Skip to main content

เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราวๆ 70 คน เกือบทั้งหมดเข้ามาเรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มีจำนวนหนึ่งอยู่คณะสังคมสงเคราะห์ ผมได้ความรู้ใหม่ๆ มากยจากการบรรยายกึ่งเสวนากับนักศึกษาในชั้นเรียน

ตามวิธีของผม ผมไม่ได้นั่งบรรยาย ไม่ได้เล่าไปเรื่อยๆ แต่จัดทอร์คโชว์ประกอบสไลด์ ภาพ และคลิปวิดีโอ วันนี้เปิดคลิปเกี่ยวกับพิธีไหว้ครูที่มีคน "ของขึ้น" เต้นท่าลิง กับเปิด MV เพลง "รักต้องเปิด (แน่นอก)" ต้นฉบับนะครับ ไม่ใช่ "ฉบับนั้น"

ผมตั้งคำถามหลักๆ กับนักศึกษาว่า สังคมคืออะไร ศาสตร์คืออะไร สังคมศาสตร์มีสาขาวิชาอไรบ้าง จริตของนักสังคมศาสตร์เป็นอย่างไร เรียนสังคมศาสตร์ไปเพื่ออะไร

ส่วนหนึ่งของการบรรยาย ผมตั้งคำถามว่า "สังคมศาสตร์ในโรงเรียนเป็นอย่างไร" แล้วชวนนักศึกษาคุยว่า อะไรบ้างที่พวกเขาคิดว่าคือการเรียนทางสังคมศาสตร์ในโรงเรียน นักศึกษาก็ตอบว่าประวัติศาสตร์บ้าง ภูมิศาสตร์บ้าง เศรษฐศาสตร์บ้าง พุทธศาสนาบ้าง แต่ท้ายที่สุดผมตั้งคำถามว่า "นอกจากเนื้อหาของวิชาที่พวกคุณคิดว่าเป็นสังคมศาสตร์แล้ว อะไรที่เป็นวิธีการเรียนการสอน วิธีคิดทางสังคมศาสตร์ที่ได้เรียน"

พอเห็นนักศึกษาเงียบ คงเพราะพวกเขาเริ่มงงกับคำถาม ผมเฉลยด้วยสไลด์ที่เตรียมมาว่า สังคมศาสตร์ในโรงเรียนน่ะ

- สอนให้จำ มากกว่าทำความเข้าใจ
- สอนให้จด มากกว่าคิด
- สอนให้เชื่อฟัง มากกว่าตั้งคำถาม
- สอนให้สืบทอด มากกว่าเปลี่ยนแปลง

สอนให้จำ นักเรียนจึงเบื่อหน่าย ผลการสำรวจในห้องเรียน มีนักเรียนน้อยกว่า 10% ที่ชอบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ คนที่ชอบเขาชอบเนื้อหาสาระ และชอบจดจำเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยบาดแผล แต่ไม่มีใครเรียนประวัติศาสตร์แบบให้ค้นคว้า ให้ถกเถียง มีแต่เรียนตามตำรา 

สอนให้จดนั้นเป็นที่เข้าใจกันทันที เพราะนักเรียนบอกว่า หลายต่อหลายครั้งครูมาสอนด้วยการเปิดอ่านตำราให้นักเรียนจดตาม ยิ่งกว่าน่าเบื่อหน่ายกับการท่องจำเสียอีก

สอนให้เชื่อฟังมากกว่าตั้งคำถามนั้น เมื่อผมถามนักศึกษาว่า "ตอนคุณเรียน มีใครเคยถามคำถามครูจนกระทั่งครูโกรธ ครูตอบไม่ได้ ครูเรียกไปอบรมว่าก้าวร้าวกับผู้ใหญ่ มีความคิดกระด้างกระเดื่องกับระบบหรือไม่" ปรากฏว่าไม่มีใครสักคนตอบว่า "เคยครับ-ค่ะ" 

สอนให้สืบทอดเป็นอย่างไร ผมถามนิยามของคำว่า "วัฒนธรรม" ในห้องมีสองคำตอบ (1) วัฒนธรรมคือความดีงามที่สืบทอดกันมาจากอดีต (2) วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ผมขอให้นักศึกษายกมือว่าใครบ้างที่ตอบคำตอบแรก ใครบ้างที่ตอบคำตอบหลัง มีเพียง 2 คนในห้องที่ตอบคำตอบหลัง

แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามว่า "ศาสตร์คืออะไร" นักศึกษาหลายคนตอบได้อย่างกระตือรือล้นว่า ภาษาอังกฤษเรียกว่า science ซึ่งก็คือ "ความเป็นวิทยาศาสตร์" นักศึกษาตอบได้ว่าความเป็นวิทยาศาสตร์มีหลักการที่การพิสูจน์ การทดลอง ใช้เหตผล แต่ชุดคำตอบที่ผมประทับใจที่สุดคือนิยามความเป็นวิทยาศาสตร์ด้วยคำพื้นๆ แต่สำคัญคือ "การสงสัย"

ประเด็นที่ผมชวนนักศึกษาสนทนาต่อเนื่องทันทีจากคำตอบชุดนี้คือ "แล้วทำไมพวกคุณไม่รู้จักใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์กับการศึกษาสังคม" ทำไมนักศึกษาจึงไม่รู้จักรวมความเป็นศาสตร์เข้ากับการศึกษาสังคม ทำไมโรงเรียนไม่สอนให้พวกเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์สังคม ต่อคำถามนี้ พวกเขานั่งนิ่ง อึ้งกันไป

ผมชวนพวกเขาคุยประเด็นรายละเอียดอีกมากมาย ประเด็นหนึ่งที่ทำให้พวกเขาตอบโต้อย่างถึงพริกถึงขิงคือคำถามที่ผมตั้งว่า "พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์จริงหรือ" ทุกคนยืนยันว่าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ ผมถามว่า ทำไมเป็นวิทยาศาสตร์แล้วต้องสอนเรื่องนรก-สวรรค์ด้วย บางคนตอบว่าเป็นเรื่องบัวใต้น้ำเหนือน้ำ วิธีสอนคนไม่เหมือนกัน

ผมถามต่อว่าทำไมจะต้องสอนให้เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของจีวรด้วย ในเมื่อจีวรก็แค่เครื่องนุ่งห่ม ทำไมพระจะต้องให้ผู้หญิงคอยหลบด้วย นักศึกษาคนหนึ่งตอบว่า "เพราะจะเป็นการยั่วกิเลสพระ" ผมถามกลับว่า "แล้วทำไมพระซึ่งบำเพ็ญตน จึงไม่รู้จักเดินเลี่ยง สำรวม หลบผู้หญิงไปเอง ทำไมจะต้องสอนกันให้ผู้หญิงกลัวบาปถ้าเข้าใกล้พระ พระเองสิต้องระวัง หลบไป"

โดยรวมๆ แล้วผมท้าทายพวกเขาว่า "ถ้าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์จริง ก็ล้มเหลวในการสั่งสอนมาก ล้มเหลวจนไม่ควรเดินตาม เพราะสอนอย่างไรจึงทำให้สาวกหลักของศาสนา คือพวกพระ ส่วนใหญ่ยังงมงาย ไม่เป็นวิทยาศาสตร์"

มีการโต้เถียงเรื่องพระกันอีกหลายประเด็น แต่สุดท้าย ผมยังยืนยันว่า พุทธศาสนาไม่เป็นวิทยาศาสตร์ พวกเขาไม่ค่อยยอมรับคำตอบผมเท่าไรนักหรอก ซึ่งก็ดี และก็ยังหวังว่าพวกเขาจะคิดกันมากขึ้นกับความ(ไม่)เป็นวิทยาศาสตร์ของพุทธศาสนา

สรุปแล้ว "ทำไมโรงเรียนจึงไม่สอนให้นักเรียนใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์ในการศึกษาสังคม" ก็เพราะสังคมศาสตร์ในโรงเรียนต้องการสอนให้นักเรียนเชื่อง สังคมศาสตร์ในโรงเรียนเป็นวิชาของชนชั้นปกครอง สังคมศาสตร์ในโรงเรียนไม่ใช่ "ศาสตร์" แต่เป็นลัทธิความเชื่อบ้าง เป็นนิทานบ้าง เป็นเครื่องมือกล่อมเกลาครอบงำบ้าง หรือที่ถูกควรจะเรียกว่าเป็น "สังคม(ไสย)ศาสตร์" เสียเลยจะดีกว่า

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อต้องกลับมาชวนคนอ่านงานของบรมครูทาง "วัฒนธรรมศึกษา" คนหนึ่ง ที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนัก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปแม่ฮ่องสอนสามวัน ค้างสองคืน เพื่อร่วมงาน "ไทใหญ่ศึกษา" ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้จักวัฒนธรรมไทใหญ่มาก่อน พอจะรู้จากการอ่านงานเรื่อง "ฉาน" เรื่องรัฐไทใหญ่ เรื่องประวัติศาสตร์บ้างนิดหน่อย จึงมิอาจให้ความเห็นใดๆ กับอาหารไทใหญ่ได้ ทำได้แค่เพียงบอกเล่า "ความประทับใจแรกเริ่ม" ในแบบที่นักชาติพันธ์ุนิพนธ์ทั่วไปมักทำกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชาญวิทย์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานครบรอบ 72 ปีให้อาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์ุอยู่หลากหลายกลุ่ม พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และร่วมสร้างสังคม สร้างประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่อย่างขาดไม่ได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยมีนโยบายกลุ่มชาติพันธ์ุมาก่อน (ยาวนะครับ ถ้ายังอยู่ในโลก 8 บรรทัดโปรดอย่าอ่าน)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นนักคิดไทยสองคนออกมาเทศนาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า "ทำไมนักคิดไทย พอแก่ตัวลงต้องไปจนแต้มที่วิธีคิดแบบพุทธๆ"