Skip to main content

ในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์ ผมไม่อาจยินดีกับการที่ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จาก คสช. <--break->

หากท่านผู้บริหารระดับสูงจะวุ่นวายกับหน้าที่การงานเสียจนกระทั่งไม่มีโอกาสได้ประมวลวิเคราะห์เหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมาด้วยสายตาแบบนักประชาธิปไตยแล้วล่ะก็ ผมก็ขอพื้นที่เล็กน้อยนี้อธิบายสักหน่อยว่า บรรยากาศและโครงสร้างทางการเมืองปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างไร

ประการแรก ขณะนี้ประชาชนไม่มีเสรีภาพ ผมไม่บังอาจอธิบายท่านว่าเสรีภาพสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างไร เสรีภาพประการหนึ่งที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยคือเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยสุจริตใจและโดยไม่ละเมิดผู้ใด 

มาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ดูราวกับจะคุ้มครองเสรีภาพ กลับถูกค้ำคอไว้ด้วยมาตรา 44 ที่ให้อำนาจล้นเหลือแก่หัวหน้า คสช. และประกาศ คสช. ว่าด้วยศาลทหารที่ผู้ต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้จะต้องถูกนำไปพิจารณาคดีโดยศาลทหาร นี่จะทำให้มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นหลักประกันว่าเรามีเสรีภาพได้อย่างไร

ประการที่สอง ขณะนี้สิทธิของประชาชนถูกละเมิดกันถ้วนหน้า นอกเหนือจากการจับกุมคุมขังและปิดกั้นเสรีภาพในการเดินทางของผู้คนจำนวนมากแล้ว ผู้ที่ผ่านการพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรมปกติและได้อิสรภาพมาแล้วกลับถูกเรียกไปรายงานตัวโดยไม่มีทางรู้ได้ว่าเขาจะถูกดำเนินคดีโดยศาลทหารหรือไม่ มีประชาชนถูกคุกคามรุกไล่ที่ทำกินด้วยกำลังอย่างป่าเถื่อน บริการของรัฐที่มีผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศถูกสั่นคลอน เช่นในเรื่องสาธารณสุข เรื่องการสื่อสาร 

เหล่านี้ล้วนกระทบต่อสิทธิของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการได้รับความยุติธรรมอย่างบริสุทธิ์โปร่งใสสมเหตุสมผล สิทธิในการทำมาหากิน สิทธิในการได้รับบริการของรัฐ สิทธิในการสื่อสาร เป็นต้น ทั้งนี้ยังไม่นับสิทธิในร่างกายที่ถูกละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างง่ายดายและดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายกรณี

ประการที่สาม ขณะนี้ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมในการปกครองได้แม้แต่น้อย การปกครองโดยนักการเมืองที่ว่ากันว่าเป็นเผด็จการรัฐสภานั้น ยังมีการเดินขบวนประท้วง มีการวิจารณ์ผ่านสื่อมวลชน มีการใช้สื่อชุมชนวิจารณ์ มีการตรวจสอบในรัฐสภา และมีการเลือกตั้งตามวาระ เหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ประชาชนจะทัดทานและถือเป็นกระบวนการของการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ 

ขณะนี้เรามีสิ่งนั้นหรือไม่ ประกาศคสช.ฉบับที่ 97 และการสั่งให้ควบคุมสื่อ การไม่มีรัฐสภา การหยุดยั้งการเลือกตั้งแม้กระทั่งในระดับท้องถิ่น การควบคุมข่าวสารทั้งหมด การจับกุมคุกคามผู้คนที่มีความเห็นแตกต่างจาก คสช. เหล่านี้จะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร 

หากจะแย้งว่า ก็การมีส่วนร่วมทางการเมืองเหล่านั้นนำมาซึ่งความแตกแยกและความรุนแรงไม่ใช่หรือ ก็ขอให้กลับไปถามนักสันติวิธีที่ก็เป็นที่ปรึกษาผู้มีอาชีพใช้กำลังดูว่าท่านสามารถให้ทางเลือกที่สันติในการจัดการความขัดแย้งในสังคมประขาธิปไตยได้หรือไม่ ถ้าท่านเหล่านั้นไม่มีคำตอบ ก็คงต้องขอริบปริญญาและตำแหน่งทางวิชาการต่างๆ ของนักสันติวิธีเหล่านั้นคืน

ประการที่สี่ ขณะนี้เรากำลังเดินหน้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้จริงหรือ ทำไมไม่เลือกใช้วิถีทางที่เป็นประชาธิปไตยในการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์กว่าเล่า ทำไมจะต้องหยุดการเลือกตั้ง หยุดการมีรัฐสภา ปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง ปิดกั้นความเห็นที่แตกต่างทั้งหมดเล่า ไม่ฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จำกัดการเข้าร่วม ใช้กำลังควบคุมความเห็นที่แตกต่าง วิธีการเหล่านี้จะทำให้เราได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้อย่างไร 

มีตำราหรือประสบการณ์จากที่ไหนในโลกว่าไว้อย่างนั้นหรือ มีแนวคิดแปลกใหม่อะไรที่จะสร้างสังคมประชาธิปไตยจากสังคมเผด็จการได้หรือ มีประสบการณ์จากประเทศไหนบอกไว้แล้วผมพลาดไปอย่างนั้นหรือ หรือว่าลำพังความพิเศษของสังคมไทยจะทำให้เกิดสิ่งนั้นได้จริงหรือ ถ้าได้ ทำไมสังคมไทยไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ปราศจากการคอร์รัปชั่นมานานแล้วล่ะ การรัฐประหารที่สัญญาว่าจะนำมาซึ่งประชาธิปไตยและการขจัดการโกงกินเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วไม่ใช่หรือ แล้วทำไมสังคมไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยสักที หรือเพราะเราเชื่อมั่นในระบอบเผด็จการมากกว่ากันแน่

ถ้าจะถามผมกลับว่า แล้วผมจะแก้ปัญหาความรุนแรงก่อนหน้านั้นในวิถีทางประชาธิปไตยอย่างไร แล้วผมมีแนวทางที่จะนำประเทศกลับสู่สันติได้อย่างไร แล้วผมจะแก้ปัญหาการโกงกินคอร์รัปชั่นอย่างไร ที่จริงแนวทางเหล่านั้นมีอยู่ และมีข้อเสนอมากมายจากผู้มีความรู้ความคิดมากมาย แต่มันไม่ถูกเปิดให้เลือก ก็เพราะอำนาจรุนแรงเบ็ดเสร็จบอกปัดแนวทางเหล่านั้นไม่ใช่หรือ 

ลำพังหากว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นมาบนกำเนิดของวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยและเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยแล้วล่ะก็ การเข้าดำรงตำแหน่ง สนช. ก็ไม่อาจนับเป็นเกียรติประวัติที่ดีเด่นสำหรับประชาคมทางวิชาการแห่งนี้ได้อยู่แล้ว 

แต่นี่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เกิดขึ้้นมาจากดอกผลของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (democracy with constitutional monarchy) ยิ่งทำให้การเข้าดำรงตำแหน่ง สนช.ของผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสิ่งที่น่าอับอาย ทำลายเกียรติประวัติทั้งของผู้เข้ารับตำแหน่งเองและของประชาคมมากยิ่งขึ้นไปอีก

ด้วยรักและปรารถนาดีต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน