Skip to main content

 

ระยะนี้พูดกันมากว่าประชาธิปไตยเป็นแนวคิดตะวันตก คนที่พูดอย่างนี้หากเป็นคนที่ไม่ได้ศึกษาค้นคว้าทางวิชาการอะไรก็ไม่ควรเอามาตรวัดความรู้อะไรไปตัดสินเขา เพราะเขาพูดจากความเชื่อล้วนๆ เหมือนความเชื่อที่ว่า สมัยก่อนคนเหาะได้ นรก-สวรรค์มีจริง อะไรพรรค์นั้น

แต่กับคนที่เรียกตัวเองหรือกินอยู่ในหน้าที่ทางสังคมว่า "นักวิชาการ" แล้วล่ะก็ ต้องต่อว่ากันว่า นี่แสดงว่าพวกคุณไม่ได้สนใจข้อถกเถียงใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้กันบ้างเลยหรืออย่างไร นี่แสดงว่าความรู้ของคุณมันจำกัดทั้งสายาวิชาและช่วงเวลาของการศึกษา นี่แสดงว่าคุณเลิกทำวิจัยมานานแล้ว หรือไม่ก็ทำวิจัยเฉพาะในกะลาวิชาการแบบไทยๆ จึงไม่เคยให้ใครในโลกนี้เขาตรวจสอบความรู้คุณเลย

ในระหว่างที่ทำวิจัยเรื่อง "ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย" พร้อมๆ กับทำวิจัยในพื้นที่ของตนเองเรื่อง “พลังชุมชนของชนบทใหม่ในกระแสโลกาภิวัตน์" ผมพบงานศึกษากลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ คือการศึกษาประชาธิปไตยในแนวทางมานุษยวิทยา (anthropology of democracy) ประเด็นสำคัญคือ การศึกษาประชาธิปไตยในทางมานุษยวิทยาไม่ได้จะดูว่าสังคมต่างๆ ที่ศึกษาเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน เป็นประชาธิปไตยหรือยัง หรือมีกลไกอะไรที่ขัดขวางหรือส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย

บางคนอาจเข้าใจว่า นักมานุษยวิทยาสนใจวัฒนธรรมที่หลากหลายจึงอาจศึกษาดูว่าประชาธิไตยในถิ่นต่างๆ มีลักษณะเฉพาะอย่างไร นั่นอาจจะเป็นแนวทางที่นักมานุษยวิทยาบางคนใช้ เช่นที่บางคนพูดถึงประชาธิปไตยแบบไทยที่ไม่เหมือนใครในโลก แต่นั่นเท่ากับเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมที่นำเอาแนวคิดประชาธิปไตยไปบิดเบือนเพื่อคงความเหลื่อมล้ำไว้อย่างเช่นในสังคมไทย

นักมานุษยวิทยาในโลกสากลไม่ได้สนใจประชาธิปไตยในลักษณะนั้น หากแต่เขาจะพิจารณาดูว่า “ประชาธิปไตย” ถูกใช้โดยใคร อย่างไร ในสังคมต่างๆ ทั่วโลก ประชาธิปไตยถูกเข้าใจอย่างไร ยกตัวอย่างเช่นการศึกษาวิธีที่ชนกลุ่มน้อยในบางประเทศอาศัยประชาธิปไตยเป็นเครื่องต่อรองเพื่อสร้างตัวตนในทางการเมืองของตนเองในตุรกี การศึกษาวิธีที่คนวรรณะต่ำๆ ใช้ประชาธิปไตยเพื่อแสดงสิทธิเสียงของตนเองในอินเดีย

วิธีการศึกษาแบบนี้ต่างการการศึกษาประชาธิปไตยในทางรัฐศาสตร์ ที่มักเน้นการวัดความเป็นประชาธิปไตย ราวกับว่ามีมาตรวัดประชาธิปไตยอยู่ที่ไหนสักแห่ง แล้วดูว่าประเทศนั้นๆ สังคมนั้น ๆ เป็นประชาธิปไตยแล้วหรือยัง เป็นแค่ไหน มีอะไรเป็นตัวถ่วงความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ แล้วจะแก้ไขอย่างไร

แต่ปัจจุบัน มีนักมานุษยวิทยาอีกกลุ่มหนึ่ง ที่หันมาสนใจแนวคิดเรื่อง “ประชาธิปไตยจากพื้นถิ่น” (vernacular democracy) นำโดยนักมานุษยวิทยาแนวหน้าอย่างเดวิด แกรเบอร์ (David Graeber) และมิเชล-โรลห์ ทรุยโยต์ (Michel-Rolph Trouillot) นักมานุษยวิทยาชาวเฮติผู้เพิ่งล่วงลับ รวมทั้งนักคิดอินเดียแนวหลังอาณานิคมชั้นนำอย่างพาธา ชัตเตอร์จี (Partha Chatterjee)

แนวคิด “ประชาธิปไตยจากพื้นถิ่น” เสนอว่า แท้จริงแล้วความคิดประชาธิปไตยไม่ได้มาจากตะวันตก หากแต่มาจากวิถีชีวิตของชนพื้นถิ่นที่พบเห็นได้ทั่วไปนอกประเทศตะวันตก แกรเบอร์เก็บข้อมูลทั้งจากในอดีตและต่างถิ่นในปัจจุบัน ที่น่าสนใจคือ แกรเบอร์พบว่า วิถีชีวิตแบบชาวอินเดียนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาที่ชาวตะวันตกบันทึกไว้ก่อนการเกิดประเทศสหรัฐอเมริกานั้น มีลักษณะเดียวกันกับวิถีชีวิตแบบสังคมประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค แกรเบอร์ตั้งข้อสังเกตว่า นั่นอาจจะเป็นแนวทางให้ชาวตะวันตกที่ตั้งใจจะปลดแอกตนเองจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษตระหนักในวิถีชีวิตที่แตกต่างจากในอังกฤษ และเป็นที่มาของประชาธิปไตยแบบอเมริกัน

ส่วนทรุยโยต์ ซึ่งส่งแรงบันดาลใจแก่ชัตเตอร์จีในภายหลัง ได้ชี้ให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเสมอภาคของชาวเฮติเพื่อปลดแอกตนเองจากฝรั่งเศสนั้น มีมาก่อนหรืออย่างน้อยก็พร้อมๆ กันกับระยะที่เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสด้วยซ้ำ ที่สำคัญคือ ทรุยโยต์ชี้ว่า ขณะที่การปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยของชาวฝรั่งเศสนั้นยังไม่ได้สนใจใยดีต่อเสรีภาพและความเสมอภาคของชนชาติอื่นๆ ที่ถูกฝรั่งเศสปกครองอยู่ เสรีภาพและความเสมอภาคของชาวเฮตินั้นเกิดขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของการที่เสรีภาพและความเสมอภาคจะต้องคำนึงถึงไม่เว้นชนชาติ ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่า ประชาธิปไตยของเฮตินั้น “เป็นสากล” และก้าวหน้าเสียยิ่งกว่าประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศสในยุคแรกเริ่มด้วยซ้ำ

หากยังเห็นว่างานศึกษาเหล่านี้ก็เป็นงานตะวันตก เป็นแนวคิดตะวันตก เพียงเพราะงานเขียนเหล่านี้ใช้ภาษาอังกฤษล่ะก็ โปรดอยู่ในโลกที่เชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นของตะวันตกเท่านั้น ดุจเดียวกับที่พวกคุณคงยังเชื่อในนรก-สวรรค์กันอยู่ต่อไปก็แล้วกัน

แต่หากลองเปิดหูเปิดตาดูบ้างว่าโลกประชาธิปไตยมีที่มาที่ไม่ใช่ในตะวันตกเพียงเท่านั้นแล้ว ก็คงจะเข้าใจได้บ้างว่า ทำไมคนพื้นถิ่นต่างๆ เขาจึงถวิลหาประชาธิปไตยกันนัก ทำไมชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนา คนยากคนจน จะเข้าใจประชาธิปไตยมากกว่าชาวกรุงชาวเมืองบ้างไม่ได้ ทำไมประชาธิปไตยจึงแนบแน่นอยู่ในวิถีชีวิตของคนธรรมดาสามัญ และทำไมชาวบ้านร้านตลาดเขาถึงหวงแหนประชาธิปไตยกันนัก นั่นก็เพราะประชาธิปไตยเป็นของเขา ประชาธิปไตยกลายเป็นของสามัญชนชาวไทยไปแล้ว ไม่ได้จำเป็นต้องมาจากตะวันตกห่างไกลที่ไหน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน