Skip to main content

คำถามที่ว่า "นายสุเทพ เทือกสุบรรณและพรรคประชาธิปัตย์ได้รับสัญญาณอะไรพิเศษหรือไม่จึงกล้าบ้าบิ่นได้ขนาดนี้?" คำถามที่ว่า "เครือข่ายชนชั้นนำเก่าฉวยโอกาสตีตลบหลังเครือข่ายทักษิณ ผ่านอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระต่างๆ ด้วยหรือไม่" นั้น ผมไม่มีปัญญาตอบ ขอติดตามการวิเคราะห์ของผู้อื่นที่เข้าถึงข้อมูลแปลกๆ หรือมีทฤษฎีวิเคราะห์การเมืองไทยจากมุมชนชั้นนำทางการเมืองมาเล่าเองดีกว่า ส่วนตัวผมอยากทำความเข้าใจมวลชน หรืออย่างน้อยอยากเข้าใจเพื่อนๆ มากกว่า

น่าจะมีการสำรวจนะครับว่าความต้องการของคนในม็อบนกหวีดเป็นอย่างไรกันแน่ ในทางวิชาการ อาจจะยากสักหน่อยที่จะสรุปเอาจากการสำรวจรายวัน ว่าผลโพลในม็อบจะสะท้อนโครงสร้างความต้องการของม็อบนกหวีดโดยรวมได้หรือไม่ แต่ผมว่าหากทำได้ก็จะดีไม่น้อย แต่ที่จะลองคิดดูข้างล่างนี่ คิดดูจากเพื่อนๆ ที่รู้จักนิสัยใจคอกันมาอยู่บ้างมากกว่า 

ผมมีเพื่อนที่รู้จักคบหากันนานๆ หลายคนที่เป็นกองเชียร์และเข้าร่วมม็อบนกหวีดอย่างแข็งขัน ผมไม่เข้าใจพวกเขาเลยว่าทำไมพวกเขาจึงมีทัศนะทางการเมืองแตกต่างกับผมอย่างลิบลิ่ว แต่มาลองนึกๆ ดู ผมว่าพวกเขาไม่ได้ต่างจากผมนักหรอกในแง่หลักการทางการเมืองบางอย่าง เท่าที่คบกันมา พวกเขาไม่น่าจะหลงใหลถูกชักจูงง่ายๆ หรอก พวกเขาไม่มีทางจะเชื่อใจนายสุเทพหรอก พวกเขาอาจชื่นชอบพรรคปชป.อย่างยิ่งยวด แต่พวกเขาก็รู้ๆ กันอยู่นั่นแหละว่าพรรคปชป.ทำดีทำชั่วอะไรไว้บ้าง หากมวลชนม็อบนกหวีดบางคนไม่รู้ ผมก็ว่าอย่างน้อยเพื่อนๆ ผมก็รู้ดีอยู่ดีนั่นแหละ 

แน่นอนว่าผู้นำม็อบย่อมมีความสำคัญในแง่ของการดึงดูดใจมวลชน และจะเห็นได้ว่า หลังจากที่แกนนำพันธมิตรฯ ล้วนกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินคดี และอยู่ในระหว่างประกันตัวนั้น ทำให้พวกเขาไม่สามารถมาออกหน้านำม็อบได้อย่างเคย การเข้ามารับหน้าที่นำม็อบของพรรคประชาธิปัตย์จึงกลายเป็นน้ำทิพย์ชะโลมใจให้ฝูงชนผู้ชิงชังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้แสดงตนอย่างเป็นตัวเป็นตนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง การนำม็อบของปชป.จึงเป็นการรื้อฟื้นรูปธรรมของการต่อต้านทักษิณ ชินวัตรขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ก็เท่านั้นเอง 

ส่วนเป้าหมายที่ว่าจะล้มระบอบทักษิณให้สิ้นซาก แล้วเปลี่ยนระบอบการปกครองไปให้อำนาจสถาบันกษัตริย์อย่างสมบูรณ์อะไรนั่นน่ะ คนที่เอาด้วยกับม็อบนกหวีดไม่ได้คิดในเชิงปฏิบัติการหรอก คือไม่ว่าคนบนเวทีจะว่าอย่างไร ผมคิดว่าเพื่อนผมจำนวนมากในม็อบนกหวีดก็คงจะไม่ได้เชื่ออะไรงมงายขนาดนั้นหรอก ก็คงมีนั่นแหละที่บางคนจะเชื่อว่าให้อำนาจสถาบันกษัตริย์ปกครองดีกว่าให้อำนาจนักการเมือง แต่ผมว่าถ้าเอาเข้าจริงๆ เกิดระบอบนั้นขึ้นจริงๆ พวกเขาก็ไม่เอาหรอก 

การยกสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาเป็นธงนำในม็อบนกหวีดนั้น หากวิเคราะห์ทางวิชาการแบบตรงไปตรงมา สถาบันกษัตริย์ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อเป็นขั้วตรงข้ามเชิงสัญลักษณ์กับระบอบทักษิณมากกว่า ในการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้น หน้าสิ่วหน้าขวาน องค์สัญลักษณ์นำทางการเมืองที่เป็นรูปธรรมย่อมต้องถูกสร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านกับอีกองค์สัญลักษณ์ที่ตนเป็นปฏิปักษ์ด้วย เพราะ "ทักษิณ = ความชั่ว" และจึงมีคู่ตรงข้ามคือ "สถาบันกษัตริย์ = ความดี" แต่เมื่อทำดังนั้นแล้ว ก็อดคิดไม่ได้ว่า นั่นจะยิ่งกลับทำให้องค์สัญลักษณ์หนึ่งที่ควรอยู่พ้นการเมือง กลับกลายมาเกลือกกลั้วในการเมืองไปเสีย 

ถึงที่สุดแล้ว หากกลับไป ณ จุดเริ่มต้นเมื่อมีการต่อต้านพรบ.นิรโทษกรรม พวกเขาแค่ไม่พอใจรัฐบาล และที่ออกมากันมากขนาดนี้ ก็เพราะพวกเขาอัดอั้นตันใจมานานหลายปีแล้วที่ไม่สามารถให้ตัวแทนของพวกเขากลับเข้ามาบริหารประเทศได้ พวกเขาอาจจะคิดเพ้อเจ้อเลยเถิดไปบ้าง พวกเขาอาจจะสนุกกับอำนาจมือเปล่าของตนที่รัฐบาลไม่กล้าต่อกรจนเลยเถิดไปเดินเล่นในสถานที่ราชการแบบเด็กๆ ไปเที่ยววันเด็กบ้าง ก็แค่เป็นเพียงเพื่อคลายอารมณ์กลัดกลุ้ม

ผมว่าหากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วผู้นำรัฐบาลยอมขอโทษประชาชน ทั้งประชาชนฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ที่พรรคเพื่อไทยสอดไส้นิรโทษกรรมทักษิณและผู้สั่งการสังหารประชาชนในปี 2553 พร้อมๆ กันนั้นก็วางกรอบของการปรับโครงสร้างการเมืองให้สอดคล้องกับการก้าวไปของประเทศในทิศทางให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้นอย่างมั่นคง สถาณการณ์เฉพาะหน้าก็น่าจะคลี่คลายลงได้บ้าง 

แต่เมื่อถึงวันนี้แล้ว ก็ไม่ทราบจะแก้ไขสถานการณ์อย่างไรได้ ได้แต่หวังว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจะยังคงแตกต่างจากผู้นำคนก่อนๆ หวังว่าเธอจะใช้ความอ่อนไหว ความเป็นแม่ ความเป็นหญิงในการปกครอง หวังว่าเธอจะยอมค้อมหัวให้ประชาชนมากเท่ากับที่ประชาชนจำนวนมากไว้วางใจเธอ และหวังว่าเธอและเครือข่ายจะคิดเร็ว และหาทางแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างนุ่มนวล ที่สำคัญคือ อย่าเอาหน้าแกนนำการชุมนุม ไปเป็นหน้ากากสวมแทนหน้าผู้ร่วมชุมนุม เพราะม็อบนกหวีดก็คือเพื่อนร่วมโลก คือมนุษย์ผู้คับข้องใจ พวกเขาไม่ได้ต้องการทำอะไรเลยเถิดเท่ากับที่แกนนำพวกเขาคุยฟุ้งว่าอยากทำหรอก 

ส่วนเพื่อนม็อบนกหวีด เมื่อรู้แล้วว่าประชาชนอย่างพวกคุณก็มีอำนาจ เสียงส่วนน้อยแบบอภิสิทธิ์ชนอย่างพวกคุณน่ะ รัฐบาลนี้เขากลัวจะตายอยู่แล้ว ออกมาจากสถานการณ์วันเด็ก แล้วคิดหาทางเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างเป็นรูปธรรมไม่ดีกว่าหรือ อำนาจมือเปล่าของพวกคุณน่ะไม่สามารถล้มระบอบทักษิณได้หรอก เพราะระบอบทักษิณที่คุณว่าน่ะไม่ได้อยู่ด้วยทักษิณและพรรคพวกอีกต่อไปแล้ว ระบอบที่ทักษิณมีส่วนสร้างขึ้นมา ได้กลายผลเป็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศโดยรวมไปแล้ว

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ