Skip to main content

ในวาระที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะบุคคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผู้หนึ่ง ผมขอเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วนที่อธิการบดีคนต่อไปควรเร่งพิจารณา เพื่ิอกอบกู้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นบ่อน้ำบำบัดผู้กระหายความรู้ และเป็นสถาบันที่เคียงข้างประชาชนต่อไป

(1) รื้อฟื้นเกียรติภูมิของธรรมศาสตร์และคณะราษฎร ในฐานะมหาวิทยาลัยที่เกิดมาเพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย สิ่งหนึ่งที่จะต้องยืนหยัดคือ ธรรมศาสตร์และบุคคลากรธรรมศาสตร์จะต้องไม่ฝักใฝ่เผด็จการ ไม่ฝักใฝ่อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ปกป้องรัฐธรรมนูญ ไม่รับใช้คณะรัฐประหาร กระทั่งจะต้องต่อต้านรัฐประหารด้วยซ้ำไป 

ตามหลักการดังกล่าว ผู้ตอบรับการเสนอชื่อเพื่อดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนต่อไปจะต้องให้สัญญาต่อประชาคมธรรมศาสตร์ว่า หากเกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อใดก็ตาม ผู้ที่ไปเข้าร่วมกับคณะรัฐประหารจะต้องถูกลงโทษทางวินัยอย่างรุนแรงและได้รับโทษอาญาแผ่นดินตามกฎหมาย หากไม่สามารถต้านทานได้ อธิการบดีและคณะผู้บริหารก็สมควรเลือกที่จะลาออกจากตำแหน่งในทันทีโดยไม่เกรงกลัวกับอำนาจข่มขู่ใดๆ ทั้งสิ้น ดีเสียกว่าเข้าไปอยู่ในวังวนของอำนาจอธรรมศาสตร์

(2) รักษาความเป็นอิสระในการบริหารมหาวิทยาลัย ด้วยการไม่โอนอ่อนให้กับหน่วยงานภายนอก กล้าต่อรองกับหน่วยงานประกันคุณภาพต่างๆ อย่างสมศักดิ์ศรีของการเป็นสถาบันอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็น สกอ. สมศ. กพร. ไม่ไหลตามองค์กรที่มีสติปัญญาจำกัด ไร้วิสัยทัศน์ แต่กลับมีอำนาจเหมือนสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจะออกนอกระบบราชการ มหาวิทยาลัยก็จะต้องรักษาความเป็นอิสระให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากทุกวันนี้มหาวิทยาลัยพึ่งตนเองในทางเศรษฐกิจมากขึ้น ก็ย่ิงจะต้องเป็นอิสระในการบริหารมากขึ้น

ในระยะเฉพาะหน้านี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงสมควรที่จะเป็นผู้นำในการแก้ไขระบบการประกันคุณภาพ ต่อสู้เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการประกันคุณภาพ สร้างระบบประเมินคุณภาพการศึกษาที่เหมาะสมกับความก้าวหน้าของสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และบรรดาศาสตร์วิชาชีพ

(3) เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน ทุกวันนี้ระบบที่บั่นทอนการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่งคือระบบการสอนปริญญาตรีภาคปกติ ที่ส่วนใหญ่ยังคงสอนในระบบคาบละชั่วโมงครึ่ง แทนที่จะเป็น 3 ชั่วโมงแบบมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วไป เหตุผลมากมายที่ควรปรับมีดังนี้ 

- ห้องเรียนชั่วโมงครึ่งไม่สามารถทำให้การเรียนการสอนต่อเนื่องได้ ยังไม่ทันที่จะเข้าประเด็นอะไรอย่างลึกซ้ำ ก็หมดเวลาเสยแล้ว หรือหากจะต่อเนื่องประเด็นยกยอดไปคาบถัดไป ก็จะต้องกลับมาย้อนเท้าความกันใหม่ การเรียนการสอนแบบครั้งละชั่วโมงจึงมีผลเสียต่อประสิทธิภาพของการเรียนการสอนในปัจจุบันอย่างยิ่ง 
- ข้ออ้างเรื่องสมาธิของนักศึกษาไม่สามารถใช้ได้ต่อไป เพราะหลักสูตรปริญญาตรีโครงการพิเศษล้วนใช้เวลาคาบละสามชั่วโมงทั้งสิ้น และยังมีบางคณะเริ่มจัดการเรียนการสอนคาบละ 3 ชั่วโมงในภาคปกติอยู่แล้ว ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร
- ทุกวันนี้เพื่อสอนวิชาหนึ่งให้ครบ 3 ชั่วโมง อาจารย์ต้องเดินทางไปรังสิตที่อาจใช้เวลาเดินทางถึง 4-5 ชั่วโมง เพื่อสอนเพียงชั่วโมงครึ่งในแต่ละวัน ไหนจะต้องเสี่ยงกับการเดินทางไกลมากวันขึ้น ไหนจะสิ้นเปลืองพลังงานมากขึ้น 

เหตุผลเหล่านี้น่าจะเพียงพอให้ลบคำกล่าวของบางหน่วยงานที่คอยบอกปัดที่จะเปลี่ยนแปลงระบบ อาจเพียงเพราะขี้คร้านที่จะปรับเปลี่ยน

(4) ยกเลิกการมีชุดนักศึกษา มหาวิทยาลัยไม่ใช่โรงเรียนทหาร ไม่ใช่โรงงาน ไม่ใช่บริษัท ไม่ใช่ที่ฝึกงาน จึงไม่จำเป็นต้องบังคับเรื่องการแต่งกาย ชุดนักศึกษาเป็นการกดขี่ปิดกั้นการแสดงออกขั้นพื้นฐาน คือการแสดงออกในร่างกายตัวตนของนักศึกษา นักศึกษาต้องสามารถเลือกและตัดสินใจเองได้ว่า อะไรควรอะไรไม่ควร แม้ทุกวันนี้ผู้บริหารจะบอกว่าชุดนักศึกษาเป็นทางเลือก แต่หลายคณะก็ยังใช้อำนาจบังคับให้นักศึกษาสวมชุดนักศึกษา นักศึกษาต้องมีเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งตัวตนของตนเอง ไม่ใช่ต้องให้ใครมาบอกว่าจะแต่งตัวอย่างไร 

หากจะอ้างเรื่องเศรษฐกิจ ทุกวันนี้เสื้อผ้าสุภาพถูกกาละ-เทศะที่มีราคาต่ำกว่าชุดนักศึกษามีมากมาย อันที่จริง หากใช้เกณฑ์ทางเศรษฐกิจ อาจารย์นั่นแหละที่ควรสวมชุดนักศึกษา เพราะอาจารย์มีรายได้ต่ำกว่านักศึกษาบางคนเสียอีก อีกประการหนึ่งคือ สมัยนี้ชุดนักศึกษากลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจในตัวของมันเอง กลายเป็นว่าใครได้ใส่ชุดนักศึกษาจะเป็นคนพิเศษ เป็นคนอีกชนชั้นหนึ่ง ทำให้นักศึกษาแปลกแยกจากประชาชนทั่วไป ปัจจุบันนี้ ชุดนักศึกษายังกลายเป็นวัตถุทางเพศ ไม่ได้มีอยู่เพื่อเหตุผลเรื่องความประหยัดหรือความเรียบร้อยอีกต่อไป

(5) อภิวัฒน์การเรียนการสอนวิชาการศึกษาทั่วไป (general education) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ริเริ่มจัดการศึกษาแบบ liberal arts ด้วยการยืนยันให้นักศึกษาต้องเรียนรู้กว้าง รู้ข้ามสาขา เพื่อให้นักศึกษาเป็นคนที่สมบูรณ์ ไม่เป็นคนมิติเดียว จึงเป็นผู้นำในการจัดการเรียนการสอนวิชาการศึกษาทั่วไป 

แต่ทุกวันนี้การจัดการเรียนการสอนกลุ่มวิชานี้ในปีหนึ่งกำลังเดินสวนทางกับความเป็น "วิชาการศึกษาทั่วไป"  ทั้งผู้เรียนและผู้สอนเข้าใจผิดคิดว่าวิชาเหล่านี้เป็น "วิชาพื้นฐาน" วิชาเหล่านี้ส่วนมากมีห้องเรียนขนาดใหญ่ อาจารย์จะต้องให้ความรู้ที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง เรื่องที่สอนจึงไม่สอดคล้องกับความชำนาญ ทั้งคนสอนและคนเรียนจึงสูญเสีย นอกจากนั้น ผู้เรียนยังไร้ฉันทะในการเรียน หรือยังไม่มีวุฒิภาวะและความรู้เพียงพอในการเรียนรู้ข้ามสาขาวิชา นี่ยังไม่นับว่าบางวิชาถูกสร้างขึ้นมาอย่างสวนทางกับหลักการของ liberal arts จนกลายเป็นการลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการของผู้สอน บังคับให้ผู้สอนต้องสอนตามโพยของผู้ประสานงานวิชานั้น แล้วปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร

หากจัดให้การเรียนกลุ่มวิชาเหล่านี้เป็นการเรียนตลอดสี่ปี ไม่จำเป็นต้องเรียนให้หมดภายในหนึ่งปี และเปลี่ยนให้อาจารย์เลือกสอนวิชาที่ตนเองถนัด กลุ่มวิชานี้จึงจะพ้นสภาพการเป็นวิชาพื้นฐาน กลายเป็นการศึกษาทั่วไปได้อย่างแท้จริง

แน่นอนที่สุดว่าการบริหารมหาวิทยาลัยย่อมมีประเด็นใหญ่ๆ สำคัญๆ ที่ครอบคลุมผลกระทบต่อผู้คนและสังคมอื่นๆ อีกมาก และแน่นอนว่าข้อเสนอข้างต้นเป็นเพียงประเด็นเร่งด่วนพื้นฐาน ที่แม้หากจะไม่มีการปรับเปลี่ยนใดๆ ข้างต้นเลย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะผู้บริหารใหม่ก็คงยังไม่เสื่อมสลายไป แต่ผมก็ยังเห็นว่า การที่จะให้ธรรมศาสตร์กลับมาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่สามารถสร้างความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถดึงดูดทั้งนักศึกษา บุคคลากร และอาจารย์ที่มีคุณภาพให้มาร่วมพัฒนาธรรมศาสตร์ ที่สามารถกลายเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับนานาชาติได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ด้วยความรักธรรมศาสตร์

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทันทีที่ คสช. ขอบคุณ ธีรยุทธ บุญมี ธีรยุทธก็ได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร แนวทางสำคัญ ๆ ได้แก่งานวิชาการที่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักมานุษยวิทยามีแนวโน้มที่จะ "โรแมนติก" นั่นคือ "อิน" ไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา ความเห็นอกเห็นใจอาจเกินเลยจนกลายเป็นความหลงใหลฟูมฟายเออออไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies)