Skip to main content

ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้

ต้นสัปดาห์ก่อน (3 มิถุนายน 2556) ผมชวนอดีตนักศึกษาปริญญาโทที่คณะไปฉลองการเปลี่ยนผ่านสถานภาพมาหมาดๆ ของพวกเขา เหตุการณ์คืนนั้นผ่านไปได้อย่างสนุกสนานและสมัครสมานกันดี มีคำถามหนึ่งที่อดีตนักศึกษาที่ขณะนี้กลายเป็นมหาบัณฑิตไปแล้วคนหนึ่งถามว่า "อาจารย์เป็นอาจารย์มานี่ หนักใจอะไรที่สุด" พอฟังคำถามเสร็จ ผมบอก "ขอไปเข้าห้องน้ำก่อน ปวดฉี่" แน่นอนว่านั่นเป็นมุกขอเวลาคิด คำถามน่ะไม่ยากหรอก แต่จะตอบให้ดีน่ะยาก

ผมกลับมาจากห้องน้ำ (ล้างมือแล้วนะ) พร้อมกับคำตอบว่า "สอนหนังสือน่ะยากที่สุด หนักใจที่สุด" ผมเล่าว่า ผมไม่เคยมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองสอนเลย ผมเป็นอาจารย์ทันทีหลังจากจบปริญญาโท แต่ที่จริงสอนหนังสือตั้งแต่เรียนโทแล้ว ตอนนั้นก็ทุกข์ร้อนมาก ดีแต่ว่าเป็นวิชาพื้นฐาน และต้องสอนเรื่องเดียวกันถึงสามรอบต่อหนึ่งสัปดาห์ รอบแรกตะกุกตะกัก รอบสองเริ่มสนุก ลื่นขึ้น พอรอบสามเบื่อมาก ปากพูดปาวๆ ไปเหมือนลิิ๊ปซิงค์

พอได้มาสอนที่ธรรมศาสตร์ใหม่ๆ ผมเตรียมตัวไม่ทัน พูดไม่รู้เรื่อง นักศึกษาที่เคยเรียนด้วยมาบอกทีหลังเมื่อมาเจออีกทีหลายปีต่อมาว่า "ตอนนั้นอาจารย์สอนไม่รู้เรื่องเลย" ผมยอมรับเลย เพราะตัวเองก็แทบไม่รู้ในสิ่งที่ตัวเองสอน

แล้วถามว่า "ตอนนี้รู้สิ่งที่ตัวเองสอนแค่ไหน" ก็ตอบได้เลยว่า "ส่วนใหญ่แทบไม่รู้เลย" ใช่ สิ่งที่อาจารย์สอนให้นักศึกษารู้น่ะ ส่วนใหญ่แล้วอาจารย์ไม่ได้รู้รอบรู้ตลอดไม่รู้แตกฉานไปเสียทุกอย่างหรอก เอาเป็นว่าผมไม่พูดแทนอาจารย์คนอื่นก็แล้วกัน แต่สำหรับผม เนื้อหาส่วนใหญ่ที่สอน ผมก็เรียนไปพร้อมๆ กับนักศึกษานั่นแหละ

เอาอย่างวิชาบังคับต่างๆ ที่มีเนื้อหามากมาย มีงานเขียนของนักคิดคนนั้นคนนี้ ตอนที่เรียน ก็มีเวลาอ่านน้อย อ่านเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง งานหลายชิ้นไม่เข้าใจเลย ในห้องเรียนที่ผมเรียน ไม่ว่าจะที่ไหน ไม่มีคำอธิบายอย่างกระจ่างแจ้งหรอก อาจารย์ที่สอนจะรู้ก็เฉพาะงานบางคนที่เขาลงลึกศึกษาจริงจัง งานหลายชิ้นอาจารย์ก็เพิ่งอ่านพร้อมกับนักศึกษานั่นแหละ

มีครั้งหนึ่งที่ผมเรียนที่อเมริกา สองคืนก่อนวันมีชั้นเรียน อาจารย์โทรมาหาที่บ้านว่า "เธอมีหนังสือที่เราบอกให้อ่านมาถกกันในชั้นไหม" ผมถาม "อ้าว อาจารย์ยังไม่มีอีกเหรอ" แกตอบว่า "ไม่มี ถ่ายเอกสารมาให้หน่อยสิ" ผมถ่ายเอกสารหนังสือเล่มที่ผมอ่าน ซึ่งขีดเขียนไปมากมาย พอวันเข้าห้องเรียน อาจารย์บอก "เราก็อ่านตามที่เธอขีดเส้นใต้นั่นแหละ"

ทุกวันนี้ หลังจากผมจบปริญญาเอกกลับมาสอนได้เกือบ 6 ปีแล้ว หลายครั้งที่เข้าห้องเรียนผมกระหืดกระหอบไม่แพ้นักศึกษา หรืออาจจะมากกว่า เพราะลองคิดดูว่า ชั้นเรียนเวลา 3 ชั่วโมง ต่อหน้าคนตั้งแต่ 10 คนจนถึง 100 ถึง 1,000 คนก็มี หากเกิดจนคำพูดจะทำอย่างไร ถ้าที่เตรียมมาหมด ไม่พอจะทำอย่างไร ถ้าตอบคำถามไม่ได้ ถ้าลืม ถ้าอ่านเอกสารที่ให้นักศึกษาอ่านแต่ตัวเองอ่านมาไม่ครบจะทำอย่างไร 

หลายต่อหลายครั้งที่สอนหนังสือผมจึงแทบไม่ได้นอน มีบ่อยมากที่ผมมาสอนโดยเตรียมสอนจนสว่างคาตา แต่เมื่อทำอย่างนี้มาสัก 5-6 ปี ผมเริ่มรู้สึกว่า ที่เตรียมมามักเหลือ ผมเตรียมเกินเสมอ แต่ก็ยังไม่สามารถกะได้ว่า แค่ไหนคือพอดีสอน 

ชั่วโมงบินสูงๆ ประกอบกับประสบการณ์ภาคสนามและการเพิ่มพูนประสบการณ์และความคิดอย่างต่อเนื่อง ปีหลังๆ ผมยืนพูดไปได้เรื่อยๆ มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เคยเห็นว่าการสอนเป็นเรื่องง่ายเลย การเตรียมสอนสำหรับชั้นเรียนปริญญาโท-เอกจะยากในแง่ของประเด็นถกเถียงและการอ่านหนังสือเตรียมสอน ที่หลายเล่มเป็นหนังสือใหม่ที่ผมเองก็ยังไม่เคยอ่าน 

แต่สอนปริญญาตรีจะยากยิ่งกว่าในแง่ของการอธิบายเรื่องที่เป็นพื้นเป็นฐานให้กับความคิดต่างๆ เพราะบางทีเราเข้าใจว่าเรื่องพื้นๆ น่ะเราผ่านมาแล้ว ก็เลยลืมวิธีที่จะบอกว่ามันว่าทำไมอะไรจึงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือบางทีก็ต้องยอมรับว่า อาจารย์เองก็ไม่ได้เข้าใจแนวคิดอะไรที่เป็นพื้นฐานอย่างแท้จริง จึงอธิบายให้นักศึกษาเข้าใจไม่ได้กระจ่างแจ้ง

เมื่อสอนซ้ำๆ กันหลายปี ตำราวิชาแกนของสาขาก็มักจะอยู่ตัว คงที่ การเตรียมสอนก็อาจจะน้อยลง แต่นอกจากตำราพื้นฐานแล้ว อาจารย์ (ในมาตรฐานของผม) ยังต้องค้นคว้าไล่ตามความรู้ใหม่ๆ อีก ความรู้ใหม่มาจากหลายแหล่ง จากข่าวสารทางวิชาการ จากวารสารทางวิชาการใหม่ๆ จากหนังสือใหม่ๆ จากการเริ่มทำวิจัยใหม่ๆ จากคำแนะนำของอาจารย์รุ่นใหม่ และที่สำคัญคือจากการค้นคว้าของนักศึกษาเองที่เขาไปพบอะไรใหม่ๆ มา แล้วก็จะมาอวด มากระตุ้น มาท้าทายอาจารย์ 

ผมชอบแหล่งความรู้อย่างหลังนี่ไม่น้อยไปกว่าที่หาเอง เพราะคิดว่าคนที่เรียนอยู่มีเวลา มีหูตากว้างขวางกว่าคนสอนหนังสือ ที่มีภาระประจำวัน ภาระรายสัปดาห์ และกรอบของความรู้แบบที่เรียนมากักขังไว้มากเกินไป แต่นักศึกษาขาดความรู้พื้นฐาน ขาดแนวทางการเข้าใจเรื่องใหม่ๆ เมื่อหาจุดลงตัวที่จะมาทำงานร่วมกันได้ อาจารย์และนักศึกษาก็จะได้ประโยชน์มาก

สามปีก่อนเจอเพื่อนอเมริกันที่สอนมหาวิทยาลัยที่โน่น ก็คุยกันเรื่องการสอน ผมบอกเหนื่อยมากกับงานสอน เขาบอก "โอ้ย จะอะไรกันมาก เรานะ แทบไม่สนใจเลยเรื่องสอน สอนดีบ้างแย่บ้าง เอาแค่พอไปได้ เพราะคะแนนประเมินจากการสอนที่นั่น (หมายถึงสำหรับมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัย ซึ่งธรรมศาสตร์ก็พยายามจะบอกว่าตัวเองเป็น) ไม่ได้สูงเท่าการทำวิจัย" ผมบอกผมทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก เพราะงานสอนที่นี่สำคัญอาจจะมากกว่างานวิจัย หรืออย่างน้อยที่สุด ผมก็เรียนรู้จากการสอนไม่น้อยเช่นกัน

ผมตอบมหาบัณฑิตเสียยืดยาว ลงท้ายก็บ่นว่าระบบการประกันคุณภาพในปัจจุบันเรียกร้องให้อาจารย์ทำอะไรมากมายกว่าที่นักศึกษาเห็นหน้าห้องเรียนนัก แต่ผมก็ยังว่างานเหล่านั้นไม่ยากเท่าการสอนหนังสือ แม้ว่าจะได้ "รางวัล" หลายๆ ด้านมากกว่า

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพ่ิงกินอาหารเย็นเสร็จ วันนี้ลงมือทำสเต็กเนื้อ เนื้อโคขุนไทยๆ นี่แหละ ต้องชิ้นหนาๆ หน่อย ย่างบนกะทะเหล็กหนาๆ ที่หอบหิ้วมาจากอเมริกา เป็นกะทะเทพมากๆ เพราะความร้อนแรงดีมาก ใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที เกรียมได้ที่ทั้งสองด้าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษา" ต้องการพื้นที่ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น พื้นที่การเรียนรู้ก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกการเรียนรู้ ยังมีคนบางกลุ่มดื้อรั้นขัดขวางการเปลี่ยนแปลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 แน่นอนว่าโฆษณาโปรแกรมเรียนภาษาไทย (บางคนบอกเป็นแค่ตลกล้อเลียน?) ที่เป็นข่าว 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ตั้งอยู่บนอคติทางเพศ ดูถูกเพศหญิงว่าเป็นวัตถุทางเพศ ดูถูกเพศชายว่าจ้องเสพสุขทางเพศท่าเดียว (หรือหลายท่า?) สร้างภาพเหมารวมให้คนไทยและสังคมไทยไร้ศีลธรรม (ดูสิ เราออกจะเมืองพุทธ เมืองพระ) แต่ที่ยังน่าจะต้องทำความเข้าใจคือ ปฏิกิริยาที่คนไทยมีต่อวิดีโอล้อเลียนนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้พยายามทำความเข้าใจตรรกะของพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดงไว้ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ว่าพระองค์มีทัศนะต่อแนวคิด The King Can Do No Wrong อย่างไร และมาตรา 112 ควรแก้ไขเพราะเหตุใด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การตัดสินคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขและอีกหลายๆ คดีก่อนหน้านี้ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ชี้ให้เห็นยิ่งขึ้นทุกวันว่า รัฐไทยกำลังสร้างความรักด้วยการใช้กำลังข่มเหงให้ประชาชนรักประมุขของประเทศ หาใช่การส่งเสริมให้เกิดความรักประมุขจากใจจริงของประชาชนไม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดี โดยเฉพาะงานทางมานุษยวิทยา มักมีแรงขับจากอารมณ์ใคร่บางอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากเรียกร้องเรื่องทรงผม ก็ต้องเรียกร้องเรื่องชุดนักเรียนนักศึกษาด้วย จะได้เป็นก้าวแรกของการอภิวัฒน์การศึกษาไทยอย่างจริงจังเสียที พวกผู้ใหญ่ที่คอยเรียกร้องนักเรียนกับครูอาจารย์ ให้สอนให้เด็กรู้จักคิดน่ะ พวกท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า ชุดนักเรียนนักศึกษาเป็นปราการปิดกั้นเสรีภาพการคิดอย่างไร และเด็กๆ เองก็ควรเข้าใจด้วยว่า การควบคุมเรือนร่างเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแบบอำนาจนิยมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์พัฒนา กิติอาษาเมื่อเช้าตรู่วานนี้ (10 มกราคม 2556) คงไม่เป็นที่สนใจของใครต่อใครนอกแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์มากนัก แต่นี่นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงสังคมศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากพวกคุณวิจัยสำรวจอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ พวกคุณก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่า ชัยชนะจากคะแนนเสียงที่ "ไม่่่ท่วมท้นนัก" ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มาจากกลุ่มคนที่มีความหวังว่าเพื่อไทยจะเป็นเดินหน้าพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างจริงจังเสียที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สังคมไทยมีสังคมแบบหนึ่งที่แทรกซ้อนอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ คือสังคมดัดจริต สังคมดัดจริตไม่ได้มีขนาดใหญ่โต แต่เป็นสังคมของคนชั้นกลางและคนใหญ่คนโตที่กำลังเสื่อมอำนาจ สังคมดัดจริตคอยผลิตวัฒนธรรมดัดจริตเพื่อทำให้ตนเองดูดีมีหลักการ เพื่อให้ตนเองอยู่เหนือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีจริตจะดัด และเหนืออื่นใดคือเพื่อปกป้องฐานะอำนาจของตนเอง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้ คือวันที่ 1 มกราคม 2556 ผมลองคิดบวกดูบ้าง คือคิดแบบเข้าข้างตนเองทบทวนดูว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาได้ทำอะไรใหม่ๆ ให้ตนเองบ้าง คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในสมองผมคือ ได้อ่านหนังสืออะไรที่นับว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วก็คิดไปเรื่อยว่า ได้ทำอะไรที่ให้การเรียนรู้ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ คิดอะไรใหม่ๆ บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามปีใหม่ ยากที่จะหาของขวัญที่ไม่กลายเป็นขยะในชั่วข้ามคืนได้ เพื่อนชาวอเมริกันที่ผมรู้จักหลายคน ซึ่งดูท่าจะทั้งเป็นนักช้อปและเป็นคนช่างมีเหตุผล ก็เลยใช้วิธีให้เด็กๆ เขียนลิสต์รายการสิ่งของที่อยากได้ยามสิ้นปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าของที่ซื้อมาให้จะถูกใจผู้รับสักชิ้นหนึ่ง