Skip to main content
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน

 
การได้พูดคุยกับนักเรียนที่เพิ่งจบชั้นมัธยมทำให้ได้รู้จักโลกของคนอีกยุคหนึ่ง  และทำให้เห็นข้อจำกัดของการศึกษาในทัศนะของพวกเขาเอง นอกจากนั้น เวลาเพียง 15 นาทีก็สามารถช่วยให้เห็นศักยภาพพิเศษของแต่ละคนได้ หากเอาใจใส่กับคำตอบของพวกเขาให้ดี
 
ผมมักไม่ถามนักเรียนทุกคนด้วยคำถามเดียวกัน เพราะแต่ละคนมีความสนใจแตกต่างกัน บางคนอาจถนัดที่จะตอบเรื่องบางเรื่องได้ดีกว่าบางเรื่อง บางคนอาจไม่เคยคิดไม่เคยสนใจบางเรื่องมาก่อน ก็จึงไม่สามารถแสดงตัวตน แสดงความคิดเห็นออกมาได้อย่างเต็มที่
 
ใน 10 คนที่ผมสัมภาษณ์ มีที่น่าสนใจอยากเล่าบางคน เช่นว่า มีคนหนึ่งผมถามว่า นอกจากหนังสือเรียนแล้วคุณอ่านหนังสืออะไรบ้าง นักเรียนตอบว่า อ่านนิยายแฟนตาซีและหนังสือประวัติศาสตร์ ผมถามว่าชอบประวัติศาสตร์อะไร ยุคไหน นักเรียนคนนี้ตอบว่า ชอบประวัติศาสตร์พระมหากษัตริย์ไทย ผมถามต่อว่าชอบประวัติของพระองค์ไหน นักเรียนคนนี้ตอบว่า ชอบประวัติพระนเรศวร 
 
เมื่อถามต่อว่าในประวัติพระนเรศวรที่อ่าน มีเรื่องจริงกี่% มีแฟนตาซีกี่% นักเรียนตอบว่า มีเรื่องจริง 50% แต่เมื่อถามต่อว่า ใน 50% ที่คุณคิดว่าเป็นเรื่องจริง แน่ใจได้อย่างไรว่าเป็นเรื่องจริงจริงๆ นักเรียนเริ่มงง ตอบไม่ได้ว่าแน่ใจได้อย่างไร นี่แสดงว่า หากนักเรียนคนนี้ไม่ใช่คนที่ไม่ตั้งใจเรียน ก็เพราะโรงเรียนไม่ได้สอน “ประวัติศาสตร์” แต่สอน “นิยายอิงประวัติศาสตร์” มากกว่า
 
นักเรียนหลายคนประสบปัญหาไม่สามารถแยกแยะความจริงออกจากนิทานได้ นักเรียนหลายๆ รุ่นที่ผมสัมภาษณ์รวมแล้วนับร้อยคน มักแสดงความรักต่อพระมหากษัตริย์ไทยสมัยอยุธยาในฐานะเป็นบรรพบุรุษของพวกเขา แต่เมื่อถามว่า เทือกเถาเหล่ากอพวกเขาเป็นคนที่ไหน ร้อยทั้งร้อยก็ไม่มีเกี่ยวข้องอะไรกับแผ่นดินสยามในสมัยอยุธยา หรือเชื่อมโยงอะไรไม่ได้กับแผ่นดินสมัยอยุธยา ไม่ได้มีบรรพบุรุษเป็นชาวอยุธยา
 
น่าสนใจว่านักเรียนจำนวนหนึ่งไม่ได้ศึกษาร่ำเรียนจากตำราเรียนเท่านั้น เมื่อถามว่าอ่านหนังสืออะไรบ้าง นักเรียนคนหนึ่งตอบว่าชอบอ่านนิยายและประวัติชีวิตคน เมื่อถามว่าเรื่องราวนอกตำราเรียนช่วยอะไรกับการเรียนไหม นักเรียนคนนี้ตอบว่า ช่วยให้ได้เรียนรู้อะไรนอกเหนือจากหน้ากระดาษของหนังสือได้ 
 
ผมจึงลองถามนักเรียนคนนี้ยากขึ้นอีกนิดว่า ที่ว่านอกหน้ากระดาษหนังสือนั้น คุณหมายถึงอะไร ระหว่างการอ่านนิยายแล้วได้อะไรมากกว่าหน้ากระดาษในตำราเรียน กับการอ่านนิยายแล้วได้อะไรมากกว่าหน้ากระดาษหนังสือนิยาย นักเรียนตอบอย่างแรก ว่าอ่านนิยายแล้วได้เห็นโลกนอกตำราเรียน
 
ปีนี้ก็เหมือนหลายๆ ปีที่ผมจะได้สัมภาษณ์นักเรียนที่มีพื้นฐานภาษาต่างประเทศดี จึงได้รู้ว่านักเรียนไทยเดี๋ยวนี้ไปอาศัยในต่างประเทศกันมาบ้างเหมือนกัน ปีนี้มีคนหนึ่งบอกว่าชอบภาษาอังกฤษ คะแนนภาษาอังกฤษเขาก็ดีจริงๆ ผมจึงลองสัมภาษณ์ด้วยภาษาอังกฤษดู ภาษาอังกฤษเขาดีกว่าผมในวัยเดียวกับเขามากนัก เขาบอกว่าส่วนหนึ่งก็เพราะเคยไปเรียนในโรงเรียนมัธยมต้นที่แคนาดา 
 
ผมถามนักเรียนคนนี้ว่า ให้บอกมา 3 อย่างว่าการศึกษาที่นั่นมีอะไรดีๆ ที่แตกต่างจากเมืองไทย เขาตอบทันทีว่า 1. เวลาเรียนน้อยกว่าไทย 2. ไม่ต้องสวมชุดนักเรียน 3. นักเรียนได้แสดงออกมากกว่าในโรงเรียนไทย ผมถามว่า เป็นเพราะอะไรโรงเรียนเขาถึงเป็นอย่างนั้น เขาบอกว่า เพราะสังคมแคนาดาให้เสรีภาพมากกว่าสังคมไทย
 
พูดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ นักเรียนที่ผมสัมภาษณ์จำนวนหนึ่งสนใจเรื่องการเมืองอย่างจริงจัง มีคนหนึ่งวิจารณ์การรัฐประหาร ผมจึงถามว่า ที่คนกรุงเทพฯ ว่าชาวบ้านถูกนักการเมืองหลอก คุณคิดว่าอย่างไร เขาตอบว่า ชาวบ้านเขาได้รับข่าวสารจากหลายๆ แหล่ง แล้วเขาตรวจสอบ เขาคิดเองได้ ผมถามต่อว่า ทหารเขาบอกจะเข้ามารักษาความสงบไม่ดีหรือ นักเรียนคนนี้ตอบว่า ก็ดี แต่จะใช้เวลานานเท่าไหร่ล่ะ แล้วประชาชนจะตรวจสอบได้ไหม 
 
ส่วนนักเรียนอีกคนหนึ่ง ผมถามว่าทำไมเราจะต้องเลือกตั้ง เขาตอบว่า เพราะการเลือกตั้งแสดงว่าหนึ่งคนมีสิทธิเท่ากัน ผมถามต่อว่าทำไมสิทธิจึงสำคัญ เขาตอบว่า ก็เพราะเราบอกว่าเราปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องเชื่อในสิทธิเท่าเทียมกันสิ ถ้าไม่บอกว่าปกครองในระบอบนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง
 
ถึงผมจะไม่เชื่อมั่นในการศึกษาในระบบมากนัก เพราะอย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ว่าการจัดระบบการศึกษาในบ้านเราบิดเบี้ยวขนาดไหน และเนื้อหาในตำราเรียนมีความจริงอยู่แค่ไหน แต่ผมก็ยังมีความหวังกับคนรุ่นใหม่ ด้วยเพราะเห็นว่าการเรียนรู้นอกระบบการศึกษา นอกชั้นเรียน กำลังแข่งขันกันให้ความรู้และความคิดที่แตกต่างออกไปจากการควบคุมของรัฐอย่างทรงพลัง 
 
การศึกษาในระบบในปัจจุบันจึงทำได้แค่เพียงให้พื้นฐานการเรียนรู้บางอย่าง แต่ส่วนของเนื้อหาและแนวทางการค้นหาความรู้ที่สำคัญต่อชีวิตนั้น การศึกษาขั้นพื้นฐานคงไม่ได้มีอิทธิพลมากนักอีกต่อไป

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อต้องกลับมาชวนคนอ่านงานของบรมครูทาง "วัฒนธรรมศึกษา" คนหนึ่ง ที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนัก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปแม่ฮ่องสอนสามวัน ค้างสองคืน เพื่อร่วมงาน "ไทใหญ่ศึกษา" ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้จักวัฒนธรรมไทใหญ่มาก่อน พอจะรู้จากการอ่านงานเรื่อง "ฉาน" เรื่องรัฐไทใหญ่ เรื่องประวัติศาสตร์บ้างนิดหน่อย จึงมิอาจให้ความเห็นใดๆ กับอาหารไทใหญ่ได้ ทำได้แค่เพียงบอกเล่า "ความประทับใจแรกเริ่ม" ในแบบที่นักชาติพันธ์ุนิพนธ์ทั่วไปมักทำกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชาญวิทย์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานครบรอบ 72 ปีให้อาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์ุอยู่หลากหลายกลุ่ม พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และร่วมสร้างสังคม สร้างประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่อย่างขาดไม่ได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยมีนโยบายกลุ่มชาติพันธ์ุมาก่อน (ยาวนะครับ ถ้ายังอยู่ในโลก 8 บรรทัดโปรดอย่าอ่าน)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นนักคิดไทยสองคนออกมาเทศนาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า "ทำไมนักคิดไทย พอแก่ตัวลงต้องไปจนแต้มที่วิธีคิดแบบพุทธๆ"