Skip to main content

เดอร์ แรธสเคลเลอร์เป็นบาร์เบียร์ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ตั้งอยู่ในตึกกิจกรรมนักศึกษา (ที่นี่เรียกว่า Memorial Union) ตึกกิจฯ นี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1928 โน่นเลย บาร์เบียร์แห่งนี้ก็น่าจะอายุไม่น้อยไปกว่าตึกที่มันอาศัยอยู่เท่าใดนัก

ว่ากันว่าบาร์นี้ตกแต่งแบบสไตล์เยอรมัน ชื่อก็เป็นเยอรมัน หลังคาโค้ง สีออกน้ำตาล มีเครื่องประดับตกแต่งที่เกี่ยวพันกับการดื่มเบียร์ อย่างแก้วเบียร์ต่างๆ นอกจากวาดลวดลายแล้วยังมีภาพฝาผนังแบบ "ซ้ายๆ" อย่างภาพแสดงความคิดเรื่องการใช้แรงงาน ภาพยกย่องผู้หญิงสีผิว ฯลฯ 

แรธสเคลเลอร์หันด้านหนึ่งออกไปทางระเบียงริมทะเลสาบเมนโดตา ในฤดูร้อนจึงแทบไม่มีใครนั่งด้านในบาร์แห่งนี้ เนื่องจากผู้คนอยากสำราญกับอากาศนอกอาคาร ก่อนหรือหลังความหนาวเบ็นอันยาวนานเกินกว่า 8 เดือน แต่ก็ด้วยเพราะความหนาว ถึงที่สุดแล้วแรธสเคลเลอร์ก็กลายเป็นที่นั่งเล่นที่คนสำราญอย่างอบอุ่นในห้องที่มีเตาผิงที่ใช้ไม้เผาไฟจริงๆ ขนาดใหญ่ 2 ด้านของตัวบาร์ 

ที่จริงบาร์นี้ตั้งอยู่ติดกับโรงอาหาร แต่โรงอาหารจะขายอาหารเฉพาะเวลากลางวัน ส่วนแรธสเคลเอลร์ขายทั้งกลางวันเย็นจนค่ำมืดดึกดื่น เสมือนบาร์ทั่วไป แต่ปิดสักห้าทุ่มหรือเที่ยงคืนครึ่ง ถ้าเป็นสุดสัปดาห์ 

บาร์แห่งนี้มีเมนูอาหารเฉพาะของตัวเองอยู่ ที่ผมชอบก็เช่น รูเบน เป็นแชนด์วิชร้อนที่นาบขนมปังทาเนยกับกะทะแบนจนกรอบ แล้วเอาแฮมที่เรียกว่าคอร์นบีฟวาง เอาชีสวาง แล้วใส่กระหล่ำดองที่เรียกซาวเวอเคราต์ เอาขนมปังประกบกัน ตั้งบนกะทะแบนอีกสักหน่อย พลิกไปมาจนชีสละลายค่อยเสิร์ฟ  

อาหารที่ผมชอบอีกจานของที่นี่ก็คือเฟรนชฟรายส์ เขาใช้มันฝรั่งสดหั่นทั้งเปลือกคลุกแป้งนิดหน่อยแล้วทอด กินกับรูเบนแล้วไขมันพุ่งดีจัง ทุกวันธรรมดาที่นี่จะมีอาหารพิเศษประจำวัน อย่างวันจันทร์มีปีกไก่ทอด วันศุกร์มีฟิชแอนชิบส์แต่เอาเฟรนชฟรายส์แทนชิบส์ก็ได้ บางทีผมก็กินเกซาดิย่า อาหารสไตล์แม็กซิกันเหมือนมะตะบะแต่กรอบกว่าหน่อยแห้งกว่าบางกว่าหน่อย ไส้มักมีชีส ผมชอบตรงครีมทีเอามาทาก่อนกิน 

ที่จริงอาหารที่กินที่นี่บ่อยๆ คือสลัด สลัดที่แรธสเคเลอร์มีหลายสไตล์ ขนาดพอเหมาะที่จะกินเป็นมื้อหนึ่งได้ แบบอิ่มแล้วรู้สึกได้กินอาหารสุขภาพ แต่ถ้าวันไหนอยากง่ายๆ ไวๆ ตอนกลางวันหรือตอนเย็น บางทีผมก็กินแฮมเบอร์เกอร์ ตอนหน้าร้อนสั่งชีสเบอร์เกอร์ชิ้นหนึ่งกับเบียร์แก้วหนึ่งไปนั่งกินริมน้ำนี่ ผ่อนคลายดีมากเลย 

เหนือสิ่งอื่นใด แรธสเคลเลอร์มีชื่อเสียงเรื่องเบียร์ ไม่ใช่ว่าที่นี่ทำเบียร์เองหรอกครับ ยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ที่นี่มีเบียร์สดให้เลือกน่าจะเกือบ 20 ชนิด ยิ่งตอนฤดูร้อนนี่ นอกจากเบียร์หลากรสนั่นแล้ว ยังมีเบียร์ที่บางโรงเบียร์เอารถมาจอดขายเองอีกนับสิบชนิด ดื่มเท่าไหร่ก็ไม่ถ้วนสักที เบียร์บางรสชิมแล้วก็ลืมไปแล้วว่าเคยชิมหรือยัง บางรสนี่จำได้แน่ๆ ว่าเคยดื่มตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน ยังจำรสได้ติดลิ้น จนเดี๋ยวนี้ก็ยังมีขายอยู่ บางรสจำได้ว่าแฮลกอฮอแรงมาก ดื่มแก้วขนาด 500 cc แก้วเดียวมึนตึ๊บเลย  

แต่เดี๋ยวนี้มีเบียร์รสใหม่ๆ อีกมากมาย เพราะรัฐวิสคอนซินมีโรงเบีร์เปิดใหม่อีกมากมาย เท่านี่รู้มีโรงเบียร์ที่เปิดใหม่ระหว่างที่ผมจากวิสคอนซินมา 7 ปีนับได้สัก 4 โรงได้ เบียร์ใหม่ๆ ที่สะดุดหูสะดุดลิ้นมากคือเบียร์สไตล์เบลเยี่ยม ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยเห็นว่าดาดดื่นขนาดนี้ 

เมื่อสองเดือนก่อนในวันอากาศร้อนหรือกำลังสบายๆ ผมเลือกกินเบียร์ลาเกอร์ใสๆ โรงเบียร์หนึ่งมีชื่อมากคือนิวกรารัส ตั้งชื่อตามชื่อเมืองที่ชาวสวิสย้ายมาตั้งรกราก โรงเบียร์นี้ก็อยู่ที่นั่น มีเบียร์หลายรส รสหนึ่งที่ดังคือ Spotted Cow วัวจุดถือเป็นอัตลักษณ์ชาวสวิสที่มักเลี้ยงวัวนมมาทำชีส เบียร์รสเบาดื่มคล่องคอกลิ่นหอมหวน แต่ผมมักไม่ดื่มเบียร์นี้กับอาหาร เพราะจะตัดรสเบียร์นี้หายหมดเกลี้ยง 

ถ้าอยากได้รสที่เข้มขึ้นอีกนิด ผมจะดื่มเบียร์สีอำพันเข้ม จำพวก Amber ผมชอบของ Capital Brewery เป็นลาเกอร์เหมือนกัน แต่รสเข้มขึ้น โรงเบียร์นี้ทำเบียร์ใหม่ๆ ออกมาอีกหลายรส อย่าง Island Wheat และ Supper Club พวกนี้เป็นเบียร์ฤดูร้อน ดื่มดับกระหายและเรียกน้ำย่อย ดื่มก่อนอาหารดีกว่าดื่มกับอาหาร 

ถ้าเอารสจัดขึ้นอีก มีเบียร์ของโรงเบียร์ใหม่ชื่อ Hopalicious เป็นเบียร์สไตล์ Pale Ale โรงเบียรนี้ผลิต ale เป็นหลัก เรียกตัวเองว่า Ale Asylum เดิมอาจมีโรงเบียร์นี้อยู่แล้ว แต่น่าจะขายเฉพาะในร้าน ผมไม่เคยได้ดื่ม จนกลับมาคราวนี้จึงมีขายทั่วไปทั้งขวดและเบียร์สดจากแทป นี่เป็นเบียร์ที่คนนิยมกลิ่น hop ต้องดื่มจริงๆ เขาคุยว่าใช้ hop ถึง 5 ชนิด สไตล์เบียร์แบบ ale ที่เนื้อหนาๆ ข้นๆ ยิ่งทำให้ได้สัมผัสมากขึ้น บางทีผมดื่มเวลากินสลัด ตัดกับรสผักสดและน้ำสลัดดี 

ยังมีเบียร์อีกมากที่แรธสเคลเลอร์ แถมบางช่วงเดือนจะมีเบียร์แนะนำพิเศษ อย่างช่วงนี้มี Tokyo Sauna กับเบียร์ Pumpkin ที่มีเครื่องเทศผสมด้วย อันแรกผมชอบ รสจัดดี ผลิตโดย Karben4 โรงเบียร์ใหม่เอี่ยมของแมดิสันอีกเหมือนกัน ส่วนเบียร์ฟักทอง ผมชิมแล้วไม่ค่อยชอบ แต่ก็น่าจะดื่มเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนกัน เพราะไหนๆ ก็มีเฉพาะในฤดูฟักทองคือช่วงใกล้ๆ Thanksgiving ที่จะถึงเร็วๆ นี้เท่านั้นเอง (วันหลังกลับไปชิมมาแล้ว ติดใจกลับมาดื่มอีกหลายครา)

เล่ามายาวเหยียดกลายเป็นเรื่องเบียร์ไปเสีย กลับมาที่แรธสเคลเลอร์ ที่นี่จึงเป็นที่ดื่มกินสังสรรค์ของชาววิสคอนซิน ราคาอาหารอย่างแพงสุดก็ไม่เกิน 8 เหรียญ จะกินเฟรนชฟรายส์ก็ 2-4 เหรียญ ป๊อบคอร์น 2 เหรียญกินไม่หมด เบียร์แก้วเล็ก 500cc ก็ 5 เหรียญ, 700cc ก็ 7 เหรียญ หรือมาหลายคนยกเหยือกราวๆ 1600cc ก็แค่ 13 เหรียญ แต่ต้องเป็นสมาชิกของมหาวิทยาลัยหรือเป็นแขกของสมาชิกที่นี่นะครับ จึงจะกิน-ดื่มที่นี่ได้ 

นอกจากอาหาร แรธสเคลเลอร์มีเวทีที่มักมีการแสดงแทบทุกสัปดาห์ แต่ตอนฤดูร้อนเขามักแสดงดนตรีที่ระเบียง The Terrace ด้านนอกซึ่งก็มีเวทีเช่นกัน วันฝนตกหรือฤดูที่อากาศหนาวเย็น ก็มาแสดงด้านใน โดยเฉาพะสุดสัปดาห์มักมีเทศกาลดนตรีบ้าง มีคนมาจองคิวแสดงดนตรีบ้าง บางวันเขาก็ฉายถ่ายทอดสด(อเมริกัน)ฟุตบอลจอใหญ่  

คงเดาได้ไม่ยากว่าผมชอบแรธสเคลเลอร์มากแค่ไหน ชอบตั้งแต่มาครั้งเรียนที่นี่แล้ว แม้จะมีโอกาสน้อยนักที่จะได้นั่งเล่นที่นี่เพราะทั้งต้องประหยัดค่าใช้จ่ายและเรียนหนัก ตอนนี้มีโอกาสได้นั่งมากขึ้น พึ่งพิงทางกายและทางใจที่นี่มากขึ้น แม้บางคนอาจไม่ชอบอาหารที่นี่ ไม่ได้ชอบดื่มเบียร์นัก แต่หากมาแมดิสัน ก็ควรหาโอกาสมานั่งที่นี่ มาชิมเบียร์ที่เดอร์ แรธสเคลเลอร์สักแก้ว ก็จะได้ดื่มด่ำบรรยากาศทางวิชาการอันเข้มข้นหลากหลายของมหาวิทยาลัยแห่งนี้แล้ว

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทันทีที่ คสช. ขอบคุณ ธีรยุทธ บุญมี ธีรยุทธก็ได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร แนวทางสำคัญ ๆ ได้แก่งานวิชาการที่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักมานุษยวิทยามีแนวโน้มที่จะ "โรแมนติก" นั่นคือ "อิน" ไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา ความเห็นอกเห็นใจอาจเกินเลยจนกลายเป็นความหลงใหลฟูมฟายเออออไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies)