Skip to main content
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน

 
การได้พูดคุยกับนักเรียนที่เพิ่งจบชั้นมัธยมทำให้ได้รู้จักโลกของคนอีกยุคหนึ่ง  และทำให้เห็นข้อจำกัดของการศึกษาในทัศนะของพวกเขาเอง นอกจากนั้น เวลาเพียง 15 นาทีก็สามารถช่วยให้เห็นศักยภาพพิเศษของแต่ละคนได้ หากเอาใจใส่กับคำตอบของพวกเขาให้ดี
 
ผมมักไม่ถามนักเรียนทุกคนด้วยคำถามเดียวกัน เพราะแต่ละคนมีความสนใจแตกต่างกัน บางคนอาจถนัดที่จะตอบเรื่องบางเรื่องได้ดีกว่าบางเรื่อง บางคนอาจไม่เคยคิดไม่เคยสนใจบางเรื่องมาก่อน ก็จึงไม่สามารถแสดงตัวตน แสดงความคิดเห็นออกมาได้อย่างเต็มที่
 
ใน 10 คนที่ผมสัมภาษณ์ มีที่น่าสนใจอยากเล่าบางคน เช่นว่า มีคนหนึ่งผมถามว่า นอกจากหนังสือเรียนแล้วคุณอ่านหนังสืออะไรบ้าง นักเรียนตอบว่า อ่านนิยายแฟนตาซีและหนังสือประวัติศาสตร์ ผมถามว่าชอบประวัติศาสตร์อะไร ยุคไหน นักเรียนคนนี้ตอบว่า ชอบประวัติศาสตร์พระมหากษัตริย์ไทย ผมถามต่อว่าชอบประวัติของพระองค์ไหน นักเรียนคนนี้ตอบว่า ชอบประวัติพระนเรศวร 
 
เมื่อถามต่อว่าในประวัติพระนเรศวรที่อ่าน มีเรื่องจริงกี่% มีแฟนตาซีกี่% นักเรียนตอบว่า มีเรื่องจริง 50% แต่เมื่อถามต่อว่า ใน 50% ที่คุณคิดว่าเป็นเรื่องจริง แน่ใจได้อย่างไรว่าเป็นเรื่องจริงจริงๆ นักเรียนเริ่มงง ตอบไม่ได้ว่าแน่ใจได้อย่างไร นี่แสดงว่า หากนักเรียนคนนี้ไม่ใช่คนที่ไม่ตั้งใจเรียน ก็เพราะโรงเรียนไม่ได้สอน “ประวัติศาสตร์” แต่สอน “นิยายอิงประวัติศาสตร์” มากกว่า
 
นักเรียนหลายคนประสบปัญหาไม่สามารถแยกแยะความจริงออกจากนิทานได้ นักเรียนหลายๆ รุ่นที่ผมสัมภาษณ์รวมแล้วนับร้อยคน มักแสดงความรักต่อพระมหากษัตริย์ไทยสมัยอยุธยาในฐานะเป็นบรรพบุรุษของพวกเขา แต่เมื่อถามว่า เทือกเถาเหล่ากอพวกเขาเป็นคนที่ไหน ร้อยทั้งร้อยก็ไม่มีเกี่ยวข้องอะไรกับแผ่นดินสยามในสมัยอยุธยา หรือเชื่อมโยงอะไรไม่ได้กับแผ่นดินสมัยอยุธยา ไม่ได้มีบรรพบุรุษเป็นชาวอยุธยา
 
น่าสนใจว่านักเรียนจำนวนหนึ่งไม่ได้ศึกษาร่ำเรียนจากตำราเรียนเท่านั้น เมื่อถามว่าอ่านหนังสืออะไรบ้าง นักเรียนคนหนึ่งตอบว่าชอบอ่านนิยายและประวัติชีวิตคน เมื่อถามว่าเรื่องราวนอกตำราเรียนช่วยอะไรกับการเรียนไหม นักเรียนคนนี้ตอบว่า ช่วยให้ได้เรียนรู้อะไรนอกเหนือจากหน้ากระดาษของหนังสือได้ 
 
ผมจึงลองถามนักเรียนคนนี้ยากขึ้นอีกนิดว่า ที่ว่านอกหน้ากระดาษหนังสือนั้น คุณหมายถึงอะไร ระหว่างการอ่านนิยายแล้วได้อะไรมากกว่าหน้ากระดาษในตำราเรียน กับการอ่านนิยายแล้วได้อะไรมากกว่าหน้ากระดาษหนังสือนิยาย นักเรียนตอบอย่างแรก ว่าอ่านนิยายแล้วได้เห็นโลกนอกตำราเรียน
 
ปีนี้ก็เหมือนหลายๆ ปีที่ผมจะได้สัมภาษณ์นักเรียนที่มีพื้นฐานภาษาต่างประเทศดี จึงได้รู้ว่านักเรียนไทยเดี๋ยวนี้ไปอาศัยในต่างประเทศกันมาบ้างเหมือนกัน ปีนี้มีคนหนึ่งบอกว่าชอบภาษาอังกฤษ คะแนนภาษาอังกฤษเขาก็ดีจริงๆ ผมจึงลองสัมภาษณ์ด้วยภาษาอังกฤษดู ภาษาอังกฤษเขาดีกว่าผมในวัยเดียวกับเขามากนัก เขาบอกว่าส่วนหนึ่งก็เพราะเคยไปเรียนในโรงเรียนมัธยมต้นที่แคนาดา 
 
ผมถามนักเรียนคนนี้ว่า ให้บอกมา 3 อย่างว่าการศึกษาที่นั่นมีอะไรดีๆ ที่แตกต่างจากเมืองไทย เขาตอบทันทีว่า 1. เวลาเรียนน้อยกว่าไทย 2. ไม่ต้องสวมชุดนักเรียน 3. นักเรียนได้แสดงออกมากกว่าในโรงเรียนไทย ผมถามว่า เป็นเพราะอะไรโรงเรียนเขาถึงเป็นอย่างนั้น เขาบอกว่า เพราะสังคมแคนาดาให้เสรีภาพมากกว่าสังคมไทย
 
พูดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ นักเรียนที่ผมสัมภาษณ์จำนวนหนึ่งสนใจเรื่องการเมืองอย่างจริงจัง มีคนหนึ่งวิจารณ์การรัฐประหาร ผมจึงถามว่า ที่คนกรุงเทพฯ ว่าชาวบ้านถูกนักการเมืองหลอก คุณคิดว่าอย่างไร เขาตอบว่า ชาวบ้านเขาได้รับข่าวสารจากหลายๆ แหล่ง แล้วเขาตรวจสอบ เขาคิดเองได้ ผมถามต่อว่า ทหารเขาบอกจะเข้ามารักษาความสงบไม่ดีหรือ นักเรียนคนนี้ตอบว่า ก็ดี แต่จะใช้เวลานานเท่าไหร่ล่ะ แล้วประชาชนจะตรวจสอบได้ไหม 
 
ส่วนนักเรียนอีกคนหนึ่ง ผมถามว่าทำไมเราจะต้องเลือกตั้ง เขาตอบว่า เพราะการเลือกตั้งแสดงว่าหนึ่งคนมีสิทธิเท่ากัน ผมถามต่อว่าทำไมสิทธิจึงสำคัญ เขาตอบว่า ก็เพราะเราบอกว่าเราปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องเชื่อในสิทธิเท่าเทียมกันสิ ถ้าไม่บอกว่าปกครองในระบอบนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง
 
ถึงผมจะไม่เชื่อมั่นในการศึกษาในระบบมากนัก เพราะอย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ว่าการจัดระบบการศึกษาในบ้านเราบิดเบี้ยวขนาดไหน และเนื้อหาในตำราเรียนมีความจริงอยู่แค่ไหน แต่ผมก็ยังมีความหวังกับคนรุ่นใหม่ ด้วยเพราะเห็นว่าการเรียนรู้นอกระบบการศึกษา นอกชั้นเรียน กำลังแข่งขันกันให้ความรู้และความคิดที่แตกต่างออกไปจากการควบคุมของรัฐอย่างทรงพลัง 
 
การศึกษาในระบบในปัจจุบันจึงทำได้แค่เพียงให้พื้นฐานการเรียนรู้บางอย่าง แต่ส่วนของเนื้อหาและแนวทางการค้นหาความรู้ที่สำคัญต่อชีวิตนั้น การศึกษาขั้นพื้นฐานคงไม่ได้มีอิทธิพลมากนักอีกต่อไป

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน