Skip to main content

ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น

แต่ก็อดไม่ได้ที่จะบ่นว่า ถ้าผมจะกินเหล้า จะเมาในวันเข้าพรรษาและเมาในทุกวันช่วงเข้าพรรษา แล้วทำไมรัฐบาลจะต้องมาห้ามผม อย่าว่าแต่ว่าหากผมจะไม่เป็นชาวพุทธก็ไม่ควรจะมายุ่งกับผมเลย แต่แม้ว่าผมจะเป็นชาวพุทธเพียงในทะเบียนบ้าน หรือเป็นชาวพุทธที่ศึกษาเรื่องราวในพุทธศาสนามาขนาดไหน รัฐบาลก็ไม่มีสิทธิมาละเมิดสิทธิการเมาของผม เว้นเสียแต่ว่าผมจะเมาแล้วไปละเมิดใครเข้า

 

เมื่อตอนวัยรุ่น ผมดื่มสุราไม่เป็น ผมถูกฝึกให้ดื่มสุราเมื่อเรียนจบปริญญาโทและเข้าทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว ตอนนั้นผมไม่เข้าใจว่าทำไมคนเราต้องเมา แต่ภายหลังก็ต้องมารู้สึกขอบคุณครูสุราคนหนึ่งของผม ที่สอนให้ดื่มเหล้า

 

ท่านสอนผมด้วยเหล้าฝรั่งชั้นดี อย่างเหล้า "ป้ายนำ้เงิน" และไวน์ราคาแพงมากหลายรส กระทั่งเบียร์ไทยที่ท่านดื่มเฉพาะเบียร์รสเข้ม ที่เด็ดสุดสำหรับประสบการณ์การดื่มครั้งแรกๆ ของผมคือ การเมาเหล้าเหมาไถรสนุ่มที่อุ่นให้ร้อนกินกับชาอู่หลงร้อนชั้นดี ไม่ต้องห่วงว่าเมืองไทยเป็นเมืองร้อน เพราะท่านนั่งดื่มในห้องแอร์เย็นเฉียบตลอด ไม่ต้องสงสัยว่าเหล้าดีมากมายมาจากไหน เพราะท่านประกอบอาชีพการงานเป็น "ผู้วิเศษ" มีคนคอยเอาของดีๆ มาประเคนให้เสมอๆ 

 

แต่ผมงงว่า ทำไมการเมาของผมไม่เห็นจะต้องเสียสติ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว หรือต้องพูดจาเสียดังหรือต้องทะเลาะเบาะแว้งกับใคร ผมไม่เห็นเคยมีอาการพวกนั้นเลย เมาแล้วก็รู้ตัว ก็นั่งคุยไป หรือหากหนักจริงๆ ก็หลับไป อ้วกออกมาบ้าง หลบไปนอน ถ้าวงเหล้ายังไม่เลิกเสียก่อน สร่างเมาแล้วก็ลุกขึ้นมาดื่มต่อ

 

จากนั้นผมก็เริ่มเรียนรู้การดื่มด้วยตนเอง โชคดีที่ได้ไปเรียนที่วิสคอนซิน มลรัฐในสหรัฐอเมริกาที่รุ่มรวยเบียร์ เพราะมีประชากรเยอรมันอพยพมากมาย ที่นั่นเป็นสวรรค์ของคอเบียร์ ผมเริ่มทำความรู้จักเบียร์หลายชนิด ตั้งแต่ลาเกอร์ ไพสเนอร์ บ็อคก์ เอล พอร์เตอร์ จนถึงสเตาท์ เบียร์พวกนี้ดีกรีไม่เกิน 5 กินเปลือง ไม่เมา ถ้าวันไหนอยากเมาด้วยเบียร์ ก็หาเบียร์นำเข้าจากโปแลนด์มาดื่ม 7-8 ดีกรี 500 cc ขวดละ 2 เหรียญ ขวดใหญ่กว่าเบียร์อเมริกันทั่วไป สองขวดได้หลับแน่ เรียกว่าเมาคุ้มจริงๆ

 

นี่ยังไม่นับการปรุงแต่งให้เบียร์แต่ละชนิดเหล่านั้นมีรสชาติและสัมผัสที่แตกต่างกันออกไป สมัยอยู่ที่นั่น ผมหลงไหลไม่เพียงกลิ่นและรสของพวกมัน แต่ยังชมชอบสีและเนื้อหาในน้ำ ที่เบียร์บางรุ่นของบางสำนักในบางฤดูตั้งใจเก็บตะกอนเบียร์ไว้ให้คนดื่มได้สัมผัสความดิบ ความดั้งเดิมของน้ำเบียร์ เรียกว่าถ้าพิถีพิถันเลือกเฟ้นดื่มกันจริงๆ หามาดื่มวันละชนิด ดื่มทั้งเดือนก็ไม่ซ้ำกันเลยทีเดียว

 

ฤดูร้อนท่านว่าดื่มเบียร์ได้ดี แต่ฤดูหนาว (ฝรั่ง) ท่านเตือนว่า "เบียร์จะยิ่งทำให้หนาว" ถ้าหนาวมากๆ อย่าง -10 ถึง -20 เซลเซียส (ใช่ ที่นั่นเขาวัดเป็นฟาเรนไฮท์ แต่คนไทยก็มักต้องคอยแปลงเป็นเซลเซียส) ก็ต้องหาไวน์มาดื่ม ชั้นไวน์ในอเมริกาเป็นระบบชนชั้น ชั้นวางไวน์ขายมี 4-5 ชั้น ของแพงอยู่ข้างบนๆ ของถูกอยู่ล่างสุด 

 

วันไหนจะฉลองอะไร ผมจะเลือกไวน์ชั้นสองจากข้างล่าง ขวดละ 8-10 เหรียญ วันธรรมดาไม่มีอะไรพิเศษ ก็จะทยอยหาไวน์ชั้นล่างสุดหรือในกระบะที่บางทีฟลุ๊คได้ไวน์ดี แพงสุดก็ขวดละ 5 เหรียญ ไวน์ขวดละ 3 เหรียญก็ยังเคยเอาไปปาร์ตี้หลอกเพื่อนว่าขวดละ 10 เหรียญมาแล้ว ไวน์ลดราคา แค่สองขวด 5 เหรียญซื้อเอาไปใช้ทำกับข้าวก็มี

 

พอไปเวียดนามเท่านั้นแหละ ที่ทำผมหวนระลึกถึงบุญคุณของผู้สอนผมให้ดื่มเหล้าทันที เพราะหากไม่รู้จักเมา ผมคงไม่เป็นตัวเป็นตนมาจนทุกวันนี้ เพราะอะไรน่ะหรือ ก็เพราะถ้าไม่ดื่ม ไม่มีใครคุยกับผมเป็นเรื่องเป็นราวหรอก ไม่มีใครมีเวลาว่างถ้าไม่ใช่ตอนกินดื่ม ไม่มีใครว่างมากถ้าไม่ใช่เทศกาล ไม่มีเทศกาลไหนไม่ดื่มกิน เพราะเหล้าเป็นส่วนของวัฒนธรรมที่ใช้ในพิธีกรรม ในช่วงเวลาพิเศษของสังคม และเพราะการเข้าสังคมคือช่วงเวลาพิเศษ จึงต้องมีเหล้า

 

ในเวียดนาม ทั้งเหล้า ทั้งเบียร์ ถิ่นไหนต่อถิ่นไหน จะหนัก จะเบา ปรุงแต่งด้วยอะไร ต้มกลั่นกันอย่างไร หมักด้วยพืชผลชนิดไหน แต่งเติมด้วยผลไม้อะไร หมักดองกับสัตว์ชนิดไหน กลิ่น รส สัมผัสเป็นอย่างไร ดื่มถึงไหนได้รสอะไรอยู่ตรงไหน เมาแล้วเป็นอย่างไร สร่างเมาตื่นมาแล้วเป็นอย่างไร ผมจำได้แทบทั้งหมด

 

ดื่มกินกันอย่างไร พิธีรีตรองเป็นอย่างไร สังคมของการดื่มกินเป็นอย่างไร ลัทธิธรรมเนียมมีรายละเอียดเป็นอย่างไร ฤดูกาลไหนดื่มอะไร เทศกาลไหน โอกาสไหนดื่มอะไร ผมจำได้แม่นยำ แต่ขอยังไม่เล่า ปล่อยเอาไว้ให้เปรี้ยวปากกันอย่างนี้ก่อนก็แล้วกัน 

 

เว้นแต่ว่า ถ้าหน่วยงานใดที่หมกมุ่นเรื่องการกำจัดสุรา แต่กิน-อยู่ได้จากภาษีจากสุรา แล้วเกิดอยากเข้าใจวัฒนธรรมสุราอาเซียน อยากส่งเสริมการเมาอย่างมีวัฒนธรรม จะให้ทุนผมกลับไปเมาเพื่อเรียนรู้อีกครั้ง ผมก็ยินดีจะเปลืองร่างกายทำวิจัยให้

 

(สำหรับผู้ที่นำไปเผยแพร่ต่อ ผมยินดีเสมอ หากแต่ต้องมีจริยธรรมในการนำไปเผยแพร่ต่อ ด้วยการระบุที่มาและแสดงลิงค์มายังบล็อกของผม ที่ "ประชาไทบล็อกกาซีน" ให้ครบถ้วนด้วย)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลกที่เวลาผมชื่นชมผู้ใหญ่ในวงการบางคนในบางโอกาส มีคนว่าผมประจบผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิพากษ์ ก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนตัวผมและกับคนในวงการเดียวกันคงจะรู้สึกว่า ที่พูดถึงผมแบบนั้นน่ะเพี้ยนแล้ว เพราะผมวิพากษ์ "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการเดียวกันมาเสียจนลูกศิษย์ลูกหาของท่านๆ เหล่านั้นสุดจะทน จนขณะนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่ายังเหลือผู้ใหญ่ในวงการท่านใดบ้างที่ผมยังไม่วิพากษ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อครหาอีกข้อที่มีคือ การที่ผมชอบคิดคำศัพท์ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการรุงรัง นี่เป็นข้อครหาที่นักสังคมศาสตร์ไทยโดนเป็นประจำ เพื่อนนักวิชาการคนอื่นๆ คิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมมีทัศนะของผมเองคร่าวๆ ดังที่จะเสนอในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เสียงสะท้อนที่รบกวนใจผมอยู่บ้างในระยะนี้ คือคำวิจารณ์ที่เข้ามาสู่หูผมมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ผมเป็นพวกบ้าทฤษฎี พวกบ้าศัพท์แสง พวกบ้าวิพากษ์ และพวกคลั่งตะวันตก ซึ่งผมก็น้อมรับด้วยความยินดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พึงสำเหนียกว่า กษัตริย์ไม่ใช่พ่อ เป็นเพียง "สมมุติพ่อ" ที่สังคมไทยอุปโลกน์ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แต่ละคนคงมีตำนานส่วนตัวของตนเอง ที่สะสมความทรงจำซึ่งมักออกจะเดินจริงไปสักหน่อย แม้เมื่อมาพบกับสถานที่ บุคคล หรือแม้แต่รสสัมผัส ในที่นี้คืออาหาร ในตำนานเข้าจริงๆ อีกสักครั้ง แล้วจะรู้สึกว่าความอลังการของบุคคลและวัตถุในตำนานจะถดถอยค่าลงบ้าง ก็ยังไม่ถึงกับจะทำให้ภาพงดงสมในตำนานเลือนหายไปได้ง่ายๆ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ในงาน "สัมมนาวิชาการ การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" มาเที่ยวนี้มาเป็นวิทยากรเสนอเรื่องที่เคยเสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผมยังพัฒนาไม่เต็มอิ่มดี ยิ่งนำเสนอก็ยิ่งเห็นมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะมีแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) (ตามข่าว) จึงขอนำวิดีโอ แสดงทัศนะของนักปรัชญาชื่อดังแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 นาม สลาวอย ชีเชก (Slavoj Zizek) มาเพื่อให้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันว่า ทำไมส้วมจึงสำคัญนักหนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง