Skip to main content

อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า "ไม่รู้อาจารย์ผู้ชายทนสอนหนังสือต่อหน้านักศึกษานุ่งสั้นที่นั่งเปิดหวอหน้าห้องเรียนได้อย่างไร" สำหรับผม ก็แค่เห็นนักศึกษาเป็นลูกเป็นหลานก็เท่านั้น แต่สิ่งยั่วยวนในโลกทางวิชาการมีมากกว่านั้นเยอะ และบางทีจะยิ่งหลบเลี่ยงยากยิ่งกว่าการสร้าง incest taboo ในจินตนาการขึ้นมาหน้าห้องเรียน

ปีนี้อาจารย์ที่ปรึกษาปริญญาเอกผมอายุ 61 แล้ว แต่เธอยังไม่หยุดเขียนงานวิชาการเพื่อตีพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นวารสารวิชาการหรือหนังสือ ที่จริงเธอขยันขันแข็งอย่างนี้มาตั้งแต่ผมยังเรียนไม่จบ มีอาจารย์อีกคนที่อายุ 60 กว่าแล้ว แต่ยังไม่เกษียณ และยังตีพิมพ์หนังสือประวัติศาสตร์เล่มหนาๆ ในอัตราสองปีต่อหนึ่งเล่ม 

ระบบมหาวิทยาลัยที่อเมริกาไม่มีการให้ออกตามอายุ แต่ก็ต้องผลิตผลงานต่อเนื่องจึงอยู่ต่อได้ จะทำอย่างนั้นก็ต้องมีวินัยที่เข้มแข็งมาก ต้องไม่หลุดจากวงการ ต้องได้ทุนวิจัยสม่ำเสมอ ต้องเก็บข้อมูลสม่ำเสมอ ต้องอ่านหนังสือใหม่สม่ำเสมอ ต้องเขียนสม่ำเสมอ ต้องไปเสนอผลงานสม่ำเสมอ ที่สำคัญคือ ต้องไม่ว่อกแว่กนอกลู่นอกทางตามสิ่งเย้ายวน

ความเย้ายวนในโลกวิชาการที่อเมริกาคงไม่เหมือนในไทย สิ่งเย้ายวนในโลกทางวิชาการไทยๆ มีมากมาย เช่นว่า หากคุณดูมีแววในทางการบริหาร มีไอเดียอะไรบางอย่าง มีบุคคลิกประนีประนอม จะมีตำแหน่งบริหารแวะเวียนมาเคาะประตูห้องทำงานเสมอ ตำแหน่งเหล่านี้มาพร้อมเกียรติ พร้อมเงิน พร้อมบริวารและการแห่แหนของผู้คน 

ถ้าคุณพูดเก่ง ออกสื่อได้ไม่อายใคร ตอบโต้ได้ฉับไว คิดคำคมได้เสมอๆ ตอบได้แทบทุกคำถาม มีความเห็นในเรื่องใหญ่ๆ ได้แทบทุกเรื่อง คุณจะกลายเป็นเหยื่อของสื่อมวลชน ที่ทั้งขูดรีดและฉวยใช้คราบไคลความเป็นนักวิชาการของคุณ แลกกับการหยิบยื่นความเป็นเซเล็บทางวิชาการ ให้คุณไปไหนมาไหนแล้วมีเด็กติ่งมาคอยวิ่งกรูชูป้ายไฟเอียงหน้าขอถ่ายรูป

ผมไม่ได้ดูแคลนผู้ใดที่ไปอยู่ในที่สาธารณะเหล่านี้ ไม่ได้อิจฉาใครที่แสดงบทบาทเหล่านั้น และออกจะนับถือหลายคนที่เลือกเดินทางนั้นอย่างบริสุทธิ์ใจไม่ได้เพื่อให้เด่นดังหรือมั่งคั่ง เพียงแต่ยังอยากทำงาน "วิชาการ" ที่บางครั้งตอบโจทย์สาธารณะตรงๆ ไม่ได้ง่ายๆ อยู่เหมือนกัน จึงคอยเตือนตนให้มีระยะห่างกับความเย้ายวนลักษณะนั้น และเห็นว่าถึงเวลาต้องหลบออกมาบ้างแล้ว

ในโลกหอคอยงาช้างเองก็ใช่ว่าจะไม่มีความเย้ายวน ถ้าคุณมีแววเป็นนักวิจัยมือดี มีผลงานสม่ำเสมอ จะมีทุนวิจัยวิ่งมาหาคุณจากทุกทิศทาง และหากคุณหมุนตามงานวิจัยเหล่านั้น คุณอาจลืมไปแล้วว่าความสนใจทางวิชาการของคุณคืออะไร คุณจะกลายไปเป็นเครื่องประดับทางวิชาการของนักวิจัยรุ่นใหญ่ที่สามารถระดมทุนได้เสมอ หรือไม่ก็กลายเป็นผู้รับใช้ตอบคำถามที่คุณไม่ได้เป็นคนตั้งขึ้นมาเอง พร้อมรับเงินค่าตอบแทนที่หรูหรา จนบางคนอาจไม่อยากสอนหนังสือ

ในท่ามกลางสิ่งเย้ายวนเหล่านี้ ผมนับถือครูบาอาจารย์และนักวิชาการรุ่นพี่ที่มั่นคงต่อวิชาชีพของตน บางท่านสมาทานชีวิตสมถะ หลีกเลี่ยงสื่อมวลชน ทำงานบริหารอย่างจำกัดแล้วรีบหลบออกมาเมื่อมีโอกาส บางคนแม้ไม่ปฏิเสธการอยู่ในที่แจ้ง แต่ก็เลือกพูดเฉพาะสิ่งที่ตนเองรู้ ที่สอดคล้องกับงานหลักของตนเอง บางคนเลือกทำงานบริหารเมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะสร้างสรรค์อะไรในระดับกว้าง แล้วหลบออกมาเมื่อบรรลุเป้าหมายในระดับหนึ่ง

แต่คำถามที่ยากกว่านั้นคือ ผมถามตัวเองว่า "สมัยยังเด็ก ที่เคยเรียกร้องนักวิชาการรุ่นพี่ รุ่นอาวุโสให้ทำโน่นทำนี่ แล้วตอนนี้ตนเองทำอะไรบ้างหรือแล้วยัง" "ที่เคยดูเบาว่านักวิชาการคนโน้นคนนี้ไม่ได้ผลิตอะไรใหม่ๆ เป็นไม้ตายซาก แล้วตอนนี้ตนเองเสนออะไรใหม่ๆ บ้างหรือยัง" คำถามพวกนี้ตอบยากกว่ามากนัก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพ่ิงกินอาหารเย็นเสร็จ วันนี้ลงมือทำสเต็กเนื้อ เนื้อโคขุนไทยๆ นี่แหละ ต้องชิ้นหนาๆ หน่อย ย่างบนกะทะเหล็กหนาๆ ที่หอบหิ้วมาจากอเมริกา เป็นกะทะเทพมากๆ เพราะความร้อนแรงดีมาก ใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที เกรียมได้ที่ทั้งสองด้าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษา" ต้องการพื้นที่ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น พื้นที่การเรียนรู้ก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกการเรียนรู้ ยังมีคนบางกลุ่มดื้อรั้นขัดขวางการเปลี่ยนแปลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 แน่นอนว่าโฆษณาโปรแกรมเรียนภาษาไทย (บางคนบอกเป็นแค่ตลกล้อเลียน?) ที่เป็นข่าว 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ตั้งอยู่บนอคติทางเพศ ดูถูกเพศหญิงว่าเป็นวัตถุทางเพศ ดูถูกเพศชายว่าจ้องเสพสุขทางเพศท่าเดียว (หรือหลายท่า?) สร้างภาพเหมารวมให้คนไทยและสังคมไทยไร้ศีลธรรม (ดูสิ เราออกจะเมืองพุทธ เมืองพระ) แต่ที่ยังน่าจะต้องทำความเข้าใจคือ ปฏิกิริยาที่คนไทยมีต่อวิดีโอล้อเลียนนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้พยายามทำความเข้าใจตรรกะของพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดงไว้ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ว่าพระองค์มีทัศนะต่อแนวคิด The King Can Do No Wrong อย่างไร และมาตรา 112 ควรแก้ไขเพราะเหตุใด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การตัดสินคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขและอีกหลายๆ คดีก่อนหน้านี้ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ชี้ให้เห็นยิ่งขึ้นทุกวันว่า รัฐไทยกำลังสร้างความรักด้วยการใช้กำลังข่มเหงให้ประชาชนรักประมุขของประเทศ หาใช่การส่งเสริมให้เกิดความรักประมุขจากใจจริงของประชาชนไม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดี โดยเฉพาะงานทางมานุษยวิทยา มักมีแรงขับจากอารมณ์ใคร่บางอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากเรียกร้องเรื่องทรงผม ก็ต้องเรียกร้องเรื่องชุดนักเรียนนักศึกษาด้วย จะได้เป็นก้าวแรกของการอภิวัฒน์การศึกษาไทยอย่างจริงจังเสียที พวกผู้ใหญ่ที่คอยเรียกร้องนักเรียนกับครูอาจารย์ ให้สอนให้เด็กรู้จักคิดน่ะ พวกท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า ชุดนักเรียนนักศึกษาเป็นปราการปิดกั้นเสรีภาพการคิดอย่างไร และเด็กๆ เองก็ควรเข้าใจด้วยว่า การควบคุมเรือนร่างเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแบบอำนาจนิยมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์พัฒนา กิติอาษาเมื่อเช้าตรู่วานนี้ (10 มกราคม 2556) คงไม่เป็นที่สนใจของใครต่อใครนอกแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์มากนัก แต่นี่นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงสังคมศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากพวกคุณวิจัยสำรวจอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ พวกคุณก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่า ชัยชนะจากคะแนนเสียงที่ "ไม่่่ท่วมท้นนัก" ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มาจากกลุ่มคนที่มีความหวังว่าเพื่อไทยจะเป็นเดินหน้าพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างจริงจังเสียที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สังคมไทยมีสังคมแบบหนึ่งที่แทรกซ้อนอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ คือสังคมดัดจริต สังคมดัดจริตไม่ได้มีขนาดใหญ่โต แต่เป็นสังคมของคนชั้นกลางและคนใหญ่คนโตที่กำลังเสื่อมอำนาจ สังคมดัดจริตคอยผลิตวัฒนธรรมดัดจริตเพื่อทำให้ตนเองดูดีมีหลักการ เพื่อให้ตนเองอยู่เหนือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีจริตจะดัด และเหนืออื่นใดคือเพื่อปกป้องฐานะอำนาจของตนเอง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้ คือวันที่ 1 มกราคม 2556 ผมลองคิดบวกดูบ้าง คือคิดแบบเข้าข้างตนเองทบทวนดูว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาได้ทำอะไรใหม่ๆ ให้ตนเองบ้าง คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในสมองผมคือ ได้อ่านหนังสืออะไรที่นับว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วก็คิดไปเรื่อยว่า ได้ทำอะไรที่ให้การเรียนรู้ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ คิดอะไรใหม่ๆ บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามปีใหม่ ยากที่จะหาของขวัญที่ไม่กลายเป็นขยะในชั่วข้ามคืนได้ เพื่อนชาวอเมริกันที่ผมรู้จักหลายคน ซึ่งดูท่าจะทั้งเป็นนักช้อปและเป็นคนช่างมีเหตุผล ก็เลยใช้วิธีให้เด็กๆ เขียนลิสต์รายการสิ่งของที่อยากได้ยามสิ้นปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าของที่ซื้อมาให้จะถูกใจผู้รับสักชิ้นหนึ่ง