Skip to main content

เอ่อ.. คือ.. ผมก็เบื่อเรื่องนี้นะ อยากให้จบสักที แต่มันก็ไม่จบง่ายๆ มีอาจารย์ใส่เครื่องแบบถ่ายภาพตัวเอง มีบทสัมภาษณ์ มีข่าวต่อเนื่อง มีเผจล้อเลียน มีโพลออกมา มีคนโต้เถียง ฯลฯลฯ แต่ที่เขียนนี่ อยากให้นักศึกษาที่อึดอัดกับการต่อต้านการแต่งเครื่องแบบนักศึกษาอ่านมากที่สุดนะครับ

ที่น่าสนใจคือ ดูเหมือน "คนรุ่นใหม่" อยากใส่ชุดนักศึกษามากยิ่งกว่า "คนรุ่นก่อนหน้า" (เช่นคนรุ่นผมหรือรุ่นน้องผม ที่ไม่ได้ปกป้องฟูมฟายกับการแต่งเครื่องแบบนักศึกษามากนัก) ปฏิกิริยาของคนรุ่นเดียวกับคุณอั้ม เนโกะ (เหมือนปฏิกิริยาของคนรุ่นเดียวกันต่อนักเรียนที่เรียกร้องให้ยกเลิกผมเกรียน) มีมากทีเดียว ทำไมพวกเขาจึงอยากอยู่ในระเบียบวินัย ทำไมพวกเขาอยากใส่ชุดนักศึกษา ผมอยากเสนอว่า ชุดความหมายเกี่ยวกับเคร่ืองแบบนักศึกษามีหลายชุดความหมาย เครื่องแบบนักศึกษาเป็นรหัสทางวัฒนธรรมที่ซับซ้อนทีเดียว ในขณะนี้ ดูเหมือนความหมายบางความหมายกำลังกลายเป็นความหมายนำ เป็นความหมายที่สังคมยกย่องเชิดชูกันขึ้นมา 
 
"เครื่องแบบนักศึกษาเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม" ใช้จัดกลุ่ม เหมือน "ชุดประจำชาติ" "เครื่องแต่งกายของกลุ่มชาติพันธ์ุ" ใช้ระบุว่าใครเป็นใคร ความหมายนี้เป็นความหมายที่ active เป็นสัญลักษณ์แห่งการแสดงตัวตน เครื่องแบบตามความหมายนี้นำความภูมิใจมาสู่ผู้สวมใส่ ผมคิดว่าความหมายนี้แหละที่กำลังเป็นความหมายนำอยู่ แต่ผู้ที่สวมเครื่องแบบด้วยความหมายนี้จะมองเห็นหรือเปล่าว่า ยังมีความหมายอะไรอื่นอีกล่ะที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ขุดนักศึกษาอันน่าภูมิใจ 
 
"เครื่องแบบนักศึกษาทำให้คนเท่ากัน" ความหมายนี้เป็นความหมายที่พูดกันมาก ว่าเครื่องแบบทำให้นักศึกษาไม่ว่าจะจากฐานะไหน ยากดีมีจน เหมือนกันหมดและจึงเท่ากันหมด แต่จะจริงหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเครื่องแบบนักศึกษานำมาซึ่งการดูแลรักษาความสะอาด ถ้าเสื้อขาวเปื้อนกับเสื้อยืดสีหม่นๆ เปื้อน เราจะใส่เสื้อขาวเปื้อนต่อหรือไม่ เสื้อยืดไม่รีดเราอาจใส่ได้ แต่เสื้อเชิ้ตยับๆ เราสักกี่คนจะใส่กัน ความสิ้นเปลืองไฟ เวลา ค่าแรงเพื่อการรีดชุดนักศึกษายังจะทำให้ชุดนักศึกษาเป็นเครื่องหมายของความเท่าเทียมกันไหม เนื้อผ้า แฟชั่น ของชุดนักศึกษาที่เราเห็นกันในปัจจุบัน จะยังรักษาอุดมการณ์ความเท่าเทียมกันภายใต้เครื่องแบบอยู่อีกไหมหากคิดถึงต้นทุนและชนชั้นทางสังคมที่สามารถแบกรับต้นทุนเหล่านั้น
 
"เครื่องแบบนักศึกษาเป็นเคร่ืองแสดงชนชั้น" คนที่คิดอย่างนี้อาจจะไม่ได้คิดแบบนี้ตั้งแต่แรกหรอก หรือเขาอาจคิดแบบนี้โดยไม่ตั้งใจ คำพูดประเภทที่ว่า "ไม่ใช่ทุกคนจะได้ใส่" เป็นหนึ่งในนั้น แต่ชนชั้นของการมีเครื่องแบบ ความพิเศษของการได้ใส่เครื่องแบบ ความภูมิใจในการได้ใส่เครื่องแบบ เหล่านี้ก็สร้างชนชั้นของคนใส่เครื่องแบบนักศึกษา ให้เหนือคนไม่มีโอกาสได้ใส่หรือไม่ คนที่ได้ใส่นักศึกษาน่าจะมีความคิดความอ่านเพียงพอจะเข้าใจความหมายนี้เองได้
 
"เครื่องแบบนักศึกษากลายเป็นวัตถุทางเพศ" บางคนบอกว่า "จะร่วมเพศกันไม่ต้องใส่เครื่องแบบนักศึกษาก็ได้" นั่นก็ถูก เพราะที่จริงการร่วมเพศไม่ต้องสวมอะไรเลยด้วยซ้ำ แต่อย่าลืมว่าเครื่องแบบนักศึกษาเป็นภาพแทนความอ่อนวัย ความสดใส ความบริสุทธิ์ ความหมายแฝงเหล่านี้หรือไม่ที่ทำให้เครื่องแบบนักศึกษากลายเป็นสิ่งดึงดูดใจทางเพศ แล้วการที่เครื่องแบบนักศึกษาไทยพัฒนาความเซ็กซี่ขึ้นมา ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะเคร่ืองแบบนักศึกษาหญิงเท่านั้น มันบอกความหมายเฉพาะของเครื่องแบบนักศึกษาไทยที่เชื่อมโยงกับเซ็กซ์หรือไม่ มันบอกการกดขี่หรือการใช้ชุดนักศึกษาเป็น "เครื่องเพศ" หรือไม่ คนใส่เครื่องแบบอย่างเซ็กซี่คงรู้ตนเองดี
 
"เครื่องแบบนักศึกษาเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ" ที่ใช้ควบคุมระเบียบของสังคม ข้อนี้ไม่ต่างอะไรกับชุดพนักงานในสำนักงานต่างๆ ที่มีเครื่องแบบ สังเกตบ้างไหมว่าคนที่แต่งเครื่องแบบมีแต่คนด้อยอำนาจตำแหน่งเล็กๆ หรือตำแหน่งลูกน้องเท่านั้นแหละที่แต่ง มีผู้จัดการธนาคารที่ไหนแต่งเครื่องแบบ มีกรรมการบริหารบริษัท ประธานบริษัทที่ไหนแต่งเครื่องแบบที่ให้พนักงานใส่ แม้แต่ตำรวจชั้นสัญญาบัตรเขายังไม่แต่งเครื่องแบบไปทำงานประจำวันเลย
 
"เครื่องแบบนักศึกษาเป็นเครื่องมือผลิตซ้ำอุดมการณ์ครอบงำ" ง่ายที่สุดเลยคืออุดมการณ์เพศ ภายใต้เครื่องแบบนักศึกษา คนสวมใส่เป็นได้เพียง ถ้าไม่ชาย ก็หญิง ระเบียบของการแบ่งเพศเข้ามามีบทบาทในการแต่งชุดนักศึกษาอย่างเห็นได้ชัด เกินจากนั้น ภายใต้เครื่องแบบ คนสวมจะแสดงตัวตนได้ไม่มากนัก เมื่อสวมเครื่องแบบ คุณจึงถูกเครื่องแบบกำกับพฤติกรรม เพราะถูกมอง ถูกคาดหวังต่อบทบาทตามเครื่องแบบ
 
ถึงที่สุดแล้ว ความหมายต่างๆ ของชุดนักศึกษาไม่อาจมีความหมายใดเป็นความหมายนำอีกต่อไป ความหมายที่เคยแน่นิ่ง ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนก็แทบไม่เคยมีอำนาจนำ กำลังถูกกวนให้ขุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่ต้องคิดด้วยคือ ความหมายใดกันแน่ที่อยู่ซ้อนและครอบงำความหมายอื่นอยู่ แล้วทำไมความหมายนั้นจึงขึ้นมามีบทบาทเหนือความหมายอื่น ความหมายใดเป็นความหมายลวงแค่เปลือก ความหมายใดคือความหมายที่ใช้มอมเมาให้ยอมรับเพื่อใช้ความหมายอื่นควบคุม แต่ไม่ว่าจะอย่างไร อย่าหยุดเถียงเพียงด้วยเพราะเราไม่ชอบความเห็นฝ่ายตรงกันข้ามก็แล้วกัน

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพ่ิงกินอาหารเย็นเสร็จ วันนี้ลงมือทำสเต็กเนื้อ เนื้อโคขุนไทยๆ นี่แหละ ต้องชิ้นหนาๆ หน่อย ย่างบนกะทะเหล็กหนาๆ ที่หอบหิ้วมาจากอเมริกา เป็นกะทะเทพมากๆ เพราะความร้อนแรงดีมาก ใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที เกรียมได้ที่ทั้งสองด้าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษา" ต้องการพื้นที่ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น พื้นที่การเรียนรู้ก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกการเรียนรู้ ยังมีคนบางกลุ่มดื้อรั้นขัดขวางการเปลี่ยนแปลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 แน่นอนว่าโฆษณาโปรแกรมเรียนภาษาไทย (บางคนบอกเป็นแค่ตลกล้อเลียน?) ที่เป็นข่าว 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ตั้งอยู่บนอคติทางเพศ ดูถูกเพศหญิงว่าเป็นวัตถุทางเพศ ดูถูกเพศชายว่าจ้องเสพสุขทางเพศท่าเดียว (หรือหลายท่า?) สร้างภาพเหมารวมให้คนไทยและสังคมไทยไร้ศีลธรรม (ดูสิ เราออกจะเมืองพุทธ เมืองพระ) แต่ที่ยังน่าจะต้องทำความเข้าใจคือ ปฏิกิริยาที่คนไทยมีต่อวิดีโอล้อเลียนนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้พยายามทำความเข้าใจตรรกะของพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดงไว้ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ว่าพระองค์มีทัศนะต่อแนวคิด The King Can Do No Wrong อย่างไร และมาตรา 112 ควรแก้ไขเพราะเหตุใด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การตัดสินคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขและอีกหลายๆ คดีก่อนหน้านี้ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ชี้ให้เห็นยิ่งขึ้นทุกวันว่า รัฐไทยกำลังสร้างความรักด้วยการใช้กำลังข่มเหงให้ประชาชนรักประมุขของประเทศ หาใช่การส่งเสริมให้เกิดความรักประมุขจากใจจริงของประชาชนไม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดี โดยเฉพาะงานทางมานุษยวิทยา มักมีแรงขับจากอารมณ์ใคร่บางอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากเรียกร้องเรื่องทรงผม ก็ต้องเรียกร้องเรื่องชุดนักเรียนนักศึกษาด้วย จะได้เป็นก้าวแรกของการอภิวัฒน์การศึกษาไทยอย่างจริงจังเสียที พวกผู้ใหญ่ที่คอยเรียกร้องนักเรียนกับครูอาจารย์ ให้สอนให้เด็กรู้จักคิดน่ะ พวกท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า ชุดนักเรียนนักศึกษาเป็นปราการปิดกั้นเสรีภาพการคิดอย่างไร และเด็กๆ เองก็ควรเข้าใจด้วยว่า การควบคุมเรือนร่างเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแบบอำนาจนิยมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์พัฒนา กิติอาษาเมื่อเช้าตรู่วานนี้ (10 มกราคม 2556) คงไม่เป็นที่สนใจของใครต่อใครนอกแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์มากนัก แต่นี่นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงสังคมศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากพวกคุณวิจัยสำรวจอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ พวกคุณก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่า ชัยชนะจากคะแนนเสียงที่ "ไม่่่ท่วมท้นนัก" ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มาจากกลุ่มคนที่มีความหวังว่าเพื่อไทยจะเป็นเดินหน้าพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างจริงจังเสียที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สังคมไทยมีสังคมแบบหนึ่งที่แทรกซ้อนอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ คือสังคมดัดจริต สังคมดัดจริตไม่ได้มีขนาดใหญ่โต แต่เป็นสังคมของคนชั้นกลางและคนใหญ่คนโตที่กำลังเสื่อมอำนาจ สังคมดัดจริตคอยผลิตวัฒนธรรมดัดจริตเพื่อทำให้ตนเองดูดีมีหลักการ เพื่อให้ตนเองอยู่เหนือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีจริตจะดัด และเหนืออื่นใดคือเพื่อปกป้องฐานะอำนาจของตนเอง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้ คือวันที่ 1 มกราคม 2556 ผมลองคิดบวกดูบ้าง คือคิดแบบเข้าข้างตนเองทบทวนดูว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาได้ทำอะไรใหม่ๆ ให้ตนเองบ้าง คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในสมองผมคือ ได้อ่านหนังสืออะไรที่นับว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วก็คิดไปเรื่อยว่า ได้ทำอะไรที่ให้การเรียนรู้ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ คิดอะไรใหม่ๆ บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามปีใหม่ ยากที่จะหาของขวัญที่ไม่กลายเป็นขยะในชั่วข้ามคืนได้ เพื่อนชาวอเมริกันที่ผมรู้จักหลายคน ซึ่งดูท่าจะทั้งเป็นนักช้อปและเป็นคนช่างมีเหตุผล ก็เลยใช้วิธีให้เด็กๆ เขียนลิสต์รายการสิ่งของที่อยากได้ยามสิ้นปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าของที่ซื้อมาให้จะถูกใจผู้รับสักชิ้นหนึ่ง