Skip to main content

เดอร์ แรธสเคลเลอร์เป็นบาร์เบียร์ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ตั้งอยู่ในตึกกิจกรรมนักศึกษา (ที่นี่เรียกว่า Memorial Union) ตึกกิจฯ นี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1928 โน่นเลย บาร์เบียร์แห่งนี้ก็น่าจะอายุไม่น้อยไปกว่าตึกที่มันอาศัยอยู่เท่าใดนัก

ว่ากันว่าบาร์นี้ตกแต่งแบบสไตล์เยอรมัน ชื่อก็เป็นเยอรมัน หลังคาโค้ง สีออกน้ำตาล มีเครื่องประดับตกแต่งที่เกี่ยวพันกับการดื่มเบียร์ อย่างแก้วเบียร์ต่างๆ นอกจากวาดลวดลายแล้วยังมีภาพฝาผนังแบบ "ซ้ายๆ" อย่างภาพแสดงความคิดเรื่องการใช้แรงงาน ภาพยกย่องผู้หญิงสีผิว ฯลฯ 

แรธสเคลเลอร์หันด้านหนึ่งออกไปทางระเบียงริมทะเลสาบเมนโดตา ในฤดูร้อนจึงแทบไม่มีใครนั่งด้านในบาร์แห่งนี้ เนื่องจากผู้คนอยากสำราญกับอากาศนอกอาคาร ก่อนหรือหลังความหนาวเบ็นอันยาวนานเกินกว่า 8 เดือน แต่ก็ด้วยเพราะความหนาว ถึงที่สุดแล้วแรธสเคลเลอร์ก็กลายเป็นที่นั่งเล่นที่คนสำราญอย่างอบอุ่นในห้องที่มีเตาผิงที่ใช้ไม้เผาไฟจริงๆ ขนาดใหญ่ 2 ด้านของตัวบาร์ 

ที่จริงบาร์นี้ตั้งอยู่ติดกับโรงอาหาร แต่โรงอาหารจะขายอาหารเฉพาะเวลากลางวัน ส่วนแรธสเคลเอลร์ขายทั้งกลางวันเย็นจนค่ำมืดดึกดื่น เสมือนบาร์ทั่วไป แต่ปิดสักห้าทุ่มหรือเที่ยงคืนครึ่ง ถ้าเป็นสุดสัปดาห์ 

บาร์แห่งนี้มีเมนูอาหารเฉพาะของตัวเองอยู่ ที่ผมชอบก็เช่น รูเบน เป็นแชนด์วิชร้อนที่นาบขนมปังทาเนยกับกะทะแบนจนกรอบ แล้วเอาแฮมที่เรียกว่าคอร์นบีฟวาง เอาชีสวาง แล้วใส่กระหล่ำดองที่เรียกซาวเวอเคราต์ เอาขนมปังประกบกัน ตั้งบนกะทะแบนอีกสักหน่อย พลิกไปมาจนชีสละลายค่อยเสิร์ฟ  

อาหารที่ผมชอบอีกจานของที่นี่ก็คือเฟรนชฟรายส์ เขาใช้มันฝรั่งสดหั่นทั้งเปลือกคลุกแป้งนิดหน่อยแล้วทอด กินกับรูเบนแล้วไขมันพุ่งดีจัง ทุกวันธรรมดาที่นี่จะมีอาหารพิเศษประจำวัน อย่างวันจันทร์มีปีกไก่ทอด วันศุกร์มีฟิชแอนชิบส์แต่เอาเฟรนชฟรายส์แทนชิบส์ก็ได้ บางทีผมก็กินเกซาดิย่า อาหารสไตล์แม็กซิกันเหมือนมะตะบะแต่กรอบกว่าหน่อยแห้งกว่าบางกว่าหน่อย ไส้มักมีชีส ผมชอบตรงครีมทีเอามาทาก่อนกิน 

ที่จริงอาหารที่กินที่นี่บ่อยๆ คือสลัด สลัดที่แรธสเคเลอร์มีหลายสไตล์ ขนาดพอเหมาะที่จะกินเป็นมื้อหนึ่งได้ แบบอิ่มแล้วรู้สึกได้กินอาหารสุขภาพ แต่ถ้าวันไหนอยากง่ายๆ ไวๆ ตอนกลางวันหรือตอนเย็น บางทีผมก็กินแฮมเบอร์เกอร์ ตอนหน้าร้อนสั่งชีสเบอร์เกอร์ชิ้นหนึ่งกับเบียร์แก้วหนึ่งไปนั่งกินริมน้ำนี่ ผ่อนคลายดีมากเลย 

เหนือสิ่งอื่นใด แรธสเคลเลอร์มีชื่อเสียงเรื่องเบียร์ ไม่ใช่ว่าที่นี่ทำเบียร์เองหรอกครับ ยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ที่นี่มีเบียร์สดให้เลือกน่าจะเกือบ 20 ชนิด ยิ่งตอนฤดูร้อนนี่ นอกจากเบียร์หลากรสนั่นแล้ว ยังมีเบียร์ที่บางโรงเบียร์เอารถมาจอดขายเองอีกนับสิบชนิด ดื่มเท่าไหร่ก็ไม่ถ้วนสักที เบียร์บางรสชิมแล้วก็ลืมไปแล้วว่าเคยชิมหรือยัง บางรสนี่จำได้แน่ๆ ว่าเคยดื่มตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน ยังจำรสได้ติดลิ้น จนเดี๋ยวนี้ก็ยังมีขายอยู่ บางรสจำได้ว่าแฮลกอฮอแรงมาก ดื่มแก้วขนาด 500 cc แก้วเดียวมึนตึ๊บเลย  

แต่เดี๋ยวนี้มีเบียร์รสใหม่ๆ อีกมากมาย เพราะรัฐวิสคอนซินมีโรงเบีร์เปิดใหม่อีกมากมาย เท่านี่รู้มีโรงเบียร์ที่เปิดใหม่ระหว่างที่ผมจากวิสคอนซินมา 7 ปีนับได้สัก 4 โรงได้ เบียร์ใหม่ๆ ที่สะดุดหูสะดุดลิ้นมากคือเบียร์สไตล์เบลเยี่ยม ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยเห็นว่าดาดดื่นขนาดนี้ 

เมื่อสองเดือนก่อนในวันอากาศร้อนหรือกำลังสบายๆ ผมเลือกกินเบียร์ลาเกอร์ใสๆ โรงเบียร์หนึ่งมีชื่อมากคือนิวกรารัส ตั้งชื่อตามชื่อเมืองที่ชาวสวิสย้ายมาตั้งรกราก โรงเบียร์นี้ก็อยู่ที่นั่น มีเบียร์หลายรส รสหนึ่งที่ดังคือ Spotted Cow วัวจุดถือเป็นอัตลักษณ์ชาวสวิสที่มักเลี้ยงวัวนมมาทำชีส เบียร์รสเบาดื่มคล่องคอกลิ่นหอมหวน แต่ผมมักไม่ดื่มเบียร์นี้กับอาหาร เพราะจะตัดรสเบียร์นี้หายหมดเกลี้ยง 

ถ้าอยากได้รสที่เข้มขึ้นอีกนิด ผมจะดื่มเบียร์สีอำพันเข้ม จำพวก Amber ผมชอบของ Capital Brewery เป็นลาเกอร์เหมือนกัน แต่รสเข้มขึ้น โรงเบียร์นี้ทำเบียร์ใหม่ๆ ออกมาอีกหลายรส อย่าง Island Wheat และ Supper Club พวกนี้เป็นเบียร์ฤดูร้อน ดื่มดับกระหายและเรียกน้ำย่อย ดื่มก่อนอาหารดีกว่าดื่มกับอาหาร 

ถ้าเอารสจัดขึ้นอีก มีเบียร์ของโรงเบียร์ใหม่ชื่อ Hopalicious เป็นเบียร์สไตล์ Pale Ale โรงเบียรนี้ผลิต ale เป็นหลัก เรียกตัวเองว่า Ale Asylum เดิมอาจมีโรงเบียร์นี้อยู่แล้ว แต่น่าจะขายเฉพาะในร้าน ผมไม่เคยได้ดื่ม จนกลับมาคราวนี้จึงมีขายทั่วไปทั้งขวดและเบียร์สดจากแทป นี่เป็นเบียร์ที่คนนิยมกลิ่น hop ต้องดื่มจริงๆ เขาคุยว่าใช้ hop ถึง 5 ชนิด สไตล์เบียร์แบบ ale ที่เนื้อหนาๆ ข้นๆ ยิ่งทำให้ได้สัมผัสมากขึ้น บางทีผมดื่มเวลากินสลัด ตัดกับรสผักสดและน้ำสลัดดี 

ยังมีเบียร์อีกมากที่แรธสเคลเลอร์ แถมบางช่วงเดือนจะมีเบียร์แนะนำพิเศษ อย่างช่วงนี้มี Tokyo Sauna กับเบียร์ Pumpkin ที่มีเครื่องเทศผสมด้วย อันแรกผมชอบ รสจัดดี ผลิตโดย Karben4 โรงเบียร์ใหม่เอี่ยมของแมดิสันอีกเหมือนกัน ส่วนเบียร์ฟักทอง ผมชิมแล้วไม่ค่อยชอบ แต่ก็น่าจะดื่มเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนกัน เพราะไหนๆ ก็มีเฉพาะในฤดูฟักทองคือช่วงใกล้ๆ Thanksgiving ที่จะถึงเร็วๆ นี้เท่านั้นเอง (วันหลังกลับไปชิมมาแล้ว ติดใจกลับมาดื่มอีกหลายครา)

เล่ามายาวเหยียดกลายเป็นเรื่องเบียร์ไปเสีย กลับมาที่แรธสเคลเลอร์ ที่นี่จึงเป็นที่ดื่มกินสังสรรค์ของชาววิสคอนซิน ราคาอาหารอย่างแพงสุดก็ไม่เกิน 8 เหรียญ จะกินเฟรนชฟรายส์ก็ 2-4 เหรียญ ป๊อบคอร์น 2 เหรียญกินไม่หมด เบียร์แก้วเล็ก 500cc ก็ 5 เหรียญ, 700cc ก็ 7 เหรียญ หรือมาหลายคนยกเหยือกราวๆ 1600cc ก็แค่ 13 เหรียญ แต่ต้องเป็นสมาชิกของมหาวิทยาลัยหรือเป็นแขกของสมาชิกที่นี่นะครับ จึงจะกิน-ดื่มที่นี่ได้ 

นอกจากอาหาร แรธสเคลเลอร์มีเวทีที่มักมีการแสดงแทบทุกสัปดาห์ แต่ตอนฤดูร้อนเขามักแสดงดนตรีที่ระเบียง The Terrace ด้านนอกซึ่งก็มีเวทีเช่นกัน วันฝนตกหรือฤดูที่อากาศหนาวเย็น ก็มาแสดงด้านใน โดยเฉาพะสุดสัปดาห์มักมีเทศกาลดนตรีบ้าง มีคนมาจองคิวแสดงดนตรีบ้าง บางวันเขาก็ฉายถ่ายทอดสด(อเมริกัน)ฟุตบอลจอใหญ่  

คงเดาได้ไม่ยากว่าผมชอบแรธสเคลเลอร์มากแค่ไหน ชอบตั้งแต่มาครั้งเรียนที่นี่แล้ว แม้จะมีโอกาสน้อยนักที่จะได้นั่งเล่นที่นี่เพราะทั้งต้องประหยัดค่าใช้จ่ายและเรียนหนัก ตอนนี้มีโอกาสได้นั่งมากขึ้น พึ่งพิงทางกายและทางใจที่นี่มากขึ้น แม้บางคนอาจไม่ชอบอาหารที่นี่ ไม่ได้ชอบดื่มเบียร์นัก แต่หากมาแมดิสัน ก็ควรหาโอกาสมานั่งที่นี่ มาชิมเบียร์ที่เดอร์ แรธสเคลเลอร์สักแก้ว ก็จะได้ดื่มด่ำบรรยากาศทางวิชาการอันเข้มข้นหลากหลายของมหาวิทยาลัยแห่งนี้แล้ว

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน