Skip to main content

เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

บัดนี้ผ่านไปสามปีแล้ว อาจารย์ยังจำได้หรือเปล่าครับว่าเมื่อวันที่ 10 เมษายน ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เกิดอะไรขึ้น อาจารย์ยังจำได้หรือเปล่าว่าอาจารย์เคยกรุณาตอบจดหมายเปิดผนึกผมเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ว่า อาจารย์ไม่ใช่นักวิชาการที่มีความอิสระอย่างผม ในฐานะประธานคณะกรรมการสิทธิฯ อาจารย์จะต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบก่อนจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้ได้ แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ เวลาผ่านมาจวนเจียนจะสามปีแล้ว อาจารย์และคณะที่อาจารย์เป็นหัวหน้าอยู่ ได้รวบรวมหลักฐานข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเหตุการณ์เมื่อสามปีที่แล้วได้หรือยัง

 

ผมจะไม่เดือดร้อนอะไรเลยหากอาจารย์เป็นเพียงเพื่อนนักวิชาการร่วมอาชีพมานุษยวิทยาคนหนึ่ง ที่ไม่ว่าจะอยู่บนหอคอยงาช้างหรืออยู่ใต้กองข้อมูลในการทำงานภาคสนาม ก็ยังไม่มีความรับผิดชอบที่จะต้องยินดียินร้าย ไม่ต้องรับผิดชอบตอบคำถามประชาชน ถึงการเสียชีวิตของผู้คนในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 แต่การที่อาจารย์เป็นถึงประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่รับประทานค่าจ้างจากราษฎรทั้งหลาย รวมทั้งผมด้วย อาจารย์จึงมีภาระหน้าที่ที่จะต้องตอบคำถามของประชาชนอย่างตรงไปตรงมาและทันท่วงที แต่นี่ผ่านมาถึงสามปีแล้ว ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนประการใดออกมาจากหน่วยงานของอาจารย์

 

ในรายงานประมวลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2554 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กล่าวถึงการสลายการชุมนุมในปี 2553 โดยสรุปไปทันทีตั้งแต่ต้นว่า ในการชุมนุมของ นปช. นั้น "มีรายงานว่าสงสัยว่าจะใช้ความรุนแรงและละเมิดกฎหมาย" (ดูประโยคแรกของข้อ 11 ในรายงาน) หากแต่รายงานกลับสรุปว่า ยังมีความคลุมเครือว่าการตายเกิดจากการละเมิดของฝ่ายใด (ดูประโยคสุดท้ายของข้อ 11 ในรายงาน) ผมสงสัยว่าถึงขณะนี้ "ความคลุมเครือ" ดังกล่าวได้ถูกคลี่คลายลงแล้วบ้างหรือยัง

 

อาจารย์ครับ อาจารย์คงได้เห็นรายงานสองฉบับที่ให้รายละเอียดและเสนอข้อสรุปสำคัญๆ ของเหตุการณ์เมษายน - พฤษภาคม 2553 แล้ว ได้แก่ รายงานของ "คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ" (คอป.) ที่ตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรายงานของ “ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53” (ศปช.) ที่ก่อตั้งโดยกลุ่มนักกิจกรรมและนักวิชาการซึ่งร่วมกันรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลผู้ได้รัผลกระทบด้านต่างๆ ในเหตุการณ์ดังกล่าว ผมหวังว่าอาจารย์คงได้อ่านหรือมีผู้สรุปสาระสำคัญๆ ของรายงานทั้งสองฉบับให้ได้รับทราบแล้ว นอกจากนั้น ในระยะสามปีที่ผ่านมายังมีข้อมูลจากการสอบสวนของดีเอสไอ และแม้แต่ข้อสรุปส่วนสำคัญๆ จากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหน่วยงานราชการที่น่าเชื่อถือมากหน่วยงานหนึ่งคือศาล ก็ยังได้มีคำพิพากษาต่อการเสียชีวิตของผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตออกมาแล้ว

 

ที่สำคัญคือ แม้ว่ารายงานต่างๆ จะเสนอข้อมูลรายละเอียดและให้ความเห็นแตกต่างกันไปบ้าง แต่รายงานทุกฉบับก็มีข้อสรุปประการหนึ่งที่สอดคล้องกับคำตัดสินของศาลที่ว่า "เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ดังกล่าว" หรือหากจะสรุปให้กว้างกว่านั้นก็คือ "กระสุนที่สังหารประชาชนในเหตุการณ์เมื่อสามปีก่อนนั้น มาจากทหารที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะสั่งการให้ปฏิบัติหน้าที่" ข้อเท็จจริงหรือเรียกให้ชัดในภาษาฝรั่งว่า fact เหล่านี้ น่าจะเพียงพอบ้างหรือยังครับที่หน่วยงานของอาจารย์จะสรุปว่า "รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทย"

 

ผมได้เคยสอบถามอาจารย์ถึงหลักการทางมานุษยวิทยาและหลักสิทธิมนุษยชน ที่ชี้ชัดถึงการละเมิดความเป็นมนุษย์ในการในการปราบปรามประชาชนอย่างโหดร้ายของรัฐบาลอภิสิทธิ์มาก่อน การที่อาจารย์เลี่ยงไม่ตอบคำถามผมในสามปีก่อน อาจจะด้วยความสับสนของข้อมูล แต่มาถึงวันนี้ ข้อมูลเชิงประจักษ์ได้ปรากฏอย่างแจ่มแจ้งมากขึ้นแล้ว ผมสงสัยว่าอาจารย์จะยังคงบ่ายเบี่ยงอะไรได้อีก

 

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ระบุไว้ชัดเจนว่า "ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพทั้งปวงตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใด อาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น พื้นเพทางชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน การเกิด หรือสถานะอื่นนอกเหนือจากนี้" และดังนั้น "ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล"

 

หากอาจารย์ยังคงยึดมั่นตามหลักข้างต้นนี้ ไม่ว่าเหตุการณ์ในปี 2553 จะเกิดขึ้นมาจากสาเหตุประการใด อาจารย์อมราและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่อาจารย์เป็นหัวหน้าอยู่น่าจะเห็นด้วยกับผมว่า สิทธิมนุษยชนจะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองเหนือความเชื่อหรืออุดมการณ์ทางการเมืองใดๆ และเหนือสถาบันทางการเมืองใดๆ และหากเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะจากฝ่ายใด อาจารย์และคณะที่อาจารย์เป็นหัวหน้าอยู่ย่อมต้องแสดงจุดยืนต่อต้านหรืออย่างน้อยที่สุดต้องประณามการละเมิดดังกล่าว

 

ประชาชนย่อมสงสัยว่า การที่อาจารย์และคณะอาจารย์ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อเหตุการณ์ดังกล่่าวเสียทีจะแสดงให้เห็นได้หรือไม่ว่า อาจารย์ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักการสากลของหลักสิทธิมนุษยชนโดยแท้ หากแต่กลายเป็นว่า อาจารย์เลือกปกป้องใครบางคน ปกป้องคนบางกลุ่ม บางสถาบันทางการเมือง บางสถาบันทางราชการหรือไม่ หรืออย่างเลวร้ายที่สุดซึ่งผมยังหวังว่าจะเป็นการกล่าวหาที่เกินเลยจากความเป็นจริงไปก็คือ การที่อาจารย์แสดงท่าทีเฉยเมยต่อกรณีดังกล่าวก็เพื่อปกป้องหน้าตาชื่อเสียงของอาจารย์ในแวดวงสังคมที่ใกล้ชิดอาจารย์เพียงเท่านั้น

 

ถึงวันนี้แล้ว ผมและประชาชนจำนวนมากอดไม่ได้ที่จะกังขาว่า อาจารย์เอาอะไรข่มตาให้หลับแล้วปลุกให้ตนเองลุกขึ้นมาไปทำงานในตำแหน่งนี้ในแต่ละวันมาตลอดสามปีที่ผ่านมา โดยไม่สามารถให้คำตอบกับชาวโลกถึงเหตุการณ์เมื่อสามปีก่อนได้ และหากเมื่อวาระครบรอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมษายน - พฤษภาคม 2553 ได้ผ่านไปอีกหนึ่งปีแล้ว อาจารย์จะยังคงแบกรับภาระหน้าที่นี้อย่างเงียบเชียบต่อไปด้วยจริยธรรมข้อใดของนักสิทธิมนุษยชน

 

17 พฤษภาคม 2556

 

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
นี่เป็นข้อเขียนภาคทฤษฎีของ "การเมืองของนักศึกษาปัจจุบัน" หากใครไม่ชอบอ่านทฤษฎีก็ขอร้องโปรดมองข้ามไปเถอะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จริงหรือที่นักศึกษาไม่สนใจการเมือง ขบวนการนักศึกษาตายแล้วจริงหรือ ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าการถกเถียงเรื่องเครื่องแบบ เรื่องทรงผม เรื่องห้องเรียน เป็นเรื่องการเมืองได้อย่างไร แล้วดูแคลนว่ามันเป็นเพียงเรื่องเสรีภาพส่วนตัว เรื่องเรียกร้องเสรีภาพอย่างเกินเลยแล้วล่ะก็ คุณตกขบวนการเมืองของยุคสมัยไปแล้วล่ะ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะบุคคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผู้หนึ่ง ผมขอเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วนที่อธิการบดีคนต่อไปควรเร่งพิจารณา เพื่ิอกอบกู้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นบ่อน้ำบำบัดผู้กระหายความรู้ และเป็นสถาบันที่เคียงข้างประชาชนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกประกอบการพูดเรื่อง "การศึกษาไทย" เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเสนอว่าเรากำลังต่อสู้กับสามลัทธิคือ ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา และลัทธิแบบฟอร์ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษาไทยไทย: ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" เป็นโจทย์ที่นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ตั้งขึ้นอย่างท้าทาย พวกเขาท้าทายทั้งระบบการเรียนการสอน วัฒนธรรมการศึกษา เนื้อหาในหลักสูตร และระบบสังคมในสถานศึกษา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะที่ร่วมก่อตั้งและร่วมงานกับ "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสปิริตของการทำงานของ ศปช. กับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ามองหลักสิทธิมนุษยชนต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ดี นี่เป็นทัศนะและหลักการของผมเองในการร่วมงานกับ ศปช. ซึ่งอาจแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำตัดสินของศาลอาญาในกรณี 6 ศพวัดประทุมฯ ชวนให้นึกถึงภาพถ่ายเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ใต้ต้นมะขามต้นหนึ่งที่สนามหลวง นอกจากภาพชายคนที่ใช้เก้าอี้ตีศพที่ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามแล้ว ภาพผู้คนที่รายล้อมต้นมะขามซึ่งแสดงอาการเห็นดีเห็นงามหรือกระทั่งสนับสนุนอยู่นั้น สะเทือนขวัญชาวโลกไม่น้อยกว่าภาพชายใช้เก้าอี้ทำร้ายศพ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเคยนั่งในพิธีรับปริญญาบัตรในฐานะผู้รับและในมุมมองของผู้ให้มาแล้ว แต่ไม่เคยได้นั่งในพิธีในฐานะผู้สังเกตการณ์จากบนเวทีแบบเมื่อครั้งที่ผ่านมานี้มาก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฐมลิขิต: ใครรังเกียจทฤษฎี เกลียดงานเขียนแบบหอคอยงาช้าง ไม่ต้องพลิกอ่านก็ได้นะครับ และเวลาผมใส่วงเล็บภาษาอังกฤษหรืออ้างนักคิดต่างๆ นี่ ไม่ได้จะโอ่ให้ดูขลังนะครับ แต่เพื่อให้เชื่อมกับโลกวิชาการสากลได้ ให้ใครสนใจสืบค้นอ่านต่อได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะว่าไป กสทช. คนที่แสดงความเห็นต่อเนื้อหาละครฮอร์โมนนั้น ดูน่าจะเป็นคนที่สามารถวิเคราะห์ เข้าใจสังคมได้มากที่สุดในบรรดา กสทช. ทั้ง 11 คน เพราะเขามีดีกรีถึงปริญญาเอกทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโด่งดังในเยอรมนี ต่างจากคนอื่นๆ ที่ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นทหารหรือใครที่สมยอมกับการรัฐประหารปี 2549 แล้ว ก็เป็นช่างเทคนิคทางด้านการสื่อสาร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า "ไม่รู้อาจารย์ผู้ชายทนสอนหนังสือต่อหน้านักศึกษานุ่งสั้นที่นั่งเปิดหวอหน้าห้องเรียนได้อย่างไร" สำหรับผม ก็แค่เห็นนักศึกษาเป็นลูกเป็นหลานก็เท่านั้น แต่สิ่งยั่วยวนในโลกทางวิชาการมีมากกว่านั้นเยอะ และบางทีจะยิ่งหลบเลี่ยงยากยิ่งกว่าการสร้าง incest taboo ในจินตนาการขึ้นมาหน้าห้องเรียน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนมนุษยศาสตร์จำนวนมากสนใจวิธีการและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ แต่นักสังคมศาสตร์เขาตั้งท่าทำวิจัยกันอย่างไร แล้วหากนักมนุษยศาสตร์จะใช้วิธีการและทฤษฎีแบบสังคมศาสตร์บ้างจะทำอย่างไร