Skip to main content

ในวาระที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะบุคคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผู้หนึ่ง ผมขอเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วนที่อธิการบดีคนต่อไปควรเร่งพิจารณา เพื่ิอกอบกู้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นบ่อน้ำบำบัดผู้กระหายความรู้ และเป็นสถาบันที่เคียงข้างประชาชนต่อไป

(1) รื้อฟื้นเกียรติภูมิของธรรมศาสตร์และคณะราษฎร ในฐานะมหาวิทยาลัยที่เกิดมาเพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย สิ่งหนึ่งที่จะต้องยืนหยัดคือ ธรรมศาสตร์และบุคคลากรธรรมศาสตร์จะต้องไม่ฝักใฝ่เผด็จการ ไม่ฝักใฝ่อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ปกป้องรัฐธรรมนูญ ไม่รับใช้คณะรัฐประหาร กระทั่งจะต้องต่อต้านรัฐประหารด้วยซ้ำไป 

ตามหลักการดังกล่าว ผู้ตอบรับการเสนอชื่อเพื่อดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนต่อไปจะต้องให้สัญญาต่อประชาคมธรรมศาสตร์ว่า หากเกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อใดก็ตาม ผู้ที่ไปเข้าร่วมกับคณะรัฐประหารจะต้องถูกลงโทษทางวินัยอย่างรุนแรงและได้รับโทษอาญาแผ่นดินตามกฎหมาย หากไม่สามารถต้านทานได้ อธิการบดีและคณะผู้บริหารก็สมควรเลือกที่จะลาออกจากตำแหน่งในทันทีโดยไม่เกรงกลัวกับอำนาจข่มขู่ใดๆ ทั้งสิ้น ดีเสียกว่าเข้าไปอยู่ในวังวนของอำนาจอธรรมศาสตร์

(2) รักษาความเป็นอิสระในการบริหารมหาวิทยาลัย ด้วยการไม่โอนอ่อนให้กับหน่วยงานภายนอก กล้าต่อรองกับหน่วยงานประกันคุณภาพต่างๆ อย่างสมศักดิ์ศรีของการเป็นสถาบันอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็น สกอ. สมศ. กพร. ไม่ไหลตามองค์กรที่มีสติปัญญาจำกัด ไร้วิสัยทัศน์ แต่กลับมีอำนาจเหมือนสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจะออกนอกระบบราชการ มหาวิทยาลัยก็จะต้องรักษาความเป็นอิสระให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากทุกวันนี้มหาวิทยาลัยพึ่งตนเองในทางเศรษฐกิจมากขึ้น ก็ย่ิงจะต้องเป็นอิสระในการบริหารมากขึ้น

ในระยะเฉพาะหน้านี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงสมควรที่จะเป็นผู้นำในการแก้ไขระบบการประกันคุณภาพ ต่อสู้เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการประกันคุณภาพ สร้างระบบประเมินคุณภาพการศึกษาที่เหมาะสมกับความก้าวหน้าของสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และบรรดาศาสตร์วิชาชีพ

(3) เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน ทุกวันนี้ระบบที่บั่นทอนการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่งคือระบบการสอนปริญญาตรีภาคปกติ ที่ส่วนใหญ่ยังคงสอนในระบบคาบละชั่วโมงครึ่ง แทนที่จะเป็น 3 ชั่วโมงแบบมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วไป เหตุผลมากมายที่ควรปรับมีดังนี้ 

- ห้องเรียนชั่วโมงครึ่งไม่สามารถทำให้การเรียนการสอนต่อเนื่องได้ ยังไม่ทันที่จะเข้าประเด็นอะไรอย่างลึกซ้ำ ก็หมดเวลาเสยแล้ว หรือหากจะต่อเนื่องประเด็นยกยอดไปคาบถัดไป ก็จะต้องกลับมาย้อนเท้าความกันใหม่ การเรียนการสอนแบบครั้งละชั่วโมงจึงมีผลเสียต่อประสิทธิภาพของการเรียนการสอนในปัจจุบันอย่างยิ่ง 
- ข้ออ้างเรื่องสมาธิของนักศึกษาไม่สามารถใช้ได้ต่อไป เพราะหลักสูตรปริญญาตรีโครงการพิเศษล้วนใช้เวลาคาบละสามชั่วโมงทั้งสิ้น และยังมีบางคณะเริ่มจัดการเรียนการสอนคาบละ 3 ชั่วโมงในภาคปกติอยู่แล้ว ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร
- ทุกวันนี้เพื่อสอนวิชาหนึ่งให้ครบ 3 ชั่วโมง อาจารย์ต้องเดินทางไปรังสิตที่อาจใช้เวลาเดินทางถึง 4-5 ชั่วโมง เพื่อสอนเพียงชั่วโมงครึ่งในแต่ละวัน ไหนจะต้องเสี่ยงกับการเดินทางไกลมากวันขึ้น ไหนจะสิ้นเปลืองพลังงานมากขึ้น 

เหตุผลเหล่านี้น่าจะเพียงพอให้ลบคำกล่าวของบางหน่วยงานที่คอยบอกปัดที่จะเปลี่ยนแปลงระบบ อาจเพียงเพราะขี้คร้านที่จะปรับเปลี่ยน

(4) ยกเลิกการมีชุดนักศึกษา มหาวิทยาลัยไม่ใช่โรงเรียนทหาร ไม่ใช่โรงงาน ไม่ใช่บริษัท ไม่ใช่ที่ฝึกงาน จึงไม่จำเป็นต้องบังคับเรื่องการแต่งกาย ชุดนักศึกษาเป็นการกดขี่ปิดกั้นการแสดงออกขั้นพื้นฐาน คือการแสดงออกในร่างกายตัวตนของนักศึกษา นักศึกษาต้องสามารถเลือกและตัดสินใจเองได้ว่า อะไรควรอะไรไม่ควร แม้ทุกวันนี้ผู้บริหารจะบอกว่าชุดนักศึกษาเป็นทางเลือก แต่หลายคณะก็ยังใช้อำนาจบังคับให้นักศึกษาสวมชุดนักศึกษา นักศึกษาต้องมีเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งตัวตนของตนเอง ไม่ใช่ต้องให้ใครมาบอกว่าจะแต่งตัวอย่างไร 

หากจะอ้างเรื่องเศรษฐกิจ ทุกวันนี้เสื้อผ้าสุภาพถูกกาละ-เทศะที่มีราคาต่ำกว่าชุดนักศึกษามีมากมาย อันที่จริง หากใช้เกณฑ์ทางเศรษฐกิจ อาจารย์นั่นแหละที่ควรสวมชุดนักศึกษา เพราะอาจารย์มีรายได้ต่ำกว่านักศึกษาบางคนเสียอีก อีกประการหนึ่งคือ สมัยนี้ชุดนักศึกษากลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจในตัวของมันเอง กลายเป็นว่าใครได้ใส่ชุดนักศึกษาจะเป็นคนพิเศษ เป็นคนอีกชนชั้นหนึ่ง ทำให้นักศึกษาแปลกแยกจากประชาชนทั่วไป ปัจจุบันนี้ ชุดนักศึกษายังกลายเป็นวัตถุทางเพศ ไม่ได้มีอยู่เพื่อเหตุผลเรื่องความประหยัดหรือความเรียบร้อยอีกต่อไป

(5) อภิวัฒน์การเรียนการสอนวิชาการศึกษาทั่วไป (general education) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ริเริ่มจัดการศึกษาแบบ liberal arts ด้วยการยืนยันให้นักศึกษาต้องเรียนรู้กว้าง รู้ข้ามสาขา เพื่อให้นักศึกษาเป็นคนที่สมบูรณ์ ไม่เป็นคนมิติเดียว จึงเป็นผู้นำในการจัดการเรียนการสอนวิชาการศึกษาทั่วไป 

แต่ทุกวันนี้การจัดการเรียนการสอนกลุ่มวิชานี้ในปีหนึ่งกำลังเดินสวนทางกับความเป็น "วิชาการศึกษาทั่วไป"  ทั้งผู้เรียนและผู้สอนเข้าใจผิดคิดว่าวิชาเหล่านี้เป็น "วิชาพื้นฐาน" วิชาเหล่านี้ส่วนมากมีห้องเรียนขนาดใหญ่ อาจารย์จะต้องให้ความรู้ที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง เรื่องที่สอนจึงไม่สอดคล้องกับความชำนาญ ทั้งคนสอนและคนเรียนจึงสูญเสีย นอกจากนั้น ผู้เรียนยังไร้ฉันทะในการเรียน หรือยังไม่มีวุฒิภาวะและความรู้เพียงพอในการเรียนรู้ข้ามสาขาวิชา นี่ยังไม่นับว่าบางวิชาถูกสร้างขึ้นมาอย่างสวนทางกับหลักการของ liberal arts จนกลายเป็นการลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการของผู้สอน บังคับให้ผู้สอนต้องสอนตามโพยของผู้ประสานงานวิชานั้น แล้วปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร

หากจัดให้การเรียนกลุ่มวิชาเหล่านี้เป็นการเรียนตลอดสี่ปี ไม่จำเป็นต้องเรียนให้หมดภายในหนึ่งปี และเปลี่ยนให้อาจารย์เลือกสอนวิชาที่ตนเองถนัด กลุ่มวิชานี้จึงจะพ้นสภาพการเป็นวิชาพื้นฐาน กลายเป็นการศึกษาทั่วไปได้อย่างแท้จริง

แน่นอนที่สุดว่าการบริหารมหาวิทยาลัยย่อมมีประเด็นใหญ่ๆ สำคัญๆ ที่ครอบคลุมผลกระทบต่อผู้คนและสังคมอื่นๆ อีกมาก และแน่นอนว่าข้อเสนอข้างต้นเป็นเพียงประเด็นเร่งด่วนพื้นฐาน ที่แม้หากจะไม่มีการปรับเปลี่ยนใดๆ ข้างต้นเลย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะผู้บริหารใหม่ก็คงยังไม่เสื่อมสลายไป แต่ผมก็ยังเห็นว่า การที่จะให้ธรรมศาสตร์กลับมาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่สามารถสร้างความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถดึงดูดทั้งนักศึกษา บุคคลากร และอาจารย์ที่มีคุณภาพให้มาร่วมพัฒนาธรรมศาสตร์ ที่สามารถกลายเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับนานาชาติได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ด้วยความรักธรรมศาสตร์

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย