Skip to main content
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน 

 
วันที่เสนอบทความตนเเอง ผมพูดถึงเนื้อหาส่วนหนึ่งจากการวิจัยโครงการ "ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย" เป็นการร่วมเสนอผลการวิจัยของเพื่อนนักวิชาการในทีมวิจัย ผมเองดึงประเด็น "การขายเสียงเลือกตั้ง" ไปนำเสนอว่าการขายเสียงเป็นอำนาจต่อรองทางการเมืองของผู้ลงคะแนนเสียง อีกห้องหนึ่งในวันสุดท้ายผมร่วมวงเสวนาเพื่อระลึกถึงการจากไปของ อาจารย์ "พัฒนา กิติอาษา" ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปีกลายในขณะเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
 
อีกห้องหนึ่งในวันที่สอง เป็นวงเสวนาเรื่อง "การปฏิรูป" จัดโดยอาจารย์คริส เบเกอร์และอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร ผู้นำเสนอแต่ละคนล้วนมีมุมวิพากษ์การปฏิรูปของตนเอง ตั้งแต่ การปฏิรูปที่เสนอจากคนข้างล่างจะเป็นอย่างไร ก่อนปฏิรูปอะไรปฎิรูปตนเองอก่อนดีไหม ไปจนถึง ไม่ต้องปฏิรูปอะไรหรอกเพราะเสียเงินไปหลายร้อยล้านแล้วกับการทำเค้าโครงการปฏิรูป เลือกตั้งดีกว่า
 
ที่อยากกล่าวถึงคือทัศนะขององค์ปาฐกบางคน คืออาจารย์ธงชัย วินิจจะกูลซึ่งปาฐกถาคนแรก และอาจารย์เครก เรย์โนลด์ส (Craig Reynolds) ซึ่งปาฐกถาเป็นคนสุดท้ายก่อนปิดงาน ทั้งสองคนได้แสดงทัศนะสอดคล้องกันถึงความเป็นวงวิชาการใต้กะลาของไทยศึกษาในประเทศไทย
 
อาจารย์ธงชัยตั้งประเด็นว่า ไทยศึกษาในประเทศไทยนั้นแตกต่างจากไทยศึกษาในต่างประเทศ เนื่องจากมันเติบโตขึ้นมาใน ecology of scholarship ที่แตกต่างกัน นิเวศวิทยาทางวิชาการ (แกว่าเป็นคำยืมจากเบนเนดิค แอนเดอร์สัน) ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ ไทยศึกษาในประเทศไทยไม่ได้อยู่ในโครงครอบของ colonial orientalism (อาจแปลได้ว่า บูรพคดีนิยมใต้อาณานิคม) และ Cold War (สงครามเย็น) ดังที่ไทยศึกษาของชาวตะวันตกเป็น หากแต่เป็นความรู้ที่สร้าง "ตัวตนไทย" (Thai-self) ขึ้นมา* (ผมแก้ไขความเข้าใจผิดส่วนนี้จากที่อาจารย์ธงชัยแย้งมา)
 
อาจารย์ธงชัยพูดถึง "ตัวตนไทย" ว่าสร้างขึ้นมาจากการแยกตนเองออกจากผู้อื่น ผ่านการจินตนาการเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยและประเทศเพื่อนบ้าน จินตนาการเกี่ยวกับเพื่อนบ้านและชนกลุ่มน้อยแบบไทยๆ จึงสร้างตัวตนไทยขึ้นมาพร้อมๆ กับที่ความรู้ไทยสร้างจินตภาพชนกลุ่มน้อยและจินตภาพเพื่อนบ้านขึ้นมา เช่น เพื่อนบ้านบางประเทศเป็น "เมืองน้อง" ของ "พี่ไทย" ตลอดกาล เพื่อนบ้านบางประเทศเป็นศัตรูตลอดกาล เพื่อนบ้านบางประเทศเป็นผู้หักหลังตลอดกาล ส่วนชนกลุ่มน้อยก็ถูกจัดลงไปในมาตรวัดความเจริญ (scale of civilization) ที่ "คนไทย" อยู่สูงที่สุดรองจากฝรั่ง
 
อาจารย์ธงชัยสรุปว่า ความเป็นไทยนั้น อยู่ในระเบียบอันเหลื่อมล้ำ แต่ก็มีความกลมกลืนเป็นเอกภาพ ไทยศึกษาในประเทศไทยนั้นอยู่ใต้การครอบงำของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความรักเจ้าอย่างล้นเหลือที่พัฒนามาสัก 40 ปีนี้ แต่ก็ยังมีวิชาการแนววิพากษ์ที่กำลังเติบโตขึ้นมา
 
ส่วนอาจารย์เครก (ขอเรียกแบบไทยๆ) สรุปการประชุมไทยศึกษาครั้งนี้ด้วยการเท้าความไปไกลถึงการประชุมไทยศึกษาครั้งแรก แล้วเปรียบเทียบแต่ละครั้งว่ามีลักษณะเด่นอย่างไร ที่น่าสนใจคือ การประชุมไทยศึกษาไม่ได้เกิดจากความสนใจเรื่องประเทศไทยมาก่อน แต่เป็นความสนใจเรื่อง "คนไท" หรือคนที่พูด "ภาษาไท" สาขาต่างๆ และเรียกตนเองว่า "ไท" ทั้งในประเทศไทยและในประเทศอื่นๆ ไทยศึกษาครั้งแรกจึงประชุมกันที่ประเทศอินเดีย จากนั้นก็ค่อยๆ กลายเป็นการศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยในภายหลัง
 
อาจารย์เครกกระแนะกระแหนหลายๆ เวทีในการประชุมไทยศึกษาครั้งนี้ บางเวทีน่าผิดหวังทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ และกลายเป็นเวทีที่มีแต่ผู้ชายมาพูดเรื่องวิชาการแบบไม่เป็นแก่นสารนัก การประชุมครั้งนี้แทบไม่มีหัวข้อเรื่องประวัติศาสตร์ตรงๆ เลย *แต่ประวัติศาสตร์ได้แทรกเข้าไปในส่วนต่างๆ ของผลงานที่ถูกนำมาเสนอในประเด็นอื่นๆ มากมาย* (ข้อความนี้เติมเข้ามาใหม่) *ระยะแรกของการประชุมไทยศึกษานานาชาติ แทบไม่มีเรื่องดนตรีและเรื่องเพศเลย* (ข้อความนี้แก้ไข) ส่วนที่ขาดแคลนคือการเชื่อมโยงไทยศึกษาในแวดวงสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์กับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์
 
อาจารย์เครกกระแนะกระแหนการศึกษาการเขียนประวัติศาสตร์เชิงวิพากษ์ว่า เสมือนว่าทุกคนพยายามเป็น "ด้วงมะพร้าว" (แกใช้คำนี้เอง พูดเป็นภาษาไทยเลย) คือเหมือนทุกคนพยายามเป็นแมลงตัวเล็กที่กัดกินไส้ในจนสามารถโค่นต้นมีพร้าวได้ ที่จริงในห้องหนึ่งที่ผมเข้าไปร่วมฟังด้วย อาจารย์เครกวิจารณ์นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งที่วิพากษ์ประวัติศาสตร์ศิลป์ไทยกระแสหลักคนหนึ่งว่า "คุณกำลังเสนอซ้ำกับที่ธงชัยเสนอ ทุกวันนี้ธงชัยกลายเป็นกระแสหลักไปแล้ว มีอะไรใหม่กว่าธงชัยไหม" (คงทราบกันดีนะครับว่า ธงชัยเป็นลูกศิษย์เครกที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์)
 
สุดท้าย อาจารย์เครกสรุปว่าไทยศึกษาอยู่ในกะลา ในความหมายที่แกแปลจากภาษาอังกฤษว่า provincial (จะเรียกว่า "บ้านนอก" ก็คงไม่ผิดนัก) ที่สำคัญคือ provincial นี้เป็น provincial แบบที่คิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลาง แล้วอาจารย์เครกก็เฉลยเหตุที่ยกเอาภาพโลโกของ สกว. มาเป็นฉากหลังตลอดการบรรยายเกือบหนึ่งชั่วโมงว่า โลโก สกว. บอกเล่า Thai provincialism ได้ดี เพราะมีรูปแผนที่โลกซึ่งไทยไทยอยู่ตรงกลาง แผนที่นี้ไม่มีเส้นกั้นพรมแดน แกสรุปว่า เหมือนแผนที่นี้กำลังจะบอกว่า "We [the Thai] are at the center of the world."
 
ที่จริงกะลาของวิชาการไทยมีหนากว่านั้นและเกิดจากเงื่อนไขที่อาจจะไม่ต้องวิเคราะห์มากมายเท่านั้นก็ได้ ลองนึกดูว่ามีนักวิชาการไทยสักกี่คนที่สนใจการประชุมไทยศึกษา ก็มีแต่เฉพาะนักวิชาการรุ่นเยาว์ที่ตื่นเต้นกับความรู้ความคิดแปลกใหม่และอยากทดลองเสนอแนวคิดตนกับชาวโลก มีความจำเป็นไหมที่นักวิชาการไทยจะต้องไปร่วมประชุมไทยศึกษานานาชาติไม่ว่าจะที่จัดในไทยหรือในต่างประเทศ ไม่จำเป็นเลย
 
ที่เป็นอย่างนี้เพราะกลไกกำกับการทำงานวิชาการของไทยตั้งแต่ไหนแต่ไรมาไม่ได้ต้องการให้นักวิชาการไทยเป็นนักวิชาการระดับโลก ก็แค่คุณทำงานพิมพ์บทความ เขียนหนังสือเป็นภาษาไทย ดัดแปลงตำราฝรั่งมาทำเป็นตำราตนเองในภาษาไทย แค่นี้คุณก็จะได้ตำแหน่งทางวิชาการใหญ่โตแล้ว ไม่เห็นจำเป็นต้องกระเสือกกระสนไปเขียนงานให้ฝรั่งอ่านให้ฝรั่งวิจารณ์เลย แล้วอย่างนี้ทำไมจะไม่ทำให้วงการไทยศึกษาดักดานอยู่แต่ในกะลาเล่า

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
นี่เป็นข้อเขียนภาคทฤษฎีของ "การเมืองของนักศึกษาปัจจุบัน" หากใครไม่ชอบอ่านทฤษฎีก็ขอร้องโปรดมองข้ามไปเถอะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จริงหรือที่นักศึกษาไม่สนใจการเมือง ขบวนการนักศึกษาตายแล้วจริงหรือ ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าการถกเถียงเรื่องเครื่องแบบ เรื่องทรงผม เรื่องห้องเรียน เป็นเรื่องการเมืองได้อย่างไร แล้วดูแคลนว่ามันเป็นเพียงเรื่องเสรีภาพส่วนตัว เรื่องเรียกร้องเสรีภาพอย่างเกินเลยแล้วล่ะก็ คุณตกขบวนการเมืองของยุคสมัยไปแล้วล่ะ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะบุคคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผู้หนึ่ง ผมขอเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วนที่อธิการบดีคนต่อไปควรเร่งพิจารณา เพื่ิอกอบกู้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นบ่อน้ำบำบัดผู้กระหายความรู้ และเป็นสถาบันที่เคียงข้างประชาชนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกประกอบการพูดเรื่อง "การศึกษาไทย" เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเสนอว่าเรากำลังต่อสู้กับสามลัทธิคือ ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา และลัทธิแบบฟอร์ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษาไทยไทย: ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" เป็นโจทย์ที่นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ตั้งขึ้นอย่างท้าทาย พวกเขาท้าทายทั้งระบบการเรียนการสอน วัฒนธรรมการศึกษา เนื้อหาในหลักสูตร และระบบสังคมในสถานศึกษา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะที่ร่วมก่อตั้งและร่วมงานกับ "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสปิริตของการทำงานของ ศปช. กับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ามองหลักสิทธิมนุษยชนต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ดี นี่เป็นทัศนะและหลักการของผมเองในการร่วมงานกับ ศปช. ซึ่งอาจแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำตัดสินของศาลอาญาในกรณี 6 ศพวัดประทุมฯ ชวนให้นึกถึงภาพถ่ายเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ใต้ต้นมะขามต้นหนึ่งที่สนามหลวง นอกจากภาพชายคนที่ใช้เก้าอี้ตีศพที่ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามแล้ว ภาพผู้คนที่รายล้อมต้นมะขามซึ่งแสดงอาการเห็นดีเห็นงามหรือกระทั่งสนับสนุนอยู่นั้น สะเทือนขวัญชาวโลกไม่น้อยกว่าภาพชายใช้เก้าอี้ทำร้ายศพ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเคยนั่งในพิธีรับปริญญาบัตรในฐานะผู้รับและในมุมมองของผู้ให้มาแล้ว แต่ไม่เคยได้นั่งในพิธีในฐานะผู้สังเกตการณ์จากบนเวทีแบบเมื่อครั้งที่ผ่านมานี้มาก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฐมลิขิต: ใครรังเกียจทฤษฎี เกลียดงานเขียนแบบหอคอยงาช้าง ไม่ต้องพลิกอ่านก็ได้นะครับ และเวลาผมใส่วงเล็บภาษาอังกฤษหรืออ้างนักคิดต่างๆ นี่ ไม่ได้จะโอ่ให้ดูขลังนะครับ แต่เพื่อให้เชื่อมกับโลกวิชาการสากลได้ ให้ใครสนใจสืบค้นอ่านต่อได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะว่าไป กสทช. คนที่แสดงความเห็นต่อเนื้อหาละครฮอร์โมนนั้น ดูน่าจะเป็นคนที่สามารถวิเคราะห์ เข้าใจสังคมได้มากที่สุดในบรรดา กสทช. ทั้ง 11 คน เพราะเขามีดีกรีถึงปริญญาเอกทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโด่งดังในเยอรมนี ต่างจากคนอื่นๆ ที่ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นทหารหรือใครที่สมยอมกับการรัฐประหารปี 2549 แล้ว ก็เป็นช่างเทคนิคทางด้านการสื่อสาร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า "ไม่รู้อาจารย์ผู้ชายทนสอนหนังสือต่อหน้านักศึกษานุ่งสั้นที่นั่งเปิดหวอหน้าห้องเรียนได้อย่างไร" สำหรับผม ก็แค่เห็นนักศึกษาเป็นลูกเป็นหลานก็เท่านั้น แต่สิ่งยั่วยวนในโลกทางวิชาการมีมากกว่านั้นเยอะ และบางทีจะยิ่งหลบเลี่ยงยากยิ่งกว่าการสร้าง incest taboo ในจินตนาการขึ้นมาหน้าห้องเรียน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนมนุษยศาสตร์จำนวนมากสนใจวิธีการและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ แต่นักสังคมศาสตร์เขาตั้งท่าทำวิจัยกันอย่างไร แล้วหากนักมนุษยศาสตร์จะใช้วิธีการและทฤษฎีแบบสังคมศาสตร์บ้างจะทำอย่างไร