Skip to main content

สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน

บางคนถามผมว่าทำไมไปไหนต่อไหนนักหนา คำตอบเฉพาะหน้าคือ ผมไปเสนอผลงานบ้าง ไปทำงานบ้าง ไปพบเพื่อนบ้าง ไปเยี่ยมครูบ้าง แต่ตอบอย่างกว้างๆ คือ ผมไปหาอะไรใหม่ๆ

เมื่อตอบอย่างนั้นแล้วก็นึกถึงตัวเองเมื่อร่วมยี่สิบปีก่อน ที่ไม่ค่อยชอบไปท่องเที่ยว ผมอธิบายตัวเองว่า ไม่อยากไปเพราะเมื่อไปแล้วก็ต้องกลับมาอยู่ที่เดิม ไม่เห็นได้อะไรขึ้นมา แต่ส่วนหนึ่งของการอธิบายอย่างนั้นก็เพราะ การเดินทางต้องอาศัยอำนาจ เบื้องต้นคืออำนาจทางเศรษฐกิจ มากกว่านั้นคืออำนาจทางสังคมและการเมือง

นิสัยชอบเดินทางของผมคงได้มาจากการเรียนมานุษยวิทยาด้วยส่วนหนึ่ง ถ้าจะมีใครที่แยกการท่องเที่ยวกับการทำงานออกจากกันไม่ค่อยถูก ก็คงจะเป็นนักมานุษยวิทยานี่แหละ ผมถูกพี่สาวกระแนะกระแหนว่า "พวกเธอไม่เคยไปเที่ยวกันในความหมายที่คนทั่วไปเขาเที่ยวกันสักที เห็นไปไหนทีไรก็คือไปทำงานทุกที" พี่สาวก็เลยเตือนแม่ว่า อย่าคิดไปเที่ยวกับลูกชายคนนี้เลย เพราะจะไม่สนุกในแบบของนักท่องเที่ยวหรอก แถมเขาจะพาไปที่ลำบากๆ กินอะไรแปลกๆ 

ผมเคยรู้จักกวีคนหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นเพื่อนกันได้ เธอเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา สอน creative writing หรือการเขียนวรรณกรรมสร้างสรรค์ เพื่อนคนนี้มีประวัติชีวิตสุดเหวี่ยงทีเดียว เธอเป็นคนผิวสี เกิดในเวียดนามช่วงสงคราม แล้วได้รับการเลี้ยงดูโดยครอบครัวคนขาวในสหรัฐฯ แต่เธอพูดภาษาอังกฤษเลียนแบบสำเนียงคนดำ บทกวีเธอมักเกี่ยวกับสถานที่ เธอบอกว่า "ฉันต้องเดินทางทุกปี ไม่ใช่ว่าเพื่อเขียนเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆ หรอก แต่เพื่อให้ได้มุมมองใหม่ ๆ สำหรับงานเขียน" ผมฟังตอนนั้นแล้วเหมือนจะเข้าใจ แต่ก็งงๆ 

นั่นชวนให้นึกถึงอมิทาฟ กอช (Amitav Ghosh) นักเขียนอินเดียชื่อดังในปัจจุบัน คนทั่วไปรู้จักกอชในฐานะนักเขียนนิยายแนวประวัติศาสตร์ ที่จริงเขาจบปริญญาเอกมานุษยวิทยาจากออกซ์ฟอร์ด กอชเคยให้สัมภาษณ์ว่า "ที่เลือกเรียนมานุษยาก็เพราะชอบเดินทาง แล้ววิธีเดียวที่จะเดินทางได้ดีที่สุดคือการเป็นนักมานุษยวิทยา" เพราะนักมานุษยวิทยามีอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง สุดท้าย กอชบอกว่า "งานเขียนทุกชิ้นของผมคืองานวิจัยทางมานุษยวิทยา ผมไม่ได้ถือว่ามันเป็นเรื่องแต่ง (fiction) เลย"

กลับมาที่ผมเอง จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้เขียนอะไรยิ่งใหญ่ได้เท่ากอช ยังไม่คิดเป็นกวีอย่างเพื่อนคนนั้น แต่ก็ยังสนุกกับการเรียนรู้ผ่านการเดินทาง ถ้าจะลองตอบตัวเองอีกทีว่า ทุกวันนี้เดินทางไปโน่นมานี่มากมายเพื่ออะไร ผมก็อยากตอบว่า ส่วนหนึ่งเพื่อหาคำตอบใหม่ๆ ให้กับคำถามเดิมๆ อีกส่วนหนึ่งคือเพื่อตั้งคำถามใหม่ๆ ให้กับเรื่องราวคุ้นเคยเดิมๆ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เป็นวันระลึก "เหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์" 1947 หรือเรียกกันว่า "228 Incident" เหตุสังหารหมู่ประชาชนทั่วประเทศไต้หวัน โดยรัฐบาลที่เจียงไคเชกบังคับบัญชาในฐานะผู้นำก๊กมินตั๋งในจีนแผ่นดินใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนขอให้ผมช่วยแนะนำร้านอาหารในฮานอยให้ แต่เห็นว่าเขาจะไปช่วงสั้นๆ ก็เลยแนะนำไปไม่กี่แห่ง ส่วนร้านเฝอ ขอแยกแนะนำต่างหาก เพราะร้านอร่อยๆ มีมากมาย เอาเฉพาะที่ผมคุ้นๆ แค่ 2-3 วันน่ะก็เสียเวลาตระเวนกินจนไม่ต้องไปกินอย่างอื่นแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ...