Skip to main content

การบอกเล่าเรื่องราวของ "คนอื่น" ที่ต่างจากเรามากๆ ให้ "พวกเรา" อ่าน อย่างมากก็ทำได้แค่ บอกเล่าผ่านถ้อยคำ ผ่านประสบการณ์ที่ "พวกเรา" ต่างคุ้นเคยกันดี พูดอีกอย่างก็คือ การเล่าเรื่องคนอื่นคือ "การแปล" หรือ "การแปร" เรื่องที่แตกต่างให้คุ้นเคย เป็นการดัดแปลงของคนอื่นให้เราเข้าใจในภาษา ในสัญญะแบบที่พวกเราเองรับรู้อยู่ก่อนแล้ว

ผมมากัวลาลัมเปอร์ (KL) ครั้งนี้เพื่อมาเสนอผลงานทางวิชาการ มาครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 แล้ว แต่ครั้งนี้ดีหน่อยที่มีเวลามาก และอาจจะเพราะมาเป็นครั้งที่สี่แล้ว ก็เลยมีโอกาสที่การรับรู้ส่วนอื่นๆ นอกจากผัสสะแรกๆ คือการเห็นจะทำงาน ทำให้ได้มีโอกาสรับรู้และรู้สึกถึงอะไรอื่นๆ อีกมากมาย 

ที่สนามบิน LCCT (ที่จอดหลักของ Air Asia) เป็นสนามบิน low cost ที่ตั้งใจจะให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ เมื่อคราวก่อนๆ มาก็ไม่ได้สังเกตดีนอกจากความงุนงงว่า ทำไมมัน "เปลือยๆ" อย่างนี้ คือพื้นที่ส่วนใหญ่มันอยู่นอกอาคาร ไม่ติดแอร์ การตรวจคนเข้าเมืองก็รอนาน แต่นั่นก็ทำให้ไม่ต้องรอกระเป๋า เข้ามาก็ไปเลือกเอาจากที่พนักงานนำออกมาจากสายพานเรียงให้เรียบร้อยแล้วได้เลย การเดินทางเข้าเมืองก็นับว่าประหยัด เมื่อเทียบกับการนั่งรถแท็กซี่ราคาแพงใน KL 

เมื่อหยิบกระเป๋ามาแล้ว ก็ได้เวลาอาหารกลางวันพอดี ผมจึงมองหาของกิน เจอร้านอาหาร "พื้นเมือง" ร้านหนึ่ง บรรยายกาศจัดแบบที่คนกรุงเทพฯ จะต้องรู้สึกเหมือนไปกินร้านอาหารจีนเก่าๆ ที่โต๊ะ-เก้าอี้เป็นไม้สีเข้มๆ พื้นโต๊ะปูด้วยหินอ่อน (ยังพอมีร้านแบบนี้อยู่ในกรุงเทพฯ หรือในต่างจังหวัดบางแห่ง) ผมตั้งใจหาอะไรที่ไม่รู้จักมากิน 

แต่ไม่ว่าจะอากาศร้อนอย่างไร (สัก 30 เซลเซียสกว่าๆ ได้) ก็ต้องขอชานมร้อนด้วยสักแก้ว เพราะชาพวกนี้หากินยากมากในกรุงเทพฯ เมื่อชายกมา รสชาติจัดจ้านสมใจอยาก จัดขนาดต้องใส่น้ำตาลจนหมดซอง ซึ่งปกติผมจะไม่ใส่น้ำตาลมากขนาดนั้น ไม่ใส่เลยด้วยซ้ำหากกินกาแฟ 

ส่วนอาหารจานหลัก ผมสั่ง Asam Laksa ร้อนๆ เมื่อได้เห็นและได้กินแล้ว ไม่มีวิธีไหนจะบรรยายได้ดีไปกว่าการแปลรสชาติที่เหมือนจะต่างแต่คล้ายกับจะรู้จัก ให้ตนเองและคนรู้จักเข้าใจ 

ผมแปล Asam Laksa โดยไม่รู้ภาษามาเลย์ว่า "ก๋วยเตี๋ยวแก็ญส้ม" คือสำหรับผม มันมีทั้งความเป็นอาหารเวียดที่เส้นแบบ Bánh Canh ของเวียดนาม หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม "ก๋วยจั๊บญวน" คือเส้นใสๆ กลมๆ เหนียวนุ่ม เพียงแต่เส้น "หมี่" (ที่ร้านนี้เรียกอย่างนั้น) ที่นี่ไม่เป็นเมือกๆ แบบเส้นในประเทศไทย (ไม่รู้ทำไมเป็นอย่างนั้น ผมกินที่เวียดนามก็ไม่เห็นเป็นอย่างนั้น) ปนๆ กับเป็นอาหารจีนที่มันเป็นก๋วยเตี๋ยว ขณะเดียวกันมันก็ "แขก" หรือน่าจะ "มาเลย์"

ที่สะดุดลิ้นมากคือน้ำแกง ผมเข้าใจเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจากเป็น "แกงส้ม" แบบภาคกลางของประเทศไทย เหมือนแกงส้มที่โขลกเนื้อปลาลงไปกับน้ำแกง แถมน้ำแกงยังเหมือนใส่กระชาย ไม่ใช่ขมิ้น รสออกเปรี้ยวนิดๆ แบบเปรี้ยวแหลม ไม่เปรี้ยวแบบใส่มะขามเปียก แต่เขาก็ตัดรสเปรี้ยวด้วยความฝาดของหัวปลีซอย โรยมาพร้อมหอมแดงซอย กับรสซ่าปร่าลิ้นของสะระแหน่ กับรสเผ็ดแทรกอยู่แต่ไม่มาก เขาโรยพริกแดงซอยมาด้วย ทำให้ได้ทั้งสี ทั้งรส ทั้งกลิ่น ทั้งสัมผัส

อาหารจานนี้จึงแปลก แต่ก็พอจะแปลได้ แต่ก็ได้แค่แปล ไม่สามารถเข้าใจอย่างตรงไปตรงมาแบบที่มันเป็นได้ เพราะผมไม่ได้รู้จักบริบทของมันดีพอ ไม่รู้ว่าใครกินอาหารประเภทนี้ ใครทำ น่าจะกินเมื่อไหร่ มีโอกาสเฉพาะของมันไหม ปลาที่ใช้ควรเป็นปลาอะไรแน่ รสน่าจะไปทางไหนกันแน่ ใส่อะไรเคียงดีที่สุด ฯลฯ

แต่สำหรับผม มันอร่อย อร่อยแบบที่เข้าใจได้ด้วย แต่ก็อร่อยตามความเข้าใจของตนเอง อร่อยอยู่คนเดียวตามจินตนาการที่กินไปแปลรสไป ชิมไปในหัวก็นึกตีความอ่านไปว่า "มันคืออะไร" แบบที่พวกเราคุ้นเคย

การศึกษาข้ามวัฒนธรรมมันจึงยากก็ตรงนี้แหละ ตรงที่ทำอย่างไรจึงจะก้าวข้ามการแปล ไปสู่การเข้าใจที่ลึกซึ้งจากความเข้าใจของเจ้าของวัฒนธรรมเองได้ และถึงแม้จะทำได้บ้าง ทำได้มากกว่าการรับรู้แรกเริ่มก็ตาม สุดท้ายเมื่อต้องบอกเล่าให้ "พวกเรา" รับรู้ ให้รู้สึกตามด้วย ก็ยากที่จะพ้นไปจากการอธิบายด้วยอไรที่เรารับรู้ร่วมกัน มากกว่าที่คนอื่นหรือเจ้าของวัฒนธรรมอื่นๆ นั้นรับรู้อยู่ดี

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
นี่เป็นข้อเขียนภาคทฤษฎีของ "การเมืองของนักศึกษาปัจจุบัน" หากใครไม่ชอบอ่านทฤษฎีก็ขอร้องโปรดมองข้ามไปเถอะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จริงหรือที่นักศึกษาไม่สนใจการเมือง ขบวนการนักศึกษาตายแล้วจริงหรือ ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าการถกเถียงเรื่องเครื่องแบบ เรื่องทรงผม เรื่องห้องเรียน เป็นเรื่องการเมืองได้อย่างไร แล้วดูแคลนว่ามันเป็นเพียงเรื่องเสรีภาพส่วนตัว เรื่องเรียกร้องเสรีภาพอย่างเกินเลยแล้วล่ะก็ คุณตกขบวนการเมืองของยุคสมัยไปแล้วล่ะ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะบุคคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผู้หนึ่ง ผมขอเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วนที่อธิการบดีคนต่อไปควรเร่งพิจารณา เพื่ิอกอบกู้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นบ่อน้ำบำบัดผู้กระหายความรู้ และเป็นสถาบันที่เคียงข้างประชาชนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกประกอบการพูดเรื่อง "การศึกษาไทย" เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเสนอว่าเรากำลังต่อสู้กับสามลัทธิคือ ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา และลัทธิแบบฟอร์ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษาไทยไทย: ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" เป็นโจทย์ที่นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ตั้งขึ้นอย่างท้าทาย พวกเขาท้าทายทั้งระบบการเรียนการสอน วัฒนธรรมการศึกษา เนื้อหาในหลักสูตร และระบบสังคมในสถานศึกษา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะที่ร่วมก่อตั้งและร่วมงานกับ "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสปิริตของการทำงานของ ศปช. กับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ามองหลักสิทธิมนุษยชนต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ดี นี่เป็นทัศนะและหลักการของผมเองในการร่วมงานกับ ศปช. ซึ่งอาจแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำตัดสินของศาลอาญาในกรณี 6 ศพวัดประทุมฯ ชวนให้นึกถึงภาพถ่ายเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ใต้ต้นมะขามต้นหนึ่งที่สนามหลวง นอกจากภาพชายคนที่ใช้เก้าอี้ตีศพที่ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามแล้ว ภาพผู้คนที่รายล้อมต้นมะขามซึ่งแสดงอาการเห็นดีเห็นงามหรือกระทั่งสนับสนุนอยู่นั้น สะเทือนขวัญชาวโลกไม่น้อยกว่าภาพชายใช้เก้าอี้ทำร้ายศพ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเคยนั่งในพิธีรับปริญญาบัตรในฐานะผู้รับและในมุมมองของผู้ให้มาแล้ว แต่ไม่เคยได้นั่งในพิธีในฐานะผู้สังเกตการณ์จากบนเวทีแบบเมื่อครั้งที่ผ่านมานี้มาก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฐมลิขิต: ใครรังเกียจทฤษฎี เกลียดงานเขียนแบบหอคอยงาช้าง ไม่ต้องพลิกอ่านก็ได้นะครับ และเวลาผมใส่วงเล็บภาษาอังกฤษหรืออ้างนักคิดต่างๆ นี่ ไม่ได้จะโอ่ให้ดูขลังนะครับ แต่เพื่อให้เชื่อมกับโลกวิชาการสากลได้ ให้ใครสนใจสืบค้นอ่านต่อได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะว่าไป กสทช. คนที่แสดงความเห็นต่อเนื้อหาละครฮอร์โมนนั้น ดูน่าจะเป็นคนที่สามารถวิเคราะห์ เข้าใจสังคมได้มากที่สุดในบรรดา กสทช. ทั้ง 11 คน เพราะเขามีดีกรีถึงปริญญาเอกทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโด่งดังในเยอรมนี ต่างจากคนอื่นๆ ที่ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นทหารหรือใครที่สมยอมกับการรัฐประหารปี 2549 แล้ว ก็เป็นช่างเทคนิคทางด้านการสื่อสาร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า "ไม่รู้อาจารย์ผู้ชายทนสอนหนังสือต่อหน้านักศึกษานุ่งสั้นที่นั่งเปิดหวอหน้าห้องเรียนได้อย่างไร" สำหรับผม ก็แค่เห็นนักศึกษาเป็นลูกเป็นหลานก็เท่านั้น แต่สิ่งยั่วยวนในโลกทางวิชาการมีมากกว่านั้นเยอะ และบางทีจะยิ่งหลบเลี่ยงยากยิ่งกว่าการสร้าง incest taboo ในจินตนาการขึ้นมาหน้าห้องเรียน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนมนุษยศาสตร์จำนวนมากสนใจวิธีการและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ แต่นักสังคมศาสตร์เขาตั้งท่าทำวิจัยกันอย่างไร แล้วหากนักมนุษยศาสตร์จะใช้วิธีการและทฤษฎีแบบสังคมศาสตร์บ้างจะทำอย่างไร