Skip to main content

ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้

ผมเดาว่าการลดประชากรนักเรียนนั้นมีเหตุส่วนหนึ่งมาจากการลดน้อยลงของประชากร คือเด็กเกิดน้อยลง จากที่เคยมีลูก 7-8 คน ปัจจุบันในชนบทก็มีกันแค่ 2-3 คนเป็นอย่างมาก แต่จากประสบการณ์ตอนที่เก็บข้อมูลในพื้นที่ส่วนหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งไม่ได้ห่างไกลกรุงเทพฯ มากมายเลย ผมมีข้อสังเกตต่อนโยบายนี้สั้นๆ ว่า 

1) โรงเรียนในหมู่บ้านที่ผมศึกษามีปัญหามากในการรักษาจำนวนนักเรียนให้ได้เกินร้อย วิธีหนึ่งก็คือการดึงเด็กไปเข้าโรงเรียนเร็วขึ้น คือเด็กจะเรียนชั้นอนุบาลและประถมเร็วขึ้น ซึ่งนั่นก็อาจจะก่อปัญหาอีกลักษณะหนึ่ง คือเด็กยังไม่พร้อมเข้าสู่การเรียนรู้แบบกระทรวงศึกษาประเทศไทย

2) แต่เอาเข้าจริงๆ โรงเรียนไม่มีครูเพียงพอแก่การสอน วิธีแก้ปัญหาของครูใหญ่ (จะเรียกหรูๆ ว่าผู้อำนวยการโรงเรียนก็ได้) วิธีหนึ่งคือ ใช้โครงการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม เปิดทีวีนำสัญญาญภาพทางไกลมาให้นักเรียนดู เป็นครูตู้ไป ดังนั้นปัญหาการขาดแคลนครูมีไม่น้อยกว่าปัญหาการขาดแคลนเด็กนักเรียน 

3) เมื่อยุบโรงเรียน ปัญหาหนึ่งคือการเดินทาง อย่าคิดว่าเส้นทางสัญจรในชนบทจะดีเหมือนในกรุงเทพฯ ในกทม. ฝนตกหน่อยเราก็ร้องแทบเป็นแทบตายว่ารถติด เฉอะแฉะ เด็กเปียกปอน กลัวลูกหลานเป็นหวัด ฯลฯ 

แต่ในต่างจังหวัด ถนนไม่ได้ดีอย่างนี้ ถนนภายในหมู่บ้านและระหว่างหมู่บ้านส่วนใหญ่ยังเป็นลูกรัง แล้วพื้นที่ส่วนใหญ่น้ำท่วมทุกปี ถนนพังเสมอ ใครที่ว่าอบต. มักหากินกับการรับเหมาก่อสร้าง ก็ควรเข้าใจด้วยว่า ในชนบทน่ะ ถนนไม่ได้คอยถูกเนรมิตให้เรียบเนียน สะอาด แบบถนนหน้าบ้านพวกคุณในกทม.

เมื่อโรงเรียนถูกยุบรวมกัน นักเรียนต้องเดินทางไปต่างหมู่บ้านที่ไกลกันสัก 5-10 กิโลเมตร เส้นทางแค่นี้ดูไม่ไกลสำหรับคนมีรถขับในกทม. แต่ผู้ปกครองในต่างจังหวัดอย่างมากก็มีมอร์เตอร์ไซค์รับส่งลูก น้อยนักที่จะมีรถกะบะ หรืออย่างหรูปลอดภัยกว่ามอร์'ไซค์ก็รถอีแต๋น-อีแต๊กซึ่งก็ทุลักทุเล ไม่มีหรอกรถโรงเรียน หรือแม้แต่รถประจำทางก็แทบไม่มี การคงโรงเรียนขนาดเล็กในบางท้องถิ่นจึงช่วยในเรื่องความปลอดภัยและความสะดวกของผู้ปกครอง

4) ผมเห็นโรงเรียนที่ถูกปิดตัวลงแล้วก็น่าเห็นใจ เพราะขนาดค่อนข้างใหญ่ ก็ไม่รู้ว่าหลังจากปิดตัวลงแล้วที่ดินและทรัพยากรที่รกร้างเห่านั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป

5) หากไม่มองปัญหาแบบเหมารวมรวบยอดและคิดว่าจะแก้ไขได้ด้วยการใช้นโยบายเดียวกันสาดไปทั่วประเทศ บางทีอาจจะต้องคิดถึงการแบ่งพื้นที่เป็นส่วนๆ ไปว่า พื้นที่ไหนควรจัดการการศึกษาอย่างไร เช่น พื้นที่ไหนพร้อมที่ท้องถิ่นจะจัดการโรงเรียนเองได้ ก็ปล่อยเขาไปโดยกระทรวงศึกษาเป็นผู้อำนวยความสะดวก ไม่ใช่กำกับควบคุม พื้นที่ไหนยุบรวมแล้วไม่ก่อปัญหากับนักเรียนและผู้ปกครอง ก็สามารถทำได้เลย พื้นที่ไหนจำเป็นต้องยอม "ขาดทุน" แต่ในเมื่อต้นทุนทางสังคมสูงกว่าหากจะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก รัฐก็ต้องยอมขาดทุน ยอมจ่ายเพื่อเด็กๆ บ้างจะไม่ได้เชียวหรือ

คำพูดของรัฐมนตรีฯ สั้นๆ แต่มีความหมายและมีผลใหญ่หลวง หากแต่การศึกษาข้อเท็จจริงและทางเลือกของการแก้ปัญหาในระยะยาวแบบเข้าใจโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม เข้าใจโครงสร้างปัญหาที่นอกเหนือจากความคุ้มทุนที่คำนวนเฉพาะจำนวนนักเรียนกับห้องเรียน เห็นปัญหาการขาดแคลนครู รวมทั้งเห็นทางเลือกอื่นๆ เช่นการสร้างโรงเรียนนิติบุคคลให้อบต.ดูแลแล้วผู้ปกครองในท้องถิ่นมีส่วนร่วม จะช่วยแก้ปัญหาได้ดีกว่าไหม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อต้องกลับมาชวนคนอ่านงานของบรมครูทาง "วัฒนธรรมศึกษา" คนหนึ่ง ที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนัก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปแม่ฮ่องสอนสามวัน ค้างสองคืน เพื่อร่วมงาน "ไทใหญ่ศึกษา" ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้จักวัฒนธรรมไทใหญ่มาก่อน พอจะรู้จากการอ่านงานเรื่อง "ฉาน" เรื่องรัฐไทใหญ่ เรื่องประวัติศาสตร์บ้างนิดหน่อย จึงมิอาจให้ความเห็นใดๆ กับอาหารไทใหญ่ได้ ทำได้แค่เพียงบอกเล่า "ความประทับใจแรกเริ่ม" ในแบบที่นักชาติพันธ์ุนิพนธ์ทั่วไปมักทำกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชาญวิทย์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานครบรอบ 72 ปีให้อาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์ุอยู่หลากหลายกลุ่ม พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และร่วมสร้างสังคม สร้างประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่อย่างขาดไม่ได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยมีนโยบายกลุ่มชาติพันธ์ุมาก่อน (ยาวนะครับ ถ้ายังอยู่ในโลก 8 บรรทัดโปรดอย่าอ่าน)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นนักคิดไทยสองคนออกมาเทศนาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า "ทำไมนักคิดไทย พอแก่ตัวลงต้องไปจนแต้มที่วิธีคิดแบบพุทธๆ"