Skip to main content

กว่า 3 เดือนที่ผ่านมาผมไปชมการแสดงดนตรีไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ นึกเสียดายที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่มาเรียนไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เลย เมื่อวานนี้ (ตามเวลาที่อเมริกา) ผมก็เพิ่งออกจากห้องแสดงดนตรีมา จนทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่า นี่ผมอยู่ในโลกไหนกัน แล้วทำไมที่ที่ผมอยู่เป็นปกติเขาถึงไม่ทำสถาบันการศึกษาให้เป็นสถานที่บ่มเพาะความเจริญของจิตใจได้อย่างนี้บ้าง 

เมืองแมดิสันที่ซึ่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซินตั้งอยู่ เป็นเมืองที่มีกิจกรรมมากมาย ส่วนหนึ่งของกิจกรรมเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย ในฤดูร้อน เมืองใช้ดาดฟ้าของหอประชุมขนาดใหญ่ที่ออกแบบโดยแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์เป็นที่จัดการแสดงดนตรีที่คนสามารถขยับร่างกายเต้นรำกันได้สนุกสนาน ฤดูร้อนยังมีคอนเสิร์ตในสวนสาธารณะอย่างน้อย 2-3 แห่งเป็นประจำ ที่มีชื่อคือ Concert on the Square จัดรอบอาคารที่ทำการของมลรัฐ คนอาศัยบรรยากาศมานั่งฟังเพลงพร้อมปิคนิค ดื่มกินกันไปอย่างสำราญตามแต่ว่าใครจะจับจองที่ได้

ปลายฤดูร้อน มีงานแฟร์บนถนนฮิปปี้เก่าสายหนึ่ง ชื่องาน Willy Street Fair ที่ระดมวงดนตรีมาจัดกันหลายเวที ที่จริงก่อนหน้างานนี้มีคอนเสิร์ตกลางแจ้งงานหนึ่งที่ผมพลาดไป เพราะตามข่าวไม่ทัน แต่งานถนนวิลลี่ปีนี้ดูหงอยเหงาอย่างไรพิกล ไม่เหมือนเมื่อหลายปีก่อนที่มีเวทีแสดงดนตรีมากถึง 4-5 เวที เขาจัดห่างๆ กัน ผู้คนก็เดินซื้อของประดิษฐ์ประดอย เสื้อผ้า ข้าวของต่างๆ แนวฮิปปี้ ที่คนเอามาขายกัน มีกระทั่งของเก่าเก็บสไตล์เปิดท้ายรถขายของ

พอเริ่มอากาศเย็น มหาวิทยาลัยวิสคอนซินซึ่งมีห้องจัดแสดงดนตรีได้อยู่มากมาย ก็เริ่มจัดกิจกรรมในอาคาร งานใหญ่งานหนึ่งของปีนี้คือ  World Music Festival ผมกลับบ้านดึกดื่นแทบทุกวันช่วงนั้น มีกระทั่งวงดนตรีชาว Basques ที่ผสมเครื่องดนตรีพื้นเมืองกับกีตาร์ กลอง แต่เล่นเพลงพื้นเมือง อีกวงที่ผมชอบมากคือวงแนว Calypso ของอเมริกาใต้  

แต่ที่ทำให้รู้สึกตัวขึ้นมาได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่กิจกรรมที่เกิดขึ้นมาอย่างง่ายๆ ก็เมื่อ 2-3 วันมานี้เองที่ได้ฟังดนตรี 3 รายการ

งานหนึ่งคือ การแสดงเดี่ยวของผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางทรอมโบนคนหนึ่ง ท่านมาเป็นแขกของมหาวิทยาลัย แล้วจัดแสดงดนตรี 5 เพลง ทรอมโบนคือเครื่องเป่าทองเหลือง หากใครรู้จักแตรวง คงคุ้นหน้าตาเครื่องเป่าที่ยาวๆ เวลาเล่นเขาจะเป่าแล้วชักเข้าชักออกเพื่อกำหนดเสียงสูงต่ำ นักทรอมโบนคนนี้เสนอเพลงที่น่าสนใจมากทุกเพลง ทั้งจากที่เขาแต่งเอง และที่เอาของคนอื่นมาเล่น  

มีเพลงหนึ่งแปลกมาก เขาเป่าให้เสียงออกมาสองเสียง มีเสียงแปร่งๆ แทรกเสียงเต็มๆ ออกมาในเพลง อีกเพลงที่ชอบมากคือการแสดงพร้อมวีดีโอเรื่องเกี่ยวกับสงคราม มีน้ำเสียงวิพากษ์สงครามด้วยการเอาทหารอเมริกันที่เสียตาสองข้างและเสียขามาพูด การแสดงของนักทรอมโบนคนนี้เปิดหูเปิดตาการใช้เครื่องเป่าดนตรีคลาสสิคชิ้นนี้แก่ผมมาก

อีกงานหนึ่ง ไม่ใช่งานด้วยซ้ำ แต่เป้นการฝึกซ้อมของวงดนตรีออร์เคสตรารัสเซีย ผมเห็นในโปรแกรมของมหาวิทยาลัยครั้งแรกก็สงสัยใจว่าจะเปิดให้ใครเข้าฟังได้หรือไม่ พอเขียนอีเมลไปถาม เขาก็ตอบกลับมาอย่างเร็วว่า "พวกเรายินดีที่จะมีคนมานั่งฟัง" พอไปถึงตามเวลาที่เขาจะเริ่ม ปรากฏว่าเป็นห้องเรียนขนาดย่อม มีนักดนตรีนั่งอยู่ร่วม 30 คน ล้วนแล้วแต่เครื่องดนตรีแปลกๆ เพราะเป็นวงที่ใช้เครื่องดนตรีพื้นเมืองรัสเซีย

ผมเข้าไปทักวาทยากรที่กำลังเตรียมตัวอยู่ เขาบอกว่าเขาคือคนที่ตอบเมลผมเอง เขาถามว่า "คุณเป็นนักดนตรีเหรอ" ผมบอกเปล่าหรอก แค่สนใจ เขายินดี แล้วสักพักพอผมหาที่นั่งได้ เขาเดินมาถามผม "คุณเคยทำงานห้องสมุดใช่ไหม จำผมได้ไหม ผมชื่อวิคเตอร์" ผมบอก "อ๋อ จำได้สิ แต่ตอนแรกจำหน้าไม่ได้" ผมไม่นึกเลยว่าเขาไม่ใช่แค่รู้หลายภาษาแล้วทำงานกรอกข้อมูลหนังสือให้ห้องสมุด แต่ยังเป็นนักดนตรีเก่งขนาดเป็นวาทยากร

ผมนั่งดูการซ้อมของพวกเขาร่วม 2 ชั่วโมงอย่างเพลิดเพลินกับเพลงรัสเซียนเสียงอ่อนหวาน แม้บางเพลงวิกเตอร์กำชับว่าต้องเวียนเสียงม้าควบก็ยังอ่อนโยน การได้มานั่งอยู่ท่ามกลางนักดนตรีเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ แถมยังได้มารู้เห็นการฝึกซ้อมที่หนักหน่วง ได้ทึ่งกับหูของวาทยากร ทึ่งกับความสามารถในการเขียนรายละเอียดของความรู้สึกของเพลงลงไปให้เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นๆ ทึ่งกับเสียงนักร้องอายุน้อยที่อ่อนหวานและเต็มไปด้วยอารมณ์โดยแทบไม่หลุดโน้ต ทึ่งกับการกำกับเสียงให้เป็นไปตามจินตนาการของวาทยากร ทั้งหมดนี้เกินกว่าจะเรียกว่ารื่นรมย์

อีกงานหนึ่งเมื่อสักครู่ก่อนเขียนบันทึกนี้เอง ผมไปฟังการเปิดเทศกาลดนตรี Celebrate Brass! จัดโดยภาควิชาดนตรีวิทยา ว่าด้วยเครื่องเป่าล้วนๆ งานนี้จะมีทั้งคอนเสิร์ตวงใหญ่และการแสดงวงเล็กอย่างที่ผมมาฟังวันนี้ ที่แสดงวันนี้มีนักทรัมเป็ต 2 คน ทูบาหนึ่ง ทรอมโบนหนึ่ง และเฟรนช์ฮอนอีกหนึ่ง เครื่องเป่าวาววับต้องแสงไฟงดงามมาก ตลอด 2 ชั่วโมงเล่นเพลงสัก 4-5 เพลงได้ เพลงที่เล่นมีทั้งสไตล์คลาสสิค คลาสสิคเจือแจ๊ส และคลาสสิคแบบแนวทดลอง avant-garde ผมมั่วจัดเอาเองน่ะแหละ แต่คนเล่นเขาบรรยายทำนองนี้เหมือนกัน ทั้งหมดนั่นอิ่มเอมเต็มหูดีมาก

เพลงสุดท้ายของการแสดงนี้ผู้ประพันธ์เพลงมาร่วมงานด้วย เป็นเพลงขนาดยาวมีหลายท่อน ท่อนแรกฟังเหมือนเสียงดนตรีไล่กระโดดตะครุบอะไรอยู่ อีกท่อนเกรี้ยวกราดจนถึงตอนหนึ่งเครื่องเป่าเหมือนทะเลาะกันนัว เสียดายที่เขาไม่พาให้เสียงแตกกระเจิงรู้แล้วรู้รอดไปเลย อีกท่อนประหลาดที่เครื่องเป่าทุกตัวใส่อุปกรณ์บีบเสียง เริ่มด้วยทรัมเป็ต 2 ตัวที่เสียงแตกแผ่วเบาราวจิ้งหรีด แล้วเครื่องอื่นๆ ก็รับตามกันมา วงนี้ผมชอบทรัมโบนที่เล่นล้อเครื่งอื่นๆ สนุกสนาน ส่วนนักทรัมเป็ตสองคน คนหนึ่งเป็นผู้หญิง ต่างก็ขนทรัมเป็ตหลายขนาดมา เล่นไปเปลี่ยนไปหลายรสทรัมเป็ตดี

การแสดงทั้งหมดที่เล่ามานั้นฟรี ไม่ต้องจ่ายเงินใดๆ ทั้งสิ้น รายการที่ต้องจ่ายเงินก็มี แต่รายการที่ฟรีก็มีมากพอแล้ว หากใครมาศึกษาที่นี่หรือมีโอกาสแวะเวียนมาแถวนี้ ก็ควรหาเวลาไปติดตามการแสดงเหล่านี้ดูนะครับ

ผมไม่สงสัยเลยว่าทำไมมหาวิทยาลัยวิสคอนซินถึงเป็นมหาวิทยาลัยที่ติดระดับโลก ไม่สงสัยเลยว่าทำไมเมืองแมดิสัน ที่ซึ่งมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ จึงเป็นเมืองที่ติดอันดับเมืองน่าอยู่ขนาดกลางมาหลายปีจนปีล่าสุดบางสำนักก็จัดอันดับให้เป็นที่หนึ่ง แต่ที่สงสัยคือ จะมีวันไหนกันที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยจะมีกิจกรรมอย่างนี้ได้บ้าง แค่บางส่วนก็ยังดี  

ก็จริงที่บางมหาวิทยาลัยมี แต่ก็ส่วนน้อยมาก จะจัดแบบนี้ได้ต้องเกิดจากความใส่ใจของผู้บริหารมหาวิทยาลัยและคณาจารย์ พร้อมทั้งการจัดการของเมืองที่ประสานกันอย่างดี นึกแค่นี้ก็สิ้นหวังแล้ว เพราะผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการศึกษาบ้านเราไม่ได้เข้ามามีอำนาจเพื่อบริหารการศึกษา แต่พวกเขาเข้ามามีอำนาจเพื่อไต่บันไดอำนาจขึ้นไปอีกเรื่อยๆ เท่านั้นเอง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพ่ิงกินอาหารเย็นเสร็จ วันนี้ลงมือทำสเต็กเนื้อ เนื้อโคขุนไทยๆ นี่แหละ ต้องชิ้นหนาๆ หน่อย ย่างบนกะทะเหล็กหนาๆ ที่หอบหิ้วมาจากอเมริกา เป็นกะทะเทพมากๆ เพราะความร้อนแรงดีมาก ใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที เกรียมได้ที่ทั้งสองด้าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษา" ต้องการพื้นที่ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น พื้นที่การเรียนรู้ก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกการเรียนรู้ ยังมีคนบางกลุ่มดื้อรั้นขัดขวางการเปลี่ยนแปลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 แน่นอนว่าโฆษณาโปรแกรมเรียนภาษาไทย (บางคนบอกเป็นแค่ตลกล้อเลียน?) ที่เป็นข่าว 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ตั้งอยู่บนอคติทางเพศ ดูถูกเพศหญิงว่าเป็นวัตถุทางเพศ ดูถูกเพศชายว่าจ้องเสพสุขทางเพศท่าเดียว (หรือหลายท่า?) สร้างภาพเหมารวมให้คนไทยและสังคมไทยไร้ศีลธรรม (ดูสิ เราออกจะเมืองพุทธ เมืองพระ) แต่ที่ยังน่าจะต้องทำความเข้าใจคือ ปฏิกิริยาที่คนไทยมีต่อวิดีโอล้อเลียนนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้พยายามทำความเข้าใจตรรกะของพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดงไว้ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ว่าพระองค์มีทัศนะต่อแนวคิด The King Can Do No Wrong อย่างไร และมาตรา 112 ควรแก้ไขเพราะเหตุใด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การตัดสินคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขและอีกหลายๆ คดีก่อนหน้านี้ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ชี้ให้เห็นยิ่งขึ้นทุกวันว่า รัฐไทยกำลังสร้างความรักด้วยการใช้กำลังข่มเหงให้ประชาชนรักประมุขของประเทศ หาใช่การส่งเสริมให้เกิดความรักประมุขจากใจจริงของประชาชนไม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดี โดยเฉพาะงานทางมานุษยวิทยา มักมีแรงขับจากอารมณ์ใคร่บางอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากเรียกร้องเรื่องทรงผม ก็ต้องเรียกร้องเรื่องชุดนักเรียนนักศึกษาด้วย จะได้เป็นก้าวแรกของการอภิวัฒน์การศึกษาไทยอย่างจริงจังเสียที พวกผู้ใหญ่ที่คอยเรียกร้องนักเรียนกับครูอาจารย์ ให้สอนให้เด็กรู้จักคิดน่ะ พวกท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า ชุดนักเรียนนักศึกษาเป็นปราการปิดกั้นเสรีภาพการคิดอย่างไร และเด็กๆ เองก็ควรเข้าใจด้วยว่า การควบคุมเรือนร่างเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแบบอำนาจนิยมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์พัฒนา กิติอาษาเมื่อเช้าตรู่วานนี้ (10 มกราคม 2556) คงไม่เป็นที่สนใจของใครต่อใครนอกแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์มากนัก แต่นี่นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงสังคมศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากพวกคุณวิจัยสำรวจอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ พวกคุณก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่า ชัยชนะจากคะแนนเสียงที่ "ไม่่่ท่วมท้นนัก" ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มาจากกลุ่มคนที่มีความหวังว่าเพื่อไทยจะเป็นเดินหน้าพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างจริงจังเสียที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สังคมไทยมีสังคมแบบหนึ่งที่แทรกซ้อนอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ คือสังคมดัดจริต สังคมดัดจริตไม่ได้มีขนาดใหญ่โต แต่เป็นสังคมของคนชั้นกลางและคนใหญ่คนโตที่กำลังเสื่อมอำนาจ สังคมดัดจริตคอยผลิตวัฒนธรรมดัดจริตเพื่อทำให้ตนเองดูดีมีหลักการ เพื่อให้ตนเองอยู่เหนือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีจริตจะดัด และเหนืออื่นใดคือเพื่อปกป้องฐานะอำนาจของตนเอง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้ คือวันที่ 1 มกราคม 2556 ผมลองคิดบวกดูบ้าง คือคิดแบบเข้าข้างตนเองทบทวนดูว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาได้ทำอะไรใหม่ๆ ให้ตนเองบ้าง คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในสมองผมคือ ได้อ่านหนังสืออะไรที่นับว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วก็คิดไปเรื่อยว่า ได้ทำอะไรที่ให้การเรียนรู้ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ คิดอะไรใหม่ๆ บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามปีใหม่ ยากที่จะหาของขวัญที่ไม่กลายเป็นขยะในชั่วข้ามคืนได้ เพื่อนชาวอเมริกันที่ผมรู้จักหลายคน ซึ่งดูท่าจะทั้งเป็นนักช้อปและเป็นคนช่างมีเหตุผล ก็เลยใช้วิธีให้เด็กๆ เขียนลิสต์รายการสิ่งของที่อยากได้ยามสิ้นปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าของที่ซื้อมาให้จะถูกใจผู้รับสักชิ้นหนึ่ง