Skip to main content
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

 
ในสาขาวิชาที่เป็นพี่น้องกันทั้งสองนี้ คำว่าทัศนคติมีที่ทางน้อยมาก เพราะสาขาทั้งสองสนใจสังคมมากกว่าปัจเจกบุคคล อย่างไรก็ดี สิ่งที่สาขาวิชาทั้งสองสอนก็คือ การบอกว่าทัศนคติของคนถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากกระบวนการทางสังคม ไม่ใช่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากความนึกคิดของปัจเจกบุคคลเพียงเท่านั้น ดังนั้น แทนที่จะเข้าใจทัศนคติของแต่ละคน วิชาทั้งสองจึงสอนให้เข้าใจทัศนคติของสังคมมากกว่า
 
แต่ทว่า สังคมไม่ได้หยุดนิ่ง และสังคมไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอไป ในปัจจุบันนี้ แทบจะไม่มีบุคคลในสังคมใดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนกันหมดเลยด้วยซ้ำ ทัศนคติของแต่ละบุคคลในสังคมจึงมีความแตกต่างกันมาก ตามแต่สภาพแวดล้อมทางสังคม ตามแต่การหล่อหลอมทางประวัติศาสตร์ ตามแต่การคัดเลือกตกแต่งความคิดของแต่ละคน
 
ทัศนคติจึงมีส่วนก่อให้เกิดความขัดแย้งกันได้ ทัศนคติจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมให้เหมือนกันไปหมดได้ ไม่มีสังคมไหนสามารถทำให้ทุกคนคิดเหมือนกัน ชอบเหมือนกัน รักคนคนเดียวกัน แสดงออกอย่างเดียวกัน มีความฝันต่ออนาคตเดียวกัน ร้องเพลงเดียวกัน ประสงค์ดีต่อสังคมในแบบเดียวกันได้
 
ที่ยิ่งไปกว่านั้น นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยารุ่นหลัง ๆ ยังสนใจอีกว่า มีทัศนคติบางอย่างที่ฝังติดแน่นอยู่กับตัวตนของแต่ละคน ทัศนคติไม่เพียงฝังอยู่ในใจ แต่ฝังอยู่ในเนื้อตัวร่างกาย ได้แก่ ทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับรสนิยม เช่น การติดรสชาติความอร่อย อันเป็นทัศนคติปลายลิ้นสัมผัสที่แยกไม่ออกจากเนื้อตัวและประสาทรับรู้ นอกจากนั้นยังมีการปฏิบัติการในชีวิตประจำวันต่างๆ ที่แทบจะทำไปโดยอัตโนมัติอย่างการยืน เดิน นั่ง ก็ฝังทัศนคติเกี่ยวกับชนชั้น เพศสภาพ
 
ทุกวันนี้หากมีใครทำวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ว่าด้วย "ทัศนคติต่อ..." ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม ผมก็จะไม่รับพิจารณา ไม่ใช่เพราะไม่ถนัด แต่เพราะเห็นว่า การเข้าใจคนผ่านมโนทัศน์ว่า "ทัศนคติ" เป็นการเข้าใจคนที่ผิดพลาด เพราะคนไม่ได้มีแค่ทัศนคติ หรือเพราะทัศนคติไม่ใช่ก้อนความคิดก้อนหนึ่ง มันประกอบขึ้นมาจากการหล่อหลอม การตัดต่อตกแต่ง การต่อรองกันของทัศนคติต่าง ๆ ตลอดจนตัวความคิดที่แฝงอยู่ในการกระทำปกติประจำวัน อันไม่สามารถกระเทาะออกมาเป็นก้อนทัศนคติได้
 
ดังนั้น เราจึงต้องแยกย่อยและวิเคราะห์ทัศนคติให้ละเอียดลงไปอีก ต้องเข้าใจมิติทางสังคมที่ซับซ้อนของทัศนคติ และเลิกคิดเสียทีว่าทัศนคติเป็นสิ่งที่จะเปลี่ยนกันได้ง่าย ๆ เพราะมีปัจจัยมากมายที่ใครก็ตามไม่สามารถจะควบคุมได้และใครก็ตามก็จึงไม่สามารถควบคุมทัศนคติได้ นอกจากกักขังหน่วงเหนี่ยวมันไว้ในกรงเงียบ ๆ ไม่ให้ทัศนคติแสดงตัวออกมา

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อต้องกลับมาชวนคนอ่านงานของบรมครูทาง "วัฒนธรรมศึกษา" คนหนึ่ง ที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนัก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปแม่ฮ่องสอนสามวัน ค้างสองคืน เพื่อร่วมงาน "ไทใหญ่ศึกษา" ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้จักวัฒนธรรมไทใหญ่มาก่อน พอจะรู้จากการอ่านงานเรื่อง "ฉาน" เรื่องรัฐไทใหญ่ เรื่องประวัติศาสตร์บ้างนิดหน่อย จึงมิอาจให้ความเห็นใดๆ กับอาหารไทใหญ่ได้ ทำได้แค่เพียงบอกเล่า "ความประทับใจแรกเริ่ม" ในแบบที่นักชาติพันธ์ุนิพนธ์ทั่วไปมักทำกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชาญวิทย์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานครบรอบ 72 ปีให้อาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์ุอยู่หลากหลายกลุ่ม พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และร่วมสร้างสังคม สร้างประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่อย่างขาดไม่ได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยมีนโยบายกลุ่มชาติพันธ์ุมาก่อน (ยาวนะครับ ถ้ายังอยู่ในโลก 8 บรรทัดโปรดอย่าอ่าน)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นนักคิดไทยสองคนออกมาเทศนาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า "ทำไมนักคิดไทย พอแก่ตัวลงต้องไปจนแต้มที่วิธีคิดแบบพุทธๆ"