Skip to main content

ผมเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันแม้จะไม่ถึงกับต่อต้านมาตลอดว่า เราไม่ควรเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทย ด้วยเหตุผลสำคัญ 2-3 ประการ หนึ่ง อยากให้ภาษาไทยพัฒนาไปตามพัฒนาการของความรู้สากล สอง คิดว่านักศึกษาไทยจะเป็นผู้เรียนเสียส่วนใหญ่และจึงจะทำให้ได้นักเรียนที่ภาษาไม่ดีพอ การศึกษาก็จะแย่ตามไปด้วย สาม อาจารย์ผู้สอน (รวมทั้งผมเอง) ก็ไม่ได้ภาษาอังกฤษดีมากนัก การเรียนการสอนก็จะยิ่งตะกุกตะกัก

 
แต่เมื่อมีโอกาสได้มีส่วนร่วมในโครงการนานาชาติหลายๆ โครงการ มีโอกาสได้ช่วยสอนโครงการนานาชาติในประเทศไทยบ้าง ได้ช่วยเป็นกรรมการวิทยานิพนธ์บ้าง และขณะนี้มีโอกาสได้มาสอนในสหรัฐอเมริกา ก็เริ่มเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งในระดับปริญญาตรีและโท-เอก ด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน
 
ข้อแรก การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผมอาจจะโชคดีที่ชั้นเรียนที่ผมเคยสอนส่วนใหญ่เป็นชั้นเรียนที่มีนักศึกษาจากต่างประเทศในสัดส่วนที่มากกว่านักศึกษาไทย ข้อนี้ทำให้แลกเปลี่ยนกันกว้างขวางขึ้น ส่วนนักศึกษาไทยในปัจจุบันมักมีประสบการณ์คล้ายคลึงกัน ส่วนใหญ่เติบโตในกรุงเทพฯ หรือไม่ก็เขตเมืองของต่างจังหวัด แม้แต่การใช้ภาษา นักศึกษาจากจังหวัดต่างๆ ก็ใช้ภาษาถิ่นน้อยลง นี่เป็นเพราะระบบการศึกษาไทยและระบบการครอบงำวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ทำลายภาษาถิ่น ผลก็คือ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันจำกัดมาก
 
แต่ในห้องเรียนนานาชาติ แม้แต่ที่ธรรมศาสตร์ที่ผมเคยสอน มีนักเรียนจากยุโรปหลายประเทศ และที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินหลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกต่ำ และการบุกเข้ามาของนักเรียนจีนและเอเชียนอื่นๆ ทำให้มีนักเรียนจากเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อผสมกับนักเรียนจากสหรัฐอเมริกาที่มีพื้นที่กว้างใหญ่และวัฒนธรรมย่อยมากมาย ทำให้ห้องเรียนมีประสบการณ์ที่หลากหลาย นักเรียนสามารถเรียนรู้โลกผ่านเพื่อนๆ ของพวกเขาเองได้มากมาย
 
ข้อต่อมา การเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษจะทำให้อาจารย์ต้องพัฒนาตนเองมากขึ้น ที่สำคัญไม่ใช่เฉพาะการอ่านและการเขียนเพื่อเตรียมสอน รวมทั้งการเขียนบทความและแต่งตำรา แต่ผมคิดว่าวัฒนธรรมการเรียนการสอนในภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจารย์ส่วนใหญ่ศึกษามาจากต่างประเทศ น่าจะแตกต่างจากวัฒนธรรมการเรียนการสอนในภาษาไทย วัฒนธรรมการเรียนแบบสากลคือการแลกเปลี่ยน การตั้งคำถาม การถกเถียง รวมทั้งระบบการวัดผล น่าจะเข้าไปอยู่ในชั้นเรียนภาษาอังกฤษมากกว่าชั้นเรียนไทย 
 
ข้อนี้พูดอีกอย่างก็คือ อาจารย์ก็น่าจะได้เรียนไปพร้อมๆ นักเรียนด้วย นี่พูดแบบให้เกียรติอาจารย์ว่ารู้จักเปิดใจเรียนรู้นะครับ เพราะการเรียนการสอนแบบฝรั่งทำให้อาจารย์เองก็ได้ความรู้จากนักเรียนด้วย ตำราฝรั่งจำนวนมากมักขอบคุณนักเรียนที่ช่วยให้ได้เนื้อหา ตัวอย่าง และวิธีการเล่าเรื่องจากห้องเรียน 
 
ข้อต่อมา การใช้เอกสารภาษาอังกฤษ จะทำให้ไม่ต้องมากังวลกับการอ่านไปแปลภาษาไป แถมยังต้องมาแปลความคิดอีก แต่การแลกเปลี่ยนงานในภาษาอังกฤษจะสามารถอ่านไป ถกเถียง แลกเปลี่ยน หรืออธิบายความเป็นภาษาอังกฤษได้เลย นี่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดทั่วไปของการศึกษาไทย ที่ยังมีตำราน้อย และความรู้ส่วนใหญ่ก็มาจากโลกภาษาอังกฤษ
 
อีกข้อที่น่าสนใจคือ การมีโอกาสได้สร้างสังคมใหม่ในโลก อย่างน้อยในภูมิภาค การศึกษาไทยในระดับต่างๆ หรือในหลายสาขาวิชา อาจจะไม่ได้อยู่ในระดับดีนักในการจัดอันดับของสำนักจัดอันดับต่างๆ แต่เท่าที่ผมเห็น นักศึกษาจากภูมิภาคอาเซียนมาเรียนในประเทศไทยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยไทยอาจจะทำได้ดีกว่า เช่น ด้านเทคโนโลยี 
 
ที่น่าสนใจคือ ด้านสังคมศาสตร์และด้านมนุษยศาสตร์ในระดับบัณฑิตศึกษา ที่ด้องการความคิดเชิงวิพากษ์และความรู้สากล มหาวิทยาลัยไทยเปิดโอกาสมากกว่ามหาวิทยาลัยในหลายๆ ประเทศในอาเซียน
 
อย่างไรก็ดี ข้อท้าทายก็คือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนอย่างแท้จริง เพราะปัญหาใหญ่ของนักศึกษาและอาจารย์ไทยคือ ไม่ค่อยจัดการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนกัน อาจารย์ยังมักเชื่อว่านักเรียนจะยังไม่เข้าใจบทเรียน จึงต้องบรรยายๆๆๆ จนไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนพูด คิด ส่วนนักเรียนไทยก็ยังกลัวผิด-ขี้อาย-ไม่กล้าคิด นี่เป็นสองด้านของความอับจนของการศึกษาไทยที่จะต้องก้าวข้ามให้ได้
 
ข้อท้าทายอีกข้อคือ จะเป็นการปิดกั้นโอกาสทางการศึกษาหรือไม่ ข้อนี้ต้องยอมรับว่า เมื่อเปิดโครงการนานาชาติแล้ว นักเรียนที่มีโอกาสก็จะเป็นนักเรียนที่มาจากครอบครัวซึ่งมีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงพอที่จะส่งเสริมให้พวกเขาเรียนภาษาอังกฤษได้ การเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทยจะต้องคำนึงถึงผลกระทบนี้และหามาตรการชดเชยข้อเสียนี้ด้วย เช่นการให้ทุนการศึกษา
 
ข้อท้าทายอีกประการคือ การที่มหาวิทยาลัยไทยเองยังมีความคิดอนุรักษ์นิยม ยังคิดว่า โครงการนานาชาติมีเพื่อสอนให้นักเรียนต่างชาติกลายเป็นคนไทย ยกตัวอย่างในธรรมศาสตร์ ที่พยายามปลูกฝังวัฒนธรรมการเรียนการสอนแบบไทยด้วยการบังคับให้นักศึกษาต่างชาติแต่งชุดนักศึกษา แต่ที่จริงสำหรับนักเรียนต่างชาติหลายคน พวกเขาแต่งเพราะแค่เห็นว่ามันแปลกดีที่ได้ใส่ชุดแบบนี้เท่านั้น เพราะเมื่อกลับไปศึกษาในประเทศเขา พวกเขาก็ไม่ต้องแต่งชุดนักศึกษาอยู่ดี 
 
ในโลกที่เปลี่ยนไป เราอาจต้องยอมเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้ามสังคม ข้ามประเทศกันมากขึ้น นี่อาจจะเป็นทั้งการพัฒนาตนเองและการได้เรียนรู้กันและกันระหว่างนานาชาติมากขึ้น แต่กระนั้น หากเราทำโครงการนานาชาติโดยไม่ปรับระบบการศึกษาไทยให้เป็นสากล หากเรายังจัดการเรียนการสอนแบบไทยๆ แต่อาศัยสอนด้วยภาษาอังกฤษเท่านั้น ข้อดีของการเปิดโครงการนานาชาติก็จะถูกลบเลือนไป

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การดีเบตระหว่างนักเรียนกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่หน้ากระทรวงฯ เมื่อวาน (5 กย. 63) ชี้ให้เห็นชัดว่า หากยังจะให้คนที่มีระบบคิดวิบัติแบบนี้ดูแลกระทรวงศึกษาธิการอยู่ ก็จะยิ่งทำให้การศึกษาไทยดิ่งลงเหวลึกไปยิ่งขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ประเด็น "สถาบันกษัตริย์" ในประเทศไทยปัจจุบันไม่ใช่เรื่องศีลธรรมและไม่ใช่แค่เรื่องความรู้สึก แต่เป็นเรื่องของสถาบันทางการเมืองและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมืองไทย ถ้าไม่เข้าใจตรงกันแบบนี้ก่อนก็จะไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ฟัง/อ่านข้อเสนอของนักศึกษา/ประชาชนที่เสนอในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวานนี้ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปีนี้ผมอายุ 52 ผมคิดอยู่ตลอดว่า ถ้าพ่อแม่เสียไป ผมจะดัดแปลงบ้านที่อยู่มายังไง จะรื้ออะไร ย้ายอะไร ผมไม่มีลูก ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การยุบพรรคอนาคตใหม่อย่างที่สาธารณชนและแม้แต่นักกฎหมายเองก็เห็นว่าไม่สมเหตุสมผลทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง และความเหลวแหลกของกลไก เกม และสถาบันการเมืองในขณะนี้ คือเงื่อนไขเฉพาะหน้าที่ทำให้เยาวชนจำนวนมาก ซึ่งเป็นคนหน้าใหม่ของการเมืองไทย ในหลายพื้นที่กระจายไปทั่วประเทศ ลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่มีความขัดแย้งรอบใหม่ในกลางทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วินาทีที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ความสำคัญไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองหนึ่งถูกยุบไปหรอก แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้มีอำนาจกำลังสร้างความแตกร้าวครั้งใหม่ที่พวกเขาอาจจะพบปฏิกิริยาโต้ตอบที่ไม่เหลือเศษซากอะไรให้กอบกู้โลกเก่าของพวกเขากลับมาได้อีกต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อสังเกตจากการแถลงของ ผบทบ. ล่าสุด แสดงการปัดความรับผิดชอบของผู้นำกองทัพไทยอย่างเห็นได้ชัดดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์ #กราดยิงโคราช เราเห็นอะไรเกี่ยวกับทหารไทยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียสละกับการรักษาหลักการมักถูกนำมาใช้อ้างหรือมากกว่านั้นคืออาจมีส่วนใช้ในการตัดสินใจ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พวกคุณไม่ได้เพียงกำลังทำลายพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง หรือกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่พวกคุณกำลังทำลายความหวังที่คนจำนวนมากมีต่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นใหม่ที่เริ่มสนใจประเทศชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาวเบี๋ยนเป็นศิลปินอาวุโสชาวไต/ไท ในเวียดนาม ผมรู้จักกับท่านมาร่วม 15 ปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อพบกันครั้งแรกๆ ก็ถูกชะตากับท่าน ผมจึงเพียรไปหาท่านหลายต่อหลายครั้ง ที่ว่าเพียรไปหาไม่ใช่แค่เพราะไปพบท่านบ่อย แต่เพราะการไปพบท่านเป็นเรื่องยากลำบากมาก เมืองที่ท่านอยู่ชื่อเมืองล้อ หรือเรียกแบบสยามๆ ก็เรียกว่าเมืองลอก็ได้