Skip to main content

คงมีใครเคยอธิบายเรื่องนี้ไปแล้วอย่างเป็นระบบและมีการอ้างอิงอย่างเป็นวิชาการอย่างที่สุด แต่ผมก็ยังอยากเขียนเรื่องนี้อย่างย่นย่อในวันนี้อีกอยู่ดี 

ความเชื่อที่ว่าระบบทาสในสังคมไทยเป็นระบบที่แทบจะไม่มีอยู่จริง หรือที่มีก็เป็นเพียงส่วนน้อย เฉพาะบางคนที่ขายลูก ขายตัวเองเพราะติดหนี้สิน และหากมีทาส ทาสในสังคมไทยก็ไม่ได้รุนแรงเลวร้ายแบบในยุโรป อเมริกานั้น หากยังสอนอยู่อีกก็น่าสงสัยมากว่ากำลังเพ้อฝันถึงสังคมทาสราวกับว่ามันเป็นสังคมยูโทเปียหรืออย่างไร 

แคทเธอรีน บาววี่ (Katheirne A. Bowie) เคยเขียนบทความรวบรวมเอกสารที่กล่าวถึงสยาม แสดงข้อมูลมากมายถึงความป่าเถื่อนของระบบทาสในสยาม (ไทยภาคกลาง) และโยนก (ไทยภาคเหนือ) ทาสที่เป็นกำลังสำคัญก่อนการนำเช้าชาวจีนมาเป็นแรงงานสำคัญ (ต่อการขยายตัวของทุนนิยมภายใต้การกระจุกตัวของผลประโยชน์เศรษฐกิจในมือชนชั้นนำสยาม) คือทาสจากเชลยสงคราม (war captive)

ทาสเหล่านี้เป็นกลุ่มชาติพันธ์ุที่มีอำนาจด้อยกว่าจากลาว เวียดนาม พม่า พวกเขาล้วนถูกกวาดต้อนมาเป็นแรงงานให้ราชสำนักสยามและราชสำนักเชียงใหม่ ทุกวันนี้ชุมชนรายรอบกรุงเทพและเชียงใหม่จึงเต็มไปด้วยกลุ่มชาติพันธ์ุต่างๆ ที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นแรงงานปลูกข้าว ไม่ต้องคิดถึงว่าพวกเขาจะบาดเจ็บล้มตายระหว่างการเดินทางไปมากน้อยแค่ไหน แต่ในระหว่างการทำงานเพื่อเสียภาษี หลายต่อหลายปีพวกเขาต้องอดอยาก เพราะถูกเก็บภาษีเป็นผลผลิตมากเกินกว่าที่เขาจะเก็บไว้กินเอง 

ฉะนั้นใครที่ใฝ่ฝันว่าชีวิตของชุมชนในอดีตน่าพิสมัยกว่ายุคปัจจุบันน่ะ ช่วยอ่านประวัติศาสตร์แบบนี้เสียบ้างนะครับ นอกเสียจากว่าพวกคุณจะเป็นเจ้านาย 

ภาพดังกล่าวยิ่งสะท้อนว่าการเลิกทาสของ ร.5 คือสิ่งที่ดีงามเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างนั้นหรือ เปล่าเลย เพราะการเลิกทาสมีขึ้นพร้อมๆ กันกับการสร้างรัฐรวมศูนย์ที่เราเรียกกันว่า "สมบูรณาญาสิทธิราช" กล่าวอีกอย่างหนึ่ง นี่คือการที่ชนชั้นนำสยามลิดรอนอำนาจของรัฐและเจ้าครองนครต่างๆ ในท้องถิ่น ให้มาขึ้นกับสยามอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์นั่นเอง 

กระบวนการนี้ทำให้เจ้าครองนครท้องถิ่นไม่สามารถสืบทอดอำนาจตามสายตระกูลเดิมของตนได้อีกต่อไป พูดอีกอย่างหนึ่งคือ นี่คือการที่สยามทำให้นครเล็กน้อยรายรอบสยามไปจนจรดขอบเขตของบริทิชอินเดีย (รวมพม่า) ในฝั่งตะวันตก และอินโดจีนในฝั่งตะวันออก กลายเป็นอาณานิคมของตนเอง สยามไม่ตกเป็นเมืองขึ้นก็จริง แต่สยามทำให้นครรัฐเล็กๆ กลายเป็นเมืองขึ้นของตนเอง กระบวนการนี้ไม่ได้ราบเรียบ มีการต่อต้านมากมาย ทั้งจากเจ้าครองนคร (เช่น กบฏเมืองแพร่) และจากประชาชน (บรรดาผีบุญ) 

การเปลี่ยนแปลงนี้เกี่ยวอะไรกับการเลิกทาส เกี่ยวตรงที่ว่า ทาสเป็นกำลังสำคัญของ ซุ้ม-กลุ่ม-ก๊กของ "นาย" ต่างๆ ทาสและไพร่จะต้องมีสังกัดขึ้นต่อนายอย่างชัดเจน อยู่ใต้อำนาจของหัวหน้ากลุ่มก๊กต่างๆ อย่างแน่นิ่ง ไม่สามารถเคลื่อนกายย้ายถิ่นได้ง่ายๆ เนื่องจากจะกลายเป็นการเคลื่อนกำลังพล หรือไม่ก็กลายเป็นการเสียทั้งฐานการผลิตและฐานกำลังในการปกป้องตนเองของหัวหน้ากลุ่มก๊ก 

อ.อคิน รพีพัฒน์เขียนให้ภาพระบบนี้เอาไว้นานแล้วว่า นี่เป็นระบบอุปถัมภ์แบบพิรามิด ในระบบเช่นนี้ ผู้ใดที่ขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ ก็เนื่องมาจากเป็นผู้ที่มีไพร่-ทาสในสังกัดเป็นจำนวนมากที่สุด ในสมัยใดที่มีกษัตริย์สององค์ ก็เนื่องจากทั้งสองกษัตริย์นั้นมีไพร่-ทาสจำนวนไล่เลี่ยกัน ขอย้ำว่า นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นการมีกำลังคนในสังกัดมากน้อยเท่าใด 

การเลิกทาสที่เกิดพร้อมๆ กับการลิดรอนอำนาจเจ้านครท้องถิ่นต่างๆ ทำลายอำนาจการผูกขาดกำลังคนของรัฐท้องถิ่นลง ทำลายอำนาจที่จะมาท้าทายอำนาจกษัตริย์ลง การเลิกทาสจึงเปลี่ยนไพร่-ทาสที่มีสังกัดมูลนายที่อาจมีอำนาจท้าทายกษัตริย์ ให้กลายเป็นพลเมืองที่ขึ้นกับกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว พลเมืองเหล่านี้กลายเป็นแรงงานที่เคลื่อนย้ายถิ่นได้ สามารถดูดมากเป็นกำลังแรงงานทำการผลิตใต้อำนาจทางการผลิตของชนชั้นนำสยามที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพได้ 

คำอธิบายการเลิกทาสในตำราเรียนเป็นนิยายที่อาศัยฉากอดีต ที่เขียนเพื่ออำพรางการยักย้ายถ่ายเทอำนาจ การจัดสรรอำนาจรัฐแบบใหม่ ปิดบังการรวบอำนาจเพื่อสร้างรัฐอาณานิคมขนาดย่อมไว้ใต้ภาพความการุณ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (24 ธันวาคม 2555) กสทช.เชิญให้ผมไปร่วมแสดงความเห็นในเวทีเสวนาสาธารณะ “1 ปี กสทช. กับความ (ไม่) สมหวังของสังคมไทย” ทีแรกผมไม่คิดว่าตนเองจะสามารถไปวิจารณ์อะไรกสทช.ได้ แต่ผู้จัดยืนยันว่าต้องการมุมมองแบบมานุษยวิทยา ผมจึงตกปากรับคำไป 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อโต้แย้งต่อความเห็นผมจากของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่ลงในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355920241&grpid=03&catid=&subcatid=) ย้ำให้เห็นชัดถึงความอับจนของกรอบคิดของคนกลุ่มนี้ต่อไปนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะของนายแพทย์ที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงความคิดคับแคบของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่มักใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตผู้คน บนความไม่รู้ไม่เข้าใจไม่อยากรับผิดชอบต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน และบนกรอบข้ออ้างเรื่องคุณธรรมความดีที่ยกตนเองเหนือคนอื่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นึกไม่ถึงและนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ทำไมคนเปิดร้านขายหนังสือในปลายศตวรรษที่ 20 - ต้น 21 จะมีความคิดแบบนี้ได้ นี่แสดงว่าเขาไม่ได้อ่านหนังสือที่เขาขายบ้างเลย หรือนี่แสดงว่าการอ่านหนังสือไม่ได้ช่วยจรรโลงจิตใจนายทุนบางคนขึ้นมาได้เลย*
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์