Skip to main content

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเข้าร่วมกิจกรรมสังคมวิชาการซ้ำซ้อนกันหลายงาน ตั้งแต่บรรยายเรื่องการทำวิจัยในเวียดนามให้นักศึกษาบัณฑิตศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟัง ต่อด้วยปาร์ตี้ประจำปีของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหา'ลัยวิสคอนซิน ซึ่งเป็นงานแบบ potluck party และก็ฟองดูปาร์ตี้เล็กๆ ที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่าขนมปังจุ่มชีสต้มเดือด ทั้งหมดนั้นได้อะไรสนุกๆ มามากมาย

วันที่คุยกันเรื่องการวิจัย ผมก็เล่าไปว่าก่อน ระหว่าง และหลังการวิจัยที่เวียดนามผมทำอะไรบ้าง ทำไมไปที่นั่น ไปแล้วอยู่อย่างไร ทำอะไร มีใครช่วยบ้าง แล้วรอดมาได้อย่างไร จนหลังจากนั้นขณะนี้ผมคิดอะไรกับการวิจัยของผม กำลังพัฒนาอะไรอยู่ พูดแบบรวบรัดในเวลาแค่ 1 ชั่วโมงนี่ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ ไม่นับรูปอีกมากมาย ทั้งหมดก็ยังความทรงจำเก่าๆ และความสุขที่ได้พูดถึงงานวิจัยอันบ้าบิ่นที่จนบัดนี้ยังผลิตงานออกมาจากข้อมูลที่เก็บมาได้ไม่หมดสิ้น

หลังการบรรยาย เพื่อนเก่าและเพื่อนใหม่สองสามคนก็ไปนั่งดื่มกันที่บาร์ของมหา'ลัย ใช่ครับ ที่นี่เขามีความรับผิดชอบกันดีพอที่จะเปิดบาร์กลางมหา'ลัยเลย เป็นของสโมสรนักศึกษาด้วยซ้ำ ต้องอายุถึง 21 ต้องเป็นสมาชิกมหา'ลัย ถึงจะดื่มได้ เครื่องดื่มหลักคือเบียร์ เดี๋ยวนี้มีให้ชิมก่อนสั่ง จิบๆ ชิมสัก 2-3 รสค่อยซื้อก็สุขแล้ว

เราคุยกันหลายเรื่อง ส่วนใหญ่ก็งานของแต่ละคน คนหนึ่งทำวิจัยเรื่องชาวจาม (Cham) ในเวียดนามและกัมพูชา ดูบ้าบิ่นมากกว่าผมหลายเท่านัก เป็นอเมริกัน พูดจาม เวียด ขแมร์ รู้เรื่องความเชื่อมโยงชาวจามกับหมู่เกาะ รู้เรื่องสังคมจามปัจจุบัน ชอบตัวอักษรเหมือนผม อีกคนทำเรื่อง ตชด. ในไทย เป็นคนเกาหลี ไปตระเวนชายแดนมาโชกโชน ศึกษาทั้งประวัติศาสตร์และปัจจุบัน อีกคนเป็นเพื่อนร่วมชั้นตั้งแต่สมัยผมเรียน จนบัดนี้เขายังไม่จบ เป็นอาจารย์สอนกาเมลาน (วงฆ้องวง-ระนาดชวา) อยู่ที่คณะดนตรีวิทยาที่มหา'ลัยวิสคอนซิน กลับจากวิจัย ethnomusicology ในชวามา เราสี่คนนั่งคุยกันไม่จบสักเรื่อง

ปลายสัปดาห์ในปาร์ตี้ของศูนย์ฯ มีคนมากมาย นับได้น่าจะเกิน 30 คน งานจัดที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่งที่ศึกษาประวัติศาสตร์ Cebu ในฟิลิปปินส์ ได้เจอทั้งอาจารย์เก่าๆ ที่คุ้นเคย และนักเรียนใหม่ๆ นักเรียนอเมริกันคนหนึ่งเอาทุเรียนไปแต่ปอกไม่เป็น ผมเลยช่วยปอก แกะเปลือกออกมาแล้วก็เวียนไปวงแตกไปทุกวงคุย อาหารที่แต่ละคนทำมาก็สุดจะอวดความเป็น Southeast Asianist ของตนเอง ไม่ว่าจะทำโดยมือคนในหรือคนนอกก็ตาม ผมทำ "เหมียนส่าว" ผัดวุ้นเส้นแบบเวียดนามไป งานนี้ดื่มกินกันสำราญพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้กันไป ไม่รู้ว่าใครจะจำเรื่องราวที่คุยกันได้กี่มากน้อย

ผมเองได้คุยแลกเปลี่ยนกับอาจารย์จากเวียดนามที่ได้ทุนมาทั้งศึกษาและเป็นผู้ช่วยสอนที่นี่ เธออายุน้อยมาก (หรือผมอายุมากแล้วนั่นแหละ) มาจากเมืองที่ผมเคยไปทำวิจัยคือเมืองไลอันไกลโพ้น แต่เธอเป็นคนเวียด สอนที่มหา'ลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเวียดนาม น่าสนใจที่ทุนใหม่ๆ เหล่านี้กำลังแทรกเข้าไปดึงเอาคนรุ่นใหม่จากที่ซึ่งเคยปิดกั้นความรู้จากโลกภายนอก สงสัยว่าเมื่อเขาเหล่านี้กลับไปแล้วจะทำอะไรได้มากแค่ไหน หรือจะเปลี่ยนอะไรเธอได้บ้าง

คนรุ่นใหม่อีกคนที่ได่คุยคือนักศึกษาจากไต้หวัน ผมถามเรื่องพิพิธภัณฑ์ในไต้หวัน ถามเรื่องวัตถุจัดแสดงที่นั่น เธอก็ตอบได้น่าสนใจดี ผมนึกในใจ "ถ้าถามเด็กไทยเรื่องพิพิธภัณฑ์ไทย คงจะได้คำตอบชวนหงุดหงิดใจ" เธอชวนสนทนาเรื่องอนาคตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เธอมาเรียนที่นี่ปีเดียว กำลังค้นหาความสนใจอยู่ ผมบอกไปว่าถามตัวเองว่าอนาคตสัก 5 ปี หรือ 10 ปีอยากทำอะไร อยากอยู่ที่ไหนในโลก ถ้าที่ไต้หวันหรือที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สาขานี้จะมีอนาคต แต่ถ้าอยู่ในอเมริกาก็ลำบาก

วันกินชีสจิ้มจุ่ม มีคนไม่กี่คน ก็ล้วนแต่นักอะไรต่างๆ ที่ทำงานวิจัยงานเขียนกันมหาศาล อาจารย์คนหนึ่งเพิ่งจบใหม่ เป็นชาวอิรัก จบจาก SOAS อังกฤษ หลังจากนั่งเงียบมานาน เมื่อคนถามเรื่องอิรัก เขาก็พรั่งพรูเรื่องอิรักอย่างรัวๆ ผมจับใจความได้บ้างไม่ได้บ้างเพราะตามรายละเอียดไม่ทัน แถมฟังสำเนียงอังกฤษไม่ถนัด แต่พอถึงตาตัวเองแลกเปลี่ยนเรื่องไทยบ้าง ก็ทำให้เข้าใจว่า พอลงรายละเอียดเรื่องตัวเอง คนก็คงเข้าใจไม่ได้ง่ายๆ นักเหมือนกัน  

มีตอนหนึ่งที่อาจารย์คนหนึ่งซึ่งทั้งชีวิตสนใจประวัติศาสตร์การเมืองกับการทหารถามว่า ทหารจะมีเวลามาติดตามหรือว่าตอนนี้ใครพูดอะไรทำอะไรอยู่ที่ไหน ผมตอบไปว่า ทหารมีเวลาเยอะ ตอนนี้สนุกใหญ่ที่มีงานทำ เมื่อก่อนไม่มีอะไรทำ ก็คิดดูสิว่าไทยไม่มีสงครามอะไรกับใคร วันๆ ทหารเข้ากรมกองไปทำอะไรล่ะ ตอนนี้สิถึงจะมีงานทำ ทำเอาอาจารย์ท่านนั้นไปไม่ถูกเลย

สังคมวิชาการแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาได้เพราะมีคนใช้ชีวิตด้านการศึกษาเล่าเรียนมาอยู่ด้วยกันเท่านั้น แต่ยังต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง ตั้งแต่การเดินทางสะดวก ไปจนถึงความเปิดกว้างทางความคิด รวมทั้งพลังงานอันล้นเหลือของแต่ละคนที่จะอยากรู้จักกัน อยากสังสันทน์ประกอบการสนทนาอันเคร่งเครียดกันได้บ่อยๆ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทันทีที่ คสช. ขอบคุณ ธีรยุทธ บุญมี ธีรยุทธก็ได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร แนวทางสำคัญ ๆ ได้แก่งานวิชาการที่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักมานุษยวิทยามีแนวโน้มที่จะ "โรแมนติก" นั่นคือ "อิน" ไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา ความเห็นอกเห็นใจอาจเกินเลยจนกลายเป็นความหลงใหลฟูมฟายเออออไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies)