Skip to main content

ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ

ผมมักจำสลับกันระหว่างหนังสือ "แด่หนุ่มสาว" ของกฤษณมูรติ แปลโดยพจนา จันทรสันติ กับหนังสือ "แด่นักศึกษา" ของคานธี แปลโดยกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย ที่อ่านสมัยเรียนปริญญาตรีปีหนึ่ง ผมว่าผมอ่านทั้งสองเล่มนั่นแหละ และความคิดหลายๆ อย่างในหนังสือสองเล่มนั้นคงมีอิทธิพลต่อผมไม่น้อยทีเดียว (แล้วอย่างนี้ใครยังจะมาว่าผมบ้านักคิดฝรั่งได้ยังไง ยังเขียนเรื่อง "บ่นบนหอคอยงาช้าง" ไม่จบ เอาไว้ค่อยว่ากันทีหลัง)
 
ผมไม่เคยคิดว่า "นักศึกษา" เป็น "ลูกศิษย์" เลย แม้แต่ระหว่างศึกษาเล่าเรียนกัน ศิษย์ไม่ได้เป็นแค่ศิษย์ แต่ยังเป็นครูของครูด้วยเสมอ

ยิ่งกว่านั้น ผมไม่ชอบคำว่า "ลูก" ที่มาต่อหน้าคำว่า "ศิษย์" จินตกรรม "พ่อ-แม่-ลูก" ไม่ควรก้าวก่ายอธิบายความสัมพันธ์ไปเสียทุกๆ อย่าง รัฐไทยชอบเอาจินตกรรมนี้ครอบไปเสียทุกเรื่อง จนแยกไม่ออกกันแล้วว่า ใครพ่อแม่จริง ใครพ่อแม่สมมุติกันแน่ ผมคิดกับพวกเขาเสมอเหมือนเป็นเพื่อนร่วมโลก ที่เกิดมาร่วมชะตาความไร้สาระเบาหวิววววของการมีชีวิต แต่ผมก็เลือกที่จะไม่ละโลกเบาหวิวนี้ไปหรอก สนุกจะตายที่จะทุกข์สุขไปวันๆ

ผมชอบอุปลักษณ์ "เรือจ้าง" มากกว่า ยิ่งทุกวันนี้ระบบประกันคุณภาพ ระบบของการทำให้การศึกษากลายเป็นสินค้า ยิ่งรู้สึกได้มากขึ้นถึงการเป็นเรือจ้าง เป็นลูกจ้างของนักศึกษา เมื่อส่งนายจ้างถึงฝั่งแล้ว ก็แล้วกัน คนเรือจ้างก็จะยังคอยรับจ้างพายเรือข้ามฟากอยู่อย่างนี้ไปทุกเมื่อเชื่อวัน ขณะที่นายจ้างเรือข้ามฟาก ผ่านมาแล้วก็จากไป
 
เมื่อพวกคุณขึ้นฝั่งแล้ว ช่วยถีบหัวเรือแรงๆ ก็แล้วกัน คนแจวเรือจ้างจะได้ไม่มีภาระคัดท้ายเรือออกจากฝั่งให้ยากเย็นนั

เรือข้ามฟากเป็นพื้นที่ของการโคจรอย่างไม่รู้จบ น้อยคนนักที่จะข้ามเรือแล้วกลายมาเป็นคนแจวเรือข้ามฟากอย่างผมที่ถูกสาปให้กลับมาเป็นคนแจวเรือ ทั้งๆ ที่ถึงฝั่งไปแล้ว 

ความจริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะศิษย์-ครูย่อมเป็นกันชั่วครู่ชั่วคราว ผมไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นครู เป็นอาจารย์ใครกันไปตลอดชีวิต เมื่อจบแล้ว ศิษย์ก็อาจกลายมาเป็นเพื่อนร่วมงาน อาจกลายมาเป็นเพื่อนสนทนา กลายเป็นเพื่อนร่ำสุรา หรือศิษย์ก็อาจเป็นคนที่เกลียดขี้หน้าครู ชิงชังครู เป็นศัตรูกับครู ที่จริงครูผมที่ภายหลังตั้งตนเป็นศัตรูกับผมก็ยังมีเลย และถึงที่สุดแล้ว ศิษย์เป็นเพื่อนร่วมโลกกับครู

วัยอันสดใส-ร่าเริง-มุทะลุ-บ้าบิ่น-คึกคะนอง-ปราดเปรื่อง-ฝันเฟื่อง-ใช้ชีวิตเปลือง ฯลฯ ของหนุ่มสาวมักหมดไปอย่างรวดเร็วเมื่อพวกเขา "จบการศึกษา" หนุ่มสาวจำนวนมากเข้าสู่วัยทำงาน ตั้งหน้าตั้งตาหาเมียหาผัวสร้างครอบครัว แต่งงาน มีลูก ปลูกบ้าน เป็นหนี้ ดูแลพ่อแม่ชรา แล้วชีวิตก็จบลงด้วยการเข้าวัดฟังธรรมเลี้ยงหลาน

หลายคนที่เคยบ้าบิ่น ตั้งคำถามกับทุกสิ่งที่อยู่ต่อหน้า พอพ้นวัยเรียน ก็อธิบายตนเองว่า "เฮ่ย! โตแล้ว แก่แล้ว เริ่มเข้าใจชีวิตมากขึ้น ออกจากโลกของความฝันแล้ว" แต่ส่วนมากไม่ทันได้สงสัยว่าชีวิตคืออะไร ก็ "ท้องป่อง" (ทั้งชายและหญิงนั่นแหละ) เข้าสู่วัฏสงสาร ทำงานใช้หนี้ให้กับสิ่งจำเป็นในชีวิตจนหัวบานแล้ว

แต่จะว่าไป มนุษย์ที่มีชีวิตรูทีนเหล่านี้แหละที่หล่อเลี้ยงสังคม หล่อเลี้ยงคนช่างฝัน หล่อเลี้ยงสังคมอีกซีกหนึ่งที่ไม่อยากโต ที่ไม่อยาก "เรียนจบ" ไม่อยากหยุดเพ้อพกฝันเฟื่อง 

เพียงแต่ว่า ผมก็ยังอยากเห็นเพื่อนร่วมศึกษา ที่เคยแลกเปลี่ยนความรู้ด้วยกันมาในห้องเรียน ที่กำลังจะถีบหัวเรือจ้างในเร็ววันนี้ จะยังไม่หยุดฝันเฟื่อง จะยังไม่ปฏิเสธความคิดฝันเพียงด้วยพันธะของคำอธิบายว่า "เราโตแล้ว เราจบแล้ว เราเข้าสู่ชีวิตจริงแล้ว" 

ผมยังอยากเห็นพวกเขาจะยังค้นหาความหมายของชีวิต จะยังหยุดคิดสักเพียงบางนาทีในแต่ละวัน เพื่อใคร่ครวญสงสัยว่าเราทำอะไรอยู่ เราเลือกทางเดินชีวิตแบบนี้เองจริงหรือ เราเลือกสิ่งที่ตนเองต้องการแล้วหรือยัง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน