งก็ยังคบหากัน ยังแลกเปลี่ยนความเห็นกันจนทุกวันนี้
 
สมัยเมื่อธุรกิจการพิมพ์เฟื่องฟู (ก่อนหน้านั้นคงไม่เฟื่องฟูเท่าทศวรรษ 2530 สมัยนั้น นักวิชาการชื่อดังบางคน ซึ่งผมดีใจที่ท่านเหล่านั้นยังดังอยู่จนทุกวันนี้ ยังมีคุณภาพและยังเขียนสม่ำเสมอจนทุกวันนี้ มีผลงานเขียนตีพิมพ์เดือนหนึ่งลือกันว่านับสิบชิ้น หรือมากกว่านั้น) พรรคพวกเพื่อนผมขยับขึ้นไปเขียนกันบ้าง ผมเองเริ่มเขียนในช่วงหลังเรียนจบปริญญาโทใหม่ๆ ในปลายทศวรรษ 2530
 
หลังจากนั้นไม่นาน โรงอาหารเศรษฐฯ ก็ปิดลง เพื่อสร้างตึกใหม่อย่างที่เห็นทุกวันนี้ ระหว่างนั้น พรรคพวกผมเริ่มเรียนจบบ้าง ไม่จบบ้าง ชีวิตหันเหไปทางอื่น ไม่ได้ต่อสายกับเพื่อนๆ น้องๆ รุ่นต่อๆ มาเท่าไรนัก กระทั่งเมื่อเข้าทำงานสอนในมหา'ลัยปี 2539 ผมก็เริ่มห่างไปจากภูมิทัศน์เดิมๆ มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วชีวิตทางปัญญาก็เปลี่ยนไปในอีก 2 ปีให้หลังเมื่อได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาเอก
 
ปล.
แฮ่ม! เห็นผมเขียนบล็อกออกมาหลายชิ้นติดๆ กันนี่ คนที่รองานเขียนผมอยู่คงบ่นแล้วว่า "ทำไมเอ็งไม่เอาเวลาไปเขียนงานวิชาการ นั่งเขียนบล็อกอยู่ได้" 
 
ผมอยากตอบว่า "ขอโทษครับ วันๆ ผมคิดโน่นคิดนี่มากมาย ทำงานขีดเขียนอะไรมากมาย ไม่ได้เอาเวลาที่เหลือเวลาไปนั่งดูทีวี ดูกีฬา ไม่ต้องเล่นกับลูก ไม่ได้ต้องเอาใจใครทุกบ่อยๆ ขอพักผ่อนกับการเขียนอะไรเรื่อยเปื่อยบ้างเถอะครับ"

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
นี่เป็นข้อเขียนภาคทฤษฎีของ "การเมืองของนักศึกษาปัจจุบัน" หากใครไม่ชอบอ่านทฤษฎีก็ขอร้องโปรดมองข้ามไปเถอะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จริงหรือที่นักศึกษาไม่สนใจการเมือง ขบวนการนักศึกษาตายแล้วจริงหรือ ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าการถกเถียงเรื่องเครื่องแบบ เรื่องทรงผม เรื่องห้องเรียน เป็นเรื่องการเมืองได้อย่างไร แล้วดูแคลนว่ามันเป็นเพียงเรื่องเสรีภาพส่วนตัว เรื่องเรียกร้องเสรีภาพอย่างเกินเลยแล้วล่ะก็ คุณตกขบวนการเมืองของยุคสมัยไปแล้วล่ะ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะบุคคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผู้หนึ่ง ผมขอเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วนที่อธิการบดีคนต่อไปควรเร่งพิจารณา เพื่ิอกอบกู้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นบ่อน้ำบำบัดผู้กระหายความรู้ และเป็นสถาบันที่เคียงข้างประชาชนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกประกอบการพูดเรื่อง "การศึกษาไทย" เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเสนอว่าเรากำลังต่อสู้กับสามลัทธิคือ ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา และลัทธิแบบฟอร์ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษาไทยไทย: ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" เป็นโจทย์ที่นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ตั้งขึ้นอย่างท้าทาย พวกเขาท้าทายทั้งระบบการเรียนการสอน วัฒนธรรมการศึกษา เนื้อหาในหลักสูตร และระบบสังคมในสถานศึกษา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะที่ร่วมก่อตั้งและร่วมงานกับ "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสปิริตของการทำงานของ ศปช. กับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ามองหลักสิทธิมนุษยชนต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ดี นี่เป็นทัศนะและหลักการของผมเองในการร่วมงานกับ ศปช. ซึ่งอาจแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำตัดสินของศาลอาญาในกรณี 6 ศพวัดประทุมฯ ชวนให้นึกถึงภาพถ่ายเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ใต้ต้นมะขามต้นหนึ่งที่สนามหลวง นอกจากภาพชายคนที่ใช้เก้าอี้ตีศพที่ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามแล้ว ภาพผู้คนที่รายล้อมต้นมะขามซึ่งแสดงอาการเห็นดีเห็นงามหรือกระทั่งสนับสนุนอยู่นั้น สะเทือนขวัญชาวโลกไม่น้อยกว่าภาพชายใช้เก้าอี้ทำร้ายศพ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเคยนั่งในพิธีรับปริญญาบัตรในฐานะผู้รับและในมุมมองของผู้ให้มาแล้ว แต่ไม่เคยได้นั่งในพิธีในฐานะผู้สังเกตการณ์จากบนเวทีแบบเมื่อครั้งที่ผ่านมานี้มาก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฐมลิขิต: ใครรังเกียจทฤษฎี เกลียดงานเขียนแบบหอคอยงาช้าง ไม่ต้องพลิกอ่านก็ได้นะครับ และเวลาผมใส่วงเล็บภาษาอังกฤษหรืออ้างนักคิดต่างๆ นี่ ไม่ได้จะโอ่ให้ดูขลังนะครับ แต่เพื่อให้เชื่อมกับโลกวิชาการสากลได้ ให้ใครสนใจสืบค้นอ่านต่อได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะว่าไป กสทช. คนที่แสดงความเห็นต่อเนื้อหาละครฮอร์โมนนั้น ดูน่าจะเป็นคนที่สามารถวิเคราะห์ เข้าใจสังคมได้มากที่สุดในบรรดา กสทช. ทั้ง 11 คน เพราะเขามีดีกรีถึงปริญญาเอกทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโด่งดังในเยอรมนี ต่างจากคนอื่นๆ ที่ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นทหารหรือใครที่สมยอมกับการรัฐประหารปี 2549 แล้ว ก็เป็นช่างเทคนิคทางด้านการสื่อสาร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า "ไม่รู้อาจารย์ผู้ชายทนสอนหนังสือต่อหน้านักศึกษานุ่งสั้นที่นั่งเปิดหวอหน้าห้องเรียนได้อย่างไร" สำหรับผม ก็แค่เห็นนักศึกษาเป็นลูกเป็นหลานก็เท่านั้น แต่สิ่งยั่วยวนในโลกทางวิชาการมีมากกว่านั้นเยอะ และบางทีจะยิ่งหลบเลี่ยงยากยิ่งกว่าการสร้าง incest taboo ในจินตนาการขึ้นมาหน้าห้องเรียน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนมนุษยศาสตร์จำนวนมากสนใจวิธีการและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ แต่นักสังคมศาสตร์เขาตั้งท่าทำวิจัยกันอย่างไร แล้วหากนักมนุษยศาสตร์จะใช้วิธีการและทฤษฎีแบบสังคมศาสตร์บ้างจะทำอย่างไร