Skip to main content
 
 
เมื่อวันจันทร์ (11 สค.) หลังจากใช้เวลาอยู่ใน Field Museum (ซึ่งพอดีมีนิทรรศการว่าด้วยกำเนิดของ Field Museum ที่เกี่ยวข้องกับกำเนิดของมานุษยวิทยาอเมริกันอย่างยิ่ง) ไปกว่า 4 ชั่วโมงแล้ว ผมลังเลอย่างยิ่งที่จะเข้าชม The Art Institute of Chicago ต่อ เพราะเกรงว่าจะไม่ทันได้ครุ่นคิดอะไรกับความรู้และความรู้สึกแบบอัดแน่นจากเมื่อ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา 

 
แต่แล้วผมก็ตัดสินใจเข้าสถาบันศิลปะทั้งๆ ที่มีเวลาเพียงอีกหนึ่งชั่วโมงครึ่งก็จะถึงเวลาปิดแล้ว มีสิ่งเดียวที่ดึงผมเข้าไปได้ในเวลาที่เหลือน้อยนิด นั่นก็คือภาพเรอเน มากริตต์ขนาดมหึมาหน้าสถาบันศิลปะแห่งนี้ 
 
อย่างที่หลายๆ คนทราบดีอยู่แล้วว่า สถาบันศิลปะแห่งนี้มีคอลเล็คชั่นงานศิลปะจำนวนและชิ้นงานสำคัญๆ เทียบกันไม่ได้กับสถาบันศิลปะแห่งอื่นๆ เช่น หากจะเทียบงานศิลปะสมัยใหม่แล้ว ก็เทียบไม่ได้เลยกับ the MoMA ของนิวยอร์ค แต่จากการใช้เวลาโฉบๆ ชมและถ่ายรูปแบบไวๆ ก็พบว่าที่นี่ก็พอจะมีงานชิ้นดังๆ เท่าที่ความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลป์อันจำกัดของผมจะประเมินได้อยู่นับสิบชิ้น
 
แต่ที่เกินคาดและผมถือว่าคุ้มค่าเป็นส่วนตัวคือการแสดงนิทรรศการพิเศษที่รวมรวมผลงานของมากริตต์น่าจะนับ 100 ชิ้นมาแสดงในช่วงเวลาที่ผมไปเยี่ยมชมพอดี ภาพหลายภาพ ผลงานหลายชิ้น ล้วนผ่านหูผ่านตามาหลายต่อหลายครั้ง หลายคนก็คงเคยเห็นและติดตาติดใจ แต่โอกาสที่จะได้เห็นภาพต้นฉบับอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ คงเป็นไปได้ยากมาก เสียดายที่เขาไม่ให้ถ่ายภาพ
 
ผลงานเท่าที่ผมจดมาตามความประทับใจที่มีอยู่เดิมต่อภาพเหล่านี้ก็ได้แก่ The Lovers ภาพคนคลุมผ้าจูบกัน, This is not a pipe อันโด่งดัง, Threatening Weather เมฆก่อรูปความฝัน, The False Mirror ดวงตาสะท้อนท้องฟ้า, The Human Condition ภาพทิวทัศน์ที่สนิทกับทิวทัศน์, The Rape ที่ผมบันทึกมา, Black Magic ภาพนู๊ดลวงตาที่ไม่ค่อยพูดถึงกันนัก
 
The Red Model ภาพรองเท้ารูปเท้า, The Healer คนใส่หมวกคลุมผ้าตัวเป็นกรงนก, Clairvoyance ศิลปินวาดรูปไข่แต่กลายเป็นนกในผ้าใบ, Time Transfixed รถไฟวิ่งออกมาจากเตาผิงข้างผนัง ที่จริงมีงานอื่นๆ อีกมากมาย แต่ผมเลือกงานเหล่าน้เพราะติดตาประทับใจเองมาเนิ่นนานแล้ว
 
 
เมื่อเทียบกับภาพเขียนพวกเซอร์เรียลคนอื่นๆ ผมชอบมากริตต์ตรงที่การใช้ภาพและสัญลักษณ์ที่ปกติสามัญทั่วไป แถมยังใช้สีเรียบง่าย สดใส และมักใช้เทคนิคการเขียนภาพแบบสมจริง แต่กลับสามารถตั้งคำถามและสร้างความรู้สึกแปลกใหม่ได้อย่างน่าประหลาด มากริตต์ไม่ค่อยเล่นกับเซ็กซ์และความรุนแรงอย่างตรงไปตรงมาหรือเกรี้ยวกราดมากนัก แต่เขาจะอาศัยรูปสัญลักษณ์ที่ต้องตีความ ที่จริงก็มีบ้างเหมือนกันที่เขาวาดรูปคนกินนกแบบสดๆ เลือดสาด แต่ก็ต้วยโทนสีที่เงียบสงบ ที่จะมียากบ้างก็บรรดาสัญลักษณ์เฉพาะตัวของเขาเองที่กลายเป็น motif เฉพาะตัวของเขา เช่นเมฆ หมวก กระดาษตัด เสาประดับโค้งๆ ดวงตา
 
ในแง่ความคิด ผมชอบงานมากริตต์ตรงที่งานเขาตั้งคำถามกับการถ่ายทอดความจริงทางศิลปะ เช่น การเล่นกับภาพแทนความจริงผ่านการล้อเลียนภาพสามมิติด้วยการทำให้มันสองมิติ การเล่นกับภาพลวงตาที่ประกอบจากมุมมองและการจัดวางภาพ การพิจารณาความซับซ้อนและทับซ้อนกันของอักษร ภาพ และความจริง เช่นภาพอันโด่งดังคือ This is not a pipe. และการท้าทายความเข้าใจแบบปกติสามัญด้วยการนำเอาสัญลักษณ์ที่ไม่เข้ากัน ไม่เป็นระบบต่อเนื่องกัน อยู่กันคนละที่ละทางมาวางไว้ด้วยกันจนเกิดความหมายแปลกใหม่ เกิดความรู้สึกประหลาด
 
ประเด็นเหล่านั้นบอกเล่าอยู่ในนิทรรศการพิเศษนี้อย่างครบครันด้วยคำบรรยายภาพมากมาย จนกระทั่งบางครั้งผมดูไปอ่านไปแล้วรู้สึกว่ามันมากเกินไปด้วยซ้ำ
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มาดูภาพด้วยตาตนเองอย่างใกล้ชิดแล้ว ก็เห็นความพิถีพิถันประณีตบรรจงในการทำงานศิลปะของมากริตต์ ผลงานของมากริตต์ส่วนใหญ่เป็นภาพสีน้ำมัน ขนาดไม่ใหญ่มาก แต่บางภาพก็ใหญ่มาก เมื่อได้ดูภาพใกล้ๆ จนได้เห็นฝีแปรงพู่กัน ได้เห็นการสอดสี ก็ทำให้เข้าใจวิธีการสร้างภาพของมากริตต์ ที่อาศัยเทคนิคแบบภาพสมจริงเป็นหลัก แต่สร้างความไม่สมจริงจากการประกอบภาพ อย่างไรก็ตาม มากริตต์ก็ทดลองสร้างภาพที่สื่อสารกันระหว่างภาพวาดหลายๆ ภาพ ข้ามกรอบรูปด้วยเช่นกัน ผลงานของเขาลางชิ้นจึงไม่ได้เป็นเพียงภาพๆ เดียวโดดๆ แต่ประกอบจากหลายๆ ภาพ
 
นอกจากนั้น การได้มาดูเองยังทำให้ได้เห็นขนาดของภาพ สี และแสง ที่แตกต่างจากที่เคยคิดเคยเห็นหรือไม่มีโอกาสจินตนาการได้ชัดเจนเท่ากับที่เมื่อได้เห็นภาพต้นฉบับ เช่น This is not a pipe. นั้น มีขนาดใหญ่กว่าที่ผมเคยจินตนาการไว้มากนัก นอกจากนั้นงานครั้งนี้ยังรวบรวมเอาภาพถ่ายและภาพพิมพ์จำนวนหนึ่งของมากริตต์มาแสดงด้วย ทำให้ได้เห็นผลงานที่มักไม่ค่อยเห็นกันนักมากขึ้น แต่ที่น่าผิดหวังหน่อยหนึ่งคือ เขาน่าจะนำภาพยนตร์ที่มากริตต์น่าจะมีส่วนร่วมสร้างกับศิลปินคนอื่นๆ มาแสดงบ้าง 
 
ณ ที่ซึ่งเคยเก็บทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์มาก่อนแห่งนี้ ยังมีผลงานศิลปะเอเชีย ศิลปะยุโรป และศิลปะอเมริกันพื้นเมืองอีกมากมายที่ผมยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากพอในการศึกษา-ชื่นชม แม้จะถูกตราหน้าว่า "ซื้อของโจร" มาก่อนแล้วก็ตาม สถาบันแห่งนี้ก็ยังมีบทบาทสำคัญในการให้การศึกษาเทียบเคียงสุนทรีย์ศาสตร์ทั้งที่หลากหลายและที่เป็นสากลของมนุษยชาติผ่านวัตถุทางศิลปะ ทั้งแก่ชาวเมืองนี้เองและผู้เข้าเยี่ยมชมจากทั่วโลก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
นี่เป็นข้อเขียนภาคทฤษฎีของ "การเมืองของนักศึกษาปัจจุบัน" หากใครไม่ชอบอ่านทฤษฎีก็ขอร้องโปรดมองข้ามไปเถอะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จริงหรือที่นักศึกษาไม่สนใจการเมือง ขบวนการนักศึกษาตายแล้วจริงหรือ ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าการถกเถียงเรื่องเครื่องแบบ เรื่องทรงผม เรื่องห้องเรียน เป็นเรื่องการเมืองได้อย่างไร แล้วดูแคลนว่ามันเป็นเพียงเรื่องเสรีภาพส่วนตัว เรื่องเรียกร้องเสรีภาพอย่างเกินเลยแล้วล่ะก็ คุณตกขบวนการเมืองของยุคสมัยไปแล้วล่ะ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะบุคคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผู้หนึ่ง ผมขอเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วนที่อธิการบดีคนต่อไปควรเร่งพิจารณา เพื่ิอกอบกู้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นบ่อน้ำบำบัดผู้กระหายความรู้ และเป็นสถาบันที่เคียงข้างประชาชนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกประกอบการพูดเรื่อง "การศึกษาไทย" เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเสนอว่าเรากำลังต่อสู้กับสามลัทธิคือ ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา และลัทธิแบบฟอร์ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษาไทยไทย: ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" เป็นโจทย์ที่นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ตั้งขึ้นอย่างท้าทาย พวกเขาท้าทายทั้งระบบการเรียนการสอน วัฒนธรรมการศึกษา เนื้อหาในหลักสูตร และระบบสังคมในสถานศึกษา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะที่ร่วมก่อตั้งและร่วมงานกับ "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสปิริตของการทำงานของ ศปช. กับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ามองหลักสิทธิมนุษยชนต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ดี นี่เป็นทัศนะและหลักการของผมเองในการร่วมงานกับ ศปช. ซึ่งอาจแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำตัดสินของศาลอาญาในกรณี 6 ศพวัดประทุมฯ ชวนให้นึกถึงภาพถ่ายเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ใต้ต้นมะขามต้นหนึ่งที่สนามหลวง นอกจากภาพชายคนที่ใช้เก้าอี้ตีศพที่ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามแล้ว ภาพผู้คนที่รายล้อมต้นมะขามซึ่งแสดงอาการเห็นดีเห็นงามหรือกระทั่งสนับสนุนอยู่นั้น สะเทือนขวัญชาวโลกไม่น้อยกว่าภาพชายใช้เก้าอี้ทำร้ายศพ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเคยนั่งในพิธีรับปริญญาบัตรในฐานะผู้รับและในมุมมองของผู้ให้มาแล้ว แต่ไม่เคยได้นั่งในพิธีในฐานะผู้สังเกตการณ์จากบนเวทีแบบเมื่อครั้งที่ผ่านมานี้มาก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฐมลิขิต: ใครรังเกียจทฤษฎี เกลียดงานเขียนแบบหอคอยงาช้าง ไม่ต้องพลิกอ่านก็ได้นะครับ และเวลาผมใส่วงเล็บภาษาอังกฤษหรืออ้างนักคิดต่างๆ นี่ ไม่ได้จะโอ่ให้ดูขลังนะครับ แต่เพื่อให้เชื่อมกับโลกวิชาการสากลได้ ให้ใครสนใจสืบค้นอ่านต่อได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะว่าไป กสทช. คนที่แสดงความเห็นต่อเนื้อหาละครฮอร์โมนนั้น ดูน่าจะเป็นคนที่สามารถวิเคราะห์ เข้าใจสังคมได้มากที่สุดในบรรดา กสทช. ทั้ง 11 คน เพราะเขามีดีกรีถึงปริญญาเอกทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโด่งดังในเยอรมนี ต่างจากคนอื่นๆ ที่ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นทหารหรือใครที่สมยอมกับการรัฐประหารปี 2549 แล้ว ก็เป็นช่างเทคนิคทางด้านการสื่อสาร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า "ไม่รู้อาจารย์ผู้ชายทนสอนหนังสือต่อหน้านักศึกษานุ่งสั้นที่นั่งเปิดหวอหน้าห้องเรียนได้อย่างไร" สำหรับผม ก็แค่เห็นนักศึกษาเป็นลูกเป็นหลานก็เท่านั้น แต่สิ่งยั่วยวนในโลกทางวิชาการมีมากกว่านั้นเยอะ และบางทีจะยิ่งหลบเลี่ยงยากยิ่งกว่าการสร้าง incest taboo ในจินตนาการขึ้นมาหน้าห้องเรียน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนมนุษยศาสตร์จำนวนมากสนใจวิธีการและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ แต่นักสังคมศาสตร์เขาตั้งท่าทำวิจัยกันอย่างไร แล้วหากนักมนุษยศาสตร์จะใช้วิธีการและทฤษฎีแบบสังคมศาสตร์บ้างจะทำอย่างไร