Skip to main content

ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้

ต้นสัปดาห์ก่อน (3 มิถุนายน 2556) ผมชวนอดีตนักศึกษาปริญญาโทที่คณะไปฉลองการเปลี่ยนผ่านสถานภาพมาหมาดๆ ของพวกเขา เหตุการณ์คืนนั้นผ่านไปได้อย่างสนุกสนานและสมัครสมานกันดี มีคำถามหนึ่งที่อดีตนักศึกษาที่ขณะนี้กลายเป็นมหาบัณฑิตไปแล้วคนหนึ่งถามว่า "อาจารย์เป็นอาจารย์มานี่ หนักใจอะไรที่สุด" พอฟังคำถามเสร็จ ผมบอก "ขอไปเข้าห้องน้ำก่อน ปวดฉี่" แน่นอนว่านั่นเป็นมุกขอเวลาคิด คำถามน่ะไม่ยากหรอก แต่จะตอบให้ดีน่ะยาก

ผมกลับมาจากห้องน้ำ (ล้างมือแล้วนะ) พร้อมกับคำตอบว่า "สอนหนังสือน่ะยากที่สุด หนักใจที่สุด" ผมเล่าว่า ผมไม่เคยมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองสอนเลย ผมเป็นอาจารย์ทันทีหลังจากจบปริญญาโท แต่ที่จริงสอนหนังสือตั้งแต่เรียนโทแล้ว ตอนนั้นก็ทุกข์ร้อนมาก ดีแต่ว่าเป็นวิชาพื้นฐาน และต้องสอนเรื่องเดียวกันถึงสามรอบต่อหนึ่งสัปดาห์ รอบแรกตะกุกตะกัก รอบสองเริ่มสนุก ลื่นขึ้น พอรอบสามเบื่อมาก ปากพูดปาวๆ ไปเหมือนลิิ๊ปซิงค์

พอได้มาสอนที่ธรรมศาสตร์ใหม่ๆ ผมเตรียมตัวไม่ทัน พูดไม่รู้เรื่อง นักศึกษาที่เคยเรียนด้วยมาบอกทีหลังเมื่อมาเจออีกทีหลายปีต่อมาว่า "ตอนนั้นอาจารย์สอนไม่รู้เรื่องเลย" ผมยอมรับเลย เพราะตัวเองก็แทบไม่รู้ในสิ่งที่ตัวเองสอน

แล้วถามว่า "ตอนนี้รู้สิ่งที่ตัวเองสอนแค่ไหน" ก็ตอบได้เลยว่า "ส่วนใหญ่แทบไม่รู้เลย" ใช่ สิ่งที่อาจารย์สอนให้นักศึกษารู้น่ะ ส่วนใหญ่แล้วอาจารย์ไม่ได้รู้รอบรู้ตลอดไม่รู้แตกฉานไปเสียทุกอย่างหรอก เอาเป็นว่าผมไม่พูดแทนอาจารย์คนอื่นก็แล้วกัน แต่สำหรับผม เนื้อหาส่วนใหญ่ที่สอน ผมก็เรียนไปพร้อมๆ กับนักศึกษานั่นแหละ

เอาอย่างวิชาบังคับต่างๆ ที่มีเนื้อหามากมาย มีงานเขียนของนักคิดคนนั้นคนนี้ ตอนที่เรียน ก็มีเวลาอ่านน้อย อ่านเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง งานหลายชิ้นไม่เข้าใจเลย ในห้องเรียนที่ผมเรียน ไม่ว่าจะที่ไหน ไม่มีคำอธิบายอย่างกระจ่างแจ้งหรอก อาจารย์ที่สอนจะรู้ก็เฉพาะงานบางคนที่เขาลงลึกศึกษาจริงจัง งานหลายชิ้นอาจารย์ก็เพิ่งอ่านพร้อมกับนักศึกษานั่นแหละ

มีครั้งหนึ่งที่ผมเรียนที่อเมริกา สองคืนก่อนวันมีชั้นเรียน อาจารย์โทรมาหาที่บ้านว่า "เธอมีหนังสือที่เราบอกให้อ่านมาถกกันในชั้นไหม" ผมถาม "อ้าว อาจารย์ยังไม่มีอีกเหรอ" แกตอบว่า "ไม่มี ถ่ายเอกสารมาให้หน่อยสิ" ผมถ่ายเอกสารหนังสือเล่มที่ผมอ่าน ซึ่งขีดเขียนไปมากมาย พอวันเข้าห้องเรียน อาจารย์บอก "เราก็อ่านตามที่เธอขีดเส้นใต้นั่นแหละ"

ทุกวันนี้ หลังจากผมจบปริญญาเอกกลับมาสอนได้เกือบ 6 ปีแล้ว หลายครั้งที่เข้าห้องเรียนผมกระหืดกระหอบไม่แพ้นักศึกษา หรืออาจจะมากกว่า เพราะลองคิดดูว่า ชั้นเรียนเวลา 3 ชั่วโมง ต่อหน้าคนตั้งแต่ 10 คนจนถึง 100 ถึง 1,000 คนก็มี หากเกิดจนคำพูดจะทำอย่างไร ถ้าที่เตรียมมาหมด ไม่พอจะทำอย่างไร ถ้าตอบคำถามไม่ได้ ถ้าลืม ถ้าอ่านเอกสารที่ให้นักศึกษาอ่านแต่ตัวเองอ่านมาไม่ครบจะทำอย่างไร 

หลายต่อหลายครั้งที่สอนหนังสือผมจึงแทบไม่ได้นอน มีบ่อยมากที่ผมมาสอนโดยเตรียมสอนจนสว่างคาตา แต่เมื่อทำอย่างนี้มาสัก 5-6 ปี ผมเริ่มรู้สึกว่า ที่เตรียมมามักเหลือ ผมเตรียมเกินเสมอ แต่ก็ยังไม่สามารถกะได้ว่า แค่ไหนคือพอดีสอน 

ชั่วโมงบินสูงๆ ประกอบกับประสบการณ์ภาคสนามและการเพิ่มพูนประสบการณ์และความคิดอย่างต่อเนื่อง ปีหลังๆ ผมยืนพูดไปได้เรื่อยๆ มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เคยเห็นว่าการสอนเป็นเรื่องง่ายเลย การเตรียมสอนสำหรับชั้นเรียนปริญญาโท-เอกจะยากในแง่ของประเด็นถกเถียงและการอ่านหนังสือเตรียมสอน ที่หลายเล่มเป็นหนังสือใหม่ที่ผมเองก็ยังไม่เคยอ่าน 

แต่สอนปริญญาตรีจะยากยิ่งกว่าในแง่ของการอธิบายเรื่องที่เป็นพื้นเป็นฐานให้กับความคิดต่างๆ เพราะบางทีเราเข้าใจว่าเรื่องพื้นๆ น่ะเราผ่านมาแล้ว ก็เลยลืมวิธีที่จะบอกว่ามันว่าทำไมอะไรจึงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือบางทีก็ต้องยอมรับว่า อาจารย์เองก็ไม่ได้เข้าใจแนวคิดอะไรที่เป็นพื้นฐานอย่างแท้จริง จึงอธิบายให้นักศึกษาเข้าใจไม่ได้กระจ่างแจ้ง

เมื่อสอนซ้ำๆ กันหลายปี ตำราวิชาแกนของสาขาก็มักจะอยู่ตัว คงที่ การเตรียมสอนก็อาจจะน้อยลง แต่นอกจากตำราพื้นฐานแล้ว อาจารย์ (ในมาตรฐานของผม) ยังต้องค้นคว้าไล่ตามความรู้ใหม่ๆ อีก ความรู้ใหม่มาจากหลายแหล่ง จากข่าวสารทางวิชาการ จากวารสารทางวิชาการใหม่ๆ จากหนังสือใหม่ๆ จากการเริ่มทำวิจัยใหม่ๆ จากคำแนะนำของอาจารย์รุ่นใหม่ และที่สำคัญคือจากการค้นคว้าของนักศึกษาเองที่เขาไปพบอะไรใหม่ๆ มา แล้วก็จะมาอวด มากระตุ้น มาท้าทายอาจารย์ 

ผมชอบแหล่งความรู้อย่างหลังนี่ไม่น้อยไปกว่าที่หาเอง เพราะคิดว่าคนที่เรียนอยู่มีเวลา มีหูตากว้างขวางกว่าคนสอนหนังสือ ที่มีภาระประจำวัน ภาระรายสัปดาห์ และกรอบของความรู้แบบที่เรียนมากักขังไว้มากเกินไป แต่นักศึกษาขาดความรู้พื้นฐาน ขาดแนวทางการเข้าใจเรื่องใหม่ๆ เมื่อหาจุดลงตัวที่จะมาทำงานร่วมกันได้ อาจารย์และนักศึกษาก็จะได้ประโยชน์มาก

สามปีก่อนเจอเพื่อนอเมริกันที่สอนมหาวิทยาลัยที่โน่น ก็คุยกันเรื่องการสอน ผมบอกเหนื่อยมากกับงานสอน เขาบอก "โอ้ย จะอะไรกันมาก เรานะ แทบไม่สนใจเลยเรื่องสอน สอนดีบ้างแย่บ้าง เอาแค่พอไปได้ เพราะคะแนนประเมินจากการสอนที่นั่น (หมายถึงสำหรับมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัย ซึ่งธรรมศาสตร์ก็พยายามจะบอกว่าตัวเองเป็น) ไม่ได้สูงเท่าการทำวิจัย" ผมบอกผมทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก เพราะงานสอนที่นี่สำคัญอาจจะมากกว่างานวิจัย หรืออย่างน้อยที่สุด ผมก็เรียนรู้จากการสอนไม่น้อยเช่นกัน

ผมตอบมหาบัณฑิตเสียยืดยาว ลงท้ายก็บ่นว่าระบบการประกันคุณภาพในปัจจุบันเรียกร้องให้อาจารย์ทำอะไรมากมายกว่าที่นักศึกษาเห็นหน้าห้องเรียนนัก แต่ผมก็ยังว่างานเหล่านั้นไม่ยากเท่าการสอนหนังสือ แม้ว่าจะได้ "รางวัล" หลายๆ ด้านมากกว่า

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลกที่เวลาผมชื่นชมผู้ใหญ่ในวงการบางคนในบางโอกาส มีคนว่าผมประจบผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิพากษ์ ก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนตัวผมและกับคนในวงการเดียวกันคงจะรู้สึกว่า ที่พูดถึงผมแบบนั้นน่ะเพี้ยนแล้ว เพราะผมวิพากษ์ "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการเดียวกันมาเสียจนลูกศิษย์ลูกหาของท่านๆ เหล่านั้นสุดจะทน จนขณะนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่ายังเหลือผู้ใหญ่ในวงการท่านใดบ้างที่ผมยังไม่วิพากษ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อครหาอีกข้อที่มีคือ การที่ผมชอบคิดคำศัพท์ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการรุงรัง นี่เป็นข้อครหาที่นักสังคมศาสตร์ไทยโดนเป็นประจำ เพื่อนนักวิชาการคนอื่นๆ คิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมมีทัศนะของผมเองคร่าวๆ ดังที่จะเสนอในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เสียงสะท้อนที่รบกวนใจผมอยู่บ้างในระยะนี้ คือคำวิจารณ์ที่เข้ามาสู่หูผมมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ผมเป็นพวกบ้าทฤษฎี พวกบ้าศัพท์แสง พวกบ้าวิพากษ์ และพวกคลั่งตะวันตก ซึ่งผมก็น้อมรับด้วยความยินดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พึงสำเหนียกว่า กษัตริย์ไม่ใช่พ่อ เป็นเพียง "สมมุติพ่อ" ที่สังคมไทยอุปโลกน์ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แต่ละคนคงมีตำนานส่วนตัวของตนเอง ที่สะสมความทรงจำซึ่งมักออกจะเดินจริงไปสักหน่อย แม้เมื่อมาพบกับสถานที่ บุคคล หรือแม้แต่รสสัมผัส ในที่นี้คืออาหาร ในตำนานเข้าจริงๆ อีกสักครั้ง แล้วจะรู้สึกว่าความอลังการของบุคคลและวัตถุในตำนานจะถดถอยค่าลงบ้าง ก็ยังไม่ถึงกับจะทำให้ภาพงดงสมในตำนานเลือนหายไปได้ง่ายๆ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ในงาน "สัมมนาวิชาการ การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" มาเที่ยวนี้มาเป็นวิทยากรเสนอเรื่องที่เคยเสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผมยังพัฒนาไม่เต็มอิ่มดี ยิ่งนำเสนอก็ยิ่งเห็นมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะมีแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) (ตามข่าว) จึงขอนำวิดีโอ แสดงทัศนะของนักปรัชญาชื่อดังแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 นาม สลาวอย ชีเชก (Slavoj Zizek) มาเพื่อให้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันว่า ทำไมส้วมจึงสำคัญนักหนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง