Skip to main content

ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน

วิธีที่จะทำให้พวกเขาได้แสดงความเห็นคือ จัดเก้่าอี้นั่งเป็นครึ่งวงกลม แม้ว่าบางปีห้องเรียนจะใหญ่ขนาด 50-60 คน ผมก็ทำอย่างนี้ นอกจากนั้น ต้องให้พวกเขาเตรียมตัวมาก่อน ผมแบ่งกลุ่มย่อย กลุ่มละ 2-3 คน แล้วให้ทุกคนอ่านเอกสารก่อนเข้าเรียน แต่ละกลุ่มต้องเขียนบันทึกสรุปเอกสารที่อ่านแล้วเตรียมคำถามมา 4-5 คำถาม ใครไม่อ่าน ก็จะไม่ได้อะไรจากการเรียน พอสัมมนาไปสักพัก ผมจะบรรยายสรุปประเด็นปิดท้าย (ดูเอกสารประกอบการบรรยายบางส่วน)

 

นอกจากนั้น ผมให้ทุกคนทำงานเดี่ยว ทุกคนต้องอ่านหนังสือหรือวิทยานิพนธ์หนึ่งเล่ม แล้วเขียน “บทปริทัศน์หนังสือ” คนละ 5-7 หน้า อีกส่วนที่ต้องทำคือ มีโครงการวิจัยเล็กๆ ของแต่ละคน เป็นงานเดี่ยว พวกเขาจะต้องเลือกหัวข้อที่สนใจเอาเอง แล้วจัดสรรเวลาไปเก็บข้อมูล ในสัปดาห์ท้ายๆ ของการเรียน เราจะนำ "บันทึกภาคสนาม" มาแลกเปลี่ยนกัน ถกเถียงกัน คัดเลือกของบางคนที่น่าสนใจมานำเสนอหน้าชั้นเรียนกัน สุดท้าย ทุกคนจะต้องเขียน “บทประพันธ์เชิงชาติพันธ์ุนิพนธ์” คนละ 10-12 หน้า

 

เมื่อวาน ผมเพิ่งอ่าน “บทประพันธ์เชิงชาติพันธ์ุนิพนธ์” ของนักศึกษาเสร็จ นักศึกษาวิชานี้ปีนี้มีทั้งสิ้น 65 คน คนละหนึ่งชิ้น ชิ้นละ 10-12 หน้า รวมแล้วราว 700 กว่าหน้าจบ ขอแชร์บันทึกสั้นๆ ที่ผมประมวลภาพรวมของผลงานทั้งหมดไว้ดังนี้

 

(1) เนื้อหาของงานมีความหลากหลายมาก ตั้งแต่เรื่องดาราเกาหลี อินสตาแกรม ศาสนา ความเชื่อ ไปจนถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ การเขียนนิยาย การแต่งรถ แรงงานอพยพ คนสูงวัย เทคโนโลยี คนพิการ การแต่งหน้า การศัลยกรรม กลุ่มชาติพันธ์ุ ฯลฯ

 

แต่โดยภาพรวมแล้วส่วนใหญ่สนใจสังคมใกล้ตัว คนใกล้ตัว หรือสนใจตนเอง ทำให้เห็นว่านักศึกษาสนใจทำความเข้าใจตนเอง มากกว่าทำความเข้าใจสังคมที่กว้างห่างไกลตนเอง หรือไม่อย่างนั้นก็สนใจสังคมรอบข้างที่ใกล้ตนเอง

 

(2) ส่วนประเด็นศึกษาหรือแนวคิดที่ใช้ในการวิเคราะห์ก็มีหลากหลาย ตั้งแต่เพศสถานะ ความเป็นหญิง-ชาย เรือนร่าง อัตลักษณ์ วัฒนธรรมการต่อต้าน วัฒนธรรมความจน ไปจนถึงมานุษยวิทยาทัศนา ความเป็นชายขอบ ความเป็นพื้นที่ เป็นต้น หรือที่ซื่อๆ ก็ยังเห็นมีคนใช้ทฤษฎีการแพร่กระจาย ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และทฤษฎีบทบาททางสังคมอยู่ 

 

บางคนเลือกพรรณนารายละเอียดของชีวิตคนโดยแทบจะไม่มีการตีความทับเลย และส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดมากเท่ากับสาระของวิถีชีวิตที่หลากหลาย ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่ดีหากทำได้อย่างละเอียดละออและหากสามารถแสดงให้เห็นแง่มุมของชีวิตผู้คนได้อย่างลึกซึ้งเพียงพอ

 

(3) ในแง่การนำเสนอ โจทย์ที่ผมตั้งให้พวกเขาคือ "surprise me" คือจะทำอย่างไรก็ตามที่จะทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นกับงานเขียนของพวกเขา 

 

หลายคนจึงเลือกวิธีการเขียนที่ไม่ธรรมดา ไม่ได้อยู่ในขนบของการเขียน "งานวิชาการ" ทั่วไป เช่น บางคนเขียนเรื่องสั้น บางคนเขียนบทความวิชาการปนเรื่องสั้นปนภาพประกอบนามธรรมเกี่ยวกับเรื่องที่นำเสนอ บางคนเขียนการ์ตูนมาส่ง บางคนเขียนจดหมาย บางคนเขียนบทนำเป็นกลอนที่ไพเราะและได้เนื้อหาทางวิชาการดีมากด้วย 

 

แต่งานเขียนส่วนใหญ่ก็ยังเป็นการเขียนในขนบของงานวิชาการ บางคนเขียนเป็นวิทยาศาสตร์เสียจนบางทีก็น่าเบื่อไปบ้าง สุดท้ายผมพบว่า งานชิ้นไหนยิ่งชวนให้ใช้เวลาอ่านนานเท่าไหร่ จูงใจให้อ่านได้มากตัวอักษรเท่าไหร่ ยิ่งจะได้คะแนนดี

 

(4) แน่นอนว่างานเขียนของพวกเขาหลายคนยังมีปัญหา ปัญหาที่พบบ่อยๆ คือ การเขียนโดยไม่มีย่อหน้า หรือเรื่องราวทั้งหัวข้อใหญ่ๆ เนื้อหายาวๆ แต่กลับมีเพียงย่อหน้าเดียว ผมบอกเขาหลายครั้งแล้วว่า นั่นแสดงว่าคุณจัดระบบความคิด จัดลำดับการนำเสนอไม่ได้ หรือไม่ได้จัดโครงสร้างการนำเสนอก่อนหรือหลังการเขียน 

 

บางคนเหมือนพวกบ้าทฤษฎี หรือบางทีพวกเขาจะพยายามเอาใจนักทฤษฎีเสียจนล้นพ้น ทำให้เนื้อที่สำหรับการเสนอผลงานตนเองน้อยไป พวกเขานึกว่าอาจารย์จะอยากอ่านทฤษฎีที่พวกเขาเพียรลอกๆๆ มาอย่างนั้นหรือ ไม่ทราบเมื่อไหร่จะเข้าใจกันเสียที

 

ปัญหาการเขียนทั่วๆ ไปยังมีอีกมาก แต่ที่สำคัญอยากยกมาสรุปตรงนี้คือปัญหาการนำเสนอด้วยมุมมองจากเบื้องบน (omniscient point of view) คือสรุปความโดยไม่มี "ผู้มอง" ไม่มีผู้พูด กล่าวราวกับเป็นความจริงสูงสุด ทั้งๆ ที่สรุปมาจากเพียงการศึกษาคน 2-3 คน ไม่ปล่อยเสียงของผู้คนที่พวกเขาศึกษาเข้ามาในงานบ้างเลย บางคนคงเชื่อว่าการเขียนด้วยการบังตนเองและขจัดเสียงหลากหลายออกไปให้หมดคือวิธีที่ทำให้ดูเป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดความชัดเจน แต่จริงๆ แล้วนั่นคือวิธีลดทอนความจริงที่มีสีสัน ให้กลายเป็นเพียงข้อสรุปที่ตายด้าน

 

สรุปรวมแล้ว งานหลายชิ้นทำให้ผมทึ่งทั้งด้วยเนื้อหา วิธีการนำเสนอ และประเด็นที่พวกเขานำเสนอ งานหลายชิ้นทำให้ผมต้องสารภาพว่า เมื่อตอนที่อายุเท่าพวกเขา ผมยังไม่สามารถเขียนอะไรได้ขนาดนี้เลยด้วยซ้ำ งานหลายชิ้นให้ความบันเทิงมากกว่างานนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก งานส่วนใหญ่ให้ความหวังทางวิชาการมากกว่างานวิจัยและบทความวิชาการของนักวิชาการหรืออาจารย์มหาวิทยาลัย แถมบางชิ้นยังให้ความรู้และน่าอ่านมากกว่างานเขียนของศาสตราจารย์บางคน

 

การอ่านงานของนักศึกษาชวนให้เกิดอารมณ์หลายๆ อย่าง งานบางชิ้นชวนให้โกรธ งานบางชิ้นชวนให้หน่าย ให้ง่วง ให้น้อยใจในวาสนาของตนเอง แต่งานหลายชิ้นก็ชวนให้ตื่นเต้น ชวนให้ปลื้มใจ ทำให้ยิ้มได้และอยากเอาไปอวดผู้คน

 

นักศึกษาหลายคนอาจเพิ่งเคยเขียนงานลักษณะนี้ หลายคนอาจจะยังมีโอกาสเขียนงานลักษณะนี้อีก แต่หลายคนอาจจะเขียนงานลักษณะนี้เป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตการเรียนของพวกเขา 

 

หวังว่าพวกเขาจะนำเอา "การเขียนชีวิตผู้คน" ไปใช้ทำความเข้าใจชีวิตตนเองและคนอื่นที่พวกเขาจะพบเจอในภายหน้าได้บ้างตามสมควรแก่โอกาส และหากโชคดี สังคมอาจจะได้ต้อนรับงานเขียนจากนักเขียนหน้าใหม่อีกมากมายในอนาคตอันใกล้นี้

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
นี่เป็นข้อเขียนภาคทฤษฎีของ "การเมืองของนักศึกษาปัจจุบัน" หากใครไม่ชอบอ่านทฤษฎีก็ขอร้องโปรดมองข้ามไปเถอะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จริงหรือที่นักศึกษาไม่สนใจการเมือง ขบวนการนักศึกษาตายแล้วจริงหรือ ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าการถกเถียงเรื่องเครื่องแบบ เรื่องทรงผม เรื่องห้องเรียน เป็นเรื่องการเมืองได้อย่างไร แล้วดูแคลนว่ามันเป็นเพียงเรื่องเสรีภาพส่วนตัว เรื่องเรียกร้องเสรีภาพอย่างเกินเลยแล้วล่ะก็ คุณตกขบวนการเมืองของยุคสมัยไปแล้วล่ะ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะบุคคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผู้หนึ่ง ผมขอเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วนที่อธิการบดีคนต่อไปควรเร่งพิจารณา เพื่ิอกอบกู้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นบ่อน้ำบำบัดผู้กระหายความรู้ และเป็นสถาบันที่เคียงข้างประชาชนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกประกอบการพูดเรื่อง "การศึกษาไทย" เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเสนอว่าเรากำลังต่อสู้กับสามลัทธิคือ ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา และลัทธิแบบฟอร์ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษาไทยไทย: ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" เป็นโจทย์ที่นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ตั้งขึ้นอย่างท้าทาย พวกเขาท้าทายทั้งระบบการเรียนการสอน วัฒนธรรมการศึกษา เนื้อหาในหลักสูตร และระบบสังคมในสถานศึกษา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะที่ร่วมก่อตั้งและร่วมงานกับ "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสปิริตของการทำงานของ ศปช. กับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ามองหลักสิทธิมนุษยชนต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ดี นี่เป็นทัศนะและหลักการของผมเองในการร่วมงานกับ ศปช. ซึ่งอาจแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำตัดสินของศาลอาญาในกรณี 6 ศพวัดประทุมฯ ชวนให้นึกถึงภาพถ่ายเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ใต้ต้นมะขามต้นหนึ่งที่สนามหลวง นอกจากภาพชายคนที่ใช้เก้าอี้ตีศพที่ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามแล้ว ภาพผู้คนที่รายล้อมต้นมะขามซึ่งแสดงอาการเห็นดีเห็นงามหรือกระทั่งสนับสนุนอยู่นั้น สะเทือนขวัญชาวโลกไม่น้อยกว่าภาพชายใช้เก้าอี้ทำร้ายศพ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเคยนั่งในพิธีรับปริญญาบัตรในฐานะผู้รับและในมุมมองของผู้ให้มาแล้ว แต่ไม่เคยได้นั่งในพิธีในฐานะผู้สังเกตการณ์จากบนเวทีแบบเมื่อครั้งที่ผ่านมานี้มาก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฐมลิขิต: ใครรังเกียจทฤษฎี เกลียดงานเขียนแบบหอคอยงาช้าง ไม่ต้องพลิกอ่านก็ได้นะครับ และเวลาผมใส่วงเล็บภาษาอังกฤษหรืออ้างนักคิดต่างๆ นี่ ไม่ได้จะโอ่ให้ดูขลังนะครับ แต่เพื่อให้เชื่อมกับโลกวิชาการสากลได้ ให้ใครสนใจสืบค้นอ่านต่อได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะว่าไป กสทช. คนที่แสดงความเห็นต่อเนื้อหาละครฮอร์โมนนั้น ดูน่าจะเป็นคนที่สามารถวิเคราะห์ เข้าใจสังคมได้มากที่สุดในบรรดา กสทช. ทั้ง 11 คน เพราะเขามีดีกรีถึงปริญญาเอกทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโด่งดังในเยอรมนี ต่างจากคนอื่นๆ ที่ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นทหารหรือใครที่สมยอมกับการรัฐประหารปี 2549 แล้ว ก็เป็นช่างเทคนิคทางด้านการสื่อสาร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า "ไม่รู้อาจารย์ผู้ชายทนสอนหนังสือต่อหน้านักศึกษานุ่งสั้นที่นั่งเปิดหวอหน้าห้องเรียนได้อย่างไร" สำหรับผม ก็แค่เห็นนักศึกษาเป็นลูกเป็นหลานก็เท่านั้น แต่สิ่งยั่วยวนในโลกทางวิชาการมีมากกว่านั้นเยอะ และบางทีจะยิ่งหลบเลี่ยงยากยิ่งกว่าการสร้าง incest taboo ในจินตนาการขึ้นมาหน้าห้องเรียน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนมนุษยศาสตร์จำนวนมากสนใจวิธีการและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ แต่นักสังคมศาสตร์เขาตั้งท่าทำวิจัยกันอย่างไร แล้วหากนักมนุษยศาสตร์จะใช้วิธีการและทฤษฎีแบบสังคมศาสตร์บ้างจะทำอย่างไร