Skip to main content
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 

 
หากเป็นข้าราชการที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งก็ว่าไปอย่าง แต่กับปัจเจกชนมากมาย ทั้งผู้บริการธุรกิจและผู้บริหารองค์การมหาชนหลายคนที่มีประวัติการศึกษาที่โดดเด่น มีประสบการณ์การบริหารองค์กรขนาดใหญ่มายาวนาน และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างสูง ผมไม่เข้าใจว่าพวกเขาใช้หลักการอะไรในการตัดสินใจร่วมงานกับคณะรัฐประหาร
 
บุคคลเหล่านี้อาจกล่าวอ้างว่าตนเองหวังดีต่อประเทศชาติ ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน ซึ่งนั่นก็อาจจะจริง แต่ไม่ว่าจะอย่างไร พวกเขาก็ไม่สามารถที่จะหนีพ้นจากคำถามทางการเมืองที่สาธารณชนจะมีต่อพวกเขาได้ แม้ว่าพวกเขาจะไม่อยากตอบ แต่ในใจผู้รักความเป็นธรรม ในใจผู้รักประชาธิปไตย ก็อดไม่ได้ที่จะมีคำถามถึงพวกเขาดังต่อไปนี้
 
ประการแรก พวกเขาไม่ได้ใส่ใจเลยหรือว่าระบอบที่พวกเขาเข้าไปทำงานด้วยนี้ กำลังละเมิดชีวิตความเป็นอยู่อันปกติสุขของใครต่อใครเต็มไปหมด ส่วนใหญ่ในคนที่ถูกคุกคามเหล่านั้นยังเป็นคนที่ด้อยอำนาจ เป็นคนที่ไม่ได้มีชื่อเสียง ไม่มีหน้าตาในสังคม จึงถูกกระทำฝ่ายเดียวด้วยอย่างไม่ยุติธรรม ส่วนใหญ่ในคนเหล่านั้นเป็นกลุ่มคนที่ไม่เห็นดีเห็นงามกับการรัฐประหาร ไม่เหมือนพวกเขา 
 
มากไปกว่านั้น พวกเขาคงไม่ใส่ใจว่า อำนาจที่รับรองการทำงานของพวกเขานี้ มีส่วนสำคัญในการละเมิดชีวิตผู้คนมาก่อนหน้านี้ขนาดไหน พวกเขาไม่รับรู้เลยหรือว่ากำลังร่วมมืออยู่กับกลุ่มผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อการสลายการชุมนุมปี 2553 ที่ทำให้มีพลเรือนเสียขีวิตกว่าร้อยคน บาดเจ็บอีกนับพัน และยังมีผู้ต้องขังโดยไม่มีความผิดอีกจำนวนมาก
 
ถ้าพวกเขาไม่จะสนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน ไม่สนใจเรื่องหลักสิทธิเสรีภาพ พวกเขาจะไม่สนใจเรื่องมนุษยธรรมเลยใช่หรือไม่ พวกเขารู้ใช่ไหมว่า พวกเขากำลังออกแบบความใฝ่ฝันของชาติในสภาพการณ์ที่ไร้รัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยสิ้นเชิง คนฉลาด ๆ อย่างพวกเขาเชื่อมโยงไม่ได้หรือว่า ความใฝ่ฝันอันงดงามของพวกเขาไม่สามารถเกิดขึ้นมาในยุคสมัยที่ไม่มีหลักประกันในสิทธิมนุษยชนอย่างในปัจจุบันนี้ 
 
ประการที่สอง พวกเขาไม่เชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบ ถ่วงดุลของอำนาจใช่หรือไม่ พวกเขาจึงเข้ามาทำงานในตำแหน่งใหญ่โตในขณะที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดปกป้องคุ้มครองพวกเขาอยู่ข้างหลัง พวกเขาคงเห็นว่า การออกแบบทิศทางของประเทศภายใต้ระบบตรวจสอบถ่วงดุลแบบปกตินั้น ไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้คิด ได้ฝัน ได้ทำได้ดั่งใจ 
 
ขณะที่ในระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย ความใฝ่ฝันอันดีงามของพวกเขาจะต้องเผชิญกับการวิจารณ์ การตรวจสอบ การไต่สวนจากสาธารณชนอย่างกว้างขวางหนักหน่วง จะต้องถูกตรวจสอบจากผู้แทนราษฎร จากสื่อมวลชน จากประชาชนมากมาย 
 
หากแต่ในระบอบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ พวกเขาไม่ต้องตอบคำถามใคร ไม่ต้องเผชิญกับการซักไซ้ไล่เรียงจากใคร ถ้าอย่างนั้นแล้ว อะไรคือหลักธรรมาภิบาลของการบริหารงานที่พวกเขายึดมั่น ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อคนในเครื่องแบบเท่านั้นหรือ สังคมจะเชื่อมั่นในกลุ่มคนที่เชื่อถือเฉพาะเครื่องแบบกับอำนาจเบ็ดเสร็จเท่านั้นได้หรือ
 
ประการที่สาม พวกเขามองเห็นหรือไม่ว่า ต้นตอของปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันมาจากไหน ความขัดแย้งขณะนี้มาจากการไม่ยอมรับความเท่าเทียมกันของอำนาจ หาใช่ว่าจะมาจากความเลวร้ายของนักการเมืองเพียงเท่านั้น หาใช่ว่าจะมาจากความวุ่นวายชั่วหกเดือนที่สร้างขึ้นโดยนักการเมืองที่สนับสนุนการรัฐประหารเท่านั้น
 
งานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่มีชนชั้นกลางหน้าใหม่มากขึ้น คนเหล่านี้ตระหนักในสิทธิเสรีภาพของตนเองมากขึ้น ระบบการเมืองเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้มีส่วนร่วมกำหนดนโยบายมากขึ้น ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เคยมีอำนาจอยู่เดิม โดยเฉพาะชนขั้นนำเก่าและชนขั้นกลางเก่า ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงนี้ จึงพยายามร่วมมือกันขัดขวางโค่นล้มกลุ่มอำนาจใหม่มาตลอดเกือบสิบปีนี้
 
ความขัดแย้งในปัจจุบันจึงกว้างขวาง ลึกซึ้ง และมีพวกเขาเองร่วมอยู่ในความขัดแย้ง มีส่วนได้ส่วนเสียกับความขัดแย้งนี้ด้วย หากพวกเขายอมรับแต่อำนาจของคนฝ่ายเดียว คือฝ่ายพวกเขา แต่ไม่ยอมรับอำนาจของคนส่วนใหญ่ คนฉลาด ๆ อย่างพวกเขาคิดไม่ได้หรือว่าการเข้ามารับตำแหน่งของพวกเขาจะยิ่งมีส่วนตอกย้ำความแตกร้าวในสังคมนี้มากยิ่งขึ้น หาใช่ว่าจะช่วยเยียวยาได้ดังที่พวกเขาใฝ่ฝัน
 
ประการที่สี่ พวกเขาไม่เห็นว่าคนเท่ากัน พวกเขาเห็นว่าพวกเขาคือคนพิเศษ เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอภิชน ที่มีความสามารถเหนือบุคคลทั่วไป และจึงไม่เห็นว่าคนอื่นๆ ก็มีความสามารถไม่น้อยไปกว่าพวกเขาในการบริหารประเทศ พวกเขาไม่เห็นหัวชาวบ้าน อย่างนั้นหรือ พวกเขาไม่ต้องการให้โอกาสคนทั่วไปได้มีส่วนกำหนดชะตาชีวิตของตนเองอย่างนั้นหรือ 
 
ที่สำคัญคือ ไม่ว่าพวกเขาจะมีความสามารถมากเหนือคนทั่วไปเป็นอภิมุนษย์อย่างไร หากไม่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปรับรู้ ตรวจสอบ มีส่วนร่วม พวกเขาจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าพวกเขาเข้าใจความต้องการของประชาชนทั้งประเทศได้ดีทั้งหมด พวกเขาไม่คิดหรือว่าพวกเขาอาจตัดสินใจและวางแผนนโยบายประเทศบนฐานของอคติส่วนตน บนฐานของความต้องการส่วนตน ในกรอบของประโยชน์ส่วนตนเพียงเท่านั้น แม้ว่าพวกเขาจะไม่ปรารถนาเช่นนั้นก็ตาม แต่เพราะเขาไม่มีทางล่วงรู้ใจคนได้ทั่วประเทศ พวกเขาก็จะทำได้เฉพาะในกรอบความเข้าใจแคบๆ ของตนหรือไม่
 
สังคมไทยได้เปลี่ยนมาสู่ยุคที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถเข้าร่วมกำหนดชีวิตตนเองได้มากขึ้น ทั้งจากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นและระดับประเทศ จากการได้รับการคุ้มครองสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ผู้ที่เข้าร่วมกับคณะรัฐประหารต้องการย้อนเวลากลับไปในยุคก่อนหน้าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่ประเทศนี้ยังมีเพียงคนหยิบมือเดียวอย่างพวกเขาเท่านั้นที่สามารถกำหนดชะตาชีวิตของคนในชาติได้อย่างนั้นหรือ
 
สุดท้าย ทั้งหมดนั้นชวนให้ต้องตั้งคำถามว่า พวกเขาเลื่อมใสในระบอบอำนาจนิยม พวกเขาไม่เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตย พวกเขาเป็นนักบริหารที่ตั้งหน้าตั้งตารอคอยอำนาจพิเศษมาอำนวยอวยทางให้ได้ใช้ความรู้ความสามารถโดยไม่แยแสต่อความถูกต้อง ความเป็นธรรม หลักมนุษยธรรมใดๆ หรือไม่
 
แต่หากพวกเขาไม่ได้คิดอย่างว่า อย่างแย่ที่สุดก็แสดงว่าพวกเขาเห็นแก่ตัว คิดถึงพวกพ้องตนเอง คิดถึงความมั่นคงของอาชีพการงานธุรกิจของตนเองเป็นหลัก หรืออย่างเลวน้อยกว่านั้น พวกเขาก็ฝักใฝ่ในอำนาจ กระสันที่จะเข้าสู่เวทีอำนาจเพื่อที่จะได้นำความเห็นตนเองไปปฏิบัติอย่างไม่ใยดีต่อปัญหาขัดแย้งร้าวลึกของสังคม 
 
แต่หากพวกเขายอมรับมาตามตรงซื่อ ๆ ว่า ที่เข้าร่วมก็ด้วยเพราะยำเกรงต่อกำลังคุกคามสวัสดิภาพส่วนตนแล้วล่ะก็ สังคมก็ยังอาจเข้าใจว่าพวกเขาไม่ได้เลือกทางเดินนี้เอง และยังอาจให้อภัยตามสมควรแก่หลักมนุษยธรรมได้บ้าง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
นี่เป็นข้อเขียนภาคทฤษฎีของ "การเมืองของนักศึกษาปัจจุบัน" หากใครไม่ชอบอ่านทฤษฎีก็ขอร้องโปรดมองข้ามไปเถอะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จริงหรือที่นักศึกษาไม่สนใจการเมือง ขบวนการนักศึกษาตายแล้วจริงหรือ ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าการถกเถียงเรื่องเครื่องแบบ เรื่องทรงผม เรื่องห้องเรียน เป็นเรื่องการเมืองได้อย่างไร แล้วดูแคลนว่ามันเป็นเพียงเรื่องเสรีภาพส่วนตัว เรื่องเรียกร้องเสรีภาพอย่างเกินเลยแล้วล่ะก็ คุณตกขบวนการเมืองของยุคสมัยไปแล้วล่ะ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะบุคคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผู้หนึ่ง ผมขอเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วนที่อธิการบดีคนต่อไปควรเร่งพิจารณา เพื่ิอกอบกู้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นบ่อน้ำบำบัดผู้กระหายความรู้ และเป็นสถาบันที่เคียงข้างประชาชนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกประกอบการพูดเรื่อง "การศึกษาไทย" เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเสนอว่าเรากำลังต่อสู้กับสามลัทธิคือ ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา และลัทธิแบบฟอร์ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษาไทยไทย: ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" เป็นโจทย์ที่นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ตั้งขึ้นอย่างท้าทาย พวกเขาท้าทายทั้งระบบการเรียนการสอน วัฒนธรรมการศึกษา เนื้อหาในหลักสูตร และระบบสังคมในสถานศึกษา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะที่ร่วมก่อตั้งและร่วมงานกับ "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสปิริตของการทำงานของ ศปช. กับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ามองหลักสิทธิมนุษยชนต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ดี นี่เป็นทัศนะและหลักการของผมเองในการร่วมงานกับ ศปช. ซึ่งอาจแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำตัดสินของศาลอาญาในกรณี 6 ศพวัดประทุมฯ ชวนให้นึกถึงภาพถ่ายเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ใต้ต้นมะขามต้นหนึ่งที่สนามหลวง นอกจากภาพชายคนที่ใช้เก้าอี้ตีศพที่ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามแล้ว ภาพผู้คนที่รายล้อมต้นมะขามซึ่งแสดงอาการเห็นดีเห็นงามหรือกระทั่งสนับสนุนอยู่นั้น สะเทือนขวัญชาวโลกไม่น้อยกว่าภาพชายใช้เก้าอี้ทำร้ายศพ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเคยนั่งในพิธีรับปริญญาบัตรในฐานะผู้รับและในมุมมองของผู้ให้มาแล้ว แต่ไม่เคยได้นั่งในพิธีในฐานะผู้สังเกตการณ์จากบนเวทีแบบเมื่อครั้งที่ผ่านมานี้มาก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฐมลิขิต: ใครรังเกียจทฤษฎี เกลียดงานเขียนแบบหอคอยงาช้าง ไม่ต้องพลิกอ่านก็ได้นะครับ และเวลาผมใส่วงเล็บภาษาอังกฤษหรืออ้างนักคิดต่างๆ นี่ ไม่ได้จะโอ่ให้ดูขลังนะครับ แต่เพื่อให้เชื่อมกับโลกวิชาการสากลได้ ให้ใครสนใจสืบค้นอ่านต่อได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะว่าไป กสทช. คนที่แสดงความเห็นต่อเนื้อหาละครฮอร์โมนนั้น ดูน่าจะเป็นคนที่สามารถวิเคราะห์ เข้าใจสังคมได้มากที่สุดในบรรดา กสทช. ทั้ง 11 คน เพราะเขามีดีกรีถึงปริญญาเอกทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโด่งดังในเยอรมนี ต่างจากคนอื่นๆ ที่ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นทหารหรือใครที่สมยอมกับการรัฐประหารปี 2549 แล้ว ก็เป็นช่างเทคนิคทางด้านการสื่อสาร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า "ไม่รู้อาจารย์ผู้ชายทนสอนหนังสือต่อหน้านักศึกษานุ่งสั้นที่นั่งเปิดหวอหน้าห้องเรียนได้อย่างไร" สำหรับผม ก็แค่เห็นนักศึกษาเป็นลูกเป็นหลานก็เท่านั้น แต่สิ่งยั่วยวนในโลกทางวิชาการมีมากกว่านั้นเยอะ และบางทีจะยิ่งหลบเลี่ยงยากยิ่งกว่าการสร้าง incest taboo ในจินตนาการขึ้นมาหน้าห้องเรียน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนมนุษยศาสตร์จำนวนมากสนใจวิธีการและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ แต่นักสังคมศาสตร์เขาตั้งท่าทำวิจัยกันอย่างไร แล้วหากนักมนุษยศาสตร์จะใช้วิธีการและทฤษฎีแบบสังคมศาสตร์บ้างจะทำอย่างไร