Skip to main content

ผมเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันแม้จะไม่ถึงกับต่อต้านมาตลอดว่า เราไม่ควรเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทย ด้วยเหตุผลสำคัญ 2-3 ประการ หนึ่ง อยากให้ภาษาไทยพัฒนาไปตามพัฒนาการของความรู้สากล สอง คิดว่านักศึกษาไทยจะเป็นผู้เรียนเสียส่วนใหญ่และจึงจะทำให้ได้นักเรียนที่ภาษาไม่ดีพอ การศึกษาก็จะแย่ตามไปด้วย สาม อาจารย์ผู้สอน (รวมทั้งผมเอง) ก็ไม่ได้ภาษาอังกฤษดีมากนัก การเรียนการสอนก็จะยิ่งตะกุกตะกัก

 
แต่เมื่อมีโอกาสได้มีส่วนร่วมในโครงการนานาชาติหลายๆ โครงการ มีโอกาสได้ช่วยสอนโครงการนานาชาติในประเทศไทยบ้าง ได้ช่วยเป็นกรรมการวิทยานิพนธ์บ้าง และขณะนี้มีโอกาสได้มาสอนในสหรัฐอเมริกา ก็เริ่มเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งในระดับปริญญาตรีและโท-เอก ด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน
 
ข้อแรก การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผมอาจจะโชคดีที่ชั้นเรียนที่ผมเคยสอนส่วนใหญ่เป็นชั้นเรียนที่มีนักศึกษาจากต่างประเทศในสัดส่วนที่มากกว่านักศึกษาไทย ข้อนี้ทำให้แลกเปลี่ยนกันกว้างขวางขึ้น ส่วนนักศึกษาไทยในปัจจุบันมักมีประสบการณ์คล้ายคลึงกัน ส่วนใหญ่เติบโตในกรุงเทพฯ หรือไม่ก็เขตเมืองของต่างจังหวัด แม้แต่การใช้ภาษา นักศึกษาจากจังหวัดต่างๆ ก็ใช้ภาษาถิ่นน้อยลง นี่เป็นเพราะระบบการศึกษาไทยและระบบการครอบงำวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ทำลายภาษาถิ่น ผลก็คือ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันจำกัดมาก
 
แต่ในห้องเรียนนานาชาติ แม้แต่ที่ธรรมศาสตร์ที่ผมเคยสอน มีนักเรียนจากยุโรปหลายประเทศ และที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินหลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกต่ำ และการบุกเข้ามาของนักเรียนจีนและเอเชียนอื่นๆ ทำให้มีนักเรียนจากเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อผสมกับนักเรียนจากสหรัฐอเมริกาที่มีพื้นที่กว้างใหญ่และวัฒนธรรมย่อยมากมาย ทำให้ห้องเรียนมีประสบการณ์ที่หลากหลาย นักเรียนสามารถเรียนรู้โลกผ่านเพื่อนๆ ของพวกเขาเองได้มากมาย
 
ข้อต่อมา การเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษจะทำให้อาจารย์ต้องพัฒนาตนเองมากขึ้น ที่สำคัญไม่ใช่เฉพาะการอ่านและการเขียนเพื่อเตรียมสอน รวมทั้งการเขียนบทความและแต่งตำรา แต่ผมคิดว่าวัฒนธรรมการเรียนการสอนในภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจารย์ส่วนใหญ่ศึกษามาจากต่างประเทศ น่าจะแตกต่างจากวัฒนธรรมการเรียนการสอนในภาษาไทย วัฒนธรรมการเรียนแบบสากลคือการแลกเปลี่ยน การตั้งคำถาม การถกเถียง รวมทั้งระบบการวัดผล น่าจะเข้าไปอยู่ในชั้นเรียนภาษาอังกฤษมากกว่าชั้นเรียนไทย 
 
ข้อนี้พูดอีกอย่างก็คือ อาจารย์ก็น่าจะได้เรียนไปพร้อมๆ นักเรียนด้วย นี่พูดแบบให้เกียรติอาจารย์ว่ารู้จักเปิดใจเรียนรู้นะครับ เพราะการเรียนการสอนแบบฝรั่งทำให้อาจารย์เองก็ได้ความรู้จากนักเรียนด้วย ตำราฝรั่งจำนวนมากมักขอบคุณนักเรียนที่ช่วยให้ได้เนื้อหา ตัวอย่าง และวิธีการเล่าเรื่องจากห้องเรียน 
 
ข้อต่อมา การใช้เอกสารภาษาอังกฤษ จะทำให้ไม่ต้องมากังวลกับการอ่านไปแปลภาษาไป แถมยังต้องมาแปลความคิดอีก แต่การแลกเปลี่ยนงานในภาษาอังกฤษจะสามารถอ่านไป ถกเถียง แลกเปลี่ยน หรืออธิบายความเป็นภาษาอังกฤษได้เลย นี่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดทั่วไปของการศึกษาไทย ที่ยังมีตำราน้อย และความรู้ส่วนใหญ่ก็มาจากโลกภาษาอังกฤษ
 
อีกข้อที่น่าสนใจคือ การมีโอกาสได้สร้างสังคมใหม่ในโลก อย่างน้อยในภูมิภาค การศึกษาไทยในระดับต่างๆ หรือในหลายสาขาวิชา อาจจะไม่ได้อยู่ในระดับดีนักในการจัดอันดับของสำนักจัดอันดับต่างๆ แต่เท่าที่ผมเห็น นักศึกษาจากภูมิภาคอาเซียนมาเรียนในประเทศไทยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยไทยอาจจะทำได้ดีกว่า เช่น ด้านเทคโนโลยี 
 
ที่น่าสนใจคือ ด้านสังคมศาสตร์และด้านมนุษยศาสตร์ในระดับบัณฑิตศึกษา ที่ด้องการความคิดเชิงวิพากษ์และความรู้สากล มหาวิทยาลัยไทยเปิดโอกาสมากกว่ามหาวิทยาลัยในหลายๆ ประเทศในอาเซียน
 
อย่างไรก็ดี ข้อท้าทายก็คือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนอย่างแท้จริง เพราะปัญหาใหญ่ของนักศึกษาและอาจารย์ไทยคือ ไม่ค่อยจัดการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนกัน อาจารย์ยังมักเชื่อว่านักเรียนจะยังไม่เข้าใจบทเรียน จึงต้องบรรยายๆๆๆ จนไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนพูด คิด ส่วนนักเรียนไทยก็ยังกลัวผิด-ขี้อาย-ไม่กล้าคิด นี่เป็นสองด้านของความอับจนของการศึกษาไทยที่จะต้องก้าวข้ามให้ได้
 
ข้อท้าทายอีกข้อคือ จะเป็นการปิดกั้นโอกาสทางการศึกษาหรือไม่ ข้อนี้ต้องยอมรับว่า เมื่อเปิดโครงการนานาชาติแล้ว นักเรียนที่มีโอกาสก็จะเป็นนักเรียนที่มาจากครอบครัวซึ่งมีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงพอที่จะส่งเสริมให้พวกเขาเรียนภาษาอังกฤษได้ การเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทยจะต้องคำนึงถึงผลกระทบนี้และหามาตรการชดเชยข้อเสียนี้ด้วย เช่นการให้ทุนการศึกษา
 
ข้อท้าทายอีกประการคือ การที่มหาวิทยาลัยไทยเองยังมีความคิดอนุรักษ์นิยม ยังคิดว่า โครงการนานาชาติมีเพื่อสอนให้นักเรียนต่างชาติกลายเป็นคนไทย ยกตัวอย่างในธรรมศาสตร์ ที่พยายามปลูกฝังวัฒนธรรมการเรียนการสอนแบบไทยด้วยการบังคับให้นักศึกษาต่างชาติแต่งชุดนักศึกษา แต่ที่จริงสำหรับนักเรียนต่างชาติหลายคน พวกเขาแต่งเพราะแค่เห็นว่ามันแปลกดีที่ได้ใส่ชุดแบบนี้เท่านั้น เพราะเมื่อกลับไปศึกษาในประเทศเขา พวกเขาก็ไม่ต้องแต่งชุดนักศึกษาอยู่ดี 
 
ในโลกที่เปลี่ยนไป เราอาจต้องยอมเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้ามสังคม ข้ามประเทศกันมากขึ้น นี่อาจจะเป็นทั้งการพัฒนาตนเองและการได้เรียนรู้กันและกันระหว่างนานาชาติมากขึ้น แต่กระนั้น หากเราทำโครงการนานาชาติโดยไม่ปรับระบบการศึกษาไทยให้เป็นสากล หากเรายังจัดการเรียนการสอนแบบไทยๆ แต่อาศัยสอนด้วยภาษาอังกฤษเท่านั้น ข้อดีของการเปิดโครงการนานาชาติก็จะถูกลบเลือนไป

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เป็นวันระลึก "เหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์" 1947 หรือเรียกกันว่า "228 Incident" เหตุสังหารหมู่ประชาชนทั่วประเทศไต้หวัน โดยรัฐบาลที่เจียงไคเชกบังคับบัญชาในฐานะผู้นำก๊กมินตั๋งในจีนแผ่นดินใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนขอให้ผมช่วยแนะนำร้านอาหารในฮานอยให้ แต่เห็นว่าเขาจะไปช่วงสั้นๆ ก็เลยแนะนำไปไม่กี่แห่ง ส่วนร้านเฝอ ขอแยกแนะนำต่างหาก เพราะร้านอร่อยๆ มีมากมาย เอาเฉพาะที่ผมคุ้นๆ แค่ 2-3 วันน่ะก็เสียเวลาตระเวนกินจนไม่ต้องไปกินอย่างอื่นแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ...