Skip to main content

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเข้าร่วมกิจกรรมสังคมวิชาการซ้ำซ้อนกันหลายงาน ตั้งแต่บรรยายเรื่องการทำวิจัยในเวียดนามให้นักศึกษาบัณฑิตศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟัง ต่อด้วยปาร์ตี้ประจำปีของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหา'ลัยวิสคอนซิน ซึ่งเป็นงานแบบ potluck party และก็ฟองดูปาร์ตี้เล็กๆ ที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่าขนมปังจุ่มชีสต้มเดือด ทั้งหมดนั้นได้อะไรสนุกๆ มามากมาย

วันที่คุยกันเรื่องการวิจัย ผมก็เล่าไปว่าก่อน ระหว่าง และหลังการวิจัยที่เวียดนามผมทำอะไรบ้าง ทำไมไปที่นั่น ไปแล้วอยู่อย่างไร ทำอะไร มีใครช่วยบ้าง แล้วรอดมาได้อย่างไร จนหลังจากนั้นขณะนี้ผมคิดอะไรกับการวิจัยของผม กำลังพัฒนาอะไรอยู่ พูดแบบรวบรัดในเวลาแค่ 1 ชั่วโมงนี่ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ ไม่นับรูปอีกมากมาย ทั้งหมดก็ยังความทรงจำเก่าๆ และความสุขที่ได้พูดถึงงานวิจัยอันบ้าบิ่นที่จนบัดนี้ยังผลิตงานออกมาจากข้อมูลที่เก็บมาได้ไม่หมดสิ้น

หลังการบรรยาย เพื่อนเก่าและเพื่อนใหม่สองสามคนก็ไปนั่งดื่มกันที่บาร์ของมหา'ลัย ใช่ครับ ที่นี่เขามีความรับผิดชอบกันดีพอที่จะเปิดบาร์กลางมหา'ลัยเลย เป็นของสโมสรนักศึกษาด้วยซ้ำ ต้องอายุถึง 21 ต้องเป็นสมาชิกมหา'ลัย ถึงจะดื่มได้ เครื่องดื่มหลักคือเบียร์ เดี๋ยวนี้มีให้ชิมก่อนสั่ง จิบๆ ชิมสัก 2-3 รสค่อยซื้อก็สุขแล้ว

เราคุยกันหลายเรื่อง ส่วนใหญ่ก็งานของแต่ละคน คนหนึ่งทำวิจัยเรื่องชาวจาม (Cham) ในเวียดนามและกัมพูชา ดูบ้าบิ่นมากกว่าผมหลายเท่านัก เป็นอเมริกัน พูดจาม เวียด ขแมร์ รู้เรื่องความเชื่อมโยงชาวจามกับหมู่เกาะ รู้เรื่องสังคมจามปัจจุบัน ชอบตัวอักษรเหมือนผม อีกคนทำเรื่อง ตชด. ในไทย เป็นคนเกาหลี ไปตระเวนชายแดนมาโชกโชน ศึกษาทั้งประวัติศาสตร์และปัจจุบัน อีกคนเป็นเพื่อนร่วมชั้นตั้งแต่สมัยผมเรียน จนบัดนี้เขายังไม่จบ เป็นอาจารย์สอนกาเมลาน (วงฆ้องวง-ระนาดชวา) อยู่ที่คณะดนตรีวิทยาที่มหา'ลัยวิสคอนซิน กลับจากวิจัย ethnomusicology ในชวามา เราสี่คนนั่งคุยกันไม่จบสักเรื่อง

ปลายสัปดาห์ในปาร์ตี้ของศูนย์ฯ มีคนมากมาย นับได้น่าจะเกิน 30 คน งานจัดที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่งที่ศึกษาประวัติศาสตร์ Cebu ในฟิลิปปินส์ ได้เจอทั้งอาจารย์เก่าๆ ที่คุ้นเคย และนักเรียนใหม่ๆ นักเรียนอเมริกันคนหนึ่งเอาทุเรียนไปแต่ปอกไม่เป็น ผมเลยช่วยปอก แกะเปลือกออกมาแล้วก็เวียนไปวงแตกไปทุกวงคุย อาหารที่แต่ละคนทำมาก็สุดจะอวดความเป็น Southeast Asianist ของตนเอง ไม่ว่าจะทำโดยมือคนในหรือคนนอกก็ตาม ผมทำ "เหมียนส่าว" ผัดวุ้นเส้นแบบเวียดนามไป งานนี้ดื่มกินกันสำราญพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้กันไป ไม่รู้ว่าใครจะจำเรื่องราวที่คุยกันได้กี่มากน้อย

ผมเองได้คุยแลกเปลี่ยนกับอาจารย์จากเวียดนามที่ได้ทุนมาทั้งศึกษาและเป็นผู้ช่วยสอนที่นี่ เธออายุน้อยมาก (หรือผมอายุมากแล้วนั่นแหละ) มาจากเมืองที่ผมเคยไปทำวิจัยคือเมืองไลอันไกลโพ้น แต่เธอเป็นคนเวียด สอนที่มหา'ลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเวียดนาม น่าสนใจที่ทุนใหม่ๆ เหล่านี้กำลังแทรกเข้าไปดึงเอาคนรุ่นใหม่จากที่ซึ่งเคยปิดกั้นความรู้จากโลกภายนอก สงสัยว่าเมื่อเขาเหล่านี้กลับไปแล้วจะทำอะไรได้มากแค่ไหน หรือจะเปลี่ยนอะไรเธอได้บ้าง

คนรุ่นใหม่อีกคนที่ได่คุยคือนักศึกษาจากไต้หวัน ผมถามเรื่องพิพิธภัณฑ์ในไต้หวัน ถามเรื่องวัตถุจัดแสดงที่นั่น เธอก็ตอบได้น่าสนใจดี ผมนึกในใจ "ถ้าถามเด็กไทยเรื่องพิพิธภัณฑ์ไทย คงจะได้คำตอบชวนหงุดหงิดใจ" เธอชวนสนทนาเรื่องอนาคตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เธอมาเรียนที่นี่ปีเดียว กำลังค้นหาความสนใจอยู่ ผมบอกไปว่าถามตัวเองว่าอนาคตสัก 5 ปี หรือ 10 ปีอยากทำอะไร อยากอยู่ที่ไหนในโลก ถ้าที่ไต้หวันหรือที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สาขานี้จะมีอนาคต แต่ถ้าอยู่ในอเมริกาก็ลำบาก

วันกินชีสจิ้มจุ่ม มีคนไม่กี่คน ก็ล้วนแต่นักอะไรต่างๆ ที่ทำงานวิจัยงานเขียนกันมหาศาล อาจารย์คนหนึ่งเพิ่งจบใหม่ เป็นชาวอิรัก จบจาก SOAS อังกฤษ หลังจากนั่งเงียบมานาน เมื่อคนถามเรื่องอิรัก เขาก็พรั่งพรูเรื่องอิรักอย่างรัวๆ ผมจับใจความได้บ้างไม่ได้บ้างเพราะตามรายละเอียดไม่ทัน แถมฟังสำเนียงอังกฤษไม่ถนัด แต่พอถึงตาตัวเองแลกเปลี่ยนเรื่องไทยบ้าง ก็ทำให้เข้าใจว่า พอลงรายละเอียดเรื่องตัวเอง คนก็คงเข้าใจไม่ได้ง่ายๆ นักเหมือนกัน  

มีตอนหนึ่งที่อาจารย์คนหนึ่งซึ่งทั้งชีวิตสนใจประวัติศาสตร์การเมืองกับการทหารถามว่า ทหารจะมีเวลามาติดตามหรือว่าตอนนี้ใครพูดอะไรทำอะไรอยู่ที่ไหน ผมตอบไปว่า ทหารมีเวลาเยอะ ตอนนี้สนุกใหญ่ที่มีงานทำ เมื่อก่อนไม่มีอะไรทำ ก็คิดดูสิว่าไทยไม่มีสงครามอะไรกับใคร วันๆ ทหารเข้ากรมกองไปทำอะไรล่ะ ตอนนี้สิถึงจะมีงานทำ ทำเอาอาจารย์ท่านนั้นไปไม่ถูกเลย

สังคมวิชาการแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาได้เพราะมีคนใช้ชีวิตด้านการศึกษาเล่าเรียนมาอยู่ด้วยกันเท่านั้น แต่ยังต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง ตั้งแต่การเดินทางสะดวก ไปจนถึงความเปิดกว้างทางความคิด รวมทั้งพลังงานอันล้นเหลือของแต่ละคนที่จะอยากรู้จักกัน อยากสังสันทน์ประกอบการสนทนาอันเคร่งเครียดกันได้บ่อยๆ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน