Skip to main content

เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง

กลับจากเกียวโตเที่ยวนี้ สิ่งที่อาลัยถึงที่สุดไม่ใช่การที่ต้องจากเส้นราเมนเหนียวนุ่มในน้ำซุปข้นจากกระดูกหมู ไม่ใช่โหยหวนถึงการกินโอโคโนมิยากิรวมมิตรกระหลำ่ปลีที่เมื่อเสิร์ฟร้อนๆ แล้วโรยหน้าด้วยปลาแห้งซอยบางเป็นกระดาษ จนลมร้อนโชยพัดปลาแห้งไหวพริ้ว ซึ่งหากได้นั่งกินหน้ากะทะเหล็กควันโขมงในร้านซอมซ่อเล็กๆ แล้ว ก็จะเปลืองเบียร์ไม่ใช่น้อย 

ไม่ใช่อาลัยหาเนื้อชั้นดีที่มันแทรกเข้าไปในเนื้อเป็นริ้วๆ เพียงผัดกับต้นกระเทียมที่ปลูกชานเมืองเกียวโตโรยเกลือนิดหน่อย เหยาะซีอิ้วญี่ปุ่นนิดหน่อย ก็กินข้าวได้ชามใหญ่แล้ว ไม่ใช่อาลัยความพิถีพิถันในการแยกชิ้นส่วนต่างๆ ของไก่ไปทำอาหารหลากชนิด จนแทบจะจินตนาการไม่ได้ว่า ทำไมต้องแยะแยะอะไรกันวุ่นวายขนาดนี้ ไม่ใช่อาลัยโมจิแป้งข้าวเหนียวหนึบแต่นุ่มละไมลิ้นรสหวานไม่ถึงกับแสบคอ ฯลฯ แต่เป็นความอาลัยต่อเสียงต่างๆ ที่ไม่ได้ยินในกรุงเทพฯ 

พลันขึ้นรถไฟฟ้าจากเกียวโตไปโอซาก้า นั่งไปได้สักพัก ก็มีเสียงประกาศว่า "โปรดอย่าส่งเสียงรบกวนบนรถไฟ และโปรดงดใช้โทรศัพท์พูดคุยบนรถไฟ" ทำให้เวลาพูดคุยกันบนรถไฟ ก็มักต้องกระซิบกระซาบกันเบาเสียยิ่งกว่าเสียงคนคุยกันในห้องสมุดในเมืองไทย 

นั่นทำให้คิดถึงเสียงคุยโทรศัพท์บนรถบีทีเอสในกทม. ซึ่งมักเป็นเรื่องราวส่วนตัว ที่แม้กับคนรู้จักสนิทสนมกันก็ยังไม่กล้าคุยด้วย แต่ผู้ร่วมเดินทางแปลกหน้าชาวกทม.กลับไม่อายที่จะแชร์ให้ใครต่อใครได้ยินกันไปทั่วทั่งขบวนรถ จากนั้นก็พลันคิดไปถึงเสียงต่างๆ ที่ได้ยินในเกียวโตในระยะไม่กี่วันที่อยู่ที่นั่น 

ในเมือง มักมีเสียงเครื่องยนตร์กลไกบนรถเมล์ รถไฟ และประตูร้านสะดวกซื้อ เสียงรถไฟวิ่ง เสียงเอียดออดของรางกับล้อที่เสียดสีกัน และความเงียบบนพาหนะที่ถูกแทรกด้วยเพียงเสียงประกาศถึงสถานี ไม่เพียงบนรถโดยสาร เสียงความเงียบของสถานที่สาธารณะส่วนใหญ่ในเมืองเป็นเสียงที่หากได้ยากในกทม. 

มื้อกลางวัน ในร้านบะหมี่ชนิดต่างๆ จะมีเสียง "ซื้บ..ๆ..ๆ.." อยู่สม่ำเสมอ ไม่ค่อยได้ยินผู้หญิงส่งเสียงนี้ เสียงสูดบะหมี่อย่างเอร็ดอร่อยจึงน่าจะเป็นเสียงของผู้ชายมากกว่า เป็นเสียงความอร่อยแบบแมนๆ ที่ต้องแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นเสียงจากทักษะพิเศษที่คงจะช่วยฉาบเส้นด้วยน้ำซุปร้อนๆ ยามบะหมี่ค่อยๆ เดินทางเข้าปากลงคอไป 

ร้านอาหารมีเสียงเจ้าของร้านพูดทักทาย พูดส่งแขกอยู่แทบจะตลอดเวลา ยิ่งถ้าเป็นร้านที่ขายดี ยิ่งมีเสียงทักทาย ส่งแขกกันอย่างซ้ำซาก แต่เสียงสอดแทรกในร้านอาหาร แม้แต่ร้านราเมนแคบๆ ราคากันเอง ริมถนน ก็อาจมีทั้งเพลงแจ๊ซ เพลงร็อค หรือแม้แต่เพลงคลาสสิค ฟังเสียงสูดบะหมี่สอดแทรกกับเพลงแจ๊ซแล้ว ได้อารมณ์การกินบะหมี่ที่หาได้ยากในกรุงเทพฯ 

ประเภทร้านค้าที่มีเสียงสะดุดหูมากอีกประเภทหนึ่งคือร้านขายยาใหญ่ๆ บางร้านมีเสียงพนักงานวิ่งไปว่ิงมา หอบของพะรุงพะรังมาจัดชั้นวางสินค้า และคอยตะโกนอะไรสักอย่าง ที่ผมฟังไม่ออกเนื่องจากไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น ตลอดเวลา ไม่รู้ทำไมพนักงานเหล่านี้ต้องทำทีขยันขันแข็ง แอคทีฟเกินจำเป็นตลอดเวลา 

บนถนน เสียง "ตึ้ดๆ" บ้าง "เปี้ยวๆ" บ้าง ดังอยู่ทั่วไปตรงทางข้าม เสียงเตือนลักษณะนี้ยังมีอยู่ตามขั้นบันไดที่สถานีรถไฟ เข้าใจว่าเป็นเสียงเตือนทั้งคนตาดีและคนตาเสีย น่าสังเกตว่าแทนที่จะพูดเตือน เขาใช้เสียงที่เป็นกลไกหรือเสียงเหมือนนกร้อง "จิ๊บๆๆๆๆ" ส่งเสียงเตือน  

ที่จริงเสียงเตือนเวลารถไฟมาก็น่าสนใจ หลายสถานีใช้เสียงดิจิทัลถี่ๆ แบบหวานๆ รัวๆ บอกเตือนว่ารถไฟกำลังมา แทนที่จะเป็นเสียงนกหวีดห้วนๆ แบบสถานทีบีทีเอสในกทม. ตามสถานีเล็กๆ ที่นั่นเขามักไม่มีนายสถานีคอยยืนดูแลความปลอดภัย ผู้คนต้องดูแลกันเอง แต่บางทีเมื่อต้องเร่งหรือเตือนแรงๆ ในสถานีใหญ่ๆ เขาก็เป่านกหวีดห้วนๆ บ้างเหมือนกัน 

ในวัด ในศาลเจ้า ในป่าละเมาะของวัดหรือศาลเจ้า มีเสียงสวดมนต์ เสียงคนปรบมือเวลาไหว้เจ้า เสียงสั่นกระดิ่งกลม ทำนองบอกกล่าวเรียกผี เสียงการ้อง 

ในห้องที่พักเวลากลางคืน ยิ่งในฤดูหนาว เสียงความเงียบ ที่เงียบจนได้ยินเสียงหวีดหวิวในหูตัวเอง ดังก้องห้องพัก 

คนต่างถิ่นบางคนหรือคนที่นั่นหลายคนก็คงไม่ชอบเสียงพวกนี้ จะชอบหรือไม่ก็ตาม เสียงเหล่านี้ก็พอจะบอกวิถีชีวิตของคนได้บ้าง นอกเหนือจากไปเที่ยวชม เที่ยวลิ้มชิมรสแล้ว บางทีเราก็น่าจะไปเที่ยวฟังเสียงชีวิตประจำวันตามที่ต่างๆ กันบ้าง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพ่ิงกินอาหารเย็นเสร็จ วันนี้ลงมือทำสเต็กเนื้อ เนื้อโคขุนไทยๆ นี่แหละ ต้องชิ้นหนาๆ หน่อย ย่างบนกะทะเหล็กหนาๆ ที่หอบหิ้วมาจากอเมริกา เป็นกะทะเทพมากๆ เพราะความร้อนแรงดีมาก ใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที เกรียมได้ที่ทั้งสองด้าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษา" ต้องการพื้นที่ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น พื้นที่การเรียนรู้ก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกการเรียนรู้ ยังมีคนบางกลุ่มดื้อรั้นขัดขวางการเปลี่ยนแปลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 แน่นอนว่าโฆษณาโปรแกรมเรียนภาษาไทย (บางคนบอกเป็นแค่ตลกล้อเลียน?) ที่เป็นข่าว 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ตั้งอยู่บนอคติทางเพศ ดูถูกเพศหญิงว่าเป็นวัตถุทางเพศ ดูถูกเพศชายว่าจ้องเสพสุขทางเพศท่าเดียว (หรือหลายท่า?) สร้างภาพเหมารวมให้คนไทยและสังคมไทยไร้ศีลธรรม (ดูสิ เราออกจะเมืองพุทธ เมืองพระ) แต่ที่ยังน่าจะต้องทำความเข้าใจคือ ปฏิกิริยาที่คนไทยมีต่อวิดีโอล้อเลียนนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้พยายามทำความเข้าใจตรรกะของพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดงไว้ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ว่าพระองค์มีทัศนะต่อแนวคิด The King Can Do No Wrong อย่างไร และมาตรา 112 ควรแก้ไขเพราะเหตุใด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การตัดสินคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขและอีกหลายๆ คดีก่อนหน้านี้ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ชี้ให้เห็นยิ่งขึ้นทุกวันว่า รัฐไทยกำลังสร้างความรักด้วยการใช้กำลังข่มเหงให้ประชาชนรักประมุขของประเทศ หาใช่การส่งเสริมให้เกิดความรักประมุขจากใจจริงของประชาชนไม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดี โดยเฉพาะงานทางมานุษยวิทยา มักมีแรงขับจากอารมณ์ใคร่บางอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากเรียกร้องเรื่องทรงผม ก็ต้องเรียกร้องเรื่องชุดนักเรียนนักศึกษาด้วย จะได้เป็นก้าวแรกของการอภิวัฒน์การศึกษาไทยอย่างจริงจังเสียที พวกผู้ใหญ่ที่คอยเรียกร้องนักเรียนกับครูอาจารย์ ให้สอนให้เด็กรู้จักคิดน่ะ พวกท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า ชุดนักเรียนนักศึกษาเป็นปราการปิดกั้นเสรีภาพการคิดอย่างไร และเด็กๆ เองก็ควรเข้าใจด้วยว่า การควบคุมเรือนร่างเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแบบอำนาจนิยมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์พัฒนา กิติอาษาเมื่อเช้าตรู่วานนี้ (10 มกราคม 2556) คงไม่เป็นที่สนใจของใครต่อใครนอกแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์มากนัก แต่นี่นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงสังคมศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากพวกคุณวิจัยสำรวจอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ พวกคุณก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่า ชัยชนะจากคะแนนเสียงที่ "ไม่่่ท่วมท้นนัก" ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มาจากกลุ่มคนที่มีความหวังว่าเพื่อไทยจะเป็นเดินหน้าพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างจริงจังเสียที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สังคมไทยมีสังคมแบบหนึ่งที่แทรกซ้อนอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ คือสังคมดัดจริต สังคมดัดจริตไม่ได้มีขนาดใหญ่โต แต่เป็นสังคมของคนชั้นกลางและคนใหญ่คนโตที่กำลังเสื่อมอำนาจ สังคมดัดจริตคอยผลิตวัฒนธรรมดัดจริตเพื่อทำให้ตนเองดูดีมีหลักการ เพื่อให้ตนเองอยู่เหนือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีจริตจะดัด และเหนืออื่นใดคือเพื่อปกป้องฐานะอำนาจของตนเอง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้ คือวันที่ 1 มกราคม 2556 ผมลองคิดบวกดูบ้าง คือคิดแบบเข้าข้างตนเองทบทวนดูว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาได้ทำอะไรใหม่ๆ ให้ตนเองบ้าง คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในสมองผมคือ ได้อ่านหนังสืออะไรที่นับว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วก็คิดไปเรื่อยว่า ได้ทำอะไรที่ให้การเรียนรู้ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ คิดอะไรใหม่ๆ บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามปีใหม่ ยากที่จะหาของขวัญที่ไม่กลายเป็นขยะในชั่วข้ามคืนได้ เพื่อนชาวอเมริกันที่ผมรู้จักหลายคน ซึ่งดูท่าจะทั้งเป็นนักช้อปและเป็นคนช่างมีเหตุผล ก็เลยใช้วิธีให้เด็กๆ เขียนลิสต์รายการสิ่งของที่อยากได้ยามสิ้นปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าของที่ซื้อมาให้จะถูกใจผู้รับสักชิ้นหนึ่ง