Skip to main content

ผมเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันแม้จะไม่ถึงกับต่อต้านมาตลอดว่า เราไม่ควรเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทย ด้วยเหตุผลสำคัญ 2-3 ประการ หนึ่ง อยากให้ภาษาไทยพัฒนาไปตามพัฒนาการของความรู้สากล สอง คิดว่านักศึกษาไทยจะเป็นผู้เรียนเสียส่วนใหญ่และจึงจะทำให้ได้นักเรียนที่ภาษาไม่ดีพอ การศึกษาก็จะแย่ตามไปด้วย สาม อาจารย์ผู้สอน (รวมทั้งผมเอง) ก็ไม่ได้ภาษาอังกฤษดีมากนัก การเรียนการสอนก็จะยิ่งตะกุกตะกัก

 
แต่เมื่อมีโอกาสได้มีส่วนร่วมในโครงการนานาชาติหลายๆ โครงการ มีโอกาสได้ช่วยสอนโครงการนานาชาติในประเทศไทยบ้าง ได้ช่วยเป็นกรรมการวิทยานิพนธ์บ้าง และขณะนี้มีโอกาสได้มาสอนในสหรัฐอเมริกา ก็เริ่มเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งในระดับปริญญาตรีและโท-เอก ด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน
 
ข้อแรก การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผมอาจจะโชคดีที่ชั้นเรียนที่ผมเคยสอนส่วนใหญ่เป็นชั้นเรียนที่มีนักศึกษาจากต่างประเทศในสัดส่วนที่มากกว่านักศึกษาไทย ข้อนี้ทำให้แลกเปลี่ยนกันกว้างขวางขึ้น ส่วนนักศึกษาไทยในปัจจุบันมักมีประสบการณ์คล้ายคลึงกัน ส่วนใหญ่เติบโตในกรุงเทพฯ หรือไม่ก็เขตเมืองของต่างจังหวัด แม้แต่การใช้ภาษา นักศึกษาจากจังหวัดต่างๆ ก็ใช้ภาษาถิ่นน้อยลง นี่เป็นเพราะระบบการศึกษาไทยและระบบการครอบงำวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ทำลายภาษาถิ่น ผลก็คือ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันจำกัดมาก
 
แต่ในห้องเรียนนานาชาติ แม้แต่ที่ธรรมศาสตร์ที่ผมเคยสอน มีนักเรียนจากยุโรปหลายประเทศ และที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินหลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกต่ำ และการบุกเข้ามาของนักเรียนจีนและเอเชียนอื่นๆ ทำให้มีนักเรียนจากเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อผสมกับนักเรียนจากสหรัฐอเมริกาที่มีพื้นที่กว้างใหญ่และวัฒนธรรมย่อยมากมาย ทำให้ห้องเรียนมีประสบการณ์ที่หลากหลาย นักเรียนสามารถเรียนรู้โลกผ่านเพื่อนๆ ของพวกเขาเองได้มากมาย
 
ข้อต่อมา การเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษจะทำให้อาจารย์ต้องพัฒนาตนเองมากขึ้น ที่สำคัญไม่ใช่เฉพาะการอ่านและการเขียนเพื่อเตรียมสอน รวมทั้งการเขียนบทความและแต่งตำรา แต่ผมคิดว่าวัฒนธรรมการเรียนการสอนในภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจารย์ส่วนใหญ่ศึกษามาจากต่างประเทศ น่าจะแตกต่างจากวัฒนธรรมการเรียนการสอนในภาษาไทย วัฒนธรรมการเรียนแบบสากลคือการแลกเปลี่ยน การตั้งคำถาม การถกเถียง รวมทั้งระบบการวัดผล น่าจะเข้าไปอยู่ในชั้นเรียนภาษาอังกฤษมากกว่าชั้นเรียนไทย 
 
ข้อนี้พูดอีกอย่างก็คือ อาจารย์ก็น่าจะได้เรียนไปพร้อมๆ นักเรียนด้วย นี่พูดแบบให้เกียรติอาจารย์ว่ารู้จักเปิดใจเรียนรู้นะครับ เพราะการเรียนการสอนแบบฝรั่งทำให้อาจารย์เองก็ได้ความรู้จากนักเรียนด้วย ตำราฝรั่งจำนวนมากมักขอบคุณนักเรียนที่ช่วยให้ได้เนื้อหา ตัวอย่าง และวิธีการเล่าเรื่องจากห้องเรียน 
 
ข้อต่อมา การใช้เอกสารภาษาอังกฤษ จะทำให้ไม่ต้องมากังวลกับการอ่านไปแปลภาษาไป แถมยังต้องมาแปลความคิดอีก แต่การแลกเปลี่ยนงานในภาษาอังกฤษจะสามารถอ่านไป ถกเถียง แลกเปลี่ยน หรืออธิบายความเป็นภาษาอังกฤษได้เลย นี่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดทั่วไปของการศึกษาไทย ที่ยังมีตำราน้อย และความรู้ส่วนใหญ่ก็มาจากโลกภาษาอังกฤษ
 
อีกข้อที่น่าสนใจคือ การมีโอกาสได้สร้างสังคมใหม่ในโลก อย่างน้อยในภูมิภาค การศึกษาไทยในระดับต่างๆ หรือในหลายสาขาวิชา อาจจะไม่ได้อยู่ในระดับดีนักในการจัดอันดับของสำนักจัดอันดับต่างๆ แต่เท่าที่ผมเห็น นักศึกษาจากภูมิภาคอาเซียนมาเรียนในประเทศไทยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยไทยอาจจะทำได้ดีกว่า เช่น ด้านเทคโนโลยี 
 
ที่น่าสนใจคือ ด้านสังคมศาสตร์และด้านมนุษยศาสตร์ในระดับบัณฑิตศึกษา ที่ด้องการความคิดเชิงวิพากษ์และความรู้สากล มหาวิทยาลัยไทยเปิดโอกาสมากกว่ามหาวิทยาลัยในหลายๆ ประเทศในอาเซียน
 
อย่างไรก็ดี ข้อท้าทายก็คือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนอย่างแท้จริง เพราะปัญหาใหญ่ของนักศึกษาและอาจารย์ไทยคือ ไม่ค่อยจัดการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนกัน อาจารย์ยังมักเชื่อว่านักเรียนจะยังไม่เข้าใจบทเรียน จึงต้องบรรยายๆๆๆ จนไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนพูด คิด ส่วนนักเรียนไทยก็ยังกลัวผิด-ขี้อาย-ไม่กล้าคิด นี่เป็นสองด้านของความอับจนของการศึกษาไทยที่จะต้องก้าวข้ามให้ได้
 
ข้อท้าทายอีกข้อคือ จะเป็นการปิดกั้นโอกาสทางการศึกษาหรือไม่ ข้อนี้ต้องยอมรับว่า เมื่อเปิดโครงการนานาชาติแล้ว นักเรียนที่มีโอกาสก็จะเป็นนักเรียนที่มาจากครอบครัวซึ่งมีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงพอที่จะส่งเสริมให้พวกเขาเรียนภาษาอังกฤษได้ การเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทยจะต้องคำนึงถึงผลกระทบนี้และหามาตรการชดเชยข้อเสียนี้ด้วย เช่นการให้ทุนการศึกษา
 
ข้อท้าทายอีกประการคือ การที่มหาวิทยาลัยไทยเองยังมีความคิดอนุรักษ์นิยม ยังคิดว่า โครงการนานาชาติมีเพื่อสอนให้นักเรียนต่างชาติกลายเป็นคนไทย ยกตัวอย่างในธรรมศาสตร์ ที่พยายามปลูกฝังวัฒนธรรมการเรียนการสอนแบบไทยด้วยการบังคับให้นักศึกษาต่างชาติแต่งชุดนักศึกษา แต่ที่จริงสำหรับนักเรียนต่างชาติหลายคน พวกเขาแต่งเพราะแค่เห็นว่ามันแปลกดีที่ได้ใส่ชุดแบบนี้เท่านั้น เพราะเมื่อกลับไปศึกษาในประเทศเขา พวกเขาก็ไม่ต้องแต่งชุดนักศึกษาอยู่ดี 
 
ในโลกที่เปลี่ยนไป เราอาจต้องยอมเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้ามสังคม ข้ามประเทศกันมากขึ้น นี่อาจจะเป็นทั้งการพัฒนาตนเองและการได้เรียนรู้กันและกันระหว่างนานาชาติมากขึ้น แต่กระนั้น หากเราทำโครงการนานาชาติโดยไม่ปรับระบบการศึกษาไทยให้เป็นสากล หากเรายังจัดการเรียนการสอนแบบไทยๆ แต่อาศัยสอนด้วยภาษาอังกฤษเท่านั้น ข้อดีของการเปิดโครงการนานาชาติก็จะถูกลบเลือนไป

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพ่ิงกินอาหารเย็นเสร็จ วันนี้ลงมือทำสเต็กเนื้อ เนื้อโคขุนไทยๆ นี่แหละ ต้องชิ้นหนาๆ หน่อย ย่างบนกะทะเหล็กหนาๆ ที่หอบหิ้วมาจากอเมริกา เป็นกะทะเทพมากๆ เพราะความร้อนแรงดีมาก ใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที เกรียมได้ที่ทั้งสองด้าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษา" ต้องการพื้นที่ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น พื้นที่การเรียนรู้ก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกการเรียนรู้ ยังมีคนบางกลุ่มดื้อรั้นขัดขวางการเปลี่ยนแปลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 แน่นอนว่าโฆษณาโปรแกรมเรียนภาษาไทย (บางคนบอกเป็นแค่ตลกล้อเลียน?) ที่เป็นข่าว 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ตั้งอยู่บนอคติทางเพศ ดูถูกเพศหญิงว่าเป็นวัตถุทางเพศ ดูถูกเพศชายว่าจ้องเสพสุขทางเพศท่าเดียว (หรือหลายท่า?) สร้างภาพเหมารวมให้คนไทยและสังคมไทยไร้ศีลธรรม (ดูสิ เราออกจะเมืองพุทธ เมืองพระ) แต่ที่ยังน่าจะต้องทำความเข้าใจคือ ปฏิกิริยาที่คนไทยมีต่อวิดีโอล้อเลียนนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้พยายามทำความเข้าใจตรรกะของพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดงไว้ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ว่าพระองค์มีทัศนะต่อแนวคิด The King Can Do No Wrong อย่างไร และมาตรา 112 ควรแก้ไขเพราะเหตุใด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การตัดสินคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขและอีกหลายๆ คดีก่อนหน้านี้ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ชี้ให้เห็นยิ่งขึ้นทุกวันว่า รัฐไทยกำลังสร้างความรักด้วยการใช้กำลังข่มเหงให้ประชาชนรักประมุขของประเทศ หาใช่การส่งเสริมให้เกิดความรักประมุขจากใจจริงของประชาชนไม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดี โดยเฉพาะงานทางมานุษยวิทยา มักมีแรงขับจากอารมณ์ใคร่บางอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากเรียกร้องเรื่องทรงผม ก็ต้องเรียกร้องเรื่องชุดนักเรียนนักศึกษาด้วย จะได้เป็นก้าวแรกของการอภิวัฒน์การศึกษาไทยอย่างจริงจังเสียที พวกผู้ใหญ่ที่คอยเรียกร้องนักเรียนกับครูอาจารย์ ให้สอนให้เด็กรู้จักคิดน่ะ พวกท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า ชุดนักเรียนนักศึกษาเป็นปราการปิดกั้นเสรีภาพการคิดอย่างไร และเด็กๆ เองก็ควรเข้าใจด้วยว่า การควบคุมเรือนร่างเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแบบอำนาจนิยมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์พัฒนา กิติอาษาเมื่อเช้าตรู่วานนี้ (10 มกราคม 2556) คงไม่เป็นที่สนใจของใครต่อใครนอกแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์มากนัก แต่นี่นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงสังคมศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากพวกคุณวิจัยสำรวจอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ พวกคุณก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่า ชัยชนะจากคะแนนเสียงที่ "ไม่่่ท่วมท้นนัก" ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มาจากกลุ่มคนที่มีความหวังว่าเพื่อไทยจะเป็นเดินหน้าพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างจริงจังเสียที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สังคมไทยมีสังคมแบบหนึ่งที่แทรกซ้อนอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ คือสังคมดัดจริต สังคมดัดจริตไม่ได้มีขนาดใหญ่โต แต่เป็นสังคมของคนชั้นกลางและคนใหญ่คนโตที่กำลังเสื่อมอำนาจ สังคมดัดจริตคอยผลิตวัฒนธรรมดัดจริตเพื่อทำให้ตนเองดูดีมีหลักการ เพื่อให้ตนเองอยู่เหนือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีจริตจะดัด และเหนืออื่นใดคือเพื่อปกป้องฐานะอำนาจของตนเอง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้ คือวันที่ 1 มกราคม 2556 ผมลองคิดบวกดูบ้าง คือคิดแบบเข้าข้างตนเองทบทวนดูว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาได้ทำอะไรใหม่ๆ ให้ตนเองบ้าง คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในสมองผมคือ ได้อ่านหนังสืออะไรที่นับว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วก็คิดไปเรื่อยว่า ได้ทำอะไรที่ให้การเรียนรู้ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ คิดอะไรใหม่ๆ บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามปีใหม่ ยากที่จะหาของขวัญที่ไม่กลายเป็นขยะในชั่วข้ามคืนได้ เพื่อนชาวอเมริกันที่ผมรู้จักหลายคน ซึ่งดูท่าจะทั้งเป็นนักช้อปและเป็นคนช่างมีเหตุผล ก็เลยใช้วิธีให้เด็กๆ เขียนลิสต์รายการสิ่งของที่อยากได้ยามสิ้นปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าของที่ซื้อมาให้จะถูกใจผู้รับสักชิ้นหนึ่ง