Skip to main content

ท่านถามอย่างนี้กับสื่อมวลชน ต่อหน้าสาธารณชน ใครเขาจะกล้าตอบ ก็ในเมื่อท่านมีปืนอยู่ในมือ ใครเอาปืนจี้หัวท่านไว้แล้วท่านจะตอบความในใจที่ขัดความรู้สึกเขาได้ไหมล่ะ เรื่องแค่นี้น่าจะเข้าใจนะ

 
ที่จริงประเทศชาติเสียหายตั้งแต่ท่านยังไม่ได้ยึดอำนาจแล้ว ตั้งแต่ท่านไม่ปกป้องประชาชนยังไม่พอแต่กลับร่วมสังหารประชาชนเมื่อปี 2553 แล้ว แต่ท่านไม่ยอมรับความผิดพลาดของตนเอง แล้วยังมาก่อความเสียหายเพิ่มอีก 
 
แต่ก็เอาล่ะ พูดกันดีๆ ก็ได้ คงมีหลายคนตอบคำถามนี้ไปแล้ว ผมแค่อยากตอบในแบบของผมบ้าง
 
ข้อแรก "ประชาชนสูญเสียสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน" สิ่งนี้ชาวโลกปัจจุบันเขาเรียกกันว่าสิทธิมนุษยชน (ไม่ทราบว่าเรียนกันบ้างไหมในโรงเรียนทหารน่ะ แล้วเรียนเพื่อให้ดื่มด่ำซึมซับหรือเรียนเพื่อหาวิธีละเมิดแบบนุ่มนวลไร้ร่องรอยกันแน่) ประเทศไทยก็ยอมรับสิ่งนี้ ถ้ารัฐบาลของท่านจะไม่ยอมรับก็ประกาศมาเลยตรงๆ ไม่ต้องอ้อมค้อมว่าเคารพแต่จะไม่ปฏิบัติตาม
 
เอาง่ายๆ นักวิชาการจะจัดสัมมนาให้ความรู้นักศึกษาและประชาชนเรื่องประชาธิปไตยแม้แต่ในรั้วมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ ใครจะเดินขบวนประท้วงโดยสงบแม้ว่าจะเป็นเรื่องปากท้องก็ไม่ได้ ใครจะวิจารณ์ก็ไม่ได้ ฯลฯ แถมท่านยังไม่เคลียร์ว่าคนที่ถูกจับไปทำไมเขาต้องหนีเมื่อถูกปล่อยตัวมา ทำไมถูกจับเกินกำหนดเวลาของกฎหมาย ทำไมมีคำบอกเล่ามากมายว่าลูกน้องท่านทรมานหรือคุกคามว่าจะทำร้ายพวกเขา นี่ยังไม่นับการอ้างกฎหมาย 112 มาใช้คุกคามประชาชน
 
ข้อสอง "วิถีประชาธิปไตยหยุดชะงักลง" โดยไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาได้ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น พัฒนาการในระดับท้องถิ่นในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญ จนทำให้ประชาธิปไตยเริ่มลงหลักปักฐานในท้องถิ่น การระงับการเลือกตั้งท้องถิ่นส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการกระจายอำนาจ กระทบกระบวนการตัดสินใจในท้องถิ่น กระทบพัฒนาการของเครือข่ายประชาชนในท้องถิ่น
 
ผลเสียร้ายแรงคือการทำให้การเมืองแบบตัวแทนไร้ความหมาย ทำให้การเมืองไทยย้อนกลับไปสู่การเมืองที่ระบบตัวแทนล้มเหลวอีกครั้ง เนื่องจากการรวบอำนาจกลับคืนสู่กลุ่มบุคคลไม่กี่คน รวบอำนาจสู่ข้าราชการ นักธุรกิจ และนักวิชาการไม่กี่คน ยิ่งพวกท่านคงอำนาจไว้นานเท่าไหร่ ระบบประชาธิปไตยก็จะยิ่งเสื่อมทรามลง ประชาธิปไตยสมบูรณ์อะไรของท่านน่ะ ไม่ต้องพูดถึงหรอก ดูจากที่ท่านบริหารประเทศมาเกือบ 4 เดือนแล้ว ท่านไม่รู้ด้วยซ้ำว่าประชาธิปไตยคืออะไร จะมาสร้างความสมบูรณ์ให้ได้อย่างไร
 
ข้อสาม "สูญเสียธรรมาภิบาลของการบริหารประเทศ" หลักการข้อหนึ่งทำสำคัญของระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบันคือการแยกอำนาจเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลกันและกัน ทุกวันนี้ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นอะไรได้เลย เพราะไม่มีทางที่ประชาชนจะตรวจสอบการบริหารงานของพวกท่านได้ สภานิติบัญญัติพวกท่านก็ตั้งขึ้นเอง รัฐบาลพวกท่านก็ตั้งขึ้นเอง พวกท่านไม่มีโยงใยอะไรกับประชาชนเลย จะให้ประชาชนเชื่ออะไรได้ ท่านจะอยู่ในตำแหน่งนานแค่ไหนก็ไม่มีใครรู้ ขณะนี้แม้แต่อัยการสูงสูดยังหวั่นเกรงว่าท่านจะเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญของพวกเขาเลย
 
เมื่อไม่มีการตรวจสอบการใช้อำนาจโดยประชาชน แม้แต่วิจารณ์ก็ยังไม่ได้ ไม่ชอบ ไม่อยากฟัง หงุดหงิดไปหมด อยากจับไปหมด แล้วใครจะรับรองพวกท่าน จะให้เชื่อตามเพลงท่านอย่างเดียวน่ะเหรอ ไม่ตลกฝืดไปหน่อยหรือ มีเด็กอมมือที่ไหนเชื่อท่านบ้างถ้าท่านไม่มีปืนน่ะ ธรรมาภิบาลตามเสียงเพลงท่านน่ะเหรอ
 
ข้อสี่ "ทิศทางของประเทศสั่นคลอน" เมื่อไม่มีการตรวจสอบอำนาจรัฐได้อีกต่อไป อนาคตของประเทศจะไปทางไหนไม่มีทางรู้ ระบบเส้นสายจะกลับมาในระบบราชการ ทั้งจะมีสร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่เอื้อกับคนบางกลุ่มบางพวก ท่านบอกเองว่าท่านไม่ได้มาจากประชาชน นโยบายท่านก็จึงไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน พวกคนเก่งรายล้อมท่านน่ะ มีสักกี่คนกันที่เข้าใจตาสีตาสา มีสักกี่คนที่เอาใจชาวบ้านมาใส่ในนโยบาย 
 
เมื่ออำนาจการกำหนดชะตาของประเทศอยู่ในมือพวกท่านไม่กี่คนอย่างลึกลับตรวจสอบไม่ได้ ใครที่ไหนจะอยากมาลงทุนในประเทศนี้อีกต่อไป ท่านคิดว่าเงินทองที่ท่านใช้อยู่มาจากน้ำพักน้ำแรงของชาวไร่ชาวนาแล้วขายข้าวพวกนั้นมาซื้ออาวุธ มาหาน้องๆ หนูๆ บำเรอปรนเปรอพวกท่านได้เหรอ ท่านไม่ได้เข้าใจอะไรง่ายๆ แค่นั้นใช่ไหม เงินตราต่างประเทศที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยในรูปการท่องเที่ยว ที่มาลงทุนในโครงการต่างๆ ท่านจะบอกว่าไม่สำคัญเหรอ แล้วถ้าพวกเขาไม่มั่นใจที่จะมาเที่ยว ไม่รู้ว่าลงทุนไปแล้วอนาคตพวกคนเก่งรอบตัวท่านจะเสนอนโยบายอะไร ใครจะอยากมาลงทุน
 
ข้อห้า "ทำลายการศึกษา" ข้อนี้เป็นความสนใจส่วนตัวของผมเองในฐานะคนในระบบการศึกษา ค่านิยม 12 ประการของท่านไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาความคิดความอ่านเลย หากไม่นับการลิดรอนเสรีภาพที่พวกท่านทำกันรายวันแล้ว ค่านิยม 12 ประการกลับส่งเสริมระบบคุณค่าแบบอาวุโส อำนาจนิยม และลดทอนคุณค่าความเป็นคนให้อยู่ใต้ความนิยมต่อความเชื่อไร้เหตุผล สร้างความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ความเป็นไทย ทั้งยังส่งเสริมระบอบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความก้าวหน้าของสังคม
 
นอกจากนั้น การหว่านโปรยเศษอำนาจของพวกท่านให้กับผู้บริหารมหาวิทยาลัยส่งผลเสียต่อการบริหารมหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง เอาง่ายๆ ว่า จะเป็นไปได้อย่างไรที่ใครจะสามารถทำงานเต็มเวลาได้มากกว่าหนึ่งงาน ท่านนายกรัฐมนตรีเองก็เหมือนกัน ที่ทำอยู่ทุกวันนี้หลายๆ ตำแหน่งน่ะ ทำได้ดีสักตำแหน่งหรือ ผลเสียอีกประการที่สำคัญคือ เมื่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้าไปรับใช้เผด็จการแล้ว เสรีภาพในการแสดงออกในมหาวิทยาลัยจะยังมีอยู่ได้อย่างไร หากการศึกษาไม่ได้วางอยู่บนเสรีภาพในการแสดงออก การศึกษาจะก้าวหน้าไปได้อย่างไร
 
ข้อหก "ทำลายชื่อเสียงของประเทศชาติ" ชื่อเสียงของประเทศชาติย่อยยับไปตั้งแต่วินาทีที่ท่านทำรัฐประหารแล้ว นี่ท่านยังไม่รู้ตัวอีกหรือ ไม่มีใครบอกความจริงข้อนี้กับท่านบ้างเลยหรือ แล้วการแสดงปาฐกถารายสัปดาห์ของท่าน การแสดงทัศนะต่อเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ของท่าน การใช้คำพูดดูถูกผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตของท่าน การพูดจาดูหมิ่นคนที่ท่านกล่าวหาว่าเป็นอาชญากร ตลอดจนการใช้วาจาที่ไม่รู้จักระงับควบคุมตัวเอง ตีสำนวนราวกับไม่รู้ฐานะว่าตนเองเป็นผู้นำของชาติอยู่ ใช้วาจาไม่เคารพให้เกียรติประชาชนที่จ่ายภาษีเลี้ยงดูพวกท่านอยู่
 
เหล่านี้ทำลายชื่อเสียงของประเทศชาติอย่างย่อยยับ ทำให้ไทยกลายเป็นเมืองที่น่าขบขันปนน่าสมเพชมากกว่าตลกอย่างบันเทิง ทำให้คนไทยทั้งชาติดูเป็นคนไม่รู้กาละเทศะแบบผู้นำ ทำให้คนไทยดูเสื่อมทรามทางมนุษยธรรมที่กล่าวร้ายได้แม้กระทั่งเหยื่อของอาชญากรรม ฯลฯ เสื่อมเสียความน่าคบหา ไม่น่ามาเยี่ยมเยือน น่าอับอายในหลายด้านเสียจนสุดจะพรรณนาในพื้นที่แคบๆ ได้
 
แค่นี้เพียงพอไหมที่จะตอบว่าประเทศชาติเสียหายอะไรบ้างตั้งแต่วินาทีที่ท่านทำรัฐประหารเข้ามาบริหารประเทศ
 
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อต้องกลับมาชวนคนอ่านงานของบรมครูทาง "วัฒนธรรมศึกษา" คนหนึ่ง ที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนัก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปแม่ฮ่องสอนสามวัน ค้างสองคืน เพื่อร่วมงาน "ไทใหญ่ศึกษา" ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้จักวัฒนธรรมไทใหญ่มาก่อน พอจะรู้จากการอ่านงานเรื่อง "ฉาน" เรื่องรัฐไทใหญ่ เรื่องประวัติศาสตร์บ้างนิดหน่อย จึงมิอาจให้ความเห็นใดๆ กับอาหารไทใหญ่ได้ ทำได้แค่เพียงบอกเล่า "ความประทับใจแรกเริ่ม" ในแบบที่นักชาติพันธ์ุนิพนธ์ทั่วไปมักทำกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชาญวิทย์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานครบรอบ 72 ปีให้อาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์ุอยู่หลากหลายกลุ่ม พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และร่วมสร้างสังคม สร้างประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่อย่างขาดไม่ได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยมีนโยบายกลุ่มชาติพันธ์ุมาก่อน (ยาวนะครับ ถ้ายังอยู่ในโลก 8 บรรทัดโปรดอย่าอ่าน)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นนักคิดไทยสองคนออกมาเทศนาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า "ทำไมนักคิดไทย พอแก่ตัวลงต้องไปจนแต้มที่วิธีคิดแบบพุทธๆ"