Skip to main content

อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า "ไม่รู้อาจารย์ผู้ชายทนสอนหนังสือต่อหน้านักศึกษานุ่งสั้นที่นั่งเปิดหวอหน้าห้องเรียนได้อย่างไร" สำหรับผม ก็แค่เห็นนักศึกษาเป็นลูกเป็นหลานก็เท่านั้น แต่สิ่งยั่วยวนในโลกทางวิชาการมีมากกว่านั้นเยอะ และบางทีจะยิ่งหลบเลี่ยงยากยิ่งกว่าการสร้าง incest taboo ในจินตนาการขึ้นมาหน้าห้องเรียน

ปีนี้อาจารย์ที่ปรึกษาปริญญาเอกผมอายุ 61 แล้ว แต่เธอยังไม่หยุดเขียนงานวิชาการเพื่อตีพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นวารสารวิชาการหรือหนังสือ ที่จริงเธอขยันขันแข็งอย่างนี้มาตั้งแต่ผมยังเรียนไม่จบ มีอาจารย์อีกคนที่อายุ 60 กว่าแล้ว แต่ยังไม่เกษียณ และยังตีพิมพ์หนังสือประวัติศาสตร์เล่มหนาๆ ในอัตราสองปีต่อหนึ่งเล่ม 

ระบบมหาวิทยาลัยที่อเมริกาไม่มีการให้ออกตามอายุ แต่ก็ต้องผลิตผลงานต่อเนื่องจึงอยู่ต่อได้ จะทำอย่างนั้นก็ต้องมีวินัยที่เข้มแข็งมาก ต้องไม่หลุดจากวงการ ต้องได้ทุนวิจัยสม่ำเสมอ ต้องเก็บข้อมูลสม่ำเสมอ ต้องอ่านหนังสือใหม่สม่ำเสมอ ต้องเขียนสม่ำเสมอ ต้องไปเสนอผลงานสม่ำเสมอ ที่สำคัญคือ ต้องไม่ว่อกแว่กนอกลู่นอกทางตามสิ่งเย้ายวน

ความเย้ายวนในโลกวิชาการที่อเมริกาคงไม่เหมือนในไทย สิ่งเย้ายวนในโลกทางวิชาการไทยๆ มีมากมาย เช่นว่า หากคุณดูมีแววในทางการบริหาร มีไอเดียอะไรบางอย่าง มีบุคคลิกประนีประนอม จะมีตำแหน่งบริหารแวะเวียนมาเคาะประตูห้องทำงานเสมอ ตำแหน่งเหล่านี้มาพร้อมเกียรติ พร้อมเงิน พร้อมบริวารและการแห่แหนของผู้คน 

ถ้าคุณพูดเก่ง ออกสื่อได้ไม่อายใคร ตอบโต้ได้ฉับไว คิดคำคมได้เสมอๆ ตอบได้แทบทุกคำถาม มีความเห็นในเรื่องใหญ่ๆ ได้แทบทุกเรื่อง คุณจะกลายเป็นเหยื่อของสื่อมวลชน ที่ทั้งขูดรีดและฉวยใช้คราบไคลความเป็นนักวิชาการของคุณ แลกกับการหยิบยื่นความเป็นเซเล็บทางวิชาการ ให้คุณไปไหนมาไหนแล้วมีเด็กติ่งมาคอยวิ่งกรูชูป้ายไฟเอียงหน้าขอถ่ายรูป

ผมไม่ได้ดูแคลนผู้ใดที่ไปอยู่ในที่สาธารณะเหล่านี้ ไม่ได้อิจฉาใครที่แสดงบทบาทเหล่านั้น และออกจะนับถือหลายคนที่เลือกเดินทางนั้นอย่างบริสุทธิ์ใจไม่ได้เพื่อให้เด่นดังหรือมั่งคั่ง เพียงแต่ยังอยากทำงาน "วิชาการ" ที่บางครั้งตอบโจทย์สาธารณะตรงๆ ไม่ได้ง่ายๆ อยู่เหมือนกัน จึงคอยเตือนตนให้มีระยะห่างกับความเย้ายวนลักษณะนั้น และเห็นว่าถึงเวลาต้องหลบออกมาบ้างแล้ว

ในโลกหอคอยงาช้างเองก็ใช่ว่าจะไม่มีความเย้ายวน ถ้าคุณมีแววเป็นนักวิจัยมือดี มีผลงานสม่ำเสมอ จะมีทุนวิจัยวิ่งมาหาคุณจากทุกทิศทาง และหากคุณหมุนตามงานวิจัยเหล่านั้น คุณอาจลืมไปแล้วว่าความสนใจทางวิชาการของคุณคืออะไร คุณจะกลายไปเป็นเครื่องประดับทางวิชาการของนักวิจัยรุ่นใหญ่ที่สามารถระดมทุนได้เสมอ หรือไม่ก็กลายเป็นผู้รับใช้ตอบคำถามที่คุณไม่ได้เป็นคนตั้งขึ้นมาเอง พร้อมรับเงินค่าตอบแทนที่หรูหรา จนบางคนอาจไม่อยากสอนหนังสือ

ในท่ามกลางสิ่งเย้ายวนเหล่านี้ ผมนับถือครูบาอาจารย์และนักวิชาการรุ่นพี่ที่มั่นคงต่อวิชาชีพของตน บางท่านสมาทานชีวิตสมถะ หลีกเลี่ยงสื่อมวลชน ทำงานบริหารอย่างจำกัดแล้วรีบหลบออกมาเมื่อมีโอกาส บางคนแม้ไม่ปฏิเสธการอยู่ในที่แจ้ง แต่ก็เลือกพูดเฉพาะสิ่งที่ตนเองรู้ ที่สอดคล้องกับงานหลักของตนเอง บางคนเลือกทำงานบริหารเมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะสร้างสรรค์อะไรในระดับกว้าง แล้วหลบออกมาเมื่อบรรลุเป้าหมายในระดับหนึ่ง

แต่คำถามที่ยากกว่านั้นคือ ผมถามตัวเองว่า "สมัยยังเด็ก ที่เคยเรียกร้องนักวิชาการรุ่นพี่ รุ่นอาวุโสให้ทำโน่นทำนี่ แล้วตอนนี้ตนเองทำอะไรบ้างหรือแล้วยัง" "ที่เคยดูเบาว่านักวิชาการคนโน้นคนนี้ไม่ได้ผลิตอะไรใหม่ๆ เป็นไม้ตายซาก แล้วตอนนี้ตนเองเสนออะไรใหม่ๆ บ้างหรือยัง" คำถามพวกนี้ตอบยากกว่ามากนัก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อต้องกลับมาชวนคนอ่านงานของบรมครูทาง "วัฒนธรรมศึกษา" คนหนึ่ง ที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนัก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปแม่ฮ่องสอนสามวัน ค้างสองคืน เพื่อร่วมงาน "ไทใหญ่ศึกษา" ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้จักวัฒนธรรมไทใหญ่มาก่อน พอจะรู้จากการอ่านงานเรื่อง "ฉาน" เรื่องรัฐไทใหญ่ เรื่องประวัติศาสตร์บ้างนิดหน่อย จึงมิอาจให้ความเห็นใดๆ กับอาหารไทใหญ่ได้ ทำได้แค่เพียงบอกเล่า "ความประทับใจแรกเริ่ม" ในแบบที่นักชาติพันธ์ุนิพนธ์ทั่วไปมักทำกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชาญวิทย์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานครบรอบ 72 ปีให้อาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์ุอยู่หลากหลายกลุ่ม พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และร่วมสร้างสังคม สร้างประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่อย่างขาดไม่ได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยมีนโยบายกลุ่มชาติพันธ์ุมาก่อน (ยาวนะครับ ถ้ายังอยู่ในโลก 8 บรรทัดโปรดอย่าอ่าน)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นนักคิดไทยสองคนออกมาเทศนาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า "ทำไมนักคิดไทย พอแก่ตัวลงต้องไปจนแต้มที่วิธีคิดแบบพุทธๆ"