Skip to main content

หลังยุค 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 คนหนุ่มสาวรุ่นหลังมักถูกตั้งคำถามเสมอว่า "นักศึกษาหายไปไหน" กระทั่งสรุปกันไปเลยว่า "ขบวนการนักศึกษาตายแล้ว" แต่ใครจะถามบ้างไหมว่าที่ผ่านมาร่วม 40 ปีน่ะ สังคมไทยมันไม่เปลี่ยนไปบ้างเลยหรืออย่างไร แล้วจะให้ความคิดนักศึกษาหยุดอยู่นิ่งๆ คอยจ้องหาเผด็จการแบบเมื่อ 40 ปีที่แล้วอยู่ได้อย่างไร 

โจทย์ของสังคมไทยในอดีตกับในปัจจุบันย่อมแตกต่างกัน ในอดีตนักศึกษาต่อสู้กับเผด็จการทหาร โจทย์มันน่ากลัว ท้าทาย เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย แต่ก็มีเป้าที่ชัดเจน สอดคล้องกับความต้องการของนักศึกษาที่ก็มองเห็นผลประโยชน์ของชนชั้นตนเอง แม้จะก้าวออกมาในนามของมวลชน แต่ท้ายสุด พวกเขาก็ทำเพื่อผลประโยชน์ของการเติบโตของชนชั้นตนเองนั่นแหละ 

ที่พูดอย่างนั้นเพราะอย่างที่เราเห็นคือ สุดท้ายในปัจจุบัน เมื่อพวกเขากลับออกจากป่าและก้าวขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ยังมีนักศึกษาสมัยนั้นเหลืออยู่อีกสักกี่คนกันที่ยังคิดถึงมวลชนอย่างบริสุทธิ์ใจ ถ้าพวกเขายังยึดมั่นอุดมการณ์เดิม ทำไมพวกเขาจำนวนมากจึงเฉลิมฉลองกับการรัฐประหาร 19 กย. 49 แล้วทำไมหัวขบวนของพวกเขาจำนวนมากจึงเงียบสนิทกับการสังหารหมู่กลางกรุงเมื่อพฤษภาคม 53 ทำไมพวกเขาจำนวนมากกลายมาเป็นผู้ดูหมิ่นดูแคลนและร่วมกดขี่ข่มเหงประชาชนที่พวกเขาเคยรักเสียเอง 

นักศึกษาแต่ละรุ่นเผชิญกับโจทย์ของตนเองและสังคมที่แตกต่างกัน อย่าว่าแต่รุ่น 40 ปีก่อนกับรุ่นนี้เลย นักศึกษารุ่นผม ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างรุ่น "คนเดือนตุลา" เมื่อ 40 ปีก่อนกับนักศึกษาปัจจุบัน ก็ยังแตกต่างทั้งจากคนเดือนตุลาและนักศึกษาปัจจุบัน คนรุ่นผมยังสนใจเรื่องใหญ่ๆ เรื่องอำนาจรัฐ สังคมชนบท การพัฒนา กระทั่งยังมีคนฝันถึงสังคมนิยม ยังหาทางวิพากษ์ระบบทุนนิยม ยังวิพากษ์บริโภคนิยม พร้อมๆ กันนั้น ก็เริ่มเปิดรับความคิดใหม่ๆ เรื่องการเมืองวัฒนธรรม ความกระจัดกระจายของอำนาจ การต่อต้านอำนาจในชีวิตประจำวัน แต่ดูเหมือนความสนใจทั้งสองเรื่องนี้ในปัจจุบันยิ่งห่างจากกันไปทุกที

ที่จริงนักศึกษาปัจจุบันที่สนใจ "เรื่องใหญ่ๆ" ก็มีอยู่หรอก ดูได้จาก "ไอดอล" ของพวกเขาสิ อย่าง "สศจ." ก็พูดแต่เรื่องใหญ่ๆ นี่ก็แสดงว่านักศึกษาปัจจุบันก็หาทางต่อกรกับอำนาจเผด็จการแบบใหม่ที่น่าเกรงกลัวแต่ซ่อนรูปอย่างแยบยลอยู่เหมือนกัน แต่พร้อมๆ กันนั้น พวกเขาก็เข้าไปนั่งฟังเลคเชอร์แรงๆ ของ "ธเนศ วงศ์ฯ" แล้วหาซื้องานเขียนอ่านยากของไอดอลคนนี้มาถือไปมา ทั้งที่ก็ล้วนเป็นงานเกี่ยวกับการเมืองวัฒนธรรม แต่จะว่าไป นักศึกษาที่ "ชาบู" สองไอดอลนี้ก็น่าจะเป็นนักศึกษาส่วนน้อย 

ความจริงก็คือ วัยรุ่นปัจจุบันส่วนใหญ่สนใจเรื่องสังคมวงกว้างน้อยลง ผมไม่เข้าใจตั้งแต่กลับมาสอนหนังสือใหม่ๆ แล้วว่าทำไมนักศึกษาชอบทำรายงานหรือวิทยานิพนธ์เรื่องร้านกาแฟ ร้านเหล้า การดูหนังฟังเพลง ยิ่งเรื่องเซ็กซ์ยิ่งชอบศึกษากัน ชอบทำเป็นรายงานมาส่ง จนกระทั่งหลังๆ ผมต้องเตือนพวกเขาว่า "ถ้าใครจะทำเรื่องเซ็กซ์โดยไม่มีประเด็นใหม่ๆ แตกต่างไปจากที่รุ่นพี่ๆ คุณเคยทำมาแล้ว ผมจะไม่ให้ทำแล้ว เบื่ออ่านชีวิตเซ็กซ์ของพวกคุณเต็มทีแล้ว" 

แต่พอหลายปีเข้า ก็เริ่มเห็นประโยชน์ว่า ก็ดีเหมือนกันที่ทำให้เข้าใจโลกของคนยุคปัจจุบันมากขึ้น เช่น เข้าใจวรรณกรรมยุคใหม่ๆ เข้าใจเพลงปัจจุบัน เข้าใจภาษาใหม่ๆ เข้าใจการบริโภคของพวกเขา เข้าใจทัศนคติต่อเรื่องเพศของคนปัจจุบัน เข้าใจการให้ความหมายกับชีวิตตนเองของพวกเขา ฯลฯ ยิ่งหากพวกเขาไม่พยายามใช้ทัศนะแบบผู้ใหญ่หัวเก่ามาครอบตนเองแล้ว ก็จะยิ่งทำให้เห็นชีวิตของคนรุ่นปัจจุบันได้ชัดเจนมาก 

จากตรงนั้น ผมก็จะอาศัยบทเรียนจากวิชาที่สอนอยู่ สอดแทรกแลกเปลี่ยนกับประเด็นปัญหาใกล้ตัวที่พวกเขาสนใจไปทีละเล็กละน้อย เพื่อเชื่อมโยงประเด็นใกล้ตัวเขาให้ไปสู่ประเด็นที่กว้างใหญ่ของสังคม และพยายามให้เขาเข้าใจผู้คนที่มีชีวิตและฐานะความเป็นอยู่แตกต่างจากพวกเขาบ้าง เห็นใจและช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกบ้าง เข้าใจความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมบ้าง ก็ทำเท่าที่พวกเขาจะรับได้ 

ผมไม่ชอบยัดเยียดให้นักศึกษาจะต้องกลายเป็นคนรับผิดชอบต่อสังคมในนามของ "จิตอาสา" ภายในหนึ่งภาคการศึกษาแบบที่อาจารย์บางคนทำหรอก เพราะผมสงสัยว่าปัจจุบันน้ียังมียังมีชนบทที่ไหนให้นักศึกษาไปพัฒนาอยู่อีกหรือ ยังมีชาวบ้านที่ไหนเดินขบวนไม่เป็น ยังเหลือประเด็นทางสังคมอะไรอีกที่รัฐและเอ็นจีโอที่ก็กินเงินเดือนรัฐยังไม่ได้เข้าไปจับต้อง สู้แลกเปลี่ยนกับพวกเขาในประเด็นที่พวกเขาสนใจไม่ดีกว่าหรือ 

สุดท้าย แน่นอนว่าสังคมไทยยังจะต้องรำลึกและทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ตุลา 16, ตุลา 19 กันต่อไป แต่ผมคิดว่า ควรเลิกเอา "คนเดือนตุลา" เมื่อ 40 ปีก่อนมาเป็นอุดมคติกดดันหรือกระทั่งยัดเยียดคนหนุ่มสาวยุคต่อๆ มาเสียทีเถอะ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังจากพินิจพิเคราะห์แล้วว่า ท่านผู้นำกำลังจะหมดเรื่องพล่ามในไม่ช้า เพราะเริ่มวนเวียนและเล่าเรื่องตัวเองมากขึ้น ท่านจึงควรหาความรู้รอบตัวมากขึ้น ก็เลยขอตามกระแส แนะนำหนังสือให้ท่านอ่าน ก็ไม่รู้จะ tag ท่านยังไง แต่คิดว่า เขียนใส่ขวดลอยไปก็อาจจะลอยไปถึงตีนบันไดบ้านท่านบ้างสักวัน ก็ขออนุญาตแนะนำดังนี้ครับท่าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นท่านผู้นำไม่นิยมผู้หญิง เพราะในคณะรัฐบาลท่านมีผู้หญิงเพียง 2 คน ผมก็เลยขอแนะนำท่านว่า ผู้หญิงทำงานความคิดเก่งๆ มีมากมาย ไม่ใช่ให้ลูกน้องเอาผู้หญิงมาเต้นโป๊เปลือยดูกันในค่ายทหารเท่านั้น แต่ก็เอาล่ะ ขอแนะนำนักมานุษยวิทยาสตรีที่ผมชื่นชอบสัก 10 คนก็แล้วกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรามีปาก เขามีปืน เราขัดขืน เขาข่มเหงเรานักเขียน เขานักเลง เรายำเกรง เขาลำพอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใครที่รู้จักอาคารดังๆ ของแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ (Frak Lloyd Wright) อย่าง Guggenhiem Museum ที่นิวยอร์ค บ้านน้ำตกที่เพลซิลวาเนีย Imperial Hotel ที่โตเกียว อาจจะนึกไม่ถึงว่า บ้านที่ไรท์เรียกว่าเป็นบ้านของเขานั้นอยู่ในชนบทที่ Spring Green มลรัฐวิสคอนซิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะแบบนี้ปรากฏตัวบ่อยครั้งในข้อถกเถียงทางการเมืองไทย ในระบบการศึกษาไทย ตำราเรียนไทย ประวัติศาสตรืไทยแบบทางการก็ยังสอนแบบนี้อยู่ คนไทยไม่ว่าจะใส่เสื้อสีใด ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อแบบนี้อยู่ ทัศนะแบบนี้คงกะลาความเป็นไทยเอาไว้อย่างหนาเตอะเกรอะกรัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทสนทนาระหว่าง นายอานันท์ ปันยารชุน กับนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ที่โรงแรมมณเฑียร มีสาระที่น่าสนใจหลายประการต่อการเข้าใจการเมืองไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 นึกถึงชิคาโก ผู้คนคงนึกถึงตึกระฟ้าที่เคยประชันกันกับนิวยอร์ค นึกถึงธุรกิจที่ดึงดูดให้ใครต่อใครมาอาศัยที่นี่จนเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา นึกถึงสถาปัตยกรรมอันหลากหลายและฟังเมืองใหม่หลังไฟไฟม้ใหญ่จนราบไปทั้งเมือง นึกถึงอัลคาโปนเจ้าพ่อชื่อดัง นึกถึงพิพิธภัณฑ์ที่เดินดูกันทั้งเดือนก็คงไม่หมด นึกถึงมหาวิทยาลัยอันโด่งดังอย่างมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก แต่ใครบ้างจะนึกถึงแมกไม้และสายน้ำของชิคาโก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  เมื่อวันจันทร์ (11 สค.) หลังจากใช้เวลาอยู่ใน Field Museum (ซึ่งพอดีมีนิทรรศการว่าด้วยกำเนิดของ Field Museum ที่เกี่ยวข้องกับกำเนิดของมานุษยวิทยาอเมริกันอย่างยิ่ง) ไปกว่า 4 ชั่วโมงแล้ว ผมลังเลอย่างยิ่งที่จะเข้าชม The Art Institute of Chicago ต่อ เพราะเกรงว่าจะไม่ทันได้ครุ่นคิดอะไรกับความรู้และความรู้สึกแบบอัดแน่นจากเมื่อ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนคนหนึ่งถามเรื่อง "การเขียน" และการวางแผน "อนาคต" ของเขา ผมเขียนตอบไปอย่างยาว เห็นว่าอาจเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ บ้าง ก็เลยขอนำมาเผยแพร่ที่นี่ครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์ ผมไม่อาจยินดีกับการที่ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จาก คสช. 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อก่อนผมเถียงกับเพื่อนเสมอว่า อย่ามาถามว่าผมเป็นคนที่ไหน เพราะคนเราอาจมีหลายบ้าน มีใครในยุคนี้ที่ไม่ย้ายบ้านบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสวยหรูนี้ประดิษฐ์ขึ้นมาในภาษาไทยโดยใครนั้น ผู้ที่ติดตามแวดวงวิชาการในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาย่อมทราบดี ไม่ว่าจิตวิญญาณของผู้ที่กล่าวคำนี้จะยังอยู่กับแนวคิดนี้ที่เขาอาจพลั้งปากออกมาหรือไม่ คนที่สนิทชิดเชื้อกับผู้ประดิษฐ์คำท่านนี้ก็คงจะทราบดี